ฟิสิกส์รอบตัว ตอน ฉนวนกันความร้อน
ฟิสิกส์รอบตัว ตอน ฉนวนกันความร้อน
บ้านกับอากาศร้อน
เมืองไทยเป็นเมืองร้อน ไม่ว่าฤดูกาลใด ความร้อนมักมาเยือนเสมอ ๆ แต่เราจึงหาวิธีคลายร้อนให้กับบ้าน วิธีการทำให้บ้านเย็นสบายนั้น มีหลากหลายวิธี เช่น ติดเครื่องปรับอากาศ ติดม่าน ปลูกต้นไม้ใหญ่ ติดฉนวนกันความร้อน การใช้ละอองน้ำรดบนหลังคาโดยใช้อุปกรณ์ เช่น สปริงเกอร์ แต่ละวิธีก็มีข้อดีและข้อเสียแตกต่างกันออกไป แต่ส่วนที่มีความสัมพันธ์กับความร้อนมากที่สุด คือ หลังคาบ้าน เพราะความร้อนที่ส่งตรงลงมาจากส่วนบนสู่หลังคา ถือว่าเป็นจุดรับความร้อนจุดใหญ่ที่สุดของบ้าน อากาศในช่องว่างใต้หลังคาร้อน ก็ถ่ายเทความร้อนมายังฝ้าเพดาน จากนั้นพอตัวแผ่นฝ้าเพดานร้อนก็ถ่ายเทความร้อนเข้าสู่ภายในห้อง
ดังนั้น รูปแบบของหลังคา ที่สามารถป้องกันและระบายความร้อนได้ดีที่สุด ได้แก่ ทรงจั่วหรือปั้นหยา ด้วยพื้นที่ๆ กว้างกว่าบริเวณใต้หลังคาจะกั้นอากาศร้อนด้วยมวลอากาศที่อยู่ใต้หลังคาเพื่อไม่ให้ตีกลับเข้ามาในห้องได้ โดยสามารถเสริมตัวช่วยด้วยการทำช่องระบายอากาศร้อนออกไปจากหลังคาได้ อย่างการติดช่องบานเกล็ด ใช้ไม้ระแนงตีเว้นช่องว่างประมาณ 1 นิ้ว หรือจะใช้เป็นช่องลมอิฐก่อบางส่วนของหน้าจั่ว
ส่วนกระเบื้องหลังคาแบบเรียบๆกับแบบลอน ความสามารถในการป้องกันความร้อนจะขึ้นอยู่กับวัสดุและสีเคลือบผิวกระเบื้อง ควรเลือกกระเบื้องเซรามิค เพราะเนื้อเซรามิคจะมีการกักเก็บความร้อนต่ำ คายความร้อนได้เร็วกว่าวัสดุประเภทอื่นๆ อีกหนึ่งทางเลือกคือกระเบื้องไฟเบอร์ซีเมนต์ก็จะเป็นวัสดุที่มีค่าการนำความร้อนต่ำเช่นกัน ส่วนแบบอื่นๆ ที่ใช้สีเคลือบผิวกระเบื้องนั้นแนะนำให้เลือกเป็นสีอ่อน และมีผิวมัน เพราะจำสามารถสะท้อนรังสี และป้องกันความร้อนได้เป็นอย่างดี
สำหรับบ้านจัดสรรที่เลือกรูปแบบหลังคาไม่ได้ แต่เลือกใช้แผ่นสะท้อน และฉนวนกันบนหลังคาได้ บ้านจัดสรรใหม่ๆ ที่ไม่สามารถกำหนดทิศทางลม หรือเลือกรูปแบบของหลังคาได้เอง ขอให้เข้าใจก่อนว่าการเดินทางของความร้อนจะส่งตรงลงมาบนกระเบื้องมุงหลังคา ต่อมายังใต้หลังคา และรองรับไว้ด้วยฝ้าก่อนที่จะเข้ามาถึงในตัวบ้าน
แผ่นสะท้อนความร้อน และฉนวนกันความร้อนจึงคือทางรอดที่ดีที่สุด โดยปัจจัยที่ต้องคำนึงถึงได้แก่แผ่นสะท้อนความร้อนที่ติดตั้งไว้ในบริเวณใต้กระเบื้อง ซึ่งปัจจุบันมีแผ่นสะท้อนความร้อน ชนิดที่มีฉนวนกันร้อนหุ้มด้วยแผ่นอลูมินั่มฟอยด์ ที่ทั้งสะท้อนและป้องกันความร้อนเป็นหนึ่งเดียวใต้กระเบื้อง ร่วมด้วยฉนวนกันร้อนอย่างหนาที่แนะนำว่าต้องหนาถึง 6 นิ้ว เพราะความหนากว่าจะช่วยให้ตัวฉนวนกักเก็บ ซึมซับความร้อนเอาไว้ในตัวได้มากกว่า ใครที่ยังคิดว่าฉนวนแบบเก่าที่หุ้มด้วยฟอยล์บางๆ เป็นทางออก เปลี่ยนมาใช้แบบหนาจะดีกว่ากันมาก
