โลกและการเปลี่ยนแปลง
โลก ( Earth ) ของเราเป็นดาวเคราะห์หิน มีรูปร่างเป็นทรงกลม ๆ แป้น ๆ มีเส้นผ่านศูนย์กลางแนวนอน 12,755 กิโลเมตร และเส้นผ่านศูนย์กลางแนวดิ่ง 12,711 กิโลเมตร หมุนรอบตัวเองใช้เวลา 23 ชั่วโมง 56 นาที หมุนรอบดวงอาทิตย์ 1 รอบใช้เวลา 365.25 วัน หากมองจากอวกาศจะเห็นเป็นสีน้ำเงินเนื่องจากมีน้ำเป็นส่วนประกอบเป็นส่วนใหญ่ถึง 3 ใน 4 ส่วน ลักษณะโครงสร้างของโลกแบ่งเป็นชั้น ๆ ที่มีทั้งของแข็งและของเหลว ซึ่งมีประจักษ์พยานจากการที่นักวิทยาศาสตร์ทำการทดลองทางตรง โดยการขุดเจาะเก็บตัวอย่างหินขึ้นมาวิเคราะห์ และสังเกตจากลาวาที่ทะลักขึ้นมาบนผิวโลก
ภาพที่ 1 จำลองการแบ่งโครงสร้างของโลกออกเป็นชั้นต่าง ๆ
ที่มา: https://commons.wikimedia.org/wiki/File:Earth-crust-cutaway-english.png, Jeremykemp
ภาพที่ 2 โลกของเราเมื่อมองจากอวกาศ
ที่มา : https://pxhere.com/th/photo/1262221
โลกได้ก่อกำเนิดขึ้นมาเมื่อประมาณ 4,600 ล้านปีก่อน โลกในยุคแรก ๆ นั้นเป็นของเหลวหนืดร้อน ถูกกระหน่ำชนด้วยอุกกาบาตตลอดเวลา เมื่อโลกค่อย ๆ เย็นตัวลง จะเกิดการผนึกรวมกันของวัสดุประกอบโลก โดยวัสดุน้ำหนักสูงจะจมลงสู่ศูนย์กลาง และวัสดุน้ำหนักเบาจะลอยตัวขึ้นสูงสู่ผิวโลก เกิดเป็นชั้นต่าง ๆ ของโลก
นักวิทยาศาสตร์แบ่งชั้นโลกออกเป็น 3 ส่วนใหญ่ ๆ ดังนี้
- เปลือกโลก ( Crust ) เป็นชั้นนอกสุดของโลกที่มีความหนาประมาณ 0 - 70 กิโลเมตร ซึ่งถือว่าเป็นชั้นที่บางที่สุดเมื่อเปรียบกับชั้นอื่น ๆ เสมือนเปลือกไข่ไก่หรือเปลือกหัวหอม มีหน้าที่ห่อหุ้มพลังงานความร้อนของโลก และมีความสำคัญมากที่สุดเนื่องจากมีสิ่งมีชีวิตอาศัยอยู่
โครงสร้างของเปลือกโลก 2 แบบ คือเปลือกโลกส่วนทวีป ( Continental Crust ) และเปลือกโลกส่วนมหาสมุทร ( Oceanic Crust ) เปลือกโลกส่วนที่บางที่สุดคือส่วนที่อยู่ใต้มหาสมุทร ส่วนเปลือกโลกที่หนาที่สุดคือเปลือกโลกส่วนที่รองรับทวีปที่มีเทือกเขาที่สูงที่สุดอยู่ด้วย
นอกจากนี้นักวิทยาศาสตร์ได้ศึกษาความแตกต่างเฉพาะของเปลือกโลก และแบ่งเปลือกโลกออกเป็น 2 ชั้น ตามลำดับจากผิวโลกดังนี้
-
เปลือกโลกชั้นบน ( Outer Crust ) ส่วนใหญ่เป็นหินไซอัล ( Sial ) ซึ่งเป็นหินแกรนิตของเปลือกโลกส่วนที่เป็นทวีป หินไซอัล ประกอบด้วยซิลิกา ( Silica ) และ อะลูมินา ( Alumina ) เป็นส่วนใหญ่ ซึ่งคำว่า Sial ( Si-al ) มาจากอักษรสองตัวแรกที่เป็นชื่อของสารประกอบทั้งสองนั่นเอง
-
เปลือกโลกชั้นล่าง ( Inner Crust ) องค์ประกอบส่วนใหญ่เป็นหินไซมา ( Sima ) ซึ่งเป็นหิน บะซอลล์ของเปลือกโลกส่วนที่เป็นท้องมหาสมุทร และอยู่ด้านล่างของหินไซอัล หินไซมาประกอบด้วยซิลิกา ( Silica ) และ แมกนีเซีย (Magnesia)
ภาพที่ 3 แสดงลักษณะและชั้นของเปลือกโลก
ที่มา: https://commons.wikimedia.org/wiki/File:Sial_ve_sima.jpg , www.cografyatutkudur.com.
