ฮอร์โมน (Hormone)
- 1. การแนะนำ
- 2. ฮอร์โมนจากต่อมไร้ท่อที่สำคัญของร่างกาย
- 3. ฮอร์โมนจากต่อมใต้สมองส่วนหน้า (1)
- 4. ฮอร์โมนจากต่อมใต้สมองส่วนหน้า (2)
- 5. ฮอร์โมนจากต่อมใต้สมองส่วนกลางและส่วนหลัง
- 6. ฮอร์โมนจากไอส์เลตออฟแลงเกอร์ฮานส์ (Islet Of Langerhans)
- 7. ฮอร์โมนจากอะดรีนัลคอร์เท็กซ์ และ อะดรีนัลเมดัลลา
- 8. ฮอร์โมนจากต่อมไทรอยด์ (Thyroid Gland) และต่อมพาราไทรอยด์
- 9. ฮอร์โมนจากอวัยวะสืบพันธุ์
- 10. ฮอร์โมนต่อมไพเนียล
- 11. ฮอร์โมนจากต่อมไทมัสและเนื้อเยื่ออื่นในร่างกาย
- - ทุกหน้า -
ฮอร์โมน (Hormone)
ฮอร์โมนส่วนใหญ่เป็นสารพวกโปรตีน เอมีน และสเตรอยด์ที่ผลิตจากต่อมไร้ท่อ(Endocrine gland)ร่างกายสร้างและลำเลียงสารเคมีเหล่านี้ไปตามกระแสเลือดไปสู่อวัยวะเป้าหมายเพื่อทำหน้าที่ควบคุมการทำงานของระบบต่างๆในร่างกาย
ฮอร์โมน (Hormone)
การทดลองของ อาร์โนล เอ เบอร์โทลด์ (Arnold A.Berthold) ในปี พ.ศ. 2391 เพื่อศึกษาการเปลี่ยนแปลงทางสรีรวิทยาของลูกไก่ตัวผู้ โดยแบ่งชุดการทดลองดังนี้
ชุดที่1ให้ไก่เจริญตามปกติ
ชุดที่2ตัดอัณฑะลูกไก่ออก สังเกตลักษณะของลูกไก่จนเจริญเป็นตัวเต็มวัย พบว่าไก่เมื่อโตเต็มวัยจะมีลักษณะคล้ายกับไก่ตัวเมีย คือ มีหงอนและเหนียงคอสั้น ขนหางสั้นและนิสัยไม่ค่อยต่อสู้กับไก่ตัวอื่น ๆ
ชุดที่3ตัดอัณฑะลูกไก่ออกจากนั้นนำอัณฑะของลูกไก่อีกตัวหนึ่งมาปลูกถ่ายลงในบริเวณช่องท้องในตำแหน่งที่ต่ำกว่าตำแหน่งอัณฑะเดิม โดยอัณฑะใหม่มีเส้นเลือดมาหล่อเลี้ยงและสามารถทำงานได้ เมื่อสังเกตลักษณะของลูกไก่ที่ทดลองจนเจริญเป็นตัวเต็มวัย พบว่าไก่ตัวนี้มีลักษณะคล้ายกับไก่หนุ่มปกติทั่วไป คือ มีหงอนและเหนียงคอยาว ขนหางยาวและมีนิสัยรักต่อสู้กับไก่ตัวอื่น ๆ ปราดเปรียว
** ต่อมาทราบว่า อัณฑะไก่จะผลิตสารเคมีชนิดหนึ่งออกมาแล้วลำเลียงไปตามระบบหมุนเวียนเลือด สารเคมีนี้ทำหน้าที่ควบคุมลักษณะของการเป็นไก่ตัวผู้ สารเคมีดังกล่าวคือฮอร์โมน
ฮอร์โมน(Hormone)คือ สารเคมีที่สร้างจากเนื้อเยื่อหรือต่อมไร้ท่อ ถูกลำเลียงไปตามระบบหมุนเวียนของโลหิต เพื่อทำหน้าที่ ควบคุมการเจริญเติบโต ควบคุมลักษณะทางเพศ และควบคุมการทำงานของระบบต่าง ๆ ในร่างกาย
กลับไปที่เนื้อหา
ฮอร์โมนจากต่อมไร้ท่อที่สำคัญของร่างกายแบ่งออกเป็น 2 กลุ่มใหญ่ ๆ คือ
กลุ่มที่ร่างกายขาดไม่ได้(Essential endocrine gland)หากตัดต่อมเหล่านี้ออกจะทำให้ตายได้ในเวลาอันสั้น ได้แก่ ต่อมไธรอยด์ (Thyroid gland) ต่อมพาราไธรอยด์ (Parathyroid glad) ต่อมหมวกไตส่วนนอก (Adrenal gland) ไอส์เลตออฟแลงเกอร์ฮานส์ (Islets of Langerhans) ที่ตับอ่อน
