ประโยชน์ของสารในชีวิตประจำวัน
สมบัติและการนำไปใช้ประโยชน์ของของแข็ง
ของเหลวทุกชนิดเมื่อเย็นลงจนถึงอุณหภูมิหนึ่งจะกลายเป็นของแข็ง เนื่องจากของแข็งมีอนุภาคอยู่ชิดกัน ทำให้มีช่องว่างระหว่างโมเลกุลน้อยดังนั้นอนุภาคที่เคยเคลื่อนที่ไปมาได้อย่างค่อนข้างอิสระจึงถูกจำกัดการที่อนุภาคของของแข็งเคลื่อนที่ได้น้อยจึงทำให้มีพลังงานจลน์น้อย แต่อย่างไรก็ตามอนุภาคของของแข็งก็ยังคงสั่นได้ ดังนั้น จึงมีแรงยึดเหนี่ยวระหว่างโมเลกุลมากกว่าและเป็นเหตุให้ของแข็งมีรูปร่างแน่นอนไม่เปลี่ยนแปลงไปตามภาชนะที่บรรจุ
ภาพที่ 1 การจัดเรียงอนุภาคของของแข็ง
ที่มา : ดัดแปลงจาก https://commons.wikimedia.org/wiki/File:Solid_molecule_structure.svg ,Goran tek-en
สมบัติทั่ว ๆ ไปของของแข็ง อาจจะสรุปได้ดังนี้
-
มีลักษณะแข็งแกร่ง มีรูปร่างแน่นอนไม่เปลี่ยนแปลงไปตามภาชนะที่บรรจุทั้งนี้เพราะอนุภาคที่ประกอบกันเป็นของแข็งจัดเรียงตัวอยู่ในตำแหน่งต่าง ๆ ที่แน่นอนและชิดกัน
-
ปริมาตรของของแข็งค่อนข้างคงที่ การเปลี่ยนแปลงความดันเกือบจะไม่มีผลต่อการเปลี่ยนปริมาตรของของแข็งสำหรับอุณหภูมิมีผลต่อของแข็งน้อยเช่นเดียวกันเมื่อของแข็งได้รับความร้อน จะมีการขยายตัวเนื่องจากการสั่นสะเทือนของอนุภาคจะหดตัวเมื่ออุณหภูมิลดลง แต่การขยายตัวและหดตัวมีค่าน้อยมากเมื่อเปรียบเทียบกับของเหลวและก๊าซ
-
ของแข็งมีความหนาแน่นมากกว่าของเหลว เพราะมีแรงยึดเหนี่ยวระหว่างอนุภาคมากทำให้อยู่ชิดกันเป็นระเบียบทางเรขาคณิต
-
ของแข็งมีการแพร่ช้ามาเมื่อเปรียบเทียบกับของเหลวและก๊าซ
-
ของแข็งบางชนิดเป็นตัวนำไฟฟ้าและความร้อนบางชนิดเป็นสารกึ่งตัวนำและสารบางชนิดเป็นฉนวน
-
ของแข็งบางชนิดสามารถจัดเรียงตัวเป็นรูปทรงทางเรขาคณิตที่แน่นอนได้เรียกว่าผลึกบางชนิดอาจจะมีผลึกได้หลายแบบและบางชนิดไม่สามารถมีผลึกได้เรียกว่าของแข็งอสัณฐาน (Amorphous solid)
การเปลี่ยนสถานะของของแข็ง
อนุภาคของของแข็งแม้จะอยู่ใกล้กันมากและไม่เคลื่อนที่ แต่มีการสั่นอยู่ตลอดเวลาเมื่อเพิ่มอุณหภูมิให้แก่ของแข็งจะทำให้โมเลกุลมีพลังงานจลน์เพิ่มขึ้นเกิดการสั่นแรงขึ้นและมีการถ่ายเทพลังงานจลน์ให้แก่กันจนถึงภาวะหนึ่งโมเลกุลมีพลังงานสูงพอทำให้เคลื่อนที่แยกออกจากกันมีแรงยึดเหนี่ยวระหว่างโมเลกุลน้อยลงของแข็งจึงเปลี่ยนสถานะเป็นของเหลวเรียกการเปลี่ยนแปลงนี้ว่าการหลอมเหลว