-
เนื้อโลก ( Mantle ) เป็นส่วนที่อยู่ถัดลงไปจากเปลือกโลก มีความหนาประมาณ 2,900 กิโลเมตร นับจากฐานล่างสุดของเปลือกโลกจนถึงตอนบนของแก่นโลก แบ่งออกเป็น 3 ชั้นคือ
2.1 ชั้นเนื้อโลกส่วนบน เป็นหินที่เย็นตัวแล้วและบางส่วนมีรอยแตกเนื่องจากความ เปราะ ชั้นเนื้อโลกส่วนบนกับชั้นเปลือกโลก รวมตัวกันเรียกว่า “ธรณีภาค” ( Lithosphere ) ซึ่งมาจากรากศัพท์ภาษากรีก แปลว่าชั้นหิน ชั้นธรณีภาคมีความหนาประมาณ 100 กิโลเมตรนับจากผิวโลกลงไป
2.2 ชั้นฐานธรณีภาค ( Asthenosphere ) ชั้นเนื้อโลกถัดลงไปที่ความลึก 100 – 700 กิโลเมตร เป็นชั้นที่มีอุณหภูมิสูงมากทำให้แร่บางส่วนหลอมละลายเป็นหินหนืด ( Magma ) ที่ประกอบด้วยธาตุซิลิกอน เหล็ก และอลูมิเนียม เคลื่อนที่หมุนวนอยู่ภายในโลกอย่างช้า ๆ ด้วยการพาความร้อน ( Convection )
2.3 ชั้นเนื้อโลกส่วนล่าง ( Lower Mantle ) เป็นชั้นล่างสุดอยู่ที่ความลึกตั้งแต่ 700 – 2,900 กิโลเมตร เป็นชั้นที่เป็นของแข็งร้อนแน่นและหนืดกว่าตอนบน มีองค์ประกอบส่วนใหญ่เป็นเหล็ก แมกนีเซียม และซิลิเกท อุณหภูมิสูงตั้งแต่ประมาณ 2,250 – 4,500 องศาเซลเซียส
-
ชั้นแก่นโลก ( Core ) เป็นส่วนที่อยู่ลึกที่สุด มีความหนาประมาณ 3,440 กิโลเมตร แบ่งเป็น 2 ส่วนคือ
3.1 แก่นโลกชั้นนอก ( Outer Core ) มีลักษณะเป็นของเหลวร้อน อุณหภูมิสูงมาก ประมาณ 4,300 - 6,200 องศาเซลเซียส มีความหนาจากผิวโลกประมาณ 2,900 – 5,000 กิโลเมตร ประกอบด้วยธาตุเหล็กและนิกเกิลในสภาพที่หลอมละลาย
3.2 แก่นโลกชั้นใน ( Inner Core ) อยู่ถัดจากแก่นโลกชั้นนอกจนถึงจุดศูนย์กลางโลก มีอุณหภูมิประมาณ 6,200 - 6,400 องศาเซลเซียส และมีความกดดันมหาศาล ทำให้ส่วนนี้จึงมีสถานะเป็นของแข็ง ประกอบด้วยธาตุเหล็กและนิกเกิลที่อยู่ในสภาพที่เป็นของแข็ง
