ระบบร่างกายมนุษย์ชั้น ป.6
อาหาร
สารอาหาร ( Nutrient ) หมายถึง สารเคมีที่เป็นส่วนประกอบในอาหาร การจำแนกสารอาหารตามหลักโภชนาการ จะพิจารณาจากปริมาณของสารอาหารที่มีอยู่ในอาหารนั้น ๆ มากที่สุดเป็นหลัก ซึ่งสามารถแบ่งเป็น 6 พวก คือ คาร์โบไฮเดรต ไขมัน วิตามิน โปรตีน แร่ธาตุ และ น้ำ สารอาหารทั้ง 6 ชนิดนี้จะมีอยู่ในอาหารหลัก 5 หมู่ ดังนี้
หมู่ 1 ได้แก่ เนื้อสัตว์ นม ไข่ ถั่วเมล็ดแห้ง และงา ให้สารอาหารประเภทโปรตีน
หมู่ 2 ได้แก่ ข้าว แป้ง เผือกมัน น้ำตาล ให้สารประเภทคาร์โบไฮเดรต
หมู่ 3 ได้แก่ พืชผักต่างๆ ให้สารอาหารประเภทวิตามินและแร่ธาตุเป็นหลัก
หมู่ 4 ได้แก่ ผลไม้ต่างๆ ให้สารอาหารประเภทวิตามินและแร่ธาตุ
หมู่ 5 ได้แก่ น้ำมันและไขมันจากพืชและสัตว์ ให้สารอาหารประเภทไขมัน
ระบบร่างกายมนุษย์
ที่มา ดัดแปลงจาก https://pixabay.com/ ,PublicDomainPictures
ประเภทของสารอาหาร
จำแนกโดยใช้ความสามารถในการให้พลังงานเป็นเกณฑ์ แบ่งเป็น 2 ประเภท คือ
- สารอาหารที่ให้พลังงาน
สารอาหารที่ให้พลังงานต่อร่างกาย ได้แก่ คาร์โบไฮเดรต ไขมัน และโปรตีน สารอาหารทั้งหมดในกลุ่มนี้เป็นสารอาหารหลักที่จำเป็นต่อร่างกาย และจะขาดไม่ได้
- คาร์โบไฮเดรต
ในอาหารแต่ละมื้อเราได้รับคาร์โบไฮเดรตถึง 50 % ในรูปของแป้ง ข้าวและน้ำตาล สารอาหารประเภทคาร์โบไฮเดรต เป็นสารอินทรีย์ที่ให้พลังงานที่สำคัญแก่ร่างกาย มักพบอยู่ในรูปแป้งและน้ำตาลเป็นส่วนใหญ่ คาร์โบไฮเดรต เป็นสารประกอบอินทรีย์ซึ่งที่มีคาร์บอน ไฮโดรเจน และออกซิเจนเป็นองค์ประกอบ
อาหารที่มีคาร์โบไฮเดรต ได้แก่ ข้าวเจ้า ข้าวเหนียว เผือกมัน มันสำปะหลัง มันฝรั่ง อ้อย ผัก และผลไม้บางชนิด ฯลฯ
จำแนกตามสมบัติทางกายภาพและทางเคมีได้ 2 ชนิด คือ
- น้ำตาล ได้แก่ คาร์โบไฮเดรตที่มีรสหวานและละลายน้ำได้ แบ่งเป็น 2 ชนิด คือ
1) น้ำตาลโมเลกุลเดี่ยว (monosaccharide) เป็นคาร์โบไฮเดรตที่มีโมเลกุลเล็กที่สุด มีรสหวานละลายน้ำได้ง่าย ร่างกายสามารถดูดซับไปใช้ได้ทันที ได้แก่ กลูโคส ( glucose) ที่พบในอาหารทั่วไปและมีมากในองุ่น ฟรักโทส ( fructose ) พบในเกสรดอกไม้ ผลไม้ ผัก น้ำผึ้ง หรืออาจปนอยู่ในกลูโคส และกาแลกโทส ( galactose)ได้จากการย่อยน้ำตาลในนม
2 ) น้ำตาลโมเลกุลคู่ (disaccharide) เป็นน้ำตาลที่ประกอบด้วยน้ำตาลโมเลกุลเดี่ยวสองโมเลกุล เช่น ซูโครส ( sucrose) หรือน้ำตาลทราย ประกอบด้วยกลูโคสและฟรักโทส อย่างละ 1 โมเลกุล มอลโทส ( maltose) เกิดจากกลูโคส 2 โมเลกุล และแล็กโทส ( lactose ) เกิดจากกลูโคสและกาแล็กโทส อย่างละ 1 โมเลกุล