นอกเหนือจากการหลอมเหลวแล้วของแข็งยังสามารถเปลี่ยนสถานะให้กลายเป็นไอได้โดยไม่ต้องผ่านสถานะของเหลวเรียกว่าการระเหิด(Sublimation) เช่นการระเหิดของแนพธาลีน(ลูกเหม็น) ไอโอดีน, น้ำแข็งแห้ง (คาร์บอนไดออกไซด์แข็ง), การบรูและพิมเสน เป็นต้น
รูปที่ 2 การระเหิดของของแข็ง
ที่มา : https://commons.wikimedia.org/wiki/File:Dry_Ice_Sublimation_1.jpg , Christopher
เนื่องจากอนุภาคของของแข็งอยู่ใกล้ชิดกันมากไม่เคลื่อนที่แต่มีการสั่นสะเทือนตลอดเวลาทำให้อนุภาคเหล่านั้นมีโอกาสกระทบกันและมีการถ่ายเทพลังงานให้แก่กันและกันแต่ละอนุภาคจึงมีพลังงานไม่เท่ากัน ที่อุณหภูมิหนึ่ง ๆบางอนุภาคที่มีพลังงานสูงและอยู่ที่ผิวหน้าของของแข็งจึงสามารถเอาชนะแรงยึดเหนี่ยวระหว่างอนุภาคในของแข็งและหลุดออกไปอยู่ในสถานะก๊าซเลย ซึ่งเรียกว่าการระเหิดนั่นเอง
การระเหิดจะเกิดที่ผิวหน้าของของแข็งเช่นเดียวกับการระเหยของของเหลวดังนั้นการระเหิดจึงขึ้นอยู่กับพื้นที่ผิวหน้าของของแข็งนอกจากนี้ยังพบว่าการระเหิดจะเป็นสัดส่วนโดยตรงกับอุณหภูมิคือเมื่ออุณหภูมิเพิ่มขึ้นการระเหิดจะเพิ่มขึ้นและเมื่ออุณหภูมิลดลงการระเหิดจะลดลง
ชนิดของแข็งและประโยชน์
-
ผลึกโมเลกุล ผลึกโมเลกุลที่ยึดเหนี่ยวกันด้วยแรงแวนเดอร์วาลส์หรือพันธะไฮโดรเจน
- กรณีโมเลกุลในผลึกชนิดนี้เป็นโมเลกุลไม่มีขั้วแรงยึดเหนี่ยวระหว่างโมเลกุล คือ แรงแวนเดอวาลส์ชนิดแรงลอนดอน เช่น ผลึกแนพทาลีน น้ำแข็งแห็ง ไอโอดีน กํามะถัน
- กรณีโมเลกุลในผลึกชนิดนี้เป็นโมเลกุลมีขั้ว แรงยึดเหนี่ยวระหว่างโมเลกุล คือ แรงดึงดูดระหว่างขั้ว หรือพันธะไฮโดรเจน เช่น ซัลเฟอร์ไดออกไซด์แข็ง หน่วยย่อยในผลึกประเภทนี้เป็นโมเลกุล และแรงยึดเหนี่ยวระหว่างโมเลกุลไม่แข็งแรงทําให้ผลึกประเภทนี้มีจุดหลอมเหลวต่ำ เปราะ ไม่นําไฟฟ้าหรืออาจนําได้น้อยมากในบางชนิด บางชนิดระเหิดได้ เช่น ไอโอดีน แนพทาลีน
-
ผลึกไอออนิก เป็นผลึกที่ประกอบด้วยไอออนบวกและไอออนลบ ยึดเหนี่ยวกันด้วยพันธะ ไอออนิก ซึ่งเป็นแรงยึดเหนี่ยวที่แข็งแรงมาก ทําให้ผลึกประเภทนี้มีจุดหลอมเหลวสูง แข็งแต่เปราะไม่นําไฟฟ้า ต้องหลอมเหลวหรือละลายน้ำจึงนำไฟฟ้าได้ เช่น ผลึกโซเดียมคลอไรด์ ผลึกสารส้ม ผลึกจุนสี
-
ผลึกโคเวเลนต์ร่างตาข่าย ประกอบด้วยอะตอมที่ยึดเหนี่ยวกันด้วยพันธะโคเวเลนต์ เช่น แกรไฟต์ เพชร ซึ่งมีอะตอมของคาร์บอนสร้างพันธะโคเวเลนต์กับอะตอมของคาร์บอนอื่นอีก 3 อะตอม และ 4 อะตอมตามลำดับเป็นสารที่มีโครงผลึกร่างตาข่าย ของแข็งประเภทนี้มีจุดหลอมเหลวสูง มีความแข็ง แต่ความแข็งจะมากหรือน้อยขึ้นอยู่กับการจัดเรียงอะตอมในโครงผลึกร่างตาข่าย