ระบบต่าง ๆ บนโลก ประกอบด้วย ธรณีภาค ( lithosphere ) ได้แก่ ส่วนที่เป็น ดิน หิน แร่ อุทกภาค ( hydrosphere ) ได้แก่ส่วนที่เป็นน้ำ ชีวภาค ( biosphere ) ได้แก่ส่วนที่เป็นสิ่งมีชีวิตต่าง ๆ และ บรรยากาศ ( atmosphere ) ได้แก่ ส่วนที่เป็นอากาศ ระบบทั้งสี่มีความสัมพันธ์กันซึ่งกันและกัน และมีการเปลี่ยนแปลงอยู่ตลอดเวลา ถ้าระบบใดระบบหนึ่งเสียสมดุลไปจะส่งผลกระทบต่อระบบอื่น ๆ เช่น หากมนุษย์บุรุกทำลายป่า ใช้ทรัพยากรต่าง ๆ ในธรรมชาติอย่างฟุ่มเฟือย ไม่รู้จักวิธีหรือขาดจิตสำนึกในการอนุรักษ์ ทิ้งของเสียสิ่งปฏิกูลต่าง ๆ กลับคืนสู่ธรรมชาติ โดยขาดการบำบัดหรือไม่มีการปฏิบัติที่ดีในการลดการใช้พลาสติกหรือขยะอื่น ๆ อันจะกลายเป็นขยะที่ย่อยสลายได้ยาก ก็จะทำให้ส่วนชีวภาคเสียสมดุล เมื่อขาดป่าไม้อันเป็นแหล่งต้นน้ำ เป็นที่อยู่อาศัยของสัตว์ป่าและสิ่งมีชีวิตอื่น ๆ และเป็นต้นกำเนิดของวัฏจักรที่สำคัญต่าง ๆ ในระบบนิเวศ ก็จะส่งผลต่อธรณีภาค อุทกภาค และบรรยากาศ ก่อให้เกิดการเปลี่ยนแปลงทางภูมิอากาศ ( Climate Change ) ส่งผลให้เกิดภัยแล้งที่รุนแรง อุทกภัยไปจนถึงพายุหิมะที่พัดถล่มเมือง ความถี่ของภัยธรรมชาติที่เพิ่มมากขึ้นเรื่อย ๆ มนุษย์ไม่ได้เป็นสิ่งมีชีวิตชนิดเดียวที่ได้รับผลกระทบ อุณหภูมิของมหาสมุทรที่สูงขึ้นทำให้เกิดการฟอกขาวของปะการัง อากาศที่แห้งแล้งในหลายพื้นที่ทำให้การฟื้นฟูของสภาพป่าหลังจากเกิดเพลิงไหม้เป็นเรื่องยากขึ้น สัตว์ป่าขาดที่อยู่อาศัยรวมไปถึงสภาพแวดล้อมไม่เอื้ออำนวยต่อการดำรงชีวิตอีกต่อไป
ดังนั้นการเรียนรู้เรื่องโครงสร้างและระบบต่าง ๆ ของโลกจะทำให้นักเรียนเข้าใจและตระหนักถึงวิธีการว่าจะต้องทำอย่างไร เราจึงจะอยู่ในโลกใบนี้อย่างสันติสุขและเก็บรักษามันไว้เพื่อให้รุ่นลูกรุ่นหลานของเรายังมีโลกที่น่าอยู่ใบนี้ต่อไป
แหล่งที่มา
นภดล ม่วงน้อยเจริญ. โครงสร้างภายในโลก วิทยาศาสตร์ ม.4-6 (โลกและดาราศาสตร์). สืบค้นเมื่อวันที่ 21 สิงหาคม 2562 จาก https://youtu.be/ukwlf9mVulY
ศูนย์การเรียนรู้วิทยาศาสตร์ โลก และดาราศาสตร์. การแบ่งโครงสร้างของโลกตามองค์ประกอบทางเคมี.
