Blynk : IoT Platform สนับสนุนจินตนาการสำหรับนวัตกร
การสร้างแอปพลิเคชันสำหรับ Arduino ภายใน 5 นาที คือ แนวคิดของ Blynk ที่เป็น IoT Platform สำหรับผู้เริ่มต้นที่จะเริ่มพัฒนาชิ้นงานด้าน Internet of Things (loT) อ่านว่า ไอโอที โดยสามารถควบคุมการรับส่งข้อมูลที่มาจากตัวตรวจจับ (Sensor) ผ่านระบบอินเทอร์เน็ต โดยไม่จำเป็นว่าสมาร์ตโฟนกับอุปกรณ์นั้นต้องใช้ระบบเครือข่ายอินเทอร์เน็ตเดียวกัน ดังนั้นจะสามารถนำมาใช้ในการจัดการเรียนรู้หรืออบรม สำหรับผู้ที่ไม่มีพื้นฐานได้
ซึ่งประเทศไทย 4.0 โมเดลขับเคลื่อนประเทศไทยสู่ความมั่งคั่ง มั่นคง และยั่งยืนนั้น เน้นการสร้างให้บุคลากรในประเทศได้ใช้เทคโนโลยีที่เหมาะสมในการบูรณาการกับความรู้ทางด้านวิทยาศาสตร์และคณิตศาสตร์ เพื่อแก้ปัญหาหรือพัฒนางานด้วยกระบวนการออกแบบเชิงวิศวกรรม นำไปสู่การคิดค้นสิ่งประดิษฐ์ หรือสร้างนวัตกรรมต่าง ๆ ในการสร้างมูลค่าสินค้าหรือบริการ และใช้ Internet of Things (loT) ซึ่งเป็นเทคโนโลยีหนึ่งที่เป็นตัวผลักดันขับเคลื่อน ประเทศไทย 4.0
ภาพที่ 1 Blynk : บนระบบปฏิบัติการ Android และ iOS
ที่มา มาโนชญ์ แสงศิริ
Blynk คืออะไร
Blynk เป็นแพลตฟอร์ม ที่เป็นแอปพลิเคชัน ด้วย iOS และ Android เพื่อควบคุม Arduino, Raspberry Pi บนระบบอินเทอร์เน็ต ซึ่งเป็นแผงควบคุมระบบดิจิตอลที่ผู้ใช้สามารถสร้างส่วนต่อประสานกราฟิกสำหรับโครงการของผู้ใช้โดยการลากและวางเครื่องมือ (widgets) ที่มีให้เลือกอยู่หลากหลาย เป็นเรื่องที่ง่ายมากในการตั้งค่าทุกอย่างและคุณจะเริ่มใช้งานได้ในเวลาไม่ถึง 5 นาที
Blynk ไม่ได้ผูกติดอยู่กับบอร์ดหรือบอร์ดเสริมบางตัว แต่จะสนับสนุนฮาร์ดแวร์ที่นักพัฒนาเลือก ไม่ว่าจะเป็น Arduino หรือ Raspberry Pi จะเชื่อมโยงกับอินเทอร์เน็ตผ่านสัญญาณอินเทอร์เน็ตไร้สาย (Wi-Fi) หรือแบบมีสาย จะช่วยให้อุปกรณ์ของนักพัฒนาออนไลน์และพร้อมสำหรับ Internet of Things (loT)
เริ่มต้นใช้งานอย่างไร
สำหรับนักพัฒนา ดูรายละเอียดได้ที่เว็บไซต์ https://www.blynk.cc
- สามารถใช้งานได้ฟรี การใช้งานลักษระเป็นการเชื่อมต่อไปยังเครื่องแม่ข่ายของ Blynk ตามค่าพลังงาน (ENERGY) และในการเลือกเครื่องมือ (widgets) ซึ่งจะมีพลังงาน (ENERGY) ให้ส่วนหนึ่ง ถ้าพลังงานหมดสามารถขอใช้งานเพิ่มได้ แต่ต้องมีค่าใช้จ่ายตามที่ Blynk กำหนดไว้
- กรณีมีนักพัฒนาที่ทำเครื่องแม่ข่าย Blynk ไว้ที่มีพลังงาน (ENERGY) ไม่จำกัด จะต้องตั้งค่าเครื่องแม่ข่าย, รหัสผู้ใช้ และรหัสผ่าน
- กรณีที่ต้องการติดตั้ง Blynk ที่เป็น IoT Platform ขึ้นเองด้วยระบบปฏิบัติการใด ๆ ก็ได้ สามารถเข้าศึกษาข้อมูลได้ที่ https://github.com/blynkkk ซึ่งมีนักพัฒนาหลายคน ใช้ Raspberry Pi เป็นเครื่องแม่ข่ายในการทำ Blynk Server
สำหรับงานธุรกิจ มีค่าใช้จ่าย ดูรายละเอียดได้ที่เว็บไซต์ https://www.blynk.io
loT Platform คืออะไร
-