-
ผลึกโลหะ ประกอบด้วยอะตอมของโลหะ ยึดเหนี่ยวกันด้วยพันธะโลหะซึ่งแข็งแรงมาก ของแข็งประเภทนี้ส่วนใหญ่มีความแข็งและเหนียว สามารถตีเป็นแผ่น บิดงอได้ เป็นตัวนำความร้อนและไฟฟ้าที่ดี แต่อย่างไรก็ตามผลึกโลหะบางชนิดอาจมีสมบัติไม่สอดคล้องตามที่กล่าวแล้ว เช่น ตะกั่วนำไฟฟ้าได้ไม่ดี ของแข็งประเภทนี้ส่วนใหญ่จะมีจุดหลอมเหลว ค่อนข้างสูงและแตกต่างกันไปตามความแข็งแรงของพันธะโลหะแต่ก็มีผลึกโลหะบางชนิดที่มีลักษณะค่อนข้างอ่อนมีจุดเดือดและจุดหลอมเหลวต่ำ เช่น โลหะหมู่ IA และ IIA
แหล่งที่มา
บัญชา แสนทวี และคณะ .(2551). หนังสือเรียนรายวิชาเคมีเพิ่มเติมชั้นมัธยมศึกษาปีที่ 4 - 6 หลักสูตรแกนกลางการศึกษาขั้นพื้นฐาน พุทธศักราช 2551. กรุงเทพฯ : สำนักงานพิมพ์วัฒนาพานิช.
พงศธร นันทธเนศ และคณะ .(2556). หนังสือเสริมสร้างศักยภาพและทักษะ เคมี เล่ม 2 ชั้นมัธยมศึกษาปีที่ 4 - 6. กรุงเทพฯ : บริษัทไทยร่มเกล้า จำกัด.
สถาบันส่งเสริมการสอนวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยี. (2553). หนังสือเรียนสาระการเรียนรู้พื้นฐานและเพิ่มเติม เคมี เล่ม 2 กลุ่มสาระการเรียนรู้วิทยาศาสตร์ ตามหลักสูตรแกนกลางการศึกษาขั้นพื้นฐาน พุทธศักราช 2551. กรุงเทพฯ: โรงพิมพ์คุรุสภาลาดพร้าว
กลับไปที่เนื้อหา
สมบัติและการนำไปใช้ประโยชน์ของของเหลว
สมบัติทั่วไป
1.) ของเหลวมีรูปร่างไม่แน่นอน เปลี่ยนตามภาชนะที่บรรจุซึ่งโมเลกุลที่เคลื่อนที่ อย่างไม่ค่อยเห็นระเบียบ มีช่องว่างระหว่างโมเลกุลน้อย
2.) ปริมาตรของของเหลวเปลี่ยนแปลงน้อยมากเมื่ออุณหภูมิและความดันเปลี่ยน
3.) ของเหลวส่วนใหญ่มีความหนาเเน่นมากกว่าก๊าซ แต่น้อยกว่าของเเข็ง
4.) โมเลกุลของของเหลวสามารถแพร่กระจายได้ แต่ในอัตราที่ช้ากว่าโมเลกุลของก๊าซ เพราะของเหลวมีความหนาเเน่นมากจึงถูกดึงดูดโดยโมเลกุลข้างเคียง เเละมีบริเวณที่จะเคลื่อนที่จำกัดต้องปะทะโมเลกุลอื่นตลอดทาง
แรงตึงผิว (Surface tension) คือคุณสมบัติของพื้นผิวของของเหลว เป็นสิ่งทำให้เกิดบางส่วนของพื้นผิวของเหลวถูกดึงดูด (ยึดเข้าไว้ด้วยกัน) สู่พื้นผิวอื่น เช่น พื้นผิวของเหลวส่วนอื่น (การรวมตัวของหยดน้ำหรือหยดปรอทที่แกะกันเป็นลูกกลม)
แรงตึงผิวถูกทำให้เกิดขึ้นด้วยการดึงดูด (การดึงดูดของโมเลกุลกับโมเลกุลที่เหมือนกัน) เมื่อโมเลกุลบนพื้นผิวของของเหลวไม่ได้ล้อมรอบไปด้วยโมเลกุลที่เหมือนกันในทุกๆด้านแล้ว โมเลกุลจะมีแรงดึงดูดกับโมเลกุลใกล้เคียงบนพื้นผิวมากขึ้น