สืบค้นเมื่อวันที่ 25 สิงหาคม 2562 จาก http://www.lesa.biz/earth/lithosphere/earth-structure/chemical-structure
ศูนย์การเรียนรู้วิทยาศาสตร์ โลก และดาราศาสตร์. การเปลี่ยนแปลงภูมิอากาศ. สืบค้นเมื่อวันที่ 25 สิงหาคม 2562 จาก http://www.lesa.biz/earth/global-change/climate-change
กลับไปที่เนื้อหา
เปลือกโลกของเรามีการเปลี่ยนแปลงทางธรณีวิทยาได้หลายรูปแบบ ซึ่งการเปลี่ยนแปลงดังกล่าว ทำให้เปลือกโลกของเรามีลักษณะที่แตกต่างกันออกไป ได้แก่ ถ้ำ ภูเขา ที่ราบ ที่ราบสูง ลักษณะเปลือกโลกที่มีรูปพรรณสัณฐานที่แตกต่างกันดังกล่าว เรียกว่า ภูมิลักษณ์หรือธรณีสัณฐาน ( Landform )
ภาพที่ 1 อุทยานแห่งชาติป่าหินงาม เปลือกโลกที่เปลี่ยนแปลงจากการกัดเซาะของน้ำ ลม และแสงแดด
ที่มา: https://commons.wikimedia.org/, Leomaderson
กระบวนการเปลี่ยนแปลงที่เกิดขึ้นบนเปลือกโลกที่ทำให้เกิดภูมิลักษณ์แบบต่าง ๆ ได้แก่ การผุพังอยู่กับที่ การกร่อน การพัดพา การตกตะกอน การเปลี่ยนแปลงบางอย่างเกิดขึ้นอย่างช้า ๆ ใช้เวลาหลายร้อยล้านปีจึงเห็นการเปลี่ยนแปลง แต่บางอย่างก็เกิดขึ้นอย่างรวดเร็วจนสังเกตเห็นการเปลี่ยนแปลงได้ทันที ปัจจัยที่สำคัญที่ทำให้เกิดกระบวนการเปลี่ยนแปลงทางธรณีวิทยาต่าง ๆ เหล่านี้ได้แก่ ลักษณะโครงสร้างทางธรณีวิทยา ประเภทและชนิดของหิน การกระทำของน้ำ ลม ธารน้ำแข็ง แรงโน้มถ่วงของโลก การเปลี่ยนแปลงของสภาพอากาศ สิ่งมีชีวิต และปฏิกิริยาเคมี การเปลี่ยนแปลงแต่ละชนิดมีรายละเอียดดังนี้
-
การผุพังอยู่กับที่ ( Weathering ) เป็นกระบวนการที่ทำให้หินผุพัง สลายตัวลงเป็นเศษหินขนาดต่าง ๆ กัน การผุพังอยู่กับที่ แบ่งเป็น 2 ประเภท ได้แก่
1.1 การผุพังทางกายภาพ ( Mechanical Weathering ) เป็นกระบวนการเปลี่ยนแปลงขนาดและรูปร่างของหินเฉพาะภายนอก ไม่มีการเปลี่ยนแปลงองค์ประกอบทางเคมีในเนื้อหิน เกิดขึ้นได้จากสาเหตุต่าง ๆ ได้แก่ มนุษย์ระเบิดภูเขาเพื่อนำหินมาสร้างถนน สร้างเขื่อน ทำเหมืองแร่ การเจริญเติบโตของต้นไม้ที่เกิดขึ้นบนหินที่มีรอยแยก รากของพืชที่ชอนไชลงไปในรอยแตกของหิน เมื่อเวลาผ่านไป จำนวนรากที่เพิ่มขึ้นและมีขนาดใหญ่ขึ้น ทำให้หินแตกออกจากกันได้ นอกจากนี้การเปลี่ยนแปลงของสภาพอากาศที่อุณหภูมิสลับกันเป็นเวลานาน และการเปลี่ยนแปลงอุณหภูมิช่วงกลางวันกลางคืนเป็นเวลานานทำให้เกิดการผุพังทางกายภาพได้
ภาพที่ 2 หินที่ผุพังทางกายภาพเนื่องจากการกระทำของต้นไม้
ที่มา: ศุภาวิตา จรรยา
-
การผุพังทางเคมี ( Chemical Weathering ) เป็นกระบวนการที่ทำให้หินแตกสลายออกเป็นชิ้นเล็ก ๆ โดยอาศัยการเปลี่ยนแปลงทางเคมี ปัจจัยสำคัญที่ทำให้เกิดการผุพังทางเคมี ได้แก่ปฏิกิริยาเคมีต่าง ๆ ที่เกิดขึ้นในธรรมชาติ เช่น แก๊สคาร์บอนไดออกไซด์ ในที่ถูกปลดปล่อยจากการเผาไหม้ไปสู่บรรยากาศ แก๊สนี้จะละลายน้ำฝนทำให้ฝนมีสมบัติเป็นกรดคาร์บอนิก กรดจะทำปฏิกิริยาเคมีกับหินปูนและหินอ่อน ซึ่งเป็นสารประกอบแคลเซียมคาร์บอเนต ทำให้หินกร่อนลง มีลักษณะเว้าแหว่งหรือมีลักษะตะปุ่มตะป่ำเรียกภูมิลักษณ์ที่มีลักษณะนี้ว่า คาสต์ ( Karst ) และถ้าน้ำที่มีสภาพเป็นกรดคาร์บอนิกนี้ไหลซึมลงสู่ใต้ดินก็จะทำปฏิกิริยากับหินที่มีสารประกอบแคลเซียมคาร์บอเนตเป็นองค์ประกอบ ทำให้หินดังกล่าวผุกร่อนจนทำให้เกิดเป็นโพรงหรือถ้ำใต้ดิน และถ้าพื้นที่ด้านบนของโพรงหรือถ้ำใต้ดินเกิดการยุบตัวลงหรือเกิดการพังทลายลงจะเกิดเป็นหลุมยุบขึ้นนั่นเอง