นอกจากนี้ หลายคนประสบปัญหาหลังคาบ้านจัดสรรมีพื้นที่ในการติดตั้งฉนวนป้องกันความร้อนบนฝ้าแคบ คือ ช่องว่างเหนือฝ้าเพดานมีน้อยจนไม่สามารถติดฉนวนบนฝ้าได้ ทางเลือกอีกทางหนึ่ง คือการเลือกใช้แผ่นกันสะท้อนใต้วัสดุมุงหลังคาแทน โดยวัสดุรุ่นเก่าที่มีลักษณะเป็นเพียงแผ่นสะท้อนความร้อน แต่กันความร้อนไม่ได้เต็มประสิทธิภาพ เลือกพิจารณาเป็นแผ่นสะท้อนที่มีคุณสมบัติในลักษณะฉนวนอย่างหนา เพื่อการกันร้อนระดับสูงมากเป็นพิเศษ ห่อหุ้มด้วยแผ่นอลูมินั่มฟอยล์ที่ทำหน้าที่สะท้อนและกันความร้อน รับรองว่าช่วยสะท้อนรังสีความร้อนและป้องกันความร้อนไม่ให้ผ่านหลังคาลงมาง่ายๆ
จะเห็นว่า การเลือกวัสดุป้องกันความร้อนจึงขึ้นอยู่กับวัตถุประสงค์ในการใช้งานและงบประมาณราคาที่ตั้งไว้ และควรเตรียมพร้อมตั้งแต่เริ่มต้นสร้างบ้าน คือ สร้างให้ตรงกับทิศทางลมที่สามารถผ่านเข้าออกได้สะดวก การจัดบ้านให้โปร่ง มีการระบายอากาศได้ดี มีการออกแบบที่คำนึงถึงสภาพอากาศ ร้อนชื้น จะเป็นส่วนสำคัญในการช่วยลดความร้อนไปได้มาก
แนวทางสำหรับการสร้างหรือต่อเติมบ้าน โดยไม่อยากทนกับอากาศร้อน และเปลืองค่าไฟ จึงมีเคล็ดลับทำให้ “บ้านเย็น” สรุปได้ดังนี้
1. ศึกษาทิศแดด ทางลม
สำหรับเจ้าของบ้านสร้างใหม่ ก่อนสร้างบ้านควรศึกษาเรื่องทิศทาง และวางผังบ้านให้ตรงกับหลักการ โดยบริเวณหน้าบ้าน ห้องรับแขก หรือห้องนอน ไม่ควรหันหน้าไปในทิศตะวันตก เพราะจะทำให้พื้นที่นั้นรับแดดตลอดช่วงบ่าย และวนเวียนอยู่ภายในจนถึงกลางคืน ทำให้บ้านร้อน ถ้าเป็นไปได้ควรหันหน้าบ้านไปทางทิศใต้ จะสามารถรับลมได้ดีถึง 8 เดือน ในช่วงเดือนกุมภาพันธ์ – ตุลาคม ส่วนทิศเหนือจะรับลมได้เพียง 3 เดือนที่เหลือเท่านั้น และควรทำหน้าต่างแบบบานเปิด ซึ่งสามารถรับลมได้กว่าหน้าต่างแบบบานเปิดออก หรือบานเกล็ด
2. เลือกใช้วัสดุที่ช่วยป้องกันและสะท้อนความร้อนได้จริง
70% ของความร้อนภายในบ้านมาจากหลังคา ดังนั้นจึงไม่ควรเสียดายเงินในการวางระบบและเลือกซื้อวัสดุที่ดีที่จะช่วยป้องกันความร้อนที่ไหลมาทางหลังคา บ้านใหม่ควรให้ความสำคัญกับการติดตั้งแผ่นสะท้อนความร้อนใต้หลังคาป้องกันความร้อนที่สามารถติดตั้งได้ในบ้านสร้างใหม่เท่านั้น ส่วนบ้านเก่าสามารถป้องกันความร้อนจากหลังคาด้วยการปูฉนวนกันความร้อนบนฝ้าเพดาน การติดตั้งฉนวนกันความร้อนจะช่วยป้องกันความร้อนจากโถงหลังคาไม่ให้เข้าสู่ตัวบ้านใช้ได้ทั้งบ้านเก่า และบ้านสร้างใหม่ ข้อแนะนำสำคัญคือ หลังคาทรงจั่วจะสามารถระบายความร้อนได้ดีกว่าหลังคาทรงแบน หรือหลังคาดาดฟ้า ที่กำลังเป็นที่นิยมในปัจจุบัน