ภาพที่ 1 การจัดเรียงอนุภาคของของเหลว
ที่มา : ดัดแปลงจาก https://zh-min-nan.wikipedia.org/wiki/t%C3%B3ng-%C3%A0n:States_of_matter_En.svg, Yelod
ปัจจัยที่มีผลต่อความตึงผิว
1) แรงดึงดูดระหว่างโมเลกุล ความตึงผิวจะมากหรือน้อยขึ้นอยู่กับแรงดึงดูดระหว่างโมเลกุล ถ้าแรงดึงดูดระหว่างโมเลกุลมาก โมเลกุลที่ผิวหน้าจะถูกดึงเข้าภายในอย่างแรงงานที่ใช้ในการขยายพื้นที่ผิวของของเหลวจะมากตาม ความตึงผิวก็มาก
2) อุณหภูมิ ถ้าอุณหภูมิเพิ่มขึ้นพลังงานจลน์ของแต่ละโมเลกุลเพิ่มขึ้น แต่แรงดึงดูดระหว่างโมเลกุลลดลง ทำให้ความตึงผิวลดลง
แรงเชื่อมแน่นและแรงยึดติด
เมื่อของเหลวสัมผัสกับวัสดุหรือบรรจุอยู่ในภาชนะ จะมีโมเลกุลของสารสองชนิดที่แตกต่างกันคือ โมเลกุลของของเหลวและโมเลกุลของสารที่เป็นวัสดุหรือทำภาชนะ รวมทั้งมีแรงยึดเหนี่ยวที่เกี่ยวข้องอีก 2 ประเภทดังนี้
แรงเชื่อมแน่น (Cohesive forces) หมายถึง แรงยึดเหนี่ยวระหว่างอนุภาคหรือ โมเลกุลของสารชนิดเดียวกัน เช่น แรงยึดเหนี่ยวระหว่างโมเลกุลของน้ำกับน้ำ
แรงยึดติด (Adhesive forces) หมายถึง แรงยึดเหนี่ยวระหว่างอนุภาคหรือโมเลกุลต่างชนิดกัน เช่น แรงยึดเหนี่ยวระหว่างโมเลกุลของน้ำกับแก้วที่ใช้ทำภาชนะ
ถ้าหยดน้ำลงบนผิวที่เรียบมัน เช่น พลาสติกหรือวัสดุที่เคลือบเงาบางชนิด หยดน้ำจะมีลักษณะเป็นรูปทรงกลมเกาะที่ผิววัสดุนั้น เพราะว่าแรงยึดเหนี่ยวระหว่างโมเลกุลของน้ำ มีค่ามากกว่าแรงยึดเหนี่ยวระหว่างโมเลกุลของน้ำกับวัสดุ (แรงเชื่อมแน่น >แรงยึดติด)
ความดันไอกับจุดเดือดของของเหลว
เมื่อบรรจุของเหลวในภาชนะปิด ณ อุณหภูมิหนึ่งโดยบรรจุไม่เต็ม โมเลกุลของของเหลวที่ระเหยกลายเป็นไอจะอยู่ในที่ว่างเหนือของเหลว ดังรูป
ภาพที่ 2 แสดงความดันไอของของเหลว
ที่มา ดัดแปลงจาก https://pixabay.com/ , OpenClipart-Vectors
โมเลกุลที่อยู่ในรูปของไอจะเคลื่อนที่อยู่ตลอดเวลาเพราะมีพลังงานจลน์มาก เมื่อชนผนังภาชนะจะทำให้เกิดความดันเรียกว่าความดันไอ (vapor pressure)
