การวัด
มนุษย์เราคุ้นเคยกับการวัด (Measurement) มาแต่โบราณ ยาวนานกว่าหลายพันปีก่อนคริสต์ศักราช การวัดเป็นพื้นฐานการคำนวณที่มีวัฒนาการการเกิดและการใช้งานในด้านวิทยาศาสตร์และคณิตศาสตร์เป็นส่วนใหญ่ การวัดเป็นเครื่องมือที่ใช่เพื่อบอกขนาด ปริมาณ ตำแหน่ง สภาวะ และเวลา เป็นต้น ซึ่งทำให้เกิดศาสตร์สำคัญที่มีชื่อว่า มาตรวิทยา (Metrology)
สิ่งที่ทำให้เกิดการวัดมีที่มาจากสิ่งที่เราเรียกว่า ความเป็นธรรม เพราะในการซื้อขายแลกเปลี่ยนที่มีมาตั้งแต่โบราณ จำเป็นต้องมีการกำหนดหน่วยในการวัดเพื่อเป็นมาตรฐานในการแลกเปลี่ยนหรือซื้อขายนั้น เช่น การวัดขนาดพื้นที่เพื่อระบุกรรมสิทธิ์ในการครองที่ดิน และหน่วยวัดที่มีการกำหนดขึ้นมานี้ก็ทำให้เกิดหน่วยวัดในระบบสากล และระบบหน่วยวัดตามมาตรวิทยาแห่งชาติหรือตราพระราชบัญญัติ ชั่ง ตวง วัด ของประเทศ ในปี พ.ศ. 2466 โดยกำหนดให้ระบบเมตริกเป็นระบบการวัดของประเทศหรือระบบการวัดแห่งชาติ
ภาพ เครื่องมือการวัด
ที่มา https://pixabay.com/th/ ,falconp4
พระราชบัญญัติการพัฒนาระบบมาตรวิทยาแห่งชาติพ.ศ.2540 กำหนด “มาตรวิทยา หมายความว่ากิจกรรมทางวิทยาศาสตร์ที่เกี่ยวข้องกับการสอบเทียบ ปรับตั้งความถูกต้องของเครื่องมือและอุปกรณ์ที่ใช้ในการวัดปริมาณหรือวิเคราะห์ทดสอบ” มาตรวิทยาถือเป็นการนำความรู่ในธรรมชาติ และพฤติกรรมของมนุษย์ในระบบของการวัด มาเป็นเกณฑ์กำหนดผลของการวัด การสร้างมาตรฐานของการวัด ถือเป็นสิ่งหนี่งสำคัญที่ทำให้เกิดหน่วยวัดในระบบต่าง ๆ
ซึ่งถือเป็นการสื่อความหมายในเชิงการวัดที่ได้จากการสังเกต การคะเน ยกตัวอย่างเช่น
การสื่อความหมายเกี่ยวกับระยะทาง
- บ้านของเธออยู่ห่างจากบ้านของฉันประมาณสองคุ้งน้ำ
- โรงเรียนอยู่ไม่ไกลหรอก แค่เดินไปชั่วข้าวหม้อเดือดเท่านั้น
- หมู่บ้านป่ายางอยู่ไกลจากที่นี่เท่ากับเสียงช้างร้อง
การสื่อความหมายเกี่ยวกับเวลา
- ให้กลับบ้านก่อนพระอาทิตย์ตกดิน
- ตื่นนอนตอนไก่ขัน
- กลับเถอะ นกบินกลับรังแล้ว
การสื่อความหมายเกี่ยวกับระยะทาง
- น้ำลึก 2 ศอก
- ผ้ากว้าง 2 คืบ
ภาพจากการวัดระยะทางของคนไทยในสมัยก่อนจะใช้ร่างกายเป็นเกณฑ์อ้างอิง
ที่มา https://www.dek-d.com/board/view/3683746/