- พวกที่ไม่ใช่น้ำตาล เป็นคาร์โบไฮเดรตที่มีโมเลกุลเชิงซ้อนเรียกว่า น้ำตาลโมเลกุลใหญ่ (polysaccharide ) ประกอบด้วยน้ำตาลโมเลกุลเดี่ยวหลายโมเลกุล คาร์โบไฮเดรตในกลุ่มนี้ไม่มีรสหวาน ละลายได้ยาก ได้แก่ แป้ง เดกซ์ทริน ไกลโคเจน และเซลลูโลส
สำหรับคาร์โบไฮเดรต 1 กรัม จะให้พลังงานแก่ร่างกาย 4 กิโลแคลอรี หากปริมาณคาร์โบไฮเดรตในร่างกายมีจำนวนมากเกินความต้องการ ร่างกายจะเปลี่ยนคาร์โบไฮเดรตส่วนเกินนี้ให้อยู่ในรูปของไกลโคเจนและสะสมไว้ในร่างกาย
ประโยชน์ของสารอาหารประเภทคาร์โบไฮเดรต
- คาร์โบไฮเดรตเป็นสารอาหารที่ให้พลังงานในการดำเนินชีวิต ในการดำเนินกิจกรรมต่าง ๆ ให้ความอบอุ่น
- ร่างการสังเคราะห์เก็บไว้ใช้ยามขาดแคลนอาหาร เช่น เก็บสะสมไว้ในตับและกล้ามเนื้อในรูปไกลโคเจน
- ช่วยกระตุ้นการทำงานของลำไล้เล็ก ป้องกันไม่ให้เกิดอาการท้องผูก
โปรตีน
เป็นสารประกอบอินทรีย์ที่พบมากในเซลล์ หรือ เนื้อเยื่อของสิ่งมีชีวิต พบเป็นอันดับสองรองจากน้ำ
โปรตีนเป็นสารประกอบอินทรีย์ที่มีโมเลกุลใหญ่ ประกอบด้วยกรดอะมิโนหลายโมเลกุลมารวมกัน องค์ประกอบของโปรตีน ได้แก่ คาร์บอน ไฮโดรเจน ออกซิเจน และไนโตรเจน โปรตีนบางชนิดมีกำมะถันหรือฟอสฟอรัสรวมอยู่ด้วย
อาหารที่มีโปรตีน ได้แก่ เนื้อสัตว์ ไข่ นม ถั่วเหลือง ถั่งแดง
โปรตีน 1 กรัม จะให้พลังงานแก่ร่างกาย 4 กิโลแคลอรี
ประโยชน์ของสารอาหารประเภทโปรตีน
- เป็นโครงสร้างของร่างกาย และซ่อมแซมส่วนที่สึกหรอ
- ช่วยทำให้ร่างกายเจริญเติบโต
- ช่วยทำให้เกิดความสมดุลของน้ำในร่างกาย
- ช่วยสร้างความต้านทาน และทำลายพิษต่าง ๆ ในร่างกาย
ไขมัน
เป็นสารอนินทรีย์ไม่ละลายในน้ำ แต่สามารละลายได้ในตัวทำละลายอินทรีย์ เช่น อีเทอร์ คลอโรฟอร์ม เบนซิน อะซิโตน และคาร์บอนเตตระคลอไรด์
อาหารที่มีไขมัน ได้แก่ น้ำมันหมู น้ำมันพืช เนย ไขมัน 1 กรัม จะให้พลังงานแก่ร่างกาย 9 กิโลแคลอรี
ประโยชน์ของสารอาหารประเภทไขมัน
- เป็นตัวทำละลายของวิตามินที่ละลายได้ในไขมัน เช่น วิตามิน เอ ดี อี เค ซึ่งหากขาด ร่างกายก็จะไม่ดูดซึมได้
- เป็นอาหารสะสมของร่างกาย
- ช่วยป้องกันการกระทบกระเทือนของอวัยวะภายใน
- เป็นฉนวนป้องกันความร้อยภายในให้ออกสู่ภายนอกอย่างช้า ๆ
- เป็นโครงสร้างของเซลล์หุ้มเซลล์
- เป็นส่วนประกอบของระบบต่าง ๆ ในร่างกาย
- เป็นส่วนประกอบของอวัยวะต่าง ๆ
- สารอาหารประเภทไม่ให้พลังงาน
