jet lag อาการที่อาจารเกิดขึ้นหลังจากการเดินทางไกล
jet lag อาการที่อาจเกิดขึ้นหลังจากการเดินทางไกล
หากเราต้องขึ้นเครื่องบินเพื่อเดินทางไกลไปต่างแดน อาการอย่างหนึ่งที่มักเกิดขึ้นกับนักเดินทางอยู่เสมอนั้น ก็คือ อาการ Jet Lag โดยอาการรวม ๆ คือภาวะการนอนไม่หลับ เมื่อไปถึงที่หมายปลายทางแล้ว หลายคนจะยังปรับตัวไม่ได้ มีความรู้สึกเหนื่อยไม่รู้หาย วิงเวียน หลงลืมไปชั่วขณะ หงุดหงิดง่าย อารมณ์เสียโดยไม่มีสาเหตุ กลางคืนนอนไม่หลับแต่กลางวันง่วงหงาวหาวนอน หากคุณกังวลและไม่อยากให้เกิดเหตุการแบบนี้ขึ้นกับคุณ วันนี้เรามีวิธีการป้องกันและแก้ไขดี ๆ มาฝากครับ
ภาพที่ 1 ภาพประกอบอาการเจ็ทแล็คจากการเปลี่ยนพื้นที่ทางสภาพแวดล้อม
ที่มา https://www.davidwolfe.com/beat-jet-lag-9-steps/
อาการผิดปกติที่เกิดขึ้นเมื่อร่างกายยังปรับตัวในการเปลี่ยนแปลงของสภาพแวดล้อมใหม่ที่มีเวลา (time zones) แตกต่างไปจากเดิมไม่ได้ เมื่อช่วงเวลาเปลี่ยนกระทันหัน ร่ายกายจะปรับตัวยังไม่ทัน ทำให้มีความผิดปกติเกิดขึ้นกับร่างกาย เช่น นอนไม่หลับ มีความกังวล มีอาการซึมเศร้า มีความแปรปรวนของระบบต่าง ๆ ในร่างกาย ส่วนใหญ่อาการนี้เกิดขึ้นกับช่วงเวลที่แตกต่างกัน 12 ชั่วโมง ระหว่างสภาพแวดล้อมเดิม และสภาพแวดล้อมใหม่
ทุกคนสามารถเกิดอาการนี้ได้ และพบว่า เด็ก ๆ จะสามารถปรับตัวได้ดีกว่าเมื่อมีอาการนี้ การรักษาอาการนี้มีวิธีการง่าย ๆ คือ การนอนพักผ่อนให้เต็มที่ แต่เนื่องด้วยในบางครั้งที่คุณเป็นนักธุรกิจหรือนักท่องเที่ยวที่ไม่มีเวลามากนัก การจะนอนพักเฉย ๆ และทิ้งเวลาหลายวันให้สูญเปล่าคงเป็นเรื่องที่ทำได้ยาก จึงต้องหาวิธีป้องกันหรือบรรเทาอากาไม่ให้เกิดขึ้น หรือให้เกิดน้อยที่สุด
เมลาโทนินเพื่อบรรเทาอาการ jet lag
เมลาโทนิน (Melatonin) ฮอร์โมนสำคัญที่ร่างกายหลั่งออกมาในตอนกลางคืน ซึ่งช่วยทำให้เรานอนหลับ ส่วนในช่วงกลางวันเมื่อเริ่มมีแสงสว่าง ระดับเมลาโทนินจะลดลง ทำให้เรารู้สึกตัวในตอนเช้า จากการเปลี่ยนแปลงของร่างกายจากอาการ jet lag นี้ การรับประทานผลิตภัณฑ์เสริมอาหารที่ใช้เมลาโทนินเป็นองค์ประกอบหลัก จะสามารถช่วยบรรเทาหรือรักษาอาการ jet lag ให้ดีขึ้นได้ แต่ทั้งนี้ก็ต้องระมัดระวังการอาการไม่พึงประสงค์จากการกินเมลาโทนินด้วยเช่นกัน เช่น ความดันโลหิตสูง, ปอดบวม, มึนงง, สับสน, นอนหลับไม่สนิท, โรคหลอดเลือดสมอง (Stroke), อาการทางระบบทางเดินหายใจ, อาการซึมเศร้า, ปวดศีรษะ, อาการทางระบบทางเดินอาหาร