ทั้งหมดที่กล่าวมานั้นก็เป็นวิวัฒนาการการวัดที่ใช้ธรรมชาติเป็นเกณฑ์ในการวัดและประมาณ ต่อจากนั้นได้มีการพัฒนาหน่วยการวัดและเครื่องมือที่ใช้ให้เป็นแบบมาตรฐานสากล และมาตรฐานของชาติ
มาตรวิทยาสากล
มีการจัดการประชุมด้านมาตรวิทยานานาชาติเป็นครั้งแรกของโลก เมื่อวันที่ 20 พฤษภาคม ค.ศ. 1875 หรือประมาณ ปี พ.ศ. 2418 การประชุมครั้งนั้นทำให้เกิดการลงนามครั้วสำคัญเกี่ยวกับ สนธิสัญญานานาชาติที่เรียกว่า “สนธิสัญญาเมตริก” (The Metre Convention) ซึ่งถือได้ว่า ซึ่งเปนสนธิสัญญานานาชาติที่เกาแกอันดับสองของโลก โดยมีสาระสำคัญดังนี้
1. ให้จัดตั้งสํานักงานชั่ง ตวง วัด ระหว่างประเทศ (International Bureau of Weights and Measures : BIPM) ซึ่งภาระหน้าที่หลักคือการสถาปนาเก็บรักษาหน่วยวัดสากล (International System of Unit, SI)
2. ให้จัดตั้งคณะกรรมการมาตรวิทยาสากล (International Committee of Weights and Measures : CIPM) ประกอบด้วย นักวิทยาศาสตร์ชั้นนําที่มีผลงานเป็นที่ประจักษ์จํานวน 18 คน เพื่อกําหนดมาตรฐานที่เกี่ยวกับหน่วยวัดสากล ตลอดจนกิจกรรมกระบวนการต่างๆ เพื่อให้นานาชาติมีการวัดไปในทิศทางเดียวกัน อันจะนํามาซึ่งการยอมรับผลการวัดระหว่างประเทศต่าง ๆ
3. ให้มีการประชุมนานาชาติด้านมาตรวิทยาเป็นประจําทุกๆ 4 ปีเพื่อให้ประเทศต่าง ๆ ที่เป็นสมาชิกตามสนธิสัญญาเมตริกลงมติยอมรับข้อกําหนดต่าง ๆ ที่คณะกรรมการมาตรวิทยาสากลนําเสนอ เพื่อให้มีผลเป็นข้อกําหนดร่วมซึ่งเป็นที่ยอมรับของทุก ๆ ประเทศต่อไป
ระบบมาตรวิทยาในประเทศไทย
ประเทศไทยเข้าร่วมประชุมกับนานาชาติด้านมาตรวิทยาและเข้าเป็นสมาชิกของ The Metre Convention ในปี พ.ศ.2455 (ค.ศ. 1912) และอีก 11 ปีต่อมา ใน พ.ศ. 2466 (ค.ศ. 1923) ประเทศไทยมีกฎหมายที่เกี่ยวข้องกับมาตรวิทยาฉบับแรก คือ พระราชบัญญัติ ชั่ง ตวง วัด พ.ศ. 2466 สาระสําคัญในพระราชบัญญัติดังกล่าว คือ ประเทศไทยยอมรับระบบเมตริกเป็นระบบการวัดของชาติ
ประเทศไทยมีระบบการวัดแห่งชาติที่สอดคล้องกับการวัดสากล โดยแบ่งออกเป็น 2 ระบบดังนี้
- ระบบการวัดแห่งชาติเชิงพานิชย์หรือเชิงกฎหมาย (Legal Metrology)
เป็นระบบการวัดแห่งชาติที่มีวัตถุประสงค์เพื่อรักษาความถูกต้อง ของ การชั่ง การวัด การตวง
- ระบบการวัดแห่งชาติทางวิทยาสาสตร์และอุตสาหกรรม (Scientific Metrology or Industrial Metrology)