ระบบ IoT ที่สมบูรณ์ต้องใช้ฮาร์ดแวร์ เช่น เซนเซอร์หรืออุปกรณ์ ซึ่งเป็นตัวตรวจจับ (Sensor) โดยอุปกรณ์เหล่านี้จะรวบรวมข้อมูลจากสิ่งแวดล้อม เช่น ตัวตรวจจับ (Sensor) วัดความชื้น เพื่อใช้ในการรดน้ำพืช
-
ระบบ IoT ที่สมบูรณ์แบบ ต้องการการเชื่อมต่อฮาร์ดแวร์ต้องมีวิธีในการส่งข้อมูลทั้งหมดไปยังระบบคลาวด์ เช่น การส่งข้อมูลความชุ่มชื้น หรือต้องการวิธีรับคำสั่งจากระบบคลาวด์ เช่น การกำหนดเวลาในการให้น้ำ สำหรับระบบ IoT บางระบบอาจมีขั้นตอนกลางระหว่างฮาร์ดแวร์และการเชื่อมต่อกับระบบคลาวด์เช่นเกตเวย์หรือเราเตอร์
-
ระบบ IoT ที่สมบูรณ์แบบต้องการซอฟต์แวร์ ซอฟต์แวร์นี้เป็นโฮสต์ในระบบคลาวด์ และมีหน้าที่ในการวิเคราะห์ข้อมูลที่รวบรวมจากเซนเซอร์และการตัดสินใจ (เช่น รู้จากข้อมูลความชื้นที่ฝนตกและบอกระบบชลประทานไม่ให้เปิดวันนี้)
-
สุดท้ายระบบ IoT ที่สมบูรณ์แบบจำเป็นต้องมีส่วนติดต่อผู้ใช้ เพื่อให้สิ่งนี้มีประโยชน์ จำเป็นต้องมีวิธีสำหรับผู้ใช้โต้ตอบกับระบบ IoT (เช่น แอปบนเว็บพร้อมแดชบอร์ดที่แสดงแนวโน้มความชุ่มชื้นและช่วยให้ผู้ใช้สามารถเปิดหรือปิดระบบชลประทานด้วยตนเองได้)
นำ loT Platform ไปใช้ในด้านใดบ้าง
ด้านจัดการเรียนการสอน/ฝึกอบรม/งานวิจัย
-
จัดกิจกรรมการเรียนรู้ไปในรายวิชาภายในคาบเรียนซึ่งแนะนำต้องเป็นรายวิชาสัปดาห์ละ 2 ชั่วโมง โดยระดับชั้นมัธยมศึกษาปีที่ 3 หลักสูตรการศึกษาขั้นพื้นฐาน รายวิชาพื้นฐานของกลุ่มสาระวิทยาศาสตร์ ตั้งแต่ปีการศึกษา 2561 เป็นต้นไป มีสาระการเรียนรู้ เรื่อง Internet of Things (loT) อยู่ด้วย
-
จัดกิจกรรมไว้ในรายวิชาเลือกเสรีของกลุ่มวิชาต่าง ๆ โดยการสอนในรูปแบบนี้อาจทำได้ในรายวิชาที่เกี่ยวข้องกับการแก้โจทย์ปัญหาพิเศษ หรือการทำโครงงาน
-
จัดกิจกรรมไว้ในกลุ่มกิจกรรมนอกห้องเรียนต่าง ๆ เช่น ชุมนุม ชมรม ค่าย
ด้านส่วนตัว/ทำธุรกิจ
บุคคลธรรมดาหรือห้างหุ้นส่วนจำกัดหรือบริษัทขนาดเล็ก นำไปใช้ในงานบริการของตนเอง ที่ใช้งานด้าน loT (Internet of Things)
ภาพที่ 2 ตัวอย่างชิ้นงานที่ใช้ Blynk
ที่มา มาโนชญ์ แสงศิริ
แหล่งที่มา
มาโนชญ์ แสงศิริ. (2562,18 มกราคม). IoT Platform ฝีมือคนไทย. สืบค้นเมื่อ 1 กุมภาพันธ์ 2562, จาก http://www.scimath.org/article-technology/item/9084-2018-10-18-07-45-35
Blynk. (2019). Retrieved February 1, 2019 from https://blynk.cc
Rahul Thakoor. (2018 , 23 Feb). Get started with IoT: How to build a DIY Blynk Board. Retrieved February 1, 2019 from https://opensource.com/article/18/2/diy-blynk-board-esp8266
Abhimanyu Rathore. (2017, 26 May). Blynk App: An Easy and Quick Way to Connect IoT Devices. Retrieved February 1, 2019 from https://iot.electronicsforu.com/expert-opinion/blynk-app-connect-devices-iot
-
9820 Blynk : IoT Platform สนับสนุนจินตนาการสำหรับนวัตกร /article-technology/item/9820-blynk-iot-platformเพิ่มในรายการโปรด