การแข่งขันพัฒนาโปรแกรมคอมพิวเตอร์แห่งประเทศไทย (National Software Contest)
National Software Contest (NSC) เป็นโครงการที่ส่งเสริมนักเรียน นิสิต นักศึกษา ในด้านการพัฒนาโปรแกรมคอมพิวเตอร์ เพื่อเป็นเวทีสำหรับการพัฒนาเยาวชน ซึ่งสามารถตอบสนองต่อนโยบายประเทศไทย 4.0 โมเดลขับเคลื่อนประเทศไทยสู่ความมั่งคั่ง มั่นคง และยั่งยืน โดยใช้เทคโนโลยีเป็นฐานในการสร้างนวัตกรรม เพื่อเพิ่มมูลค่าให้กับสินค้าหรือบริการ
ภาพที่ 1 ภาพประกอบบทความการแข่งขันพัฒนาโปรแกรมคอมพิวเตอร์แห่งประเทศไทย (National Software Contest)
ที่มา https://pixabay.com ,OpenClipart-Vectors ,
โครงการ “การแข่งขันพัฒนาโปรแกรมคอมพิวเตอร์แห่งประเทศไทย” (National Software Contest) หรือที่มักเรียกในวงการว่า NSC ซึ่งเป็นโครงการที่ศูนย์เทคโนโลยีอิเล็กทรอนิกส์และคอมพิวเตอร์แห่งชาติ (National Electronics and Computer Technology Center : NECTEC หรือที่เรียกกันว่า เนคเทค) สำนักงานพัฒนาวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีแห่งชาติ กระทรวงวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยี ดำเนินการเพื่อเป็นเวทีสำหรับนักเรียน นิสิต นักศึกษาจากทั่วประเทศที่สนใจการพัฒนาซอฟต์แวร์ส่งโครงการ (หรือที่เรามักเรียกว่า โครงงาน) ที่พัฒนาด้วยตนเองเข้าร่วมการแข่งขัน จัดขึ้นโดย ฝ่ายสนับสนุนการวิจัย (โครงการ NSC) โดยโครงการฯ ส่งเสริมให้ผู้พัฒนาโครงการได้พัฒนาและใช้ซอฟต์แวร์ที่มีลิขสิทธิ์ถูกต้อง ตามกฎหมายในการพัฒนาโปรแกรม ทั้งนี้ โครงการที่พัฒนาด้วยซอฟต์แวร์ Open Source จะได้รับการพิจารณาเป็นกรณีพิเศษ นอกจากนั้น เนคเทค ยังได้ร่วมกับ SIPA และสมาคมอุตสาหกรรมเทคโนโลยีสารสนเทศไทย ส่งผลงานซอฟต์แวร์ที่ได้รับรางวัลชนะเลิศเข้าร่วมการประกวดในงาน Asia Pacific ICT Awards (APICTA) ในประเภทนักเรียน และนิสิต นักศึกษา ซึ่งงาน APICTA นี้ เป็นการประกวดผลงานด้านซอฟต์แวร์ในด้านต่าง ๆ สำหรับประเทศในภูมิภาคเอเชีย-แปซิฟิก ที่จัดขึ้นเพื่อส่งเสริมผู้ประกอบการและอุตสาหกรรมด้านไอซีทีของประเทศในภูมิภาค เปิดโอกาสให้มีการนำเสนอผลงานซอฟต์แวร์ที่มีคุณภาพ และศักยภาพทางธุรกิจและการตลาดจากผู้ประกอบการ ผู้เชี่ยวชาญ ภาคการศึกษา และนักเรียน นิสิต นักศึกษา
หัวข้อการแข่งขัน
- ระดับนิสิต นักศึกษา
หมวด 11 โปรแกรมเพื่อความบันเทิง
หมวด 12 โปรแกรมเพื่อส่งเสริมการเรียนรู้
หมวด 13 โปรแกรมเพื่อช่วยคนพิการและผู้สูงอายุ
หมวด 14 โปรแกรมเพื่องานการพัฒนาด้านวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยี
หมวด 15 Mobile Application โปรแกรมเพื่อการประยุกต์ใช้งานบนเครือข่ายสำหรับอุปกรณ์คอมพิวเตอร์เคลื่อนที่
- ระดับนักเรียน
หมวด 21 โปรแกรมเพื่อความบันเทิง
หมวด 22 โปรแกรมเพื่อส่งเสริมการเรียนรู้
หมวด 23 โปรแกรมเพื่อการประยุกต์ใช้งาน
- หัวข้อพิเศษ
หมวด 31 โปรแกรมเพื่อการประยุกต์ใช้งานสำหรับลินุกซ์ (Linux Desktop Application)
หมวด 32 BEST 2016 : การแข่งขันสุดยอดการหาตำแหน่งและรู้จำข้อความในภาพถ่าย (Text Localization and Recognition Contest)
หมวด 33 โปรแกรมเพื่อการประยุกต์ใช้งานสำหรับสื่อสารระหว่างสรรพสิ่ง (Internet of Things)
หมวด 34 การแข่งขันสุดยอดโปรแกรมปัญญาประดิษฐ์ (Artificial Intelligence Application)
กำหนดการรับสมัคร
รอบแรก: รอบข้อเสนอโครงการ ประมาณเดือนตุลาคม - พฤศจิกายน ของทุกปี