เป็นระบบวัดแห่งชาติที่มุ่งเน้นความถูกต้องสูงสุดตามระบบมาตรฐานการวัดสากลหรือหน่วยวัด SI (international System of Units) สำหรับงานทางด้านวิชาการโดยเฉพาะ เช่น การวิจัย งานทางด้านวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยี
กลับไปที่เนื้อหา
การวัดความยาว
พื้นฐานสำคัญเบื้องต้นในบทเรียนนี้คือ การวัดความยาว ซึ่งเป็นพื้นฐานสำคัญอย่างอย่างหนึ่งที่มีความสำคัญอย่างมาก เพราะสิ่งที่อยู่ล้อมตัวของเราล้วนแต่เป็นวัตถุที่สามารถวัดความยาวได้ทั้งสิ้น ตัวอย่างเช่น การวัดความกว้างของหน้าต่าง การวัดความยาวของหน้าต่าง การวัดความสูงของหน้าต่าง การวัดความสูงของขวดน้ำ การวัดความยาวของสมุดโน้ต การวัดความยาวของดินสอบหรือปากกา การวัดความสูงของโต๊ะเรียน เป็นต้นวิวัฒนาการของการวัดความยาว อย่างที่เคยทราบกันมาที่ว่ามนุษย์ใช้อวัยวะส่วนต่าง ๆ ของร่างกายเป็นเครื่องมือมือในการวัดและการคำนวณความยาว เช่น
แอ่งน้ำนี้มีความลึก 2 ศอก
ผ้าผืนนี้มีความยาว 5 คืบ
โต๊ะไม้กระดานยาว 4 วา
แต่เมื่อมีหน่วยวัดมาตรฐาน ก็ต้องใช้หน่วยมาตรฐานนี้วัดความยาวเพื่อนำไปใช้ประโยชน์ได้จริง ซึ่งเป็นการวัดหน่วยความยาวในหน่วยเดียวกันหรือต่างระบบกัน ก็ขึ้นอยู่กับผู้วัดและลักษณะการนำไปใช้
หน่วยการวัดความยาว
ปัจจุบัน ประเทศไทยนิยมใช้หน่วยวัดความยาวในหลายระบบ ซึ่งแต่ละระบบก็เป็นหน่วยสำคัญของพื้นฐานการนำไปใช้ในแต่ละด้านที่แตกต่างกัน
หน่วยการวัดความยาวที่สำคัญและควรรู้จักมีดังนี้
หน่วยการวัดความยาวในระบบเมตริก
เกิดขึ้นเมื่อ พ.ศ. 2336 ประเทศฝรั่งเศส กำหนดหน่วยความยาวเป็น เซนติเมตร เมตร และกิโลเมตร ตามรายละเอียด ดังต่อไปนี้
Millimeter คือ มิลลิเมตร ตัวย่อภาษาอังกฤษ mm ตัวย่อภาษาไทย มม.
Centimeter คือ เซนติเมตร ตัวย่อภาษาอังกฤษ cm ตัวย่อภาษาไทย ซม.
Meter คือ เมตร ตัวย่อภาษาอังกฤษ m ตัวย่อภาษาไทย ม.
Kilometer คือ กิโลเมตร ตัวย่อภาษาอังกฤษ km ตัวย่อภาษาไทย กม.
การเปรียบเทียบค่าความยาวในระบบเมตริก
10 มิลลิเมตร เท่ากับ 1 เซนติเมตร
100 เซนติเมตร เท่ากับ 1 เมตร
1,000 เมตร เท่ากับ 1 กิโลเมตร
หรือ
10 mm เท่ากับ 1 cm
100 cm เท่ากับ 1 m
1,000 m เท่ากับ 1 km
หรือ
10 มม. เท่ากับ 1 ซม.
100 ซม. เท่ากับ 1 ม.
1,000 ม. เท่ากับ 1 กม.