สารอาหารประเภทที่ไม่ให้พลังงาน แต่ร่างกายขาดไม่ได้ เนื่องจากเป็นสารอาหารที่ร่างกายต้องการเพื่อเป็นส่วนประกอบของร่างกายช่วยสร้างความเจริญเติบโต และช่วยควบคุมระบบการทำงานของอวัยวะต่างๆ ของร่างกายให้ทำหน้าที่ได้ตามปกติ สารอาหารประเภทนี้ได้แก่ วิตามิน แร่ธาตุและน้ำ
วิตามิน
หมายถึง สารอินทรีย์ที่จำเป็นต่อชีวิตและสุขภาพ วิตามินไม่ให้พลังงานแก่ร่างกายและร่างกายต้องการในปริมาณที่น้อยแต่ร่างกายขาดไม่ได้ ถ้าขาดจะทำให้ระบบต่างๆของอวัยวะต่างๆในร่างกายผิดปกติ
วิตามินแบ่งออกเป็น 2 ประเภทใหญ่ๆ คือ
วิตามินที่ละลายได้ในไขมัน ได้แก่ วิตามินเอ ดี อี เค
วิตามินที่ละลายได้ในน้ำ ได้แก่ วิตามินบี และซี
จากตารางอาจสรุปได้ว่าวิตามินเป็นสารอาหารที่ร่างกายขาดไม่ได้ เพราะช่วยในการควบคุมอวัยวะต่างๆภายในร่างกายให้เป็นปกติ อย่างไรก็ตาม แม้ว่าวิตามินมีประโยชน์ต่างๆมากมาย แต่ถ้าร่างกายได้รับวิตามินชนิดใดชนิดหนึ่งมากเกินไป โดยเฉพาะอย่างยิ่งวิตามินที่ละลายได้ในไขมันร่างกายจะเก็บส่วนเกินไว้ในไขมันและก่อให้เกิดพิษต่อร่างกายได้ เช่น ผู้ที่ได้รับวิตามินเอมากเกินไปในชั่วระยะเวลาหนึ่งจะเกิดอาการอาเจียน คลื่นไส้ เบื่ออาหาร ผมร่วง คันตามผิวหนัง ปวดตามกระดูก เป็นต้น ส่วนวิตามินที่ละลายได้ในน้ำ ถ้ามีมากเกินไปร่างกายก็จะขับถ่ายออกมาทางปัสสาวะ ซึ่งนอกจากจะไม่มีประโยชน์แล้วยังเพิ่มภาระในการขับถ่าย และอาจก่อให้เกิดโทษ คือ ทำให้ระบบเผาผลาญสารอาหารในร่างกายผิดปกติด้วย
แร่ธาตุ
หมายถึง เกลือแร่ เป็นสารอาหารประเภทไม่ให้พลังงาน ร่างกายต้องการในปริมาณน้อยแต่ขาดไม่ได้ มีมากในหมู่ผักและผลไม้ แร่ธาตุช่วยควบคุมการทำงานของอวัยวะต่างๆ ของร่างกายให้เป็นไปตามปกติ ถ้าร่างกายได้รับแร่ธาตุมากหรือน้อยเกินไปจะทำให้ร่างกายเกิดอาการผิดปกติได้
แหล่งที่มา
ประดับ นาคแก้ว และคณะ.(2550) . หนังสือเสริมมาตรฐานแม็ค วิทยาศาสตร์ ม.2 .กรุงเทพฯ:สำนักพิมพ์แม็ค
ศรีลักษณ์ ผลวัฒนะ และคณะ. (2548). วิทยาศาสตร์ ช่วงชั้นที่ 3 (ม.1- ม.3) : ร่างกายของเราและชีวิตสัตว์.กรุงเทพฯ : นิยมวิทยา,
กลับไปที่เนื้อหา
ระบบย่อยอาหาร
สิ่งมีชีวิตทุกชนิดไม่ว่าจะเป็นสัตว์ พืช หรือสิ่งมีชีวิตอื่นๆ จะประกอบด้วยเซลล์ซึ่งเป็นหน่วยมีชีวิตที่เล็กที่สุด มีขนาดและรูปร่างแตกต่างกันออกไป การที่สิ่งมีชีวิตต้องการอาหารและอากาศก็คือเซลล์ต้องการนั่นเอง
การย่อยอาหาร
