วันหัวใจโลก
หัวใจเป็นสัญลักษณ์ของความรัก แต่จริง ๆ แล้ว หัวใจไม่ได้มีรูปร่างแบบนั้นนะ!!
หัวใจของมนุษย์เป็นอวัยวะที่พัฒนามาจากหลอดเลือด เป็นอวัยวะสำคัญในระบบหมุนเวียนเลือด อยู่บริเวณกึ่งกลางทรวงอกระหว่างปอดทั้งสองข้างเยื้องไปทางซ้ายเล็กน้อย มี 4 ห้อง ได้แก่ ห้องบน 2 ห้อง และห้องล่าง 2 ห้อง หัวใจห้องบนมีหน้าที่รับเลือด ส่วนหัวใจห้องล่างมีหน้าที่ส่งเลือด ระหว่างหัวใจห้องบนกับหัวใจห้องล่างมีลิ้นหัวใจ ลักษณะเป็นแผ่นเยื่อกั้นระหว่างห้องหัวใจ โดยลิ้นหัวใจมีหน้าที่ป้องกันไม่ให้เลือดไหลย้อนกลับ
ศึกษาโครงสร้างและทิศทางการไหลเวียนเลือดผ่านหัวใจจาก VDO การผ่าหัวใจของสัตว์เลี้ยงลูกด้วยน้ำนม >> https://www.youtube.com/watch?v=-r9xbY-9_jo
หัวใจทำหน้าที่รับเลือดและสูบฉีดเลือดไปตามหลอดเลือดเพื่อนำไปเลี้ยงส่วนต่าง ๆ ทั่วร่างกาย หัวใจจึงเป็นอวัยวะที่ทำงานหนักและทำงานอยู่ตลอดเวลา จากสถิติของกระทรวงสาธารณสุขในปี พ.ศ. 2555-2559 พบว่า ประชากรของประเทศไทยมีอัตราการเจ็บป่วยและตายด้วยโรคหัวใจเพิ่มขึ้น โดยเฉพาะในปี พ.ศ. 2557 พบอัตราการตายสูงเท่ากับ 38.5 คนต่อประชากร 100,000 คน
โรคหัวใจอาจเกิดจากหลายสาเหตุ เช่น ลิ้นหัวใจรั่วหรือตีบ หลอดเลือดหัวใจตีบ หลอดเลือดหัวใจอุดตัน หัวใจโต ทำให้การหมุนเวียนเลือดผิดปกติ ส่วนใหญ่ในระยะสุดท้ายของโรคหัวใจทุกชนิดคือเกิดภาวะหัวใจล้มเหลว
ปัจจัยเสี่ยงที่ทำให้เกิดโรคหัวใจ ได้แก่ การได้รับสารทาร์และนิโคตินจากบุหรี่ การดื่มเครื่องดื่มที่มีแอลกอฮอล์ การเสพสารเสพติด การบริโภคอาหารที่มีลิพิดสูง การไม่ออกกำลังกาย การออกกำลังกายที่มากเกินไป และการมีอารมณ์รุนแรงหรือเครียด รวมทั้งการสะสมลิพิดที่ผนังหลอดเลือด โรคบางอย่างเช่น โรคไตจะส่งผลให้ความดันเลือดสูงซึ่งมีผลต่อการทำงานของหัวใจ ดังนั้นจึงควรจะหลีกเลี่ยงปัจจัยเสี่ยงต่าง ๆ เหล่านี้
ความเจริญก้าวหน้าทางการแพทย์ที่อาศัยเทคโนโลยีสมัยใหม่ช่วยแก้ปัญหาให้กับผู้ป่วยที่เป็นโรคเกี่ยวกับหัวใจ เช่น กรณีที่หัวใจเต้นช้ากว่าปกติและไม่สม่ำเสมอ แพทย์จะใส่เครื่องกระตุ้นการเต้นของหัวใจ (artificial pacemaker) เครื่องนี้จะทำให้เกิดสัญญาณไฟฟ้าไปกระตุ้นให้กล้ามเนื้อหัวใจทำงานได้เป็นปกติ ปัจจุบันสามารถประดิษฐ์ลิ้นหัวใจเทียม เพื่อนำมาเปลี่ยนให้คนไข้ที่มีลิ้นหัวใจผิดปกติได้
ความรู้เพิ่มเติม
CPR (cardiopulmonary resuscitation) คือการช่วยฟื้นคืนชีพด้วยวิธีปั้มหัวใจ ทำให้หัวใจกลับมาเต้นได้อีก และช่วยฟื้นการทำงานของระบบหมุนเวียนเลือดที่หยุดกะทันหัน จนกว่าจะได้รับการช่วยเหลือทางการแพทย์ การทำ CPR ทันทีหลังจากที่ผู้ป่วยอยู่ในภาวะหัวใจหยุดเต้น เช่น หัวใจวาย หรือจมน้ำ ซึ่งเป็นภาวะที่ก่อให้เกิดความเสียหายต่อสมองอย่างถาวร อาจเพิ่มโอกาสรอดชีวิตได้มากขึ้น
เรียนรู้เพิ่มเติม เรื่อง หัวใจและระบบหมุนเวียนเลือด ได้ใน VDO สอนออนไลน์ Project 14
1) https://proj14.ipst.ac.th/m2/m2-sci-book1/sci-m2b1-015/
2) https://proj14.ipst.ac.th/m2/m2-sci-book1/sci-m2b1-016/
อ้างอิง
1) หนังสือเรียนรายวิชาพื้นฐานวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยี ม.2 เล่ม 1 (ฉบับปรับปรุง พ.ศ. 2560)
2) หนังสือเรียนรายวิชาเพิ่มเติม ชีววิทยา ม.5 เล่ม 4 (ฉบับปรับปรุง พ.ศ. 2560)
กดดาวน์โหลดภาพอินโฟกราฟิก
ติดตามสาระดี ๆ ได้ที่ Facebook : IPST Thailand
-
12455 วันหัวใจโลก /article-science/item/12455-2021-09-29-06-49-01เพิ่มในรายการโปรด