การเดือด ( Boiling ) เป็นขบวนการที่โมเลกุลของของเหลวได้รับพลังงานสูงมากจนกลายเป็นไอได้อย่างรวดเร็ว และโมเลกุลของของเหลวทั่วทุกบริเวณในภาชนะนั้นสามารถที่จะหลุดหนีแรงดึงดูดระหว่างโมเลกุลได้อย่างรวดเร็ว การเดือดของของเหลวจะเกิดขึ้นที่อุณหภูมิหนึ่ง ซึ่งจะคงที่สำหรับของเหลวแต่ละชนิด เรียกว่า จุดเดือด ( Boiling point ) ความดันไอของของเหลวขณะเดือดจะมีค่าเท่ากับความดันภายนอกหรือมากกว่าซึ่งก็คือความดันบรรยากาศขณะนั้น ความดันของบรรยากาศจะมีผลต่อจุดเดือดของของเหลว คือ ถ้าเปลี่ยนความดันจะทำให้จุดเดือดของของเหลวเปลี่ยนไปด้วย โดยทั่วไปเมื่อกล่าวถึงจุดเดือดโดยไม่ระบุความดันเราหมายถึงจุดเดือดที่ความดัน 1 บรรยากาศ และเรียกว่า จุดเดือดปกติ
ปัจจัยที่มีผลต่อความดันไอของของเหลว
- อุณหภูมิ
ความดันไอจะแปรผันตรงกับอุณหภูมิ เนื่องจากเมื่ออุณหภูมิสูงขึ้นการระเหยก็จะเกิดได้ดีขึ้น ทำให้มีความหนาแน่นของไอเพิ่มขึ้น ขณะเดียวกันพลังงานจลน์ของไอก็เพิ่มขึ้นด้วย ทำให้ความถี่ในการชนและพลังงานที่เกิดจากการชนมากขึ้น ความดันจึงเพิ่มขึ้น
ความดันไอของของเหลวต่าง ๆ จะสัมพันธ์กับจุดเดือดของของเหลวนั้น ๆ ในลักษณะของการแปรผกผัน คือถ้าความดันไอสูงจุดเดือดจะต่ำ เหตุผลคือขณะที่ของเหลวเดือดความดันไอของของเหลวจะเท่ากับความดันบรรยากาศที่กดลงบนผิวหน้าของเหลวในขณะนั้น ฉะนั้นของเหลวที่ระเหยง่ายจึงมีจุดเดือดต่ำกว่าของเหลวที่ระเหยยาก
- แรงยึดเหนี่ยวระหว่างโมเลกุลของของเหลว
เนื่องจากแรงยึดเหนี่ยวระหว่างโมเลกุลในของเหลวมีหลายชนิด และมีความแข็งแรงแตกต่างกัน เช่น แรงลอนดอน แรงดึงดูดระหว่างขั้ว พันธะไฮโดรเจน ของเหลวที่มีแรงยึดเหนี่ยวระหว่างอนุภาคแข็งแรงน้อยจะกลายเป็นไอได้ง่าย มีความดันไอสูง และมีจุดเดือดต่ำส่วนของเหลวที่มีแรงยึดเหนี่ยวระหว่างอนุภาคแข็งแรงมากจะกลายเป็นไอได้ยาก มีความดันไอต่ำ และจุดเดือดสูง เช่น น้ำ มีจุดเดือด 100 oC ในขณะที่เอทานอลมีจุดเดือด 78.37 oC แสดงว่าแรงยึดเหนี่ยวระหว่างโมเลกุลของน้ำมีมากกว่าแรงยึดเหนี่ยวระหว่างโมเลกุลของเอทานอล
- การถ่ายเทอากาศ
การที่อยู่ในที่ที่มีการถ่ายเทอากาศได้ดีหรือมีลมพัดผ่านจะช่วยให้เกิดการระเหยได้ดี เช่น เหงื่อบนร่างกาย เพราะการเคลื่อนที่ของอากาศทำให้โมเลกุลของไอบริเวณเหนือของเหลวเกิดการเคลื่อนที่ และลดจำนวนโมเลกุลของไอบริเวณผิวหน้าของของเหลว เป็นผลให้โมเลกุลของของเหลวบริเวณผิวหน้ากลายเป็นไอได้มากขึ้นหรือระเหยได้เร็วขึ้น ขณะที่เหงื่อระเหยจะดึงความร้อนจากผิวหนังจึงทำให้รู้สึกเย็น
แหล่งที่มา
บัญชา แสนทวี และคณะ .(2551). หนังสือเรียนรายวิชาเคมีเพิ่มเติมชั้นมัธยมศึกษาปีที่ 4 - 6 หลักสูตรแกนกลางการศึกษาขั้นพื้นฐาน พุทธศักราช 2551. กรุงเทพฯ : สำนักงานพิมพ์วัฒนาพานิช.