3. เลือกวัสดุที่สามารถช่วยลดความร้อนรอบบ้าน
บริเวณพื้นรอบบ้าน สามารถใช้บล็อกปูพื้น Cool Plus แทนการเทพื้นด้วยซิเมนต์ ซึ่งผิวด้านบนของ Cool Plus นั้นจะช่วยดูดซับน้ำ และกักเก็บน้ำไว้ในตัวก้อน เมื่อมีความร้อนหรือแสงแดดมากระทบที่ตัวก้อน จะทำให้น้ำที่กักเก็บไว้ในตัวก้อน ค่อยๆ ระเหยกลายเป็นไอออกมาช่วยให้อุณหภูมิโดยรอบลดลงและรู้สึกเย็นสบาย ข้อแนะนำคือ ควรปูบล็อก Cool Plus โดยใช้พื้นที่ขั้นต่ำประมาณ 25 ตารางเมตรจากจุดศูนย์กลาง และโรยทรายบริเวณขอบทั้ง 4 ด้านที่เป็นรอยต่อระหว่างบล็อก เพื่อลดการกระแทก
4. จัดสวน แต่งระแนงไม้ ช่วยให้เย็นกายเย็นใจ
นอกจากการปรับที่เกี่ยวกับโครงสร้างที่ตัวบ้านแล้ว เจ้าของบ้านยังสามารถปรับบริเวณภายนอกบ้าน ด้วยการต่อไม้ระแนงขึ้นจากรั้วในทิศที่แดดส่อง หรือปลูกต้นไม้ขนาดใหญ่ ที่นอกจากจะให้ความสวยงามแล้ว ยังช่วยสร้างร่มเงาตกกระทบ และช่วยลดอุณหภูมิภายในบ้าน ทั้งยังช่วยเพิ่มอากาศบริสุทธิ์จากออกซิเจนที่ไหลเวียนรอบบ้าน การทำสวนแนวตั้ง การทำน้ำตก น้ำพุ จะช่วยทำให้บ้านเย็นขึ้น
5. ทาวน์เฮ้าส์ หรือคอนโดมิเนียมก็เย็นได้
ไม่ใช่แค่กลุ่มเจ้าของบ้านเท่านั้นที่มีสิทธิ์ลดความร้อนให้ที่อยู่อาศัย รู้หรือไม่ว่าคุณก็สามารถลดดีกรีความร้อนให้ทาวน์เฮ้าส์ คอนโดมิเนียม หรืออพาร์ทเม้นท์ได้เช่นกัน ด้วยการป้องกันความร้อนที่มาจากหลังคา ด้วยการปูฉนวนกันความร้อนบนฝ้าเพดาน ในกรณีที่ต้องการป้องกันความร้อนจากด้านข้างสามารถเสริมฉนวนกันความร้อนได้ บริเวณผนังห้อง ด้วยระบบผนังเบาที่ทำเสริมผนังเดิมออกมา
จะเห็นได้ว่าในปัจจุบันวัสดุยอดฮิตที่สามารถป้องกันความร้อนได้ดีเป็นอย่างมาก และทำหน้าที่เป็นเครื่องกีดขวาง แยกพื้นผิวที่เย็นและร้อนออกจากกัน คือ ฉนวนกันความร้อนซึ่งเป็นวัตถุหรือวัสดุที่มีความสามารถในการสกัดกั้นความร้อนไม่ให้ส่งผ่านด้านใดด้านหนึ่งไปยังอีกด้านหนึ่งได้ง่าย การส่งผ่านความร้อนจากด้านหนึ่งไปอีกด้านหนึ่งของวัสดุต่างๆ หรือการถ่ายเทความร้อน Heat Transfer ระหว่างวัตถุสามารถเกิดขึ้นได้ ก็ต่อเมื่ออุณหภูมิของวัตถุทั้งสองมีความแตกต่างกัน ซึ่งลักษณะการถ่ายเทความร้อนนั้น มี 3 วิธี โดยอาจเกิดขึ้นจากวิธีใดวิธีหนึ่งหรือหลายๆ วิธีพร้อมกัน ได้แก่
1.การนำความร้อน Conduction คือ ปรากฏการณ์ที่พลังงานความร้อนถ่ายเทภายในวัตถุหนึ่งๆหรือระหว่างวัตถุสองชิ้นที่สัมผัสกันโดยมีทิศทางของการเคลื่อนที่
