อาณาจักรไวรา
นอกจากสิ่งมีชีวิตกลุ่มต่าง ๆ แล้วยังมีกลุ่มไวรัสซึ่งเป็นกลุ่มที่ไม่สามารถจัดเข้ากลุ่มใดที่กล่าวมาแล้วได้ เราเรียกสิ่งมีชีวิตกลุ่มนี้ว่า อาณาจักรไวราหรือวิสา (Kingdom Vira)
ไวรัส (Virus) หมายถึง สารที่เป็นพิษ ต่อมาได้ให้ความหมายใหม่ว่า ไวรัส หมายถึง สิ่งมีชีวิตขนาดเล็กที่มีลักษณะเป็นอนุภาคมีสารพันธุกรรมเป็น DNA หรือ RNA อย่างใดอย่างหนึ่ง มีการสืบพันธุ์ภายในเซลล์สิ่งมีชีวิตโดยใช้สารประกอบต่าง ๆ ภายในเซลล์ เพื่อการสังเคราะห์ไวรัสใหม่ขึ้นมา และสามารถถ่ายทอดไปสู่เซลล์อื่น ๆ ได้ ไวรัสเป็นจุลินทรีย์ที่มีขนาดเล็กมากไม่จัดเป็นโพรทิสต์เพราะไม่จัดเป็นเซลล์ไวรัสเป็นเพียงอนุภาคที่เรียกว่า ไวริออน (Virion) ซึ่งประกอบด้วย กรดนิวคลีอิกชนิดหนึ่ง (DNA หรือ RNA) ไม่มีกระบวนการเมแทบอลิซึม จึงต้องอาศัยพลังงานจากสิ่งมีชีวิตอื่น
ภาพที่ 1 ภาพตัวอย่างไวรัส
ที่มา: https://pixabay.com/, PIRO4D.
ภาพที่ 2 ชนิดและรูปทรงของไวรัสชนิดต่าง ๆ
ที่มา: https://www.freepik.com/free-vector/close-up-isolated-object-different-types-virus_7431841.htm, brgfx
ลักษณะสำคัญของไวรัส
-
มีขนาดเล็กมากประมาณ 10-300 นาโนเมตร ต้องขยายด้วยกล้องจุลทรรศน์แบบอิเล็กตรอน (electron microscope) ที่กำลังขยายมากกว่าหนึ่งแสนเท่าจึงจะมองเห็น โครงสร้างยังไม่เป็นเซลล์โดยสมบูรณ์จึงเรียกไวรัสว่า อนุภาค (particle)
-
ประกอบด้วยกรดนิวคลีอิก 4 กลุ่ม คือ ชนิด DNA สายเดี่ยว DNA สายคู่ RNA สายเดี่ยว และ RNA สายคู่
-
เจริญเติบโตและสืบพันธุ์ได้ในสิ่งมีชีวิตชนิดอื่น
รูปร่างของไวรัส
รูปร่างของไวรัสมี 3 แบบ
-
แบบไอโคสะฮีดราล (icosahedral) ลักษณะเป็นรูปสามเหลี่ยม 2 รูปต่อกัน
-
แบบเชิงซ้อน (complex) รูปร่างปนกันสองแบบคือแบบหลายเหลี่ยม (polyhedral) และแบบเกลียว (helical)
-
แบบเกลียว (helical) เป็นแท่งยาวทั้งแคปโซเมอร์และกรดนิวคลีอิกเรียงตัวเป็นเกลียวคล้ายบันไดเวียน
ความทนทานของไวรัส
ไวรัสเป็นจุลินทรีย์ที่ไม่ทนทาน เพราะไม่มีสิ่งที่จะห่อหุ้มเช่นผนังเชลด์ที่แข็งแรง ส่วนใหญ่ไวรัสจะถูกทำลายหรือเสียสภาพไปเมื่อนำมาทิ้งไว้ที่อุณหภูมิห้อง ความเย็นไวรัสบางชนิดทนความเย็นได้ถึง -75 องศาเซลเซียส ความร้อนไวรัสบางชนิดอาจตายได้ในอุณหภูมิสูง 33-56 องศาเซลเซียส นาน 35 นาที
โครงสร้างของไวรัส
ไวรัสมีโครงสร้างประกอบด้วย
-
แกน (Core) ประกอบด้วย กรดนิวคลีอิกชนิด DNA หรือ RNA
-
แคปชิด (capsid) หุ้มรอบแกน ประกอบด้วย โปรตีนหน่วยย่อย แต่ละหน่วยเรียกว่า แคปโซเมอร์ (capsomer)
-
เปลือกหุ้ม (envelope) มีเฉพาะไวรัสบางชนิดเป็นสารอินทรีย์ที่มีส่วนแตกต่างกันออกไป
ไวรัสจะต้องใช้เอนไซม์รวมทั้งกลไกต่าง ๆ ในเซลล์สิ่งมีชีวิตสร้างสิ่งต่าง ๆ ของไวรัสไวรัส 1 ตัวเข้าสู่เซลล์ทำให้ได้ไวรัสใหม่ 10 ตัวเรียกกระบวนการสร้างลูกหลานไวรัสนี้ว่า“ Multiplication”
แบ่งเป็นพวกตาม“ host” คือเจ้าบ้านที่ไวรัสอยู่
-
ไวรัสของแบคทีเรีย (bacteriophage)
-
ไวรัสของรา (fungal virus).