รอบสอง: รอบนำเสนอผลงาน ประมาณเดือนกุมภาพันธ์ ของทุกปี
รอบชิงชนะเลิศ ประมาณเดือนมีนาคม ของทุกปี
แข่งแล้วนักเรียนได้อะไร
ในมุมมองที่ผู้เข้าแข่งขันนั้น การได้ประสบการณ์ในการแข่งขัน และได้รับคำแนะนำจากผู้เข้าเยี่ยมชม หรือจากคณะกรรมการ, ผลงานที่ต้องเก็บแฟ้มสะสมผลงานสำหรับยื่นในรอบ Portfolio หรือสอบสัมภาษณ์ และ เงินทุน/รางวัล ซึ่งโดยรวมแล้ว การเข้าในแต่ละรอบนั้นถือว่าผ่านตามเกณฑ์ที่กำหนดไว้ในคู่มือ และถือว่าคณะกรรมการที่คัดเลือกมานั้นมีคุณภาพ ทำให้เป็นโอกาสให้กับนักเรียนได้แรงบันดาลใจในรายการนี้
ภาพที่ 2 ภาพตัวอย่างการแข่งขันและการได้รับรางวัลจากการแข่งขันพัฒนาโปรแกรมคอมพิวเตอร์แห่งประเทศไทย (National Software Contest)
ที่มา มาโนชญ์ แสงศิริ
ภาพที่ 3 ตัวอย่างผลงานของนักเรียนที่ร่วมเข้าแข่งขัน
ที่มา มาโนชญ์ แสงศิริ
ครูจะต้องเตรียมนักเรียนอย่างไร
โดยในระดับนักเรียนนั้น ครูสามารถนำโครงงานที่นักเรียนทำไว้ในรายวิชาหรือนอกเวลา ถ้านักเรียนมีความสามารถด้านเขียนโปรแกรมที่หลากหลายหรือได้เข้าค่าย สอวน. จะได้เปรียบ ในหมวด 23 โปรแกรมเพื่อการประยุกต์ใช้งาน โดยครูต้องเข้าใจประเภทของหมวดที่ส่ง ให้สอดคล้องกับโครงงานที่นักเรียนทำดังนี้
หมวด 21 โปรแกรมเพื่อความบันเทิง
หมวด 22 โปรแกรมเพื่อส่งเสริมการเรียนรู้
หมวด 23 โปรแกรมเพื่อการประยุกต์ใช้งาน
ส่วนหัวข้อพิเศษนั้นสามารถ ส่งได้แต่ครูต้องประเมินศักยภาพของนักเรียนก่อนส่งข้อเสนอโครงการให้ดีก่อน มิเช่นนั้นจะเป็นการกดดันนักเรียนในการส่งรอบสอง: รอบนำเสนอผลงาน อาจทำให้ต้องคืนทุน
การต่อยอดผลงาน
เนคเทค ได้รับความร่วมมือจากมูลนิธิสยามกัมมาจล ธนาคารไทยพาณิชย์ จำกัด (มหาชน) สนับสนุนทุนในการต่อยอดผลงาน ยกระดับผลงานให้ไปสู่กลุ่มผู้ใช้งานจริงทั้งในระดับชุมชน ภาคสังคม และเศรษฐกิจและ สำนักงานคณะกรรมการกิจการกระจายเสียง กิจการโทรทัศน์ และกิจการโทรคมนาคมแห่งชาติ (กสทช.) ได้สนับสนุนรางวัลพิเศษในหมวด 33 โปรแกรมเพื่อการประยุกต์ใช้งานสำหรับสื่อสารระหว่างสรรพสิ่ง (Internet of Things) หากมีการใช้บริการ NETPIE
สถานที่ติดต่อศูนย์ประสานงานภูมิภาค
ศูนย์ประสานงานภูมิภาคของโครงการ ประกอบด้วย
ภาคเหนือ: ภาควิชาวิศวกรรมคอมพิวเตอร์ คณะวิศวกรรมศาสตร์ มหาวิทยาลัยเชียงใหม่
ภาคตะวันออกเฉียงเหนือ: สำนักงานอุทยานวิทยาศาสตร์ มหาวิทยาลัยขอนแก่น
ภาคใต้: ภาควิชาวิศวกรรมคอมพิวเตอร์ คณะวิศวกรรมศาสตร์ มหาวิทยาลัยสงขลานครินทร์
ภาคตะวันออก: คณะวิทยาการสารสนเทศ มหาวิทยาลัยบูรพา
ภาคตะวันตก: ภาควิชาคอมพิวเตอร์ คณะวิทยาศาสตร์ มหาวิทยาลัยศิลปากร
ภาคกลาง: สถาบันเทคโนโลยีนานาชาติสิรินธร มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์
จังหวัดที่สังกัดตามศูนย์ฯ ดูได้ที่ http://fic.nectec.or.th/sites/fic.nectec.or.th/files/NSC-Map_0.jpg
ติดต่อโครงการ
เว็บไซต์ http://www.nectec.or.th/nsc
Facebook https://www.facebook.com/groups/NSCThailand
แหล่งที่มา
ศูนย์เทคโนโลยีอิเล็กทรอนิกส์และคอมพิวเตอร์แห่งชาติ. (2559,5 ตุลาคม). โครงการ "การแข่งขันพัฒนาโปรแกรมแห่งประเทศไทย". สืบค้นเมื่อ 1 มกราคม 2562, จาก https://www.nectec.or.th/social/social-program/nation-software-contest-nsc.html
-
9810 การแข่งขันพัฒนาโปรแกรมคอมพิวเตอร์แห่งประเทศไทย (National Software Contest) /article-technology/item/9810-national-software-contestเพิ่มในรายการโปรด