การย่อยอาหาร (Digestion) คือกระบวนการที่ทำให้โมเลกุลของอาหารมีขนาดเล็กลง จนสามารถดูดซึมเข้าเซลล์นำไปใช้ประโยชน์ได้ ทั้งนี้เพราะว่ารูของเยื่อหุ้มเซลล์ยอมให้สารที่มีอนุภาคที่มีขนาดเล็กกว่ารูเท่านั้นผ่านได้จึงต้องให้สารอาหารที่ได้มาจากการกินอาหารผ่านการย่อยอาหารซึ่งเกิดขึ้นภายในทางเดินอาหารเสียก่อนจึงจะดูดซึมเข้าไป
ระบบย่อยอาหารมี 2 ระบบ คือ
- การย่อยเชิงกล ( Mechanical digestion) เป็นการเปลี่ยนแปลงขนาดของอนุภาคของสารอาหารเล็กลงโดยการบดเคี้ยวของฟัน การทำให้ไขมันแตกตัวโดยน้ำดี การบีบตัวของทางเดินอาหาร
- การย่อยทางเคมี (Chemical digestion ) เป็นการเปลี่ยนแปลงขนาดของอนุภาคของสารอาหารเล็กลงโดยอาศัยเอนไซม์เป็นน้ำย่อย
เอนไซม์ คือ น้ำย่อยที่ทำหน้าที่ย่อยอาหาร แบ่งเป็น 3 พวก คือ พวกที่ย่อยโปรตีน พวกที่ย่อยไขมัน และพวกที่ย่อยคาร์โบไฮเดรต
ระบบย่อยอาหารของคน ประกอบด้วยอวัยวะต่างๆ แบ่งเป็นส่วนๆดังนี้
- ช่องปาก มีฟันและต่อมน้ำลายเกี่ยวกับการย่อยส่วนนี้
- หลอดอาหาร
- กระเพาะอาหาร
- ลำไส้เล็ก มีตับและตับอ่อนเกี่ยวข้องกับการย่อยระบบนี้
- ลำไส้เล็ก
กระบวนการย่อยอาหารและอวัยวะที่เกี่ยวข้อง
1. ปาก มีส่วนย่อยดังนี้
อาหารที่เข้ามาในปากจะถูกแปรสภาพ 2 วิธี คือ อาหารจะถูกฟันบดเคี้ยวให้มีขนาดเล็กลงแต่ยังไม่แปรสภาพให้เล็กลงจนดูดซึมได้ การย่อยเช่นนี้เป็นการย่อยเชิงกล ขณะเดียวกันอาหารเหล่านั้นจะถูกย่อยทางเคมีด้วยเอนไซม์ที่มีอยู่ในน้ำลายการย่อยเชิงกลจึงเป็นกระบวนการย่อยที่ช่วยแปรสภาพอาหารให้เล็กลง เพื่อน้ำย่อยจะได้แทรกซึมเข้าถึงโมเลกุลของสารอาหารได้อย่างรวดเร็ว
ลิ้น ทำหน้าที่คลุกเคล้าอาหารให้ผสมกับน้ำลาย
ต่อมน้ำลาย ทำหน้าที่สร้างน้ำลาย ซึ่งในน้ำลายจะมีน้ำและน้ำย่อย ต่อมน้ำลายมี 3 คู่ อยู่บริเวณขากรรไกรล่าง 1 คู่ บริเวณกกหูทั้งสองข้าง 1 คู่ และใต้ลิ้น 1 คู่ ต่อมน้ำลายที่ใหญ่ที่สุดอยู่บริเวณกกหู ถ้าต่อมนี้ติดเชื้อไวรัสจะทำให้เกิดอาการอักเสบเป็นโรคคางทูม
การย่อยอาหารในช่องปาก
น้ำย่อยอาหารในปากจะมีเอนไซม์ที่ชื่อว่า ไทยาลิน (Ptyalin ) ซึ่งเป็นเอนไซม์อะไมเลส (Amylase ) ชนิดหนึ่ง ทำหน้าที่ย่อยแป้งซึ่งเป็นคาร์โบไฮเดรตโมเลกุลใหญ่ แป้งที่ถูกย่อยแล้วจะอยู่ในรูปของเดกซ์ตริน ( Dextrin) ซึ่งเป็นคาร์โบไฮเดรตที่มีโมเลกุลเล็กกว่าแป้ง แต่ยังไม่เปลี่ยนเป็นน้ำตาล แต่ถ้าถูกย่อยนานๆอาจถูกย่อยให้เป็นน้ำตาลโมเลกุลคู่ได้
2. หลอดอาหาร มีลักษณะเป็นท่อตรงจากคอหอยไปกระเพาะอาหาร มีความยาวประมาณ 25 เซนติเมตร