หน่วยการวัดความยาวในระบบอังกฤษ
กำหนดหน่วยความยาวเป็น นิ้ว ฟุต ฟลา และไมล์
Inch หน่วยภาษาอังกฤษ in หน่วยภาษาไทย นิ้ว
Foot หน่วยภาษาอังกฤษ ft หน่วยภาษาไทย ฟุต
Yard หน่วยภาษาอังกฤษ yd หน่วยภาษาไทย หลา
Mile หน่วยภาษาอังกฤษ mi หน่วยภาษาไทย ไมล์
การเปรียบเทียบค่าความยาวในระบบอังกฤษ
12 นิ้ว เท่ากับ 1 ฟุต
3 ฟุต เท่ากับ 1 หลา
1,760 หลา เท่ากับ 1 ไมล์
หรือ
12 in เท่ากับ 1 ft
3 ft เท่ากับ 1 yd
1,760 yd เท่ากับ 1 mi
หน่วยการวัดความยาวในระบบมาตราไทย
กำหนดหน่วยความยาวเป็น นิ้ว คืบ ศอก วา เส้น และโยชน์
การเปรียบเทียบค่าความยาวในระบบมาตราไทย
12 นิ้ว เท่ากับ 1 คืบ
2 คืบ เท่ากับ 1 ศอก
4 ศอก เท่ากับ 1 วา
20 วา เท่ากับ 1 เส้น
400 เส้น เท่ากับ 1 โยชน์
การเปลี่ยนหน่วยความยาว
ในการคำนวณเพื่อการใช้งานจริงในบางครั้ง มีความจำเป็นที่ต้องมีการเปลี่ยนหน่วยความยาวโดยเปรียบเทียบหน่วยวัดความยาวในระบบเดียวกันหรือต่างระบบกันได้ตามหน่วยที่กล่าวไปด้านบน เช่น ระบบอังกฤษเทียบกับระบบเมตริก เป็นต้น ซึ่งสามารถใช้เกณฑ์เปรียบเทียบโดยประมาณได้ดังนี้
1 วา เท่ากับ 2 เมตร
1 นิ้ว เท่ากับ 2.54 เซนติเมตร
1 หลา เท่ากับ 0.9144 เมตร
1 หลา เท่ากับ 90 เซนติเมตร
1 ไมล์ = 1.6093 กิโลเมตร
หลักในการเปลี่ยนหน่วยนั้น โดยปกติสามารถทำได้ดังตัวอย่างต่อไปนี้
กรณีที่ 1 เปลี่ยนจากหน่วยเล็กให้เป็นหน่วยใหญ่
คำถามที่ 1 เด็กชายณเดชมีส่วนสูง 155 เซนติเมตร เด็กชายณเดชจะมีส่วนสูงกี่เมตร
วิธีทำ สามารถเทียบบัญญัติไตรยางศ์ เทียบหน่วยเซนติเมตรให้เป็นเมตร ได้ดังนี้
เนื่องจาก 100 เซนติเมตร มีค่าเท่ากับ 1 เมตร
เด็กชายณเดชสูง 155 เซนติเมตร คิดเป็น (155 คูณ 1) หารด้วย 100 = 1.55 เมตร
ดังนั้น เด็กชายณเดชสูง 1.55 เมตร
คำถามที่ 2 เด็กหญิงญาญ่าขายผ้าให้เด็กชายณเดช 250 นิ้ว เด็กชายณเดชซื้อผ้ามากี่หลา
วิธีทำ สามารถเทียบบัญญัติไตรยางศ์ ใน 2 ขั้น เพราะต้องเทียบหน่วยจากหน่วยนิ้วให้เป็นฟุตก่อน แล้วค่อยเทียบหน่วยฟุตให้เป็นหลาได้ดังนี้