ภาพที่ 3 ภูเขาหินที่เกิดการผุพังทางเคมีทำให้มีลักษณะเว้าแหว่งหรือมีลักษะตะปุ่มตะป่ำ
ที่มา: https://pixabay.com, Hans
-
การกร่อน การพัดพา และการสะสมตัวของตะกอน
การกร่อน ( Erosion ) คือ กระบวนการที่เกิดขึ้นบริเวณผิวโลกทำให้สารเปลือกโลกหลุดออกและถูกพัดพาให้เคลื่อนที่หรือกระจัดกระจายไปจากตำแหน่งเดิม โดยปัจจัยต่าง ๆ เช่น น้ำ ลม ธารน้ำแข็ง และ แรงโน้มถ่วงของโลก
การพัดพา ( Transportation ) หมายถึงกระบวนการที่แรงธรรมชาตินำเอาหิน ดินที่ผุพังสึกกร่อนจากที่หนึ่งไปยังอีกที่หนึ่ง
การสะสมตัว ( Deposition ) หมายถึง การรวมกันของดินและหินที่เกิดจากการกร่อนกลายเป็นตะกอน
สาเหตุการเปลี่ยนแปลงที่เกิดจากการกร่อน การพัดพา และการสะสมตัวของตะกอนมีสาเหตุใหญ่ คือ เกิดจากกระแสน้ำ และกระแสลม โดยมีรายละเอียดดังนี้
ในธรรมชาติเมื่อหินต้นกำเนิดผุพังลงเป็นตะกอนขนาดต่าง ๆ ตะกอนจะถูกน้ำพัดพาให้เคลื่อนที่ไปสู่ที่ต่ำกว่า โดยปัจจัยต่าง ๆ เช่น ลม น้ำ ธารน้ำแข็ง แรงโน้มถ่วงโลก โดยตะกอนขนาดเล็ก ๆ จะถูกพัดพาไปก่อนและไปได้ไกลกว่าตะกอนขนาดใหญ่ เกิดการทับถมเป็นลักษณะต่าง ๆ เช่น การทับถมของตะกอนรูปพัด เกิดจากกระแสน้ำไหลจากภูเขาตกลงสู่ที่ราบต่ำกว่า มีร่องน้ำ ขนาดใหญ่กว่าร่องน้ำเดิมมาก ทำให้เกิดการทับถมของตะกอนรูปพัด และการทับถมของตะกอนรูปดินดอนสามเหลี่ยม เกิดจากการทับถมของตะกอนที่บริเวณปากแม่น้ำ เป็นรูปสามเหลี่ยม เนื่องจากกระแสน้ำบริเวณปากแม่น้ำเคลื่อนที่ช้าลง จึงเกิดการทับถมของตะกอนอยู่ตลอดเวลา
ภาพที่ 4 เนินตะกอนรูปพัด
ที่มา: https://commons.wikimedia.org, Wing-Chi Poon
อีกปัจจัยหนึ่งที่ทำให้เกิดการกร่อน การพัดพา และการสะสมตัวของตะกอน ในภูมิประเทศบางแห่งที่ได้รับอิทธิพลจากกระแสลมที่พัดผ่านอยู่เป็นประจำ เช่น บริเวณชายฝั่งทะเล บริเวณทะเลทราย เกิดการกร่อนได้โดยลม และจะถูกพัดพาตะกอนทรายให้ปลิวไปในอากาศจากที่หนึ่งไปสะสมตัวตัวในอีกที่หนึ่งในลักษณะของเนินทราย ( Sand dune ) ซึ่งจะมีขนาดและรูปร่างที่ต่างกัน เนินทรายส่วนใหญ่ทิศทางที่ไปตามแนวที่ต้านลมจะมีลักษณะลาด ส่วนด้านที่อยู่ปลายลมจะชัน นอกจากจะพบเนินทรายในทะเลทรายแล้ว ยังสามารถพบได้ที่ตามแนวฝั่งทะเลลาดต่ำ ที่น้ำทะเลขึ้นเต็มที่ ริมฝั่งแม่น้ำหรือตามชายฝั่งขนาดใหญ่ และบริเวณที่ถูกปกคลุมด้วยทรายที่แห้งเป็นจำนวนมากในบางฤดู
ภาพที่ 5 เนินทรายที่เกิดจากการกร่อน การพัดพา และการสะสมตัวของตะกอนโดยกระแสลม
ที่มา: https://pxhere.com/en/photo/496230
แหล่งที่มา
สสวท. ( 2554 ). หนังสือเรียนรายวิชาพื้นฐาน วิทยาศาสตร์ ม. 2 เล่ม 1 โลกของเรา ( พิมพ์ครั้งที่ 3 ). กรุงเทพ: องค์การค้าของ สกสค.