พวกที่ร่างกายพอจะขาดได้(Non-essential endocrine gland)หากตัดออกขณะที่ร่างกายเจริญเต็มที่แล้ว มีผลกระทบต่อร่างกายบ้าง แต่ไม่มาก แต่ถ้าหากตัดออกเมื่อร่างกายกำลังเจริญเติบโตจะมีผลกระทบมาก ได้แก่ ต่อมไพเนียล (Pineal gland หรือEpiphysis) ต่อมใต้สมอง (Pituitary gland) ต่อมหมวกไตส่วนใน (Adrenal gland) อัณฑะ (Testis) และรังไข่ (Ovary)
กลับไปที่เนื้อหา
โกรทฮอร์โมน (Growth hormone; GH)หรือ โซมาโตรโทรฟิน (Somatotrophin/ somatotrophic hormone; STH) มีหน้าที่ควบคุมการเจริญเติบโตของร่างกายให้เป็นปกติ (การแบ่งเชลล์ การสังเคราะห์โปรตีนและสร้างกระดูก กระตุ้นการทำงานของเซลล์สร้างกระดูก (Osteoblast)) มีผลต่อเมแทบอลิซึมของคาร์โบไฮเดรตและไขมัน กระตุ้นการสลายไกลโคเจนเป็นกลูโคส เด็กที่กำลังเจริญเติบโตมีฮอร์โมนนี้สูงกว่าในผู้ใหญ่
อวัยวะเป้าหมาย --> ทุกเซลล์ของร่างกาย
ความผิดปกติของร่างกายจากปริมาณ GH สูงหรือต่ำเกินไป
- ขาด GH ในเด็ก ทำให้เด็กนั้นไม่โต รูปร่างเตี้ยแคระแกรน เรียกลักษณะนี้ว่า คนเตี้ยแคระ (Dwarfism) ขาด GHในผู้ใหญ่ จะไม่แสดงอาการสำคัญที่เห็นเด่นชัด แต่มักจะมีน้ำตาลในเลือดน้อยกว่าคนการขาด GH ในวัยผู้ใหญ่ทำให้เกิด Simmonds disease ทำให้เนื้อเยื่อต่างๆเหี่ยวแห้งหรือเหี่ยวย่น
- ได้รับ GHมากเกินไปในเด็กทำให้ร่างกายสูงใหญ่ผิดปกติเรียกว่า โรคยักษ์ (Gigantism) ในผู้ใหญ่มักจะเกิดอาการเติบโตเฉพาะกระดูกบางส่วนของร่างกายจะเพิ่มมากขึ้นผิดปกติ เรียกอาการนี้ว่า อะโครเมกาลี (Acromegaly)
โกนาโดโทรฟิน(Gonadotropin / Gonadotrophic hormone)ประกอบด้วยฮอร์โมน 2 ชนิด คือ ฟอลลิเคิล สติมิวเลติงฮอร์โมน (follicle stimulating hormone; FSH) และลูทิไนซิงฮอร์โมน (Lutinizing hormone; LH)
เพศหญิง --> FSH จะกระตุ้นการเจริญเติบโตของฟอลลิเคิล (Ovarian follicle) ออกฤทธิ์ร่วมกับ LH ให้สร้างและหลั่งฮอร์โมนอีสโทรเจน (estrogen)
--> LH กระตุ้นให้ไข่สุกและการตกไข่ หลังการตกไข่จะช่วยกระตุ้นให้เซลล์ในฟอลลิเคิลให้กลายเป็นคอร์ปัสลูเทียม (corpus luteum) เพื่อสร้างฮอร์โมนโพรเจสเทอโรน (progesterone) ซึ่งมีผลต่อการเปลี่ยนแปลงของเยื่อบุมดลูกเพื่อรองรับการฝังตัวของเอ็มบริโอ
เพศชาย -->FSH กระตุ้นการเจริญเติบโตของหลอดสร้างอสุจิ (seminiferous tubule) ในอัณฑะและกระตุ้นการสร้างอสุจิ (Spermatogenesis)
--> LH กระตุ้นกลุ่มอินเตอร์สติเชียลเซลล์ของอัณฑะให้สร้างและหลั่งฮอร์โมนเทสโทสเทอโรน (Testosterone) เรียกอีกชื่อหนึ่งว่า ฮอร์โมนกระตุ้นอินเตอร์สติเชียล (interstitial cell stimulating hormone หรือ ICSH)
กลับไปที่เนื้อหา
ฮอร์โมนโพรแลกติน (Prolactin)เป็นโปรตีนฮอร์โมนพบทั้งเพศหญิงและชาย
เพศหญิง--> ปริมาณสูงสุดตอนคลอดบุตร ทำงานร่วมกับ LH estrogen และprogesterone กระตุ้นต่อมน้ำนมให้มีการสร้างน้ำนม รักษาคอร์ปัสลูเทียมไม่ให้สลายไปและยับยั้งการหลั่งสารที่มากระตุ้นการสร้างโกนาโดโทรฟิน ซึ่งสร้างมาจากเซลล์ไฮโปทาลามัสจึงทำให้ผู้หญิงส่วนใหญ่ที่ยังให้นมบุตรไม่มีการตกไข่