ขั้นที่ 1 เทียบ หน่วยนิ้ว ให้เป็น หน่วยฟุต
เนื่องจาก 12 นิ้ว มีค่าเท่ากับ 1 ฟุต
เด็กชายณเดชจได้ผ้ามา 250 นิ้ว คิดเป็น (250 คูณ 1) หารด้วย 12 = 20.83 ฟุต
ขั้นที่ 2 เทียบ หน่วยฟุต ให้เป็น หน่วยหลา
เนื่องจาก 3 ฟุต มีค่าเท่ากับ 1 หลา
เด็กชายณเดชจได้ผ้ามา 20.83 ฟุต คิดเป็น (20.83 คูณ 1) หารด้วย 3 = 6.94 หลา
ดังนั้น เด็กชายณเดชซื้อผ้ามา 6.94 หลา
กรณีที่ 2 เปลี่ยนจากหน่วยใหญ่ให้เป็นหน่วยเล็ก
คำถามที่ 1 บ้านเด็กชายณเดชห่างจากโรงเรียน 0.65 กิโลเมตร บ้านเด็กชายณเดชห่างจากโรงเรียนกี่เมตร
วิธีทำ สามารถเทียบบัญญัติไตรยางศ์ เทียบหน่วยกิโลเมตรให้เป็นเมตร ได้ดังนี้
เนื่องจาก 1 กิโลเมตร มีค่าเท่ากับ 1,000 เมตร
บ้านเด็กชายณเดชห่างจากโรงเรียน 0.65 กิโลเมตร คิดเป็น (0.65 คูณ 1,000) หารด้วย 1 = 650 เมตร
ดังนั้น บ้านเด็กชายณเดชห่างจากโรงเรียน 650 เมตร
คำถามที่ 2 เด็กหญิงญาญ่าซื้อโต๊ะมาความยาว 3 วา โต๊ะตัวนี้มีความยาวกี่นิ้ว
วิธีทำ สามารถเทียบบัญญัติไตรยางศ์ ใน 3 ขั้น เพราะต้องเทียบหน่วยจากหน่วยวาให้เป็นศอกก่อน แล้วค่อยเทียบหน่วยศอกให้เป็นคืบ และเทียบหน่วยคืบเป็นหน่วยนิ้วในขั้นสุดท้าย ดังนี้
ขั้นที่ 1 เทียบ หน่วยวา ให้เป็น หน่วยศอก
เนื่องจาก 1 วา มีค่าเท่ากับ 4 ศอก
โต๊ะยาว 3 วา คิดเป็น (3 คูณ 4) หารด้วย 1 = 12 ศอก
ขั้นที่ 2 เทียบ หน่วยศอก ให้เป็น หน่วยคืบ
เนื่องจาก 1 ศอก มีค่าเท่ากับ 2 คืบ
โต๊ะยาว 12 ศอก คิดเป็น (12 คูณ 2) หารด้วย 1 = 24 คืบ
ขั้นที่ 3 เทียบ หน่วยคืบ ให้เป็น หน่วยนิ้ว
เนื่องจาก 1 คืบ มีค่าเท่ากับ 12 นิ้ว
โต๊ะยาว 24 คืบ คิดเป็น (24 คูณ 12) หารด้วย 1 = 288 นิ้ว
ดังนั้น โต๊ะตัวนี้มีความยาว 288 นิ้ว
ข้อสังเกต
1. เมื่อต้องการเปลี่ยนหน่วยจากหน่วยที่เล็กกว่าไปสู่หน่วยที่ใหญ่ขึ้นจะใช้การหาร
2. เมื่อต้องการเปลี่ยนหน่วยจากหน่วยที่ใหญ่กว่าไปสู่หน่วยที่เล็กลงจะใช้การคูณ
กลับไปที่เนื้อหา