DLIT Resources คลังสื่อการสอน. การผุพังอยู่กับที่ วิทยาศาสตร์ ชั้นมัธยมศึกษาปีที่ 2. สืบค้นเมื่อวันที่ 25 สิงหาคม 2562 จาก https://www.youtube.com/watch?v=1YJ_tWXUbL0
เนาวรัตน์ สุชีพ. การเปลี่ยนแปลงของเปลือกโลก. สืบค้นเมื่อวันที่ 25 สิงหาคม 2562
จาก https://sites.google.com/site/karpeliynpaelngkhxngpeluxklok/kar-peliynpaelng-khxng-peluxk-lok
กลับไปที่เนื้อหา
หิน ( Rock ) เป็นของแข็งที่เกิดขึ้นตามธรรมชาติ เป็นสารผสมที่เกิดจากการเกาะตัวกันแน่นของแร่ชนิดเดียวหรือหลายชนิด หินมีหลายลักษณะ ซึ่งมีรูปร่าง สีสันที่แตกต่างกันออกไป หิน แบ่งตามลักษณะการเกิดได้ 3 ประเภท ได้แก่ หินอัคนี หินชั้นหรือหินตะกอน และหินแปร
ภาพที่ 1 ภาพแสดงชนิดและวัฏจักรของหิน
ที่มา: ศุภาวิตา จรรยา
ภาพที่ 2 ภูเขาหินแกรนิตที่เกิดจากหินหนืด ( Magma ) ดันตัวขึ้นมาตามรอยแยกของชั้นหินแล้วเย็นตัวอย่างช้า ๆ ที่ผิวโลก
ที่มา : https://www.pexels.com/th-th/photo/323122/, João Freitas
-
หินอัคนี ( Igneous Rock ) เกิดจากการเย็นตัวของหินหนืดร้อนใต้เปลือกโลก ที่เรียกว่า แมกมา ( Magma ) และหินหนืดร้อนที่ปะทุขึ้นมาตามแนวรอยแยกของแผ่นดิน หรือจากการระเบิดของภูเขาไฟ ที่เรียกว่า ลาวา ( Lava ) เมื่อหินหนืดร้อนเหล่านั้นเย็นตัวลงจะตกผลึกเป็นแร่ต่าง ๆ และจับตัวแน่นเป็นหินที่ผิวโลก ตัวอย่างของหินอัคนี ได้แก่
1.1 หินแกรนิต เกิดจากการเย็นตัวช้า ๆ ของแมกมาเป็นผลึกขนาดใหญ่ แวววาว สวยงาม มีสีอ่อน แข็ง ทนทานต่อการผุกร่อน ใช้ในการก่อสร้าง ประดับอาคาร ปูพื้น ทำอนุสาวรีย์ แกะสลัก ทำครก พบได้ที่ ภูมิประเทศที่เป็นภูเขา ได้แก่ ชลบุรี จันทบุรี แพร่ เชียงใหม่
1.2 หินบะซอลต์ เกิดจากลาวา เย็นตัวเร็วบนผิวโลกเนื้อแน่น ผลึกมีขนาดเล็ก ทนทานต่อการผุกร่อนใช้ทำถนน ก่อสร้าง พบได้ที่บริเวณภูเขาของจังหวัดกาญจนบุรี จันทบุรี ลำปาง ลพบุรี
1.3 หินออบซิเดียนเกิดจากการเย็นตัวของลาวา อย่างฉับพลันไม่เป็นผลึก เนื้อเรียบเกลี้ยงคล้ายแก้ว มีสีดำ รอยแตกคมเหมือนแก้วแตก ใช้ทำอาวุธโบราณ
1.4 หินสคอเรีย เกิดจากการที่หินหลอมเหลว มีแก๊สปนในลาวา ดันทะลุผ่านเย็นตัวทันที จึงมีรูพรุนโดยทั่วไปเนื้อแข็ง ไม่ทนทานต่อการสึกกร่อน สาก เปราะ เบา มีรูพรุน ใช้ทำหินขัด พบได้ตามชายฝั่งทะเล