เพศชาย-->ไม่ทราบบทบาทที่แน่ชัด แต่มีรายงานว่าทำหน้าที่ร่วมกับฮอร์โมนเพศชายกระตุ้นอวัยวะที่เกี่ยวข้องกับการสืบพันธุ์ ในสัตว์ปีกมีผลต่อการกระตุ้นให้เกิดพฤติกรรมการเลี้ยงดูตัวอ่อน
ฮอร์โมนอะดรีโนคอร์ติโคโทรฟิน(Adrenocorticotropic hormone; ACTH) กระตุ้นการเจริญเติบโต การสร้างและหลั่งฮอร์โมนของต่อมหมวกไตส่วนนอก กระตุ้นการหลั่งอินซูลิน (insulin) และ GH จากต่อมใต้สมอง กระตุ้นการกระจายตัวของรงควัตถุเมลานินใต้ผิวหนังของสัตว์เลือดเย็น
ฮอร์โมนไทรอยด์(Thyroid stimulating hormone; TSH)
กระตุ้นต่อมไทรอยด์ให้สร้างและหลั่ง triiodothyronine หรือ T3และ thyroxine หรือ T4และควบคุมขนาดของต่อมไทรอยด์
***การหลั่งฮอร์โมนของต่อมใต้สมองส่วนหน้า ถูกควบคุมโดยฮอร์โมนที่สร้างจากสมองส่วนไฮโพทาลามัสซึ่งฮอร์โมนเหล่านี้เป็นพอลิเพบไทด์โมเลกุลเล็ก เรียกชื่อตามผลที่แสดงออกต่อการสร้างฮอร์โมนของต่อมใต้สมองส่วนหน้า มีทั้งฮอร์โมนที่กระตุ้นและยับยั้ง
--> โกรทฮอร์โมนรีลิสซิงฮอร์โมน (Growth hormone releasing hormone ; GHRH) กระตุ้นการหลั่ง GH
--> โกรทฮอร์โมนอินฮิบิติงฮอร์โมน (Growth hormone inhibiting hormone ; GHIH) ยับยั้งการหลั่ง GH
--> ไทรอยด์รีลิสซิงฮอร์โมน (Thyroid releasing hormone ; TRH ) กระตุ้นการหลั่ง TSH ของต่อมใต้สมองส่วนหน้า
เรียกรวมว่า ฮอร์โมนประสาท เพราะสร้างมาจากเซลล์ประสาท คือ นิวโรซีครีทอรีเซลล์ (Neurosecretory cell) ภายในสมองส่วนไฮโพทาลามัส การหลั่งฮอร์โมนเหล่านี้อาจเกิดจากสิ่งเร้าภายนอก เช่น แสงสว่าง อุณหภูมิ หรือจากสิ่งเร้าภายในร่างกาย ****
กลับไปที่เนื้อหา
ต่อมใต้สมองส่วนกลาง สร้างฮอร์โมนชนิดเดียว คือเมลาโนไซต์สติมูเลติงฮอร์โมน หรือฮอร์โมนกระตุ้นเมลาโนไซด์ (Melanocyte stimulating hormone; MSH) หรืออาจเรียกว่า เมลาโนโทรฟิน (Melanotrophin) มีหน้าที่กระตุ้นการสังเคราะห์รงควัตถุสีน้ำตาลที่เรียกว่า เมลานิน (Melanin) ในเซลล์เมลาโนไซต์ (Melanocyte) ที่ผิวหนัง
ฮอร์โมนจากต่อมใต้สมองส่วนหลังหรือนิวโรไฮโพไฟซิส ไม่ได้สร้างฮอร์โมนเอง แต่สร้างมาจากนิวโรซีครีทอรีเซลล์ (Neurosecretory cell) ของไฮโพทาลามัส โดยกลุ่มเซลล์ประสาทเหล่านี้จะมีแอกซอนมาสิ้นสุดกับภายในต่อมใต้สมองส่วนหลัง และปล่อยฮอร์โมนที่ปลายแอกซอนในต่อมใต้สมองส่วนหลังก่อน จากนั้นจึงนำไปส่วนต่าง ๆ ของร่างกายทางกระแสเลือด มี 2 ชนิด คือ
- วาโซเพรสซิน (Vasopressin) หรือ ฮอร์โมนแอนติไดยูเรติก (antidiuretic hormone)มีหน้าที่ควบคุมการดูดน้ำกลับของท่อหน่วยไต และกระตุ้นให้เส้นเลือดบีบตัวเพื่อเป็นการควบคุมสมดุลน้ำภายในร่างกาย