การวัดพื้นที่
พื้นฐานสำคัญต่อมาที่มีความจำเป็นต้องเรียนรู้เป็นอย่างยิ่งก็คือ การวัดพื้นที่ ซึ่งการวัดพื้นที่นี้ก็มีระบบหน่วยเช่นเดียวกับการวัดความยาว และมีทั้งระบบหน่วยเดียวกัน และต่างระบบเช่นเดียวกัน ซึ่งมีประโยชน์อย่างยิ่งในการนำไปใช้งานวัดพื้นที่ได้อย่างเหมาะสม และในหัวข้อนี้เราอาจได้เรียนรู้และนำทักษะการคาดคะเนมาใช้คาดคะเนพื้นที่ และสามารถอธิบายวิธีที่ใช้คาดคะเนได้ โดยสามารถนำไปประยุกต์กับสถานการณ์ในชีวิตประจำวัน
จริง ๆ แล้วพื้นที่ก็คือปริมาณบอกขนาดของรูปร่างที่แสดงถึงขอบเขต ซึ่งในที่นี้กล่าวคือรูปร่างสองมิติ หรือขอบเขตพื้นที่ในแนวแผ่นระนาบนั่นเอง โดยใช้หลักการวัดพื้นฐานจากการวัดความยาวมาเป็นตัวบ่งบอกปริมาณโดยอาจมีสูตรการคำนวณ หรืออาศัยการคาดคะเนเป็นหลักพื้นฐานในการหาค่าพื้นที่นั้น ๆ
หน่วยการวัดพื้นที่
หน่วยการวัดพื้นที่ที่สำคัญและควรรู้จักมีดังนี้
หน่วยการวัดความยาวในระบบเมตริก
กำหนดหน่วยของพื้นที่เป็น ตารางเซนติเมตร ตารางเมตร และตารางกิโลเมตร ตามรายละเอียด ดังต่อไปนี้
Square Millimeter คือ ตารางมิลลิเมตร ตัวย่อภาษาอังกฤษ sq mm, mm2 ตัวย่อภาษาไทย ตร. มม.
Square Centimeter คือ ตารางเซนติเมตร ตัวย่อภาษาอังกฤษ sq cm, cm2 ตัวย่อภาษาไทย ตร. ซม.
Square Meter คือ ตารางเมตร ตัวย่อภาษาอังกฤษ sq m, m2 ตัวย่อภาษาไทย ตร. ม.
Square Kilometer คือ ตารางกิโลเมตร ตัวย่อภาษาอังกฤษ sq km, km2 ตัวย่อภาษาไทย ตร. กม.
การเปรียบเทียบค่าหน่วยการวัดพื้นที่ที่ในระบบเมตริก
1 sq cm, cm2 เท่ากับ 100 sq mm, mm2
1 sq m, m2 เท่ากับ 10,000 sq cm, cm2
1 sq km, km2 เท่ากับ 1,000,000 sq m, m2
หรือ
1 ตารางเซนติเมตร เท่ากับ 100 ตารางมิลลิเมตร
1 ตารางเมตร เท่ากับ 10,000 ตารางเซนติเมตร
1 ตารางกิโลเมตร เท่ากับ 1,000,000 ตารางเมตร
หรือ
1 ตร. ซม. เท่ากับ 100 ตร. มม.
1 ตร. ม. เท่ากับ 10,000 ตร. ซม.
1 ตร. กม. เท่ากับ 1,000,000 ตร. ม.