การย่อยอาหารในหลอดอาหาร เป็นการย่อยเชิงกล เนื่องจากหลอดอาหารไม่สามารถสร้างน้ำย่อย แต่มีต่อมสร้างน้ำเมือกช่วยหล่อลื่นอาหารให้เคลื่อนที่ไปง่าย โดยหลอดอาหารจะบีบตัวทำให้อาหารมีขนาดเล็กลง และเคลื่อนลงสู่กระเพาะอาหาร
3. กระเพาะอาหาร ในภาวะปกติกระเพาะอาหารจะมีขนาดประมาณ 50 ลูกบาศก์เซนติเมตร และเมื่อมีอาหารลงไป กระเพาะอาหารจะสามารถขยายใหญ่ขึ้นได้ประมาณ 10 – 40 เท่า กระเพาะอาหารจะมีตำแหน่งอยู่ใต้กระบังลมด้านซ้ายของช่องท้อง ผนังของกระเพาะอาหารเป็นกล้ามเนื้อเรียบแข็งแรง และยึดหยุ่นได้ มี 3 ชั้น ที่ผนังชั้นในมีรอยย่นพับซ้อนกันจนเป็นสันนูนขึ้นเรียกว่า รูกี
4. ลำไส้เล็ก เป็นทางเดินอาหารส่วนที่มีความยาวมากที่สุด ซึ่งยาวประมาณ 7 เมตร ขดตัวอยู่ภายในช่องท้อง
การย่อยสารอาหารส่วนใหญ่เกิดขึ้นที่ลำไส้เล็ก ที่ผนังด้านในของเซลล์จะไม่เรียบและมีลักษณะเป็นปุ่มปมยื่นออกมาจำนวนมาก โดยภายในส่วนที่ยื่นออกมานั้นจะมีหลอดเลือดฝอยและท่อน้ำเหลืองกระจายอยู่ทั่วไป สารอาหารที่ถูกย่อยจนมีขนาดของอนุภาคเล็กลงจะถูกดูดซึมแพร่ผ่านส่วนที่ยื่นออกมานี้เข้าสู่หลอดเลือด และจากนั้นจะถูกลำเลียงไปเลี้ยงส่วนต่างๆ ของร่างกายโดยอาศัยการหมุนเวียนของเลือด
การย่อยอาหารในลำไส้เล็ก การย่อยอาหารที่อวัยวะส่วนนี้จะมีเอนไซม์ที่ช่วยในการย่อยหลายชนิด ซึ่งผลิตจากอวัยวะต่างๆ ดังต่อไปนี้
- ตับ ทำหน้าที่ผลิตน้ำดี แล้วส่งไปเก็บที่ถุงน้ำดี เมื่ออาหารผ่านลงลำไส้เล็กก็จะมีการกระตุ้นให้น้ำดีหลั่งออกมาแล้วไหลเข้าสู่ลำไส้เล็กส่วนต้น น้ำดีก็จะช่วยกระจายไขมันให้แตกตัวออกเป็นเม็ดเล็กๆ เพื่อให้เอนไซม์ไลเปสย่อยได้ง่ายขึ้น นอกจากนี้น้ำดียังช่วยทำลายกรด ทำให้อาหารที่ส่งต่อมายังลำไส้เล็กมีสมบัติเป็นเบสทำให้เอนไซม์ต่างๆที่ย่อยอาหารในลำไส้เล็กทำงานได้ดี เนื่องจากเอนไซม์เหล่านี้จะทำหน้าที่ได้ดีในภาวะที่เป็นเบส และน้ำดียังช่วยดูดซึมสารอาหารเข้าสู่เส้นเลือดอีกด้วย
- ตับอ่อน ทำหน้าที่สร้างเอนไซม์เพื่อช่วยย่อยสารอาหารในลำไส้เล็ก
การดูดซึมอาหาร
การดูดซึมอาหารเป็นการนำอาหารโมเลกุลเล็กๆที่ผ่านการย่อยแล้ว เช่น น้ำตาลกลูโคส กรดอะมิโน กรดไขมัน กลีเซอรอล ผ่านผนังทางเดินอาหารเข้าสู่กระแสโลหิต และระบบน้ำเหลืองเพื่อนำไปสู่เซลล์ต่างๆภายในร่างกาย