- ออกซิโทซิน (oxytocin)มีหน้าที่กระตุ้นการหดตัวของกล้ามเนื้อเรียบหลายชนิด ในเพศหญิงฮอร์โมนนี้ช่วยให้คลอดลูกง่ายขึ้น โดยกระตุ้นให้กล้ามเนื้อมดลูกให้หดตัว และช่วยในการหลั่งน้ำนม เนื่องจากขณะให้นมบุตร มีการกระตุ้นให้เกิดการหดตัวของกล้ามเนื้อเรียบภายในเต้านมให้หลังน้ำนมออกมามากขึ้น
กลับไปที่เนื้อหา
ไอส์เลตออฟแลงเกอร์ฮานส์ (Islet of Langerhans)เป็นกลุ่มเซลล์ที่อยู่ในตับอ่อน ค้นพบโดย พอล แลงเกอร์ฮาน (PaulLangerhans) ซึ่งสังเกตเห็นกลุ่มเซลล์กลุ่มหนึ่งกระจายอยู่ในตับอ่อนเป็นหย่อมๆ มีเลือดมาหล่อเลี้ยงมาก ต่อมาจึงเรียกกลุ่มเซลล์เหล่านั้นเพื่อให้เกียรติแก่ผู้ค้นพบว่าไอเลตออฟแลงเกอร์ฮานส์(islet of Langerhans) ต่อมาโยอันน์ วอน เมอริง (Johann von Mering) และออสกา มินคอฟสกิ (Oscar minkovski) แสดงให้เห็นว่าการตัดตับอ่อนออกจากร่างกายของสุนัขมีผลต่อการย่อยอาหารประเภทไขมันและทำให้ปัสสาวะของสุนัขนั้นมีมดขึ้น และต่อมาสุนัขก็ตาย
ในปี พ.ศ. 2455 ได้มีผู้ทดลองให้เห็นว่ากลุ่มเซลล์ไอส์เลตออฟแลงเกอรฮานส์ ผลิตสารบางอย่างผ่านมาทางกระแสเลือดและให้ชื่อว่า อินซูลิน
ต่อมาในปี พ.ศ. 2463 เอฟ จี แบนติง (F.G. Banting) และซี เอช เบสต์ (C.H. Best) ทำการทดลองมัดท่อตับอ่อนของสุนัข ผลปรากฏว่าตับอ่อนไม่สามารถสร้างเอนไซม์ได้อีก แต่ระดับน้ำตาลในเลือดยังปกติ และได้สกัดสารจากกลุ่มเซลล์ไอส์เลตออฟแลงเกอร์ฮานออกมา แล้วนำสารนี้ไปฉีดให้กับสุนัขที่เป็นโรคเบาหวานภายหลังจากตัดตับอ่อนออกแล้วปรากฎว่าสุนัขมีชีวิตอยู่เป็นปกติและสามารถลดระดับน้ำตาลในเลือดลงได้ แบนติงและเบสต์จึงประสบความสำเร็จในการสกัดสารอินซูลินออกมาได้ ซึ่งถือเป็นการค้นพบที่ยิ่งใหญ่ที่สุดครั้งหนึ่งในประวัติ จากผลการศึกษานี้ทำให้เกิดประโยชน์อย่างกว้างขวาง ช่วยชีวิตคนเป็นจำนวนมาก
** การศึกษาต่อมาพบว่าฮอร์โมนที่สำคัญที่ผลลิตจากไอส์เลตออฟแลงเกอร์ฮานมี 2 ชนิดคืออินซูลินและกลูคากอน
ฮอร์โมนอินซูลิน (Insulin)สร้างจากกลุ่มเบตาเซลล์ (beta cell / ß - cell) ซึ่งอยู่บริเวณส่วนกลางของไอส์เลตออฟแลงเกอร์ฮาน ทำหน้าที่รักษาระดับน้ำตาลในเลือดให้ปกติเมื่อปริมาณน้ำตาลในเลือดสูง เร่งการสร้างไกโคเจนเพื่อเก็บสะสมไว้ที่ตับและกล้ามเนื้อ และเร่งการใช้กลูโคสของเซลล์ทั่วไป
คนปกติจะมีระดับน้ำตาลในเลือดประมาณ 90-100 มิลลิกรัมต่อเลือด 100 ลูกบาศก์เซนติเมตร เมื่อรับประทานอาหารพวกคาร์โบไฮเดรตเข้าไปปริมาณน้ำตาลในเลือดจะสูงขึ้นถึง 140 มิลลิกรัมต่อเลือด 100 ลูกบาศก์เซนติเมตร ในเวลาครึ่งชั่วโมงและจะลดลงมาถึงระดับปกติในเวลาประมาณ 1 ชั่วโมง ซึ่งอินซูลินจะหลั่งออกมาเมื่อน้ำตาลในเส้นเลือด ขณะที่มีการออกกำลังกายอย่างหนัก ต้องใช้พลังงานมาก ไกลโคเจนที่เก็บไว้ในตับและกล้ามเนื้อได้ถูกเปลี่ยนเป็นกลูโคสส่งเข้ามาในกระแสเลือดทำให้น้ำตาลในเลือดสูงกว่าปกติเล็กน้อย แต่ระดับน้ำตาลยังไม่ต่างจากระดับปกติมากนัก