หน่วยการวัดพื้นที่ในระบบอังกฤษ
กำหนดหน่วยความยาวเป็น ตารางฟุต ตารางหลา เอเคอร์ และตารางไมล์
Square Inch หน่วยภาษาอังกฤษ sq in, in2 หน่วยภาษาไทย ตารางนิ้ว
Square Foot หน่วยภาษาอังกฤษ sq ft, ft2 หน่วยภาษาไทย ตารางฟุต
Square Yard หน่วยภาษาอังกฤษ sq yd, yd2 หน่วยภาษาไทย ตารางหลา
Square Mile หน่วยภาษาอังกฤษ sq mi, mi2 หน่วยภาษาไทย ตารางไมล์
Acre หน่วยภาษาอังกฤษ ac หน่วยภาษาไทย เอเคอร์
Hecture หน่วยภาษาอังกฤษ ha หน่วยภาษาไทย เฮกเตอร์
การเปรียบเทียบค่าหน่วยการวัดพื้นที่ในระบบอังกฤษ
1 ตารางฟุต เท่ากับ 144 ตารางหลา
1 ตารางหลา เท่ากับ 9 ตารางฟุต
1 เอเคอร์ เท่ากับ 4,840 ตารางหลา
1 ตารางไมล์ เท่ากับ 640 เอเคอร์
หรือ
1 sq ft, ft2 เท่ากับ 144 sq yd, yd2
1 sq yd, yd2 เท่ากับ 9 sq ft, ft2
1 ac เท่ากับ 4,840 sq yd, yd2
1 sq mi, mi2 เท่ากับ 640 ac
1 ha เท่ากับ 100 ac
หน่วยการวัดพื้นที่ในระบบมาตราไทย
กำหนดหน่วยพื้นที่เป็น ตารางวา งาน และไร่
การเปรียบเทียบค่าหน่วยการวัดพื้นที่ในระบบมาตราไทย
100 ตารางวา เท่ากับ 1 งาน
4 งาน เท่ากับ 1 ไร่
400 ตารางวา เท่ากับ 1 ไร่
การเปลี่ยนหน่วยพื้นที่
ในการคำนวณเพื่อการใช้งานจริงในบางครั้ง มีความจำเป็นที่ต้องมีการเปลี่ยนหน่วยพื้นที่โดยเปรียบเทียบหน่วยวัดพื้นที่ในระบบเดียวกันหรือต่างระบบกันได้ตามหน่วยที่กล่าวไปด้านบน เช่น หน่วยการวัดพื้นที่ในมาตราไทยเทียบกับระบบเมตริก หน่วยการวัดพื้นที่ในระบบอังกฤษเทียบกับระบบเมตริก (โดยประมาณ) เป็นต้น ซึ่งสามารถใช้เกณฑ์เปรียบเทียบโดยประมาณได้ดังนี้
หน่วยการวัดพื้นที่ในมาตราไทยเทียบกับระบบเมตริก
1 ตารางวา เท่ากับ 4 ตารางเมตร
1 งาน เท่ากับ 400 ตารางเมตร
1 ไร่ เท่ากับ 1,600 ตารางเมตร
1,000,000 ตารางเมตร เท่ากับ 625 ไร่
หน่วยการวัดพื้นที่ในระบบอังกฤษเทียบกับระบบเมตริก (โดยประมาณ)
1 ตารางนิ้ว เท่ากับ 6.4516 ตารางเซนติเมตร
1 ตารางฟุต เท่ากับ 0.0929 ตารางเมตร
1 ตารางหลา เท่ากับ 0.8361 ตารางเมตร
1 เอเคอร์ เท่ากับ 4046.856 ตารางเมตร
1 ตารางไมล์ เท่ากับ 2.5899 ตารางกิโลเมตร
ข้อสังเกต การวัดพื้นที่มีความสัมพันธ์โดยตรงกับการใช้หน่วยการวัดความยาว โดยเฉพาะในระบบเมตริกและไทย โดยจะใช้หน่วยการวัดพื้นที่เป็นตารางหน่วย หรือ หน่วย2 ดังนี้
หน่วยการวัดความยาว หน่วย สัมพันธ์กับหน่วยการวัดพื้นที่ ตารางหน่วย
หน่วยการวัดความยาว เซนติเมตร สัมพันธ์กับหน่วยการวัดพื้นที่ ตารางเซนติเมตร
หน่วยการวัดความยาว เมตร สัมพันธ์กับหน่วยการวัดพื้นที่ ตารางเมตร