สารอาหารประเภทโปรตีน คาร์โบไฮเดรต และไขมันจะถูกย่อยให้เป็นอนุภาคที่เล็กที่สุดในลำไส้เล็ก จนสามรถแพร่ผ่านผนังลำไส้เล็กเข้าสู่กระแสเลือดได้ และที่ผนังด้านในลำไส้เล็กจะมีลักษณะไม่เรียบ โดยจะมีส่วนยื่นของกลุ่มเซลล์ยื่นออกมาหลายกลุ่ม เรียกกลุ่มเซลล์ที่ยื่นออกมานี้ว่า วิลลัส ( villus ) ภายในวิลลัสประกอบด้วยเส้นเลือดฝอยอยู่เป็นจำนวนมาก โมเลกุลของอาหารที่ถูกย่อยแล้วจะถูกดูดซึมแพร่ผ่านผนังวิลลัสเข้าสู่เส้นเลือดจากนั้นอาหารจะไปเลี้ยงเซลล์ทั่วร่างกายโดยการหมุนเวียนของเลือดต่อไป ส่วนสารอาหารพวกไขมันและกลีเซอรอลจะถูกดูดซึมเข้าสู่เส้นน้ำเหลือง เพื่อลำเลียงไปยังเซลล์เช่นกัน
แหล่งที่มา
ประดับ นาคแก้ว และคณะ.(2550) . หนังสือเสริมมาตรฐานแม็ค วิทยาศาสตร์ ม.2 .กรุงเทพฯ:สำนักพิมพ์แม็ค
ศรีลักษณ์ ผลวัฒนะ และคณะ. (2548). วิทยาศาสตร์ ช่วงชั้นที่ 3 (ม.1- ม.3) : ร่างกายของเราและชีวิตสัตว์.กรุงเทพฯ : นิยมวิทยา,
กลับไปที่เนื้อหา
ระบบหมุนเวียนเลือด
ระบบหมุนเวียนของเลือด ( Circulatory System ) เป็นระบบที่เลือดทำหน้าที่ลำเลียงสารต่าง ๆ ที่เซลล์ต้องการไปยังเซลล์ และกำจัดสารต่าง ๆ ที่เซลล์ไม่ต้องการออกจากร่างกาย
ระบบหมุนเวียนของเลือดประกอบด้วย หัวใจ เลือด และหลอดเลือดเป็นระบบที่ทำหน้าที่ลำเลียงอาหารและก๊าซไปหล่อเลี้ยงเซลล์ต่างๆของร่างกาย และนำของเสียที่ร่างกายไม่ต้องการออกจากร่างกาย
เลือด ( Blood)
ในร่างกายของคนเรามีเลือดอยู่ประมาณร้อยละ 9 – 10 ของน้ำหนักตัว เลือดมีส่วนประกอบที่สำคัญ 2 ส่วน คือ
- ส่วนที่เป็นของเหลว ซึ่งเรียกว่า น้ำเลือด หรือ พลาสมา ( Plasma ) คือ ส่วนที่เป็นของเหลวมีประมาณร้อยละ 55 ของปริมาณเลือดทั้งหมดในร่างกาย
- น้ำเลือดประกอบด้วย น้ำประมาณร้อย 91 ส่วนที่เหลือได้แก่ สารอาหารต่างๆ เช่น โปรตีน วิตามิน แร่ธาตุ เอนไซม์ ฮอร์โมนและก๊าซต่างๆ รวมทั้งของเสียที่ร่างกายไม่ต้องการ เช่น ยูเรีย แก๊สคาร์บอนไดออกไซด์ เป็นต้น
- น้ำเลือดทำหน้าที่ ลำเลียง เอนไซม์ ฮอร์โมน และแก๊สไปเลี้ยงเซลล์ต่าง ๆ ของร่างกาย และลำเลียงของเสียต่าง ๆ ส่งไปกำจัดออกนอกร่างกาย
- ส่วนที่เป็นของแข็ง ได้แก่ เซลล์เม็ดเลือด ( Corpuscle ) และ เกล็ดเลือด ( Platelet ) ซึ่งมีอยู่ประมาณร้อยละ 45 ของปริมาณเลือดทั้งหมดในร่างกาย
2.1 เซลล์เม็ดเลือด ( Corpuscle ) ประกอบด้วย
2.1.1 เซลล์เม็ดเลือดแดง ( red blood cell ) มีลักษณะค่อนข้างกลม ตรงกลางบุ๋มลงไปทั้งสองข้าง ( ลักษณะคล้ายโดนัท ) ไม่มีนิวเคลียส มีเส้นผ่านศูนย์กลาง 7-8 ไมครอน( 1ไมครอน = 0.0001 เซนติเมตร)
- เม็ดเลือดแดงมีส่วนประกอบส่วนใหญ่เป็นโปรตีนซึ่งมีเหล็กเป็นองค์ประกอบที่สำคัญ เรียกว่า เฮโมโกลบิน มีหน้าที่ลำเลียงก๊าซออกซิเจนจากปอดไปยังเซลล์ต่างๆ และลำเลียงก๊าซคาร์บอนไดออกไซด์จากเซลล์ต่างๆกลับเข้าสู่ปอด