ความผิดปกติเนื่องจากอินซูลิน
- โรคเบาหวาน (Diabetes mellitus) --> มีปริมาณฮอร์โมนอินซูลินน้อย ระดับน้ำตาลในเลือดสูงกว่าคนปกติ ซึ่งสามารถทำลายเบต้าเซลล์ได้ ทำให้ขาดอินซูลิน ร่างกายจะไม่สามารถนำน้ำตาลในเลือดมาใช้ได้ แล้วจะสลายไกลโคเจนที่สะสมไว้ออกมาใช้จึงทำให้ระดับน้ำตาลในเลือดสูงมากจึงเกิดโรคเบาหวาน โรคนี้พบทุกเพศทุกวัย อาจมีสาเหตุมาจากพันธุกรรม อายุ ความเครียด ความอ้วน การอักเสบที่ตับอ่อนจากเชื้อไวรัสหรือยาบางชนิด เป็นต้น
อาการ
- ปัสสาวะบ่อยและมาก เนื่องจากท่อหน่วยไตไม่สามารถดูดน้ำตาลกลับได้หมด จึงถูกขับออกมาพร้อมปัสสาวะ (โมเลกุลของน้ำตาลจะดึงโมเลกุลของน้ำมาด้วย) บางครั้งปัสสาวะอาจมีมดขึ้น มีผลให้กระหายน้ำมากและบ่อยผิดปกติ
- แผลจะหายอยาก มีอาการคันบริเวณอวัยวะสืบพันธุ์และผิวหนัง เพราะน้ำตาลเป็นอาหารของแบคทีเรียอย่างดี
- น้ำหนักตัวลด อ่อนเพลีย เซื่องซึม เมื่อยล่า เนื่องจากร่างกายไม่สามารถใช้พลังงานจากกลูโคสได้ จึงใช้ไขมันและโปรตีนแทน
- เลือดและปัสสาวะมีฤทธิ์เป็นกรดมากกว่าปกติ เนื่องจากมีสารคีโตน (ketone body) จากการสลายไขมันและถ้าเป็นโรคเบาหวานนาน ๆ อาจจะทำให้ตาบอดและไตจะค่อย ๆ หมดสภาพในการทำงาน
**โรคเบาหวานมี2แบบ คือ โรคเบาหวานที่เกิดจากตับอ่อนไม่สามารถสร้างฮอร์โมนอินซูลินได้เลย และโรคเบาหวานที่เกิดจากเซลล์ของร่างกายไม่สังเคราะห์ตัวรับอินซูลิน (หน่วยรับเฉพาะ) **
การรักษาโรคเบาหวาน --> การฉีดอินซูลินและการระมัดระวังในการรับประทานอาหารการฉีดฮอร์โมนเข้าไปจะทำให้ร่างกายสามารถดำรงสภาพปกติอยู่ได้ หรืออาการผิดปกติทุเลาลงได้ แต่มักไม่หายขาด
ฮอร์โมนกลูคากอน (glucagon)สร้างจากแอลฟาเซลล์ (alpha cell / a-cell) ขนาดใหญ่และมีจำนวนน้อยกว่าเบตาเซล์ มีหน้าที่ตรงข้ามกับอินซูลิน การขาดกลูคากอนมักจะไม่มีผลต่อร่างกายมากนัก เนื่องจากร่างกายมีฮอร์โมนอีกหลายตัวที่ทำหน้าที่แทนอยู่แล้ว
** การเปลี่ยนแปลงระดับน้ำตาลในเลือดจะเป็นสัญญาณยับยั้งและกระตุ้นการหลั่งอินซูลินและกลูคากอนจากไอส์เลตออฟแลงเกอร์ฮานส์ **
กลับไปที่เนื้อหา
อะดรีนัลคอร์เท็กซ์--> ฮอร์โมนที่ผลิตขึ้นมีสมบัติเป็นสเตรอยด์ ซึ่งร่างกายสังเคราะห์ได้จากคอเลสเทอรอล ได้แก่
- มิเนราโลคอร์ติคอยด์ฮอร์โมน (Mineralocorticoid hormone) มีหน้าที่ควบคุมสมดุลน้ำและเกลือแร่ในร่างกาย ฮอร์โมนที่สำคัญในกลุ่มนี้ คือ
- แอลโดสเตอร์โรน (aldosterone) ทำหน้าที่ควบคุมการดูดกลับของโซเดียมไอออน (Na+) และน้ำที่ท่อหน่วยไตเข้าสู่หลอดเลือด ขับโพแทสเซียมออกจากท่อหน่วยไตให้สมดุลกับความต้องการของร่างกาย และควบคุมสมดุลความเข้มข้นของฟอสเฟตในร่างกายอีกด้วย