พงศธร นันทธเนศ และคณะ .(2556). หนังสือเสริมสร้างศักยภาพและทักษะ เคมี เล่ม 2 ชั้นมัธยมศึกษาปีที่ 4 - 6. กรุงเทพฯ : บริษัทไทยร่มเกล้า จำกัด.
สถาบันส่งเสริมการสอนวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยี. (2553). หนังสือเรียนสาระการเรียนรู้พื้นฐานและเพิ่มเติม เคมี เล่ม 2 กลุ่มสาระการเรียนรู้วิทยาศาสตร์ ตามหลักสูตรแกนกลางการศึกษาขั้นพื้นฐาน พุทธศักราช 2551. กรุงเทพฯ: โรงพิมพ์คุรุสภาลาดพร้าว
กลับไปที่เนื้อหา
อนุภาคแก๊สน่ารู้
แก๊ส เป็นหนึ่งในสี่สถานะของสสาร ในภาวะที่อุณหภูมิและความดันเหมาะสม สารหลายชนิดสามารถเปลี่ยนสถานะเป็นของแข็ง ของเหลว หรือแก๊สได้ ธาตุที่เป็นอโลหะ เช่น ไฮโดรเจน ฟลูออรีน ออกซิเจน ไนโตรเจน แก๊สเฉื่อย และสารประกอบโคเวเลนต์ที่มีมวลโมเลกุลต่ำบางชนิด เช่น CO , CO2 , NH3 , SO2 มีสถานะเป็นแก๊สที่อุณหภูมิห้องโดยปกติแก๊สมักจะหมายถึงสารที่มีสถานะเป็นแก๊สที่อุณหภูมิห้อง ส่วนสารที่เป็นของเหลวที่ภาวะปกติ แต่ถูกเปลี่ยนแก๊สจะเรียกว่า ไอ (Vapour)
ภาพการจัดเรียงอนุภาคของแก๊ส
ที่มา : ดัดแปลงจาก https://zh-min-nan.wikipedia.org/wiki/t%C3%B3ng-%C3%A0n:States_of_matter_En.svg, Yelod
สมบัติของแก๊ส
-
แก๊สมีรูปร่างเป็นปริมาตรไม่แน่นอน เปลี่ยนแปลงไปตามภาชนะที่บรรจุ บรรจุ ในภาชนะใดก็จะมีรูปร่างเป็นปริมาตรตามภาชนะนั้น เช่น ถ้าบรรจุในภาชนะทรงกลมขนาด 1 ลิตร แก๊สจะมีรูปร่างเป็นทรงกลมมีปริมาตร 1 ลิตร เพราะแก๊สมีแรงยึดเหนี่ยวระหว่างอนุภาค (โมเลกุล หรืออะตอม) น้อยมาก จึงทำให้อนุภาคของแก๊สสามารถเคลื่อนที่หรือแพร่กระจายเต็มภาชนะที่บรรจุ
-
ถ้าให้แก๊สอยู่ในภาชนะที่เปลี่ยนแปลงปริมาตรได้ ปริมาตรของแก๊สจะขึ้นอยู่กับอุณหภูมิ ความดันและจำนวนโมล
-
แก๊สสามารถแพร่ได้ และแพร่ได้เร็วเพราะแก๊สมีแรงยึดเหนี่ยวระหว่างโมเลกุลน้อยกว่าของเหลวและของแข็ง
ทฤษฎีจลน์ของแก๊ส (The kinetic theory of gases)
ทฤษฎีจลน์ของแก๊สเป็นทฤษฎีที่ใช้อธิบายสมบัติทางฟิสิกส์ของแก๊ส นักวิทยาศาสตร์ที่ได้เสนอทฤษฎีนี้คือ Deniel Bernoulli และทฤษฎีนี้ได้ถูกปรับปรุงโดยนักวิทยาศาสตร์คนอื่น ๆ เพื่อให้มีความสมบูรณ์และถูกต้องยิ่งขึ้น จนได้ทฤษฎีจลน์ของแก๊สในปัจจุบัน ซึ่งมีข้อความดังนี้
1. แก๊สต่างๆประกอบด้วยอนุภาคที่มีขนาดเล็กมากเรียกว่า โมเลกุล
2. โมเลกุลของแก๊สอยู่ห่างกันไม่มีแรงยึดเหนี่ยวระหว่างกันและกัน แต่ละโมเลกุลมีอิสระในการเคลื่อนที่