1.5 หินพัมมิซ จะมีลักษณะคล้ายหินสคอเรีย แต่รูพรุนของหินมีขนาดเล็กกว่า เบา ลอยน้ำได้ ใช้ทำหินขัด พบได้ตามชายฝั่งทะเล
-
หินชั้นหรือหินตะกอน ( Sedimentary Rock ) เกิดจากการทับถม และสะสมของตะกอนขนาดต่าง ๆ เช่น กรวด ทราย ทรายแป้ง และดินเหนียว รวมถึงเศษแร่ และเศษหินที่เกิดจากการกัดเซาะจากแรงน้ำ ลม หรือคลื่นทะเล แล้วถูกพัดพาไปทับถม จนในที่สุดกลายเป็นหินในแอ่งสะสมตัว หินประเภทนี้ ได้แก่ หินกรวด หินทราย หินปูน และหินดินดาน เป็นต้น
ภาพที่ 3 หินทราย เกิดจากการทับถมของตะกอนของทราย ดินเหนียว เศษหิน เศษแร่ต่าง ๆ
ที่มา : https://pixabay.com, Peggychoucair
-
หินแปร ( Metamorphic Rock ) เกิดจากการแปรสภาพของหินอัคนีและหินตะกอน อันเนื่องมาจากความร้อนและความกดดันสูงและปฏิกิริยาทางเคมี ทำให้เนื้อหิน และโครงสร้างเปลี่ยนไปจากเดิม หินประเภทนี้ ได้แก่
-
หินชนวน แปรสภาพมาจากหินดินดาน มีเนื้อหินที่แน่นและละเอียดมาก ผิวเรียบเป็นมัน สีเข้ม กะเทาะออกเป็นแผ่นบาง ๆ ตามรอยแยกได้ ใช้ทำกระดานชนวน มุงหลังคา ปูพื้นทางเดิน ทำแผ่นกันความร้อน พบได้ที่จังหวัดกาญจนบุรี ชลบุรี ระยอง นครศรีธรรมราช นราธิวาส และนครราชสีมา
-
หินอ่อน แปรสภาพมาจากหินปูน มีแคลเซียมคาร์บอเนตเป็นองค์ประกอบสำคัญ มีทั้งเนื้อละเอียดและเนื้อหยาบจนเห็นผลึก ไม่มีริ้วขนาน ขัดผิวหน้าเป็นมันวาว มีความแข็งน้อย สึกกร่อนง่าย ถูกกัดกร่อนได้ด้วยสารที่มีฤทธิ์เป็นกรด ใช้ทำตุ๊กตาหิน ตกแต่งประดับอาคาร พบได้ที่จังหวัดสระบุรี นครนายก ยะลา
-
ภาพที่ 4 หินอ่อน
ที่มา: https://pxhere.com/th/photo/1070435
3.1 หินไนส์ แปรสภาพมาจากหินแกรนิต เป็นหินที่มีผลึกเรียงตัวกันเป็นริ้วขนานแข็งแรงและทนทานมาก เนื้อหินมีผลึกสีขาวขุ่น ขาวใส และสีดำ ใช้ทำครก ทำโม่ พบได้ที่จังหวัดชลบุรี กาญจนบุรี ชุมพร
3.2 หินควอร์ตไซต์ แปรสภาพมาจากหินทรายหรือหินกรวด เป็นหินที่มีเนื้อแน่นแข็งแกร่ง เมื่อแตกมีรอยเว้าโค้งแบบก้นหอย ไม่มีริ้วขนาน ใช้ทำกรวดคอนกรีต ทำหินอัดเม็ด ทำหินลับมีดและวัสดุทนไฟ พบได้ที่จังหวัดชลบุรี ราชบุรี
3.3 หินชีสต์ แปรสภาพมาจากหินแกรนิตและหินดินดาน เป็นหินที่มีเนื้อหินหยาบมาก ผิวมีรอยแตกขรุขระไม่เรียบ มีริ้วขนาน ใช้เป็นหินประดับ พบได้ที่บริเวณเขื่อนภูมิพล จังหวัดตาก