- กลูโคคอร์ติคอยด์ ฮอร์โมน (Glucocortricoid hormone) มีผลต่อการควบคุมเมแทบอลิซึมของคาร์โบไฮเดรต เช่น ฮอร์โมนคอร์ติซอล (cortisol) มีหน้าที่เพิ่มปริมาณกลูโคสในเลือดให้สูงขึ้น
- ฮอร์โมนเพศ (Adrenal sex hormone) มีเพียงเล็กน้อยเมื่อเทียบกับฮอร์โมนเพศจากอวัยวะเพศ ฮอร์โมนเพศที่สร้าง เช่น แอนโดรเจน (ฮอร์โมนเพศชาย) และแอสโทรเจน (ฮอร์โมนเพศหญิง)
ความผิดปกติเนื่องจากฮอร์โมนอะดรีนัลคอร์เทกซ์
- ถ้าสร้างฮอร์โมนมากเกินไปโดยเฉพาะฮอร์โมนกลูโคคอร์ติคอยด์ จะทำให้เกิดคูชชิงซินโดรม (Cushing’s syndrome)
- ถ้าหากอะดรีนัลคอร์เทกซ์ ถูกทำลายจนไม่สามารถสร้างฮอร์โมนได้หรือต่อมทำงานได้น้อยกว่าปกติ (Hypofunction) จะทำให้เกิดโรคแอดดิสัน (Addison’s disease)
อะดรีนัลเมดัลลา (Adrenal medulla)--> กำเนิดจากเนื้อเยื่อประสาทซึ่งเป็นเนื้อเยื่อชั้นนอก และถูกควบคุมโดยระบบประสาทอัตโนวัติสร้างฮอร์โมน 2 ชนิด คือ
- อะดรีนาลินฮอร์โมน (Adrenalin hormone) หรือ แอพิเนฟรินฮอร์โมน (Epinephrine hormone)มีหน้าที่กระตุ้นให้ไกลโคเจนในตับสลายตัวเป็นกลูโคส กระตุ้นหัวใจให้เต้นเร็วขึ้น ความดันเลือดสูง เมแทบอลิซึมเพิ่มขึ้นมาก เป็นฮอร์โมนที่หลั่งออกมาเมื่อร่างกายอยู่ในสภาวะฉุกเฉิน
- นอร์อะดรีนาลินฮอร์โมน (Noradrenalin hormone) หรือนอร์เอพิเนฟรินฮอร์โมน (Norepinephrine hormone) ทำให้ความดันเลือดสูงขึ้น ทำให้หลอดเลือดที่ไปเลี้ยงอวัยวะต่างๆ บีบตัว การหลั่งฮอร์โมนจากต่อมหมวกไตส่วนนี้จะอยู่ภายใต้การควบคุมของไฮโพทาลามัส ปกติจะหลั่งฮอร์โมนทั้งสองชนิดในปริมาณที่เหมาะสมกับร่างกาย แต่สถานการณ์บางอย่างที่เกิดขึ้น เช่น คนขนของหนีไฟไหม้สามารถแบกของหนัก ๆ ได้
กลับไปที่เนื้อหา
ต่อมไทรอยด์มีลักษณะเป็นพู มี 2 พู มีรูปร่างคล้ายผีเสื้อกางปีก โดยตรงกลางมีเยื่อบาง ๆ (Isthmus) เชื่อมติดถึงกันได้ อยู่สองข้างของคอหอยบริเวณคอทางด้านหน้าของหลอดลม ภายในต่อมไทรอยด์ประกอบด้วยไทรอยด์ฟอลลิเคิลเป็นกลุ่มเซลล์กลม ๆ ชั้นเดียวที่เรียงตัวเป็นวงกลมภายในช่องกลวง มีสารคอลลอยด์ที่เรียกว่า ไทโรโกลบูลิน (เป็นโปรตีนที่มีไอโอดีนที่อยู่ในโมเลกุล) ซึ่งจะเปลี่ยนแปลงเป็นฮอร์โมนไทรอกซินและไตรไอโอโดไทโรนีนหลั่งสู่กระแสเลือด
ต่อมไทรอยด์แต่ละพูสร้างฮอร์โมน 2 ประเภท คือ
- ฮอรโมนที่มีสารประกอบไทโรนีนที่มีไอโอดีน ได้แก่ ไทรอกซิน (Thyroxine / Tetraiodothyronin; T4) กับ ไตรไอโอโดไทโรนิน (Triiodthyronine; T3) ทำหน้าที่ควบคุมเมแทบอลิซึมของร่างกายโดยเพิ่มอัตราเมตาโบลิซึมและการใช้ออกซิเจนของเซลล์ เพิ่มการสังเคราะห์โปรตีน และทำหน้าที่ร่วมกับ GH ในการควบคุมการเจริญเติบโตของร่างกาย ควบคุมการเจริญและพัฒนาของอวัยวะสืบพันธุ์ ควบคุมเมตามอร์โฟซิสของสัตว์ครึ่งบกครึ่งน้ำ ถ้าร่างกายคนขาดหรือมีไทรอกซินน้อยเกินไป จะทำให้มีเมตาโบลิซึมต่ำกว่าปกติการเจริญเติบโตของร่างกายและจิตใจด้อยลง