กลุ่มคนที่ควรหลีกเลี่ยงการให้เมลาโทนินในร่างกาย
- ผู้หญิงท้อง แม่ที่กำลังเลี้ยงลูกด้วยนม
- คนที่เป็นโรคภูมิแพ้ชนิดรุนแรง (Severe allergies) หรือโรคภูมิคุ้มกันผิดปกติ (Autoimmune disease) (เนื่องจากเมลาโทนินออกฤทธิ์กระตุ้นระบบภูมิคุ้มกัน)
- ผู้ป่วยในโรคมะเร็งที่เกี่ยวข้องกับระบบภูมิคุ้มกัน เช่น โรคมะเร็งต่อมน้ำเหลือง (Lymphoma), โรคมะเร็งเม็ดเลือดขาว (Leukemia)
- เด็กที่สุขภาพดีแข็งแรง (เนื่องจากมีการหลั่งเมลาโทนินในปริมาณสูงอยู่แล้ว)
- ผู้หญิงที่เตรียมพร้อมที่จะตั้งท้อง (เนื่องจากเมลาโทนินในขนาดสูงอาจแสดงฤทธิ์เหมือนยาคุมกำเนิด)
สิ่งที่ควรทำระหว่างเดินทาง
- ดื่มน้ำมาก ๆ เลี่ยงการดื่มเครื่องดื่มแอลกอฮอล์หรือน้ำอัดลม
- ออกกำลังกายบ้างโดยการลุกขึ้นยืนหรือเดิน หรืออาจจะบริหารร่างกายอยู่กับที่นั่ง
- ไม่รับประทานอาหารมากเกินไป
- ถ้าเป็นเที่ยวบินไกลๆ ที่มีช่วงจอดแวะกลางทาง ควรล้างหน้าล้างตาให้สดชื่น
ทางที่ดีเราควรเตรียมพร้อมร่างกายโดยการเตรียมตัวสู้อาการ jet lag ด้วยวิธีธรรมชาติ เช่น จัดการธุระต่าง ๆ ให้เรียบร้อยจะได้ไม่มีความวิตกกังวลติดค้างในสมอง นอนหลับพักผ่อนให้เพียงพอไม่ดื่มสุราหรือเครื่องดื่มมีแอลกอฮอล์ในช่วงวันก่อนเดินทาง ให้ปรับช่วงเวลานอนและตื่นให้ใกล้เคียงกับเวลาที่จุดหมายปลายทางสัก 2-3 วันก่อนออกเดินทาง
แหล่งที่มา
รองศาสตราจารย์ วิมล ศรีศุข .บทความเผยแพร่ความรู้สู่ประชาชน เจ็ทแลค (Jet lag) เพลียเพราะบินไกลกินเมลาโตนินอย่างไรให้ได้ผล.สืบค้นเมื่อวันที่ 21 กรกฎาคม 2560. จาก http://www.pharmacy.mahidol.ac.th/th/knowledge/article/285/แก้เจ็ทแลค-Jet-lag-ด้วยเมลาโตนิน.
นพ.มานพ จิตต์จรัส.เจทแลค อาการเมาเวลาเหตุการบิน (Jet Lag).สืบค้นเมื่อวันที่ 21 กรกฎาคม 2560. จาก http://haamor.com/th/เจทแลค
-
7430 jet lag อาการที่อาจารเกิดขึ้นหลังจากการเดินทางไกล /index.php/article-chemistry/item/7430-jet-lagเพิ่มในรายการโปรด