วัฏจักรของหิน ( Rock Cycle )
วัฏจักรของหิน ( Rock Cycle ) เป็นกระบวนการเกิดการเปลี่ยนแปลงและการหมุนเวียนของหินทั้งสามชนิด จากหินชนิดหนึ่งไปเป็นหินอีกชนิดหนึ่งโดยกระบวนการต่าง ๆ ทั้งโดยธรรมชาติและการกระทำของมนุษย์ วัฏจักรของการเกิดหินสามารถอธิบายได้ดังนี้
- เมื่อหินหนืดร้อนภายในโลก ( Magma ) และ หินหนืดร้อนบนพื้นผิวโลก ( Lava ) เย็นตัวลงกลายเป็น หินอัคนี
- ลมฟ้าอากาศ น้ำ แสงแดด การกระทำของมนุษย์ ต้นไม้ รวมไปถึงแบคทีเรีย ทำให้หินอัคนีและหินแปร เกิดการผุพังสึกกร่อนเป็นตะกอน ทับถมกันเป็นเวลานานหลายล้านปี แรงดันและปฏิกิริยาเคมีทำให้เกิดการรวมตัวเกิดเป็น หินตะกอนหรือหินชั้น
- การเปลี่ยนแปลงความดันของเปลือกโลกและความร้อนจากแมนเทิลภายในโลก หรือจากการใช้เครื่องจักรของมนุษย์ ทำให้หินตะกอน และหินอัคนี เกิดการแปรสภาพเป็น หินแปร
- หินตะกอนและหินแปรที่จมตัวลงสู่ใต้ผิวโลกจะเกิดการหลอมละลายกลายเป็นหินหนืด ( Magma ) เมื่อปัจจัยสภาพแวดล้อมเปลี่ยนไปเกิดการเย็นตัวของระบบ หรือถ้าหากหินหนืดมีการแทรกดันออกมานอกผิวโลก ( Lava ) เมื่อเย็นตัวลง ก็จะเกิดเป็นหินอัคนี
กระบวนการเหล่านี้เกิดขึ้นเป็นวงรอบเรียกว่า วัฏจักรหิน ( Rock cycle ) กระบวนการสามารถเกิดขึ้นได้โดยไม่จำเป็นต้องเรียงลำดับ และสามารถเกิดย้อนกลับไปเป็นหินชนิดเดิมก็ได้ ขึ้นกับอุณหภูมิและความดันที่เป็นปัจจัยทำให้หินเกิดการผุพัง การกัดกร่อน และการแปรสภาพกลายเป็นหินชนิดใหม่ขึ้นมา
แหล่งที่มา
สำนักงานเทคโนโลยีเพื่อการเรียนการสอน. การจำแนกประเภทของหิน. สืบค้นเมื่อวันที่ 1 กันยายน 2562 จาก https://www.otpchelp.com/elearning-view.php?getVideoNo=417
สารานุกรมไทยสำหรับเยาวชนฯ เล่มที่ 33. หิน. สืบค้นเมื่อวันที่ 2 กันยายน 2562
จาก http://kanchanapisek.or.th/kp6/sub/book/book.php?book=33&chap=6&page=t33-6-infodetail09.html
ศูนย์การเรียนรู้วิทยาศาสตร์ โลกและดาราศาสตร์. วัฏจักรของหิน. สืบค้นเมื่อวันที่ 1 กันยายน 2562 จาก http://lesa.biz/earth/lithosphere/rocks/rock-cycle
กลับไปที่เนื้อหา
-
10558 โลกและการเปลี่ยนแปลง /lesson-earthscience/item/10558-2019-08-28-02-40-04เพิ่มในรายการโปรด