โรคที่มีสาเหตุมาจากความผิดปกติของไทรอกซิน ได้แก่ คอหอยพอกธรรมดา (Simple goiter), คอหอยพอกเป็นพิษ (Toxic goiter), มิกซีดีมา (myxedema), ครีตินิซึม (cretinism)
- ฮอร์โมนแคลซิโตนิน (Calcitonin) ซึ่งเป็นสารประกอบพวกโพลีเปปไทด์ ทำหน้าที่ ลดระดับแคลเซียมในเลือดที่สูงเกินไปให้เข้าสู่ระดับปกติและฮอร์โมนนี้ยังมีผลในการเร่งขับฟอสเฟตที่ไตด้วย
ฮอร์โมนจากต่อมพาราไทรอยด์
มีลักษณะเป็นก้อนกลมเล็ก ฝังอยู่ด้านหลังของเนื้อเยื่อไทรอยด์ในคนมีทั้งหมด 4 ต่อม ข้างละ 2 ต่อม เป็นต่อมขนาดเล็ก ฮอร์โมนสำคัญที่สร้างจากต่อมนี้ คือ
- ฮอร์โมนพาราทอร์โมน (Parathyroid hormone; PTH)ทำหน้าที่รักษาสมดุลของแคลเซียมในร่างกายให้คงที่ ถ้าหากมีฮอร์โมนนี้มากเกินไปจะมีผลทำให้เกิดการสะสมของแคลเซียมที่ไต ที่หลอดเลือด มีการดึงเอาแคลเซียมจากกระดูกและฟันออกมา ทำให้เกิดอาการกระดูกเปราะบางและหักง่าย ทำให้เป็นโรคกระดูกพรุน ฟันหักและผุง่าย
ถ้าต่อมพาราไทรอยด์บกพร่องไม่สามารถสร้างฮอร์โมนได้ จะมีผลทำให้สูญเสียการดูดกลับที่ท่อหน่วยไตลดลงทำให้สูญเสียแคลเซียมไปกับน้ำปัสสาวะและเป็นผลทำให้ระดับแคลเซียมในเลือดลดต่ำลงมาก กล้ามเนื้อจะเกิดอาการเกร็งและชักกระตุก แขนขาสั่น ปอดทำงานไม่ได้ อาการอาจหายไปเมื่อฉีดด้วยพาราทอร์โมนและให้วิตามินดีเข้าร่วมด้วย
กลับไปที่เนื้อหา
ฮอร์โมนที่สร้างเป็นสารพวกสเตอรอยด์ (Steroid hormone) แบ่งเป็น 2 กลุ่ม คือฮอร์โมนที่สร้างจากอวัยวะสืบพันธุ์ในเพศชายและฮอร์โมนที่สร้างจากอวัยวะสืบพันธุ์ในเพศหญิงโดยการกระตุ้นจาก FSH และ LH
ฮอร์โมนจากอวัยวะสืบพันธุ์ในเพศชาย-->แหล่งที่ทำหน้าที่สร้างฮอร์โมนในอัณฑะคืออินเตอร์สติเชียลเซลล์ (Interstitial cell) ฮอร์โมนที่สร้างคือ แอนโดเจน (Androgen) ประกอบด้วยฮอร์โมนหลายชนิดที่สำคัญที่สุด คือ เทสโทสเทอโรน (Testosterone) มีหน้าที่ควบคุมการเจริญเติบโตของอวัยวะสืบพันธุ์เพศชาย และควบคุมลักษณะขั้นที่สองของเพศชาย (Male secondary characteristic
ฮอร์โมนจากอวัยวะสืบพันธุ์ในเพศหญิง-->แหล่งสร้างฮอร์โมนเพศหญิง คือ รังไข่ ฮอร์โมนที่สร้าง ได้แก่
- อีสโทรเจน (Estrogen) สร้างจากฟอลิเคิล (Follicle) มีหน้าที่กระตุ้นการเจริญของฟอลลิเคิลควบคุมและควบคุมลักษณะขั้นที่สองของการเป็นเพศหญิง (Female secondary characteristic) กระตุ้นการเจริญของอวัยวะเพศ กระตุ้นมดลูก ท่อนำไข่ ควบคุมการการเปลี่ยนแปลงที่รังไข่และเยื่อบุมดลูก กระตุ้นการหลั่ง LH จากต่อมใต้สมองส่วนหน้าเพื่อให้มีการตกไข่ และร่วมกับฮอร์โมนโพรเจสเทอโรน กระตุ้นให้เกิดการหนาตัวของผนังมดลูกด้านในเพื่อเตรียมตั้งครรภ์