หน่วยการวัดความยาว กิโลเมตร สัมพันธ์กับหน่วยการวัดพื้นที่ ตารางกิโลเมตร
หน่วยการวัดความยาว นิ้ว สัมพันธ์กับหน่วยการวัดพื้นที่ ตารางนิ้ว
หน่วยการวัดความยาว ฟุต สัมพันธ์กับหน่วยการวัดพื้นที่ ตารางฟุต
หน่วยการวัดความยาว วา สัมพันธ์กับหน่วยการวัดพื้นที่ ตารางวา
ในการเปลี่ยนหน่วยนั้น โดยปกติสามารถทำได้ดังตัวอย่างต่อไปนี้
คำถามที่ 1 มาริโอต้องการทาสีผนังห้องเรียนที่มีขนาดพื้นที่ 150,000 ตารางเซนติเมตร มาริโอต้องทาสีคิดเป็นพื้นที่กี่ตารางเมตร
วิธีทำ สามารถเทียบบัญญัติไตรยางศ์ เทียบหน่วยตารางเซนติเมตรให้เป็นตารางเมตร ได้ดังนี้
เนื่องจากพื้นที่ 10,000 ตารางเซนติเมตร มีค่าเท่ากับ 1 ตารางเมตร
ห้องเรียนมีพื้นที่ 150,000 ตารางเซนติเมตร คิดเป็น (150,000 คูณ 1) หารด้วย 10,000 = 15 ตารางเมตร
ดังนั้น มาริโอต้องทาสีคิดเปนพื้นที่ 15 ตารางเมตร
คำถามที่ 2 เบลล่าต้องการปลูกผักสวนครัวแปลงผักที่มีขนาดพื้นที่ 13.5 ตารางกิโลเมตร เบลล่าจะต้องเตรียมแปลงผักที่มีพื้นที่กี่ตารางเมตร
วิธีทำ สามารถเทียบบัญญัติไตรยางศ์ เทียบหน่วยตารางกิโลเมตรให้เป็นตารางเมตร ได้ดังนี้
เนื่องจากพื้นที่ 1 ตารางกิโลเมตร มีค่าเท่ากับ 1,000,000 ตารางเมตร
แปลงผักมีพื้นที่ 13.5 ตารางกิโลเมตรร คิดเป็น (13.5 คูณ 1,000,000) หารด้วย 1 = 13,500,000 ตารางเมตร
ดังนั้น เบลล่าจะต้องเตรียมแปลงผักที่มีพื้นที่ 13,500,000 ตารางเมตร
แหล่งที่มา
สถาบันมาตรวิทยาแห่งชาติ. (2553). บทเรียนมาตรวิทยา. (พิมพ์ครั้งที่ 1). กรุงเทพฯ:
สถาบันมาตรวิทยาแห่งชาติ.
อัจฉรา เจริญสุข. (2537). มาตรวิทยาเบื้องต้น. กรุงเทพฯ:
สถาบันมาตรวิทยาแห่งชาติ.
PINCHANYARAT. https://www.dek-d.com/board/view/3683746/
ณรงค์ จันทรา. การวัดความยาว. สืบค้นเมื่อ 12 มิถุนายน 2560. จาก
https://sites.google.com/site/narongbetagro/bth-thi-2-kar-wad/1-kar-wad-khwam-yaw
ชนิดา ดวงแข. การวัดความยาว. สืบค้นเมื่อ 12 มิถุนายน 2560. จาก
http://edltv.thai.net/courses/207/51maM2-KOs0202002.pdf
Kanchit Saeho. หน่วยการเรียนรู้ที่ 2 การวัด . สืบค้นเมื่อ 12 มิถุนายน 2560. จาก
https://www.scribd.com/doc/29797901/หน-วยการเรียนรู-ที-2-การวัด
การวัดพื้นที่ หน่วยการวัดพื้นที่ ระบบเมตริก ระบบอังกฤษ และมาตราของไทย. .สืบค้นเมื่อ 12 มิถุนายน 2560. จาก
www.civilclub.net/การวัดพื้นที่-หน่วยการวัดพื้นที่-ระบบเมตริก-ระบบอังกฤษ-และมาตราของไทย.html
กลับไปที่เนื้อหา
-
7453 การวัด /lesson-mathematics/item/7453-2017-08-11-08-11-14เพิ่มในรายการโปรด