3. โมเลกุลของแก๊สมีมวลแต่มีขนาดเล็กมากจนถือได้ว่ามีปริมาตรเป็นศูนย์
4. โมเลกุลของแก๊สแต่ละโมเลกุลเคลื่อนที่เป็นเส้นตรงอย่างไม่เป็นระเบียบตลอดเวลาด้วย อัตราเร็วคงที่(แต่ไม่จำเป็นต้องเท่ากัน)จนปะทะโมเลกุลอื่นหรือผนังภาชนะจึงจะเปลี่ยนทิศทางอาจเปลี่ยนอัตราเร็วด้วย
5. การชนกันของโมเลกุลเป็นแบบยืดหยุ่นสมบูรณ์คือ เมื่อชนกันแล้วจะไม่มีการสูญเสียพลังงานรวม แต่อาจจะมีการถ่ายเทพลังงานระหว่างโมเลกุลได้
6. ที่อุณหภูมิคงที่ อัตราเร็วเฉลี่ยของแก๊สชนิดหนึ่ง ๆ จะมีค่าคงที่
7. โมเลกุลของแก๊สใด ๆ จะมีพลังงานจลน์เฉลี่ยค่าหนึ่งค่าหนึ่งซึ่งเท่ากับ mv2 (เมื่อ m คือมวลโมเลกุลของแก๊ส และ v คือความเร็วในการเคลื่อนที่ของโมเลกุลของแก๊ส)
8. ที่อุณหภูมิเดียวกัน แก๊สทุกชนิดจะมีค่าพลังงานจลน์เฉลี่ยเท่ากัน และพลังงานจลน์เฉลี่ย ของแก๊สแปรผันตรงกับอุณหภูมิเคลวิน
หมายเหตุ โมเลกุลของแก๊สที่มีสมบัติเป็นไปตามทฤษฎีจลน์ของแก๊สครบทุกข้อ คือแก๊สในอุดมคติหรือแก๊สสมบัติ ส่วนแก๊สจริงจะมีพฤติกรรมใกล้เคียงแก๊สในอุดมคติ ก็ต่อเมื่ออยู่ในภาวะอุณหภูมิสูงและความดันต่ำ ตัวอย่างเช่น ทฤษฎีของแก๊สข้อ 2) ที่ว่าโมเลกุลไม่มีแรงยึดเหนี่ยวระหว่างกันและกัน สำหรับแก๊สจริงย่อมมีแรงยึดเหนี่ยวอย่างแน่นอน แต่แรงยึดเหนี่ยวนั้นจะมีค่ามากหรือน้อยขึ้นอยู่กับชนิดของแก๊ส แต่อย่างไรก็ตามที่อุณหภูมิสูงโมเลกุลของแก๊สจะมีพลังงานจลน์สูงขึ้น ประกอบกับความดันต่ำด้วย โมเลกุลจึงเคลื่อนที่ออกจากกันมากขึ้นทำให้ระยะห่างระหว่างโมเลกุลมากขึ้น แรงยึดเหนี่ยวระหว่างโมเลกุลจึงลดน้อยลงหรืออาจน้อยมากจนไม่มีเลย แสดงว่าโมเลกุลของแก๊สดังกล่าวกำลังมีพฤติกรรมคล้ายกับแก๊สสมมติ
การสกัดสารโดยใช้ CO2 ที่อยู่ในรูปของของไหล (CO2-Fluid)
การสกัดสารโดยใช้ CO2 ที่อยู่ในรูปของของไหล (CO2-Fluid) เป็นเทคโนโลยีชั้นสูง เทคนิคการสกัดแบบนี้จะใช้แก๊ส คาร์บอนไดออกไซด์ในรูปของของไหลแทนตัวทำละลายอินทรีย์ต่างๆ เช่น แอซีโตน เฮกเซน หรือ เมทิลีนคลอไรด์
การสกัดสารโดยใช้ CO2 เมื่ออยู่ภายใต้ภาวะวิกฤติยิ่งยวด (supercritical state) คือที่อุณหภูมิ 31 องศาเซลเซียสและความดัน 73 บรรยากาศ จะมีสภาพเป็นของไหล และมีสมบัติหลายประการที่เหมือนทั้งแก๊สและของเหลว