- แหล่งสร้างเม็ดเลือดแดง คือ ไขกระดูก เม็ดเลือดแดงมีอายุประมาณ 110-120 วัน หลังจากนั้นจะถูกส่งไปทำลายที่ตับ ม้าม
2.1.2 เซลล์เม็ดเลือดขาว ( white blood cell )
- ลักษณะไม่มีสี มีรูปร่างกลม ขนาดเส้นผ่านศูนย์กลาง 9-12 ไมครอน และมีนิวเคลียส เลือด 1 ลูกบาศก์มิลลิเมตร ประกอบด้วยเม็ดเลือดขาวประมาณ 7,000-10,000 เซลล์
- หน้าที่ ต่อสู้กับเชื้อโรค และสิ่งแปลกปลอมต่างๆที่เข้าสู่ร่างกาย และป้องกันไม่ให้เลือดภายในหลอดเลือดแข็งตัว
- แหล่งที่สร้างเม็ดเลือดขาว คือ ม้าม ไขกระดูก และต่อมน้ำเหลือง เซลล์เม็ดเลือดขาวนี้มีอายุประมาณ 7 – 14 วัน ก็จะถูกทำลาย
2.2 เกล็ดเลือด ( Thrombocyte หรือ Blood platelet )
- ลักษณะ เกล็ดเลือดไม่ใช่เซลล์แต่เป็นชิ้นส่วนของเซลล์ มีรูปร่างกลม ไม่มีสี และไม่มีนิวเคลียส มีเส้นผ่านศูนย์กลาง 2-5 ไมครอน เลือด 1 ลูกบาศก์มิลลิเมตร ประกอบด้วยเกล็ดเลือดประมาณ 200,000-400,000 ชิ้น
- หน้าที่ ทำให้เลือดแข็งตัวเมื่อเลือดออกสู่ภายนอกร่างกาย และช่วยห้ามเลือดในกรณีที่เกิดบาดแผล โดยจะจับตัวเป็นกระจุกอุดรูของเส้นเลือดฝอย
- แหล่งที่สร้างเกล็ดเลือด คือ ไขกระดูกและเกล็ดเลือดจะมีอายุเพียง 4 วันเท่านั้น ก็จะถูกทำลาย
หลอดเลือด ( Blood vessel)
หลอดเลือด ( Blood vessel ) คือ ท่อซึ่งทำให้เลือดไหลเวียนไป โดยอาศัยแรงจากกการสูบฉีดของหัวใจ หรือการบีบตัวของผนังหลอดเลือด ทำให้เกิดแรงดันเลือดไหลไปสู่ส่วนต่างๆ ของร่างกายและไหลกลับคืนสู่หัวใจหลอดเลือดในร่างกายแบ่งเป็น 3 ระบบ คือ
- หลอดเลือดอาร์เทอรี (Artery) คือหลอดเลือดที่นำเลือดออกจากหัวใจมีขนาดแตกต่างกัน ได้แก่ หลอดเลือดเอออร์ตา (Aorta) เป็นหลอดเลือดขนาดใหญ่ คือ มีเส้นผ่านศูนย์กลางประมาณ 1 นิ้ว ขนาดรองลงมาเรียกว่า อาร์เทอรี และขนาดเล็กที่สุดเรียกว่า อาร์เทอรีโอล(Arteriole) หมายถึงหลอดเลือดแดงฝอย
- หลอดเลือดอาร์เทอรีเป็นหลอดเลือดที่มีทิศทางนำเลือดออกจากหัวใจไปฟอกที่ปอดและนำเลือดออกจากหัวใจไปยังส่วนต่างๆของร่างกาย
- ลักษณะของหลอดเลือดอาร์เทอรี จะมีผนังหนา มีความยืดหยุ่นได้ดี และรักษาระดับความดันเลือดให้คงที่ได้ เลือดที่บรรจุอยู่ในหลอดเลือดอาร์เทอรีจะเป็นเลือดที่มีปริมาณออกซิเจนสูง ( ยกเว้นเลือดที่นำเลือดที่ออกจากหัวใจไปฟอกที่ปอด( Pulmonary artery)) ดังนั้นจึงเรียกหลอดเลือดอาร์เทอรีว่า หลอดเลือดแดง