-
ไวรัสของพืช (plant virus)
-
ไวรัสของสัตว์ (animal virus)
-
ไวรัสของคน (animal virus)
การจำแนกหมวดหมู่ของไวรัส
การจำแนกหมวดหมู่ของไวรัสในปัจจุบันใช้หลักเกณฑ์ที่สำคัญดังนี้
-
ลักษณะกรดนิวคลีอิก เช่น เป็น DNA สายเดี่ยวหรือสายคู่ หรือเป็น RNA สายเดี่ยวหรือสายคู่
-
โครงสร้างของอนุภาคเช่นมีรูปร่างแบบ helical, icosahedral หรือ complex
-
การมีหรือไม่มี envelope ห่อหุ้ม
-
จำนวนของ capsomere
-
ขนาดของอนุภาค
-
ตำแหน่งที่มีการทวีจำนวนในเซลล์เช่นนิวเคลียสหรือไซโตปลาสซึม
-
การทนหรือถูกทำลายได้ง่ายด้วยสารเคมีและสภาวะทางกายภาพ
นอกจากนี้ยังอาจใช้ลักษณะอื่น ๆ เข้าร่วมในการจำแนกด้วย เช่น สมบัติในการเป็น immunogen การถ่ายทอดโรค และลักษณะของผู้ให้อาศัย เป็นต้น จากหลักเกณฑ์ดังกล่าวแล้วได้นำมาจัดจำแนกหมวดหมู่ของไวรัสที่ทำให้เกิดโรคกับมนุษย์และสัตว์ได้เป็น 16 กลุ่มโดยเป็นไวรัสทที่มีกรดนิวคลีอิกชนิด DNA จำนวน 5 กลุ่ม และชนิด RNA จำนวน 11 กลุ่ม นอกจากนี้ยังได้จัดไวรอยด์ไว้เป็นกลุ่มเดียวกันไวรัสอีกด้วย
ไวรัสเป็นสาเหตุของการเกิดโรคต่าง ๆ ทั้งในพืชและคน เช่น โรคใบด่างของยาสูบ โรคใบหงิกของพริก โรคแคระแกร็นในต้นข้าว ส่วนโรคที่เกิดกับคน เช่น คางทูม ไข้หวัดใหญ่ หัด ฝีดาษ ตับอักเสบ อีสุกอีใส โรคไขสันหลังอักเสบ (โปลิโอ) โรคพิษสุนัขบ้า งูสวัด โรคเอดส์ หัดเยอรมัน เป็นต้น
โรคที่เกิดจากไวรัส
ตัวอย่างโรคที่มีสาเหตุมาจากเชื้อไวรัส เช่น เอดส์ (HIV) หัด อีสุกอีใส คางทูม ไข้หวัด ไข้หวัดใหญ่ โรคกลัวน้ำ (โรคพิษสุนัขบ้า) โปลิโอ (ไขสันหลังอักเสบ) ฝีดาษ (ไข้ทรพิษ) ไข้เลือดออก ตาแดง ไข้เหลือง โรคใบด่างของยาสูบ โรคไบหงิกของพริก โรคแคระแกร็นในต้นข้าว โรคปากเปื่อยเท้าเปื่อยของสัตว์ โรคไวรัส MBV (Monodon Baculo Virus) ในกุ้งกุลาดำ ฯลฯ
แหล่งที่มา
เกษม ศรีพงษ์ และกิตติศักดิ์ ศรีพงษ์. (มปพ). ชีววิทยา ม.6 เล่ม 5. กรุงเทพฯ: ภูมิบัณฑิตการพิมพ์.
นงลักษณ์ สุวรรณพินิจ และปรีชา สุวรรณพินิจ. (2544). จุลชีววิทยาทั่วไป. พิมพ์ครั้งที่ 3. กรุงเทพฯ:สำนักพิมพ์แห่งจุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย.
บัญญัติ สุขศรีงาม. (มปพ). จุลชีววิทยาทั่วไป. พิมพ์ครั้งที่ 3. กรุงเทพฯ: โอ.เอส.พริ้นติ้ง เฮ้าส์.
ปรีชา สุวรรณพินิจ และนงลักษณ์ สุวรรณพินิจ. (2556). High School Biology ชีววิทยา ม.4-6 เล่ม 5(รายวิชาเพิ่มเติม). กรุงเทพฯ: ไฮเอ็ดพับลิชชิ่ง.
เสนอ อมตเวทย์. (มปพ). Road to University ชีววิทยา. กรุงเทพฯ: อักษรเจริญทัศน์ อจท.
-
11673 อาณาจักรไวรา /lesson-biology/item/11673-2020-06-30-07-30-57เพิ่มในรายการโปรด
-
คำที่เกี่ยวข้อง