สมบัติที่เหมือนแก๊สคือ ขยายตัวได้ง่ายจนเต็มภาชนะที่บรรจุ มีลักษณะไหลได้ส่วนสมบัติที่เหมือนของเหลว คือมีความสามารถในการละลายของแข็งหรือของเหลวได้ดี ดังนั้นจึงสามารถใช้ในการสกัดสารประกอบที่ต้องการแยกออกจากของผสม โดยการควบคุมอุณหภูมิและความดันให้เหมาะสม หรืออาจใช้เทคนิคนี้ในการทำสารให้บริสุทธิ์เทคนิคนี้สามารถใช้สกัดสารได้หลายชนิดเนื่องจากเราสามารถทำให้ CO2 ในรูป ของของไหลมีความหนาแน่นสูงหรือต่ำได้ตามต้องการ เป็นผลให้สามารถใช้ของไหลนี้เลือกละลาย สารหรือองค์ประกอบที่ต้องการสกัดได้ตามสภาวะที่เหมาะสม
ปัจจุบันนี้นิยมใช้ CO2 ในรูปของของไหลสกัดคาเฟอีนออกจากเมล็ดกาแฟดิบแทน ตัวทำละลายที่ใช้อยู่คือเมทิลีนคลอไรด์ โดยไม่ทำทำให้รสหรือกลิ่นของกาแฟเปลี่ยนไป เพราะว่า CO2 ที่ปะปนอยู่จะอยู่ในรูปแก๊สสามารถแพร่ออกจากเมล็ดกาแฟได้ นอกจากนี้ยังมีการประยุกต์ใช้เทคนิคนี้ใน อุตสาหกรรมอื่นๆ อีก เช่น การสกัดน้ำมัน เรซิน และสารจากสมุนไพร เครื่องเทศ หรือพืช
การทำน้ำแข็งแห้ง
น้ำแข็งแห้งผลิตได้โดยนำแก๊สคาร์บอนไดออกไซด์มาทำให้เป็นของเหลว โดยการเพิ่มความดันและลดอุณหภูมิ จากนั้นทำให้คาร์บอนไดออกไซด์เหลวมีความบริสุทธิ์และปราศจากความชื้นด้วยวิธีการที่เหมาะสม แล้วเพิ่มความดันและลดอุณหภูมิอีกครั้งหนึ่งจนกระทั่งมี ความดัน 18 บรรยากาศและอุณหภูมิเท่ากับ -25 ˚C
ต่อจากนั้นจึงอัดคาร์บอนไดออกไซด์เหลวผ่านรูพรุน คาร์บอนไดออกไซด์เหลวส่วนหนึ่งจะระเหยกลายเป็นไอโดยดูดความร้อนจากโมเลกุลข้างเคียง ทำให้โมเลกุลของคาร์บอนไดออกไซด์ที่ถูกดูดความร้อนมีอุณหภูมิต่ำกว่าจุดเยือกแข็ง จึงกลายเป็นของแข็งที่มีลักษณะเป็นเกล็ด เรียกว่า น้ำแข็งแห้ง
แหล่งที่มา
บัญชา แสนทวี และคณะ .(2551). หนังสือเรียนรายวิชาเคมีเพิ่มเติมชั้นมัธยมศึกษาปีที่ 4 - 6 หลักสูตรแกนกลางการศึกษาขั้นพื้นฐาน พุทธศักราช 2551. กรุงเทพฯ : สำนักงานพิมพ์วัฒนาพานิช.
พงศธร นันทธเนศ และคณะ .(2556). หนังสือเสริมสร้างศักยภาพและทักษะ เคมี เล่ม 2 ชั้นมัธยมศึกษาปีที่ 4 - 6. กรุงเทพฯ : บริษัทไทยร่มเกล้า จำกัด.
สถาบันส่งเสริมการสอนวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยี. (2553). หนังสือเรียนสาระการเรียนรู้พื้นฐานและเพิ่มเติม เคมี เล่ม 2 กลุ่มสาระการเรียนรู้วิทยาศาสตร์ ตามหลักสูตรแกนกลางการศึกษาขั้นพื้นฐาน พุทธศักราช 2551. กรุงเทพฯ: โรงพิมพ์คุรุสภาลาดพร้าว
กลับไปที่เนื้อหา
-
11533 ประโยชน์ของสารในชีวิตประจำวัน /lesson-chemistry/item/11533-2020-05-01-03-28-11เพิ่มในรายการโปรด