- หลอดเลือดเวน (Vein) คือ หลอดเลือดที่นำเลือดกลับสู่หัวใจมีขนาดแตกต่างกันได้แก่ หลอดเลือดเวนาคาวา (Vena cava) เป็นหลอดเลือดที่มีขนาดใหญ่ที่สุด เส้นเลือดที่มีขนาดรองลงมาเรียกว่า เวน และขนาดเล็กที่สุดเรียก เวนูล ( Venule) หรือหลอดเลือดดำฝอย
- หลอดเลือดเวนเป็นหลอดเลือดที่มีทิศทางนำเลือดที่ฟอกแล้วจากปอด รวมทั้งเลือดที่เลี้ยงส่วนต่างๆของร่างกายแล้วกลับเข้าสู่หัวใจ
- ลักษณะของหลอดเลือดเวน เป็นหลอดเลือดที่มีผนังบางกว่าหลอดเลือดอาร์เทอรี จึงมีช่องตรงกลางใหญ่และจุเลือดได้มาก ความดันในหลอดเลือดเวนจะต่ำ ดังนั้นหลอดเลือดเวนจึงมีลิ้นกั้นเป็นระยะๆ ช่วยป้องกันไม่ให้เลือดไหลย้อนกลับ เลือดที่บรรจุอยู่ในหลอดเลือดเวนจะมีปริมาณออกซิเจนต่ำ(ยกเว้นหลอดเลือดที่นำเลือดที่ฟอกแล้วจากปอดกลับเข้าสู่หัวใจ(Pulmonary vein) ดังนั้นจึงเรียกหลอดเลือดดำ
- หลอดเลือดฝอย (Capillary) เป็นหลอดเลือดที่มีการเชื่อมโยงระหว่างหลอดเลือดแดงฝอย(Arteriole) กับหลอดเลือดดำฝอย(Venule) เป็นหลอดเลือดที่มีขนาดเล็กมากประมาณ 6 ไมครอน(6x10-3 มิลลิเมตร) และมีผนังบางมาก จะพบหลอดเลือดฝอยแทรกอยู่ส่วนต่างๆของร่างกายแทบทุกส่วนและมีจำนวนมาก บริเวณผนังของหลอดเลือดฝอยเป็นบริเวณที่มีการแลกเปลี่ยนอาหาร ก๊าซและสารต่างๆ และของเสียระหว่างเลือดกับเซลล์ของร่างกาย ดังนั้นการที่มีหลอดเลือดฝอยจำนวนมากในร่างกายจึงเป็นการเพิ่มพื้นที่ผิวทำให้การแลกเปลี่ยนอาหาร ก๊าซ และสารต่างๆระหว่างเซลล์กับเลือดมีประสิทธิภาพเพิ่มขึ้น
หัวใจ ( Heart)
หัวใจ ( Heart) อยู่บริเวณทรวงอก ระหว่างปอดทั้งสองข้าง ค่อนไปทางด้านซ้าย ประกอบด้วย กล้ามเนื้อพิเศษที่เรียกว่ากล้ามเนื้อหัวใจ แบ่งออกเป็นห้องบน 2 ห้อง เรียกว่า เอเตรียม ( Atrium ) และห้องล่าง 2 ห้อง เรียกว่า เวนตริเคิล ( Ventricle )
*** ทราบหรือไม่ ! ลิ้นไตรคัสพิด ( Tricuspid Value ) คือ ลิ้นหัวใจที่คั่นอยู่ระหว่างหัวใจห้องบนขวา – ล่างขวา และลิ้นไบคัสพิด (Bicuspid Value ) คือ ลิ้นหัวใจที่คั่นอยู่ระหว่างหัวใจห้องบนซ้าย – ล่างซ้าย ซึ่งลิ้นทั้งสองจะทำหน้าที่ป้องกันไม่ให้เลือดไหลย้อนกลับ
แหล่งที่มา
ประดับ นาคแก้ว และคณะ.(2550) . หนังสือเสริมมาตรฐานแม็ค วิทยาศาสตร์ ม.2 .กรุงเทพฯ:สำนักพิมพ์แม็ค
ศรีลักษณ์ ผลวัฒนะ และคณะ. (2548). วิทยาศาสตร์ ช่วงชั้นที่ 3 (ม.1- ม.3) : ร่างกายของเราและชีวิต สัตว์.กรุงเทพฯ : นิยมวิทยา,
กลับไปที่เนื้อหา
-
10515 ระบบร่างกายมนุษย์ชั้น ป.6 /lesson-chemistry/item/10515-6เพิ่มในรายการโปรด