- โพรเจสเทอโรน (Progesterone) สร้างจากคอร์พัสลูเทียม (Corpuslutium) มีหน้าที่กระต้นให้ผนังด้านในมดลูกหนาตัวขึ้น (ร่วมกับอีสโทรเจน) ผนังมดลูกมีหลอดมาเลี้ยงมากเพื่อรอการฝังตัวของไข่ที่ปฏิสนธิแล้ว มีผลในการห้ามการมีประจำเดือน ห้ามการตกไข่ และกระตุ้นการเจริญของต่อมน้ำนม ถ้าหากไข่ที่ตกไม่ได้รับการผสมคอร์พัสลูเทียมจะค่อย ๆ สลายไป โพรเจสเทอโรนจึงลดต่ำลง จึงไม่มีฮอร์โมนไปกระตุ้นมดลูก ทำให้ผนังของมดลูกหลุดออกมาเป็นเลือดประจำเดือน
เอ็มบริโอฝังตัวที่ผนังมดลูกมีการสร้างรก (Placentra) เชื่อมติดต่อระหว่างเยื่อหุ้มเอ็มบริโอกับเนื้อเยื่อชั้นในผนังมดลูกซึ่งทำหน้าที่สร้างฮอร์โมน HCG (Human chorionic gonadotropin) มีหน้าที่รักษาสภาพของ corpuslutium ในรังไข่สร้างฮอร์โมนโพรเจสเทอโรน ซึ่ง HCG ถูกขับออกมาจากน้ำปัสสาวะ จึงสามารถใช้เป็นตัวตรวจสอบการตั้งครรภ์
กลับไปที่เนื้อหา
ต่อมไพเนียล (pineal gland) หรือต่อมเหนือสมอง (epiphysis) อยู่บริเวณกึ่งกลางระหว่างรอยต่อของสมองส่วนซีรีบรัมซ้ายและขวา ฮอร์โมนที่สร้างจากต่อมนี้คือ ฮอร์โมนเมลาโทนิน (Melatonin) โดยเมลาโทนินจะไปยับยั้งการเจริญของรังไข่และอัณฑะ และไปยับยั้งการหลั่งโกนาโดโทรฟิน ทำให้การเติบโตเป็นหนุ่มสาวช้า ในสัตว์ครึ่งบกครึ่งนํ้าและสัตว์เลื้อยคลานบางชนิด พบว่าฮอร์โมนเมลาโทนินมีผลทำให้สีผิวของสัตว์มีสีจางลง โดยต่อมไพเนียลจะทำหน้าที่เป็นกลุ่มเชลล์รับแสงคล้าย ๆ เนื้อเยื่อเรตินาของ ฮอร์โมนชนิดนี้จะทำงานตรงข้ามกับฮอร์โมน MSH จากต่อมใต้สมองส่วนกลาง
กลับไปที่เนื้อหา
ต่อมไทมัส(Thymus gland) -มีลักษณะเป็นพู 2 พูอยู่บริเวณทรวงอกรอบหลอดเลือดใหญ่ของหัวใจ (บริเวณขั้วหัวใจ) ต่อมนี้สร้างฮอร์โมนไทโมซิน (Thymosin)มีหน้าที่กระตุ้นต่อมให้เนื้อเยื่อต่อมไทมัสสร้างลิมโฟไซต์ชนิดเซลล์ที (T-lymphocyte) หรือเซลล์ที (T-cell) ซึ่งเป็นเซลล์ที่สำคัญในระบบภูมิคุ้มกันของร่างกาย
แกสทริน(Gastrin)สร้างจากเนื้อเยื่อชั้นในของกระเพาะอาหาร มีหน้าที่กระตุ้นให้เกิดการหลั่งกรดไฮโดรคลอริกและเอนไซม์ และการหลั่งเอนไซม์จากตับอ่อน ควบคุมการเคลื่อนไหวของกระเพาะอาหารและลำไส้เล็ก
ซีครีทิน(Secretin)สร้างมาจากเนื้อเยื่อชั้นในของลำไส้เล็กบริเวณดูโอดีนัม โดยซีครีทินจะกระตุ้นให้ตับอ่อนหลั่งเอนไซม์และตับให้หลั่งน้ำดี
โคเลซีสโตไคนินและแพนคลีโอไซมิน(Cholecystokinin; CCKand pancreozymin)สร้างมาจากลำไส้เล็ก มีหน้าที่กระตุ้นการสร้างและหลั่งน้ำย่อยจากตับอ่อนและกระตุ้นการหดตัวของถุงน้ำดี
เอนเทอโรแกสโทน(Enterogastron)สร้างมาจากส่วนของลำไส้เล็กส่วนต้นและส่วนกลาง ทำหน้าที่ลดการเคลื่อนไหวของกระเพาะอาหาร ทำให้อาหารผ่านลำไส้เล็กช้าลง โดยเฉพาะอาหารพวกไขมันและยังยับยั้งการขับน้ำย่อยของกระเพาะอาหารด้วย
กลับไปที่เนื้อหา
-
7020 ฮอร์โมน (Hormone) /lesson-biology/item/7020-hormoneเพิ่มในรายการโปรด
-
คำที่เกี่ยวข้อง