2.การพาความร้อน Convection คือการถ่ายโอนความร้อนที่เกิดจากสารใดสารหนึ่ง ได้รับความร้อนแล้ว ความหนาแน่นของอนุภาคน้อยลงขยายตัวลอยตัวสูงขึ้น พร้อมทั้งพาความร้อนไปด้วยขณะเดียวกันส่วนอื่นที่ยังไม่ได้รับความร้อนยังมีความหนาแน่นของอนุภาคมากกว่า จะเคลื่อนมาแทนที่เป็นแบบนี้ไปเรื่อยๆจนสารนั้นได้รับความร้อนทั่วถึงกันจึงเรียกว่า การพาความร้อน
3.การแผ่รังสี Radietion คือ การถ่ายโอนความร้อนที่เกิดจากแหล่งความร้อนหนึ่งไปยังสารที่มีอุณภูมิต่ำกว่า โดยไม่ต้องอาศัยตัวกลาง เรียกว่า การแผ่รังสีความร้อนในปัจจุบันบ้านเราจะหาร่มไม้เพื่อบรรเทาความร้อนยากมาก อีกทั้งนับวันมีแต่จะร้อนขึ้น อาจมีสาเหตุมาจากภาวะเรือนกระจก หรือ สภาวะโลกร้อน ที่ทุกประเทศในโลกกำลังประสบอยู่ อีกทั้งราคาฉนวนกันความร้อนในปัจจุบัน ก็มีราคาไม่แพงมากนัก บ้านโดยเฉพาะหลังคาบ้านต้องทนรับรังสีความร้อน ตลอดทั้งวันโดยที่บางวันอุณหภูมิอยู่ ที่ 40 องศาเซลเซียส แต่ความร้อนสะสมที่หลังคามีอุณหภูมิประมาณ 60-65 องศาเซลเซียส (ตามแต่ละชนิดของหลังคา) ร่มเงาของหลังคาบ้านมิอาจเป็นร่มเงาได้อีกต่อไป หลังจากนั้นจะมีการถ่ายเทความร้อน จากหลังคาลงสู่ตัวอาคาร ทำให้ภายในอาคารจะมีความร้อนมากกว่าภายนอกอาคาร สิ่งเดียวที่จะหยุดการถ่ายเทความร้อนจากหลังคา ลงสู่ตัวอาคารนั่นก็คือ “ ฉนวนกันความร้อน “
ฉนวนกันความร้อนจึงมีความสำคัญ ที่จะทำให้การใช้งานสิ่งก่อสร้างนั้นๆ มีความสามารถลดความร้อนและคงความเย็น ซึ่งมีผลทำให้สามารถลดขนาดของ เครื่องทำความเย็นลงได้ ผลที่ตามมาคือการลดค่าใช้จ่ายโดยรวม นอกจากนี้ฉนวนกันความร้อน ยังสามารถควบคุมอุณหภูมิให้อยู่ในสภาวะ ไม่ให้เปลี่ยนแปลงไปมากจึงทำให้ผู้อยู่อาศัย ในอาคารมีความสะดวกสบายขึ้น ทำให้อุณหภูมิในห้องลดลงจากข้างนอกมากกว่า 20 องศาเซลเซียส (ขึ้นอยู่กับสภาพแวดล้อมอื่นๆด้วย) อาจไม่จำเป็นต้องใช้เครื่องปรับอากาศ แต่หากใช้ก็ทำให้ห้องเย็นลงอย่างรวดเร็ว ลดการสูญเสียพลังงาน สามารถประหยัดค่าไฟฟ้าได้มากกว่า 50%
ฉนวนกันความร้อนนั้นมีอยู่ 4 ประเภท ได้แก่
1. แผ่นเงาสะท้อนความร้อน เป็นแผ่นบาง ๆ มันวาว เช่น พวกอลูมินั่มฟลอยส์ ทำหน้าที่หลักคือ การสะท้อนรังสีความร้อนไม่ให้เข้ามาในบ้านเรา มักจะติดไว้ที่หลังคาเป็นส่วนมาก แต่ฉนวนชนิดนี้แค่สะท้อนความร้อนไม่ใช่ป้องกันความร้อน สะท้อนความร้อน คือช่วยลดความร้อนจากแสงแดดที่มากระทบกับหลังคาให้เบาบางลงก่อนที่จะเข้าตัวบ้านโดยการสะท้อนความร้อนออกไป แต่ก็จะมีบางส่วนที่ลอดเข้ามาอยู่ใต้หลังคาได้ (ช่องว่างระหว่างกระเบื้องกับฝ้าเพดาน)
จึงทำให้บ้านที่ใช้ฉนวนสะท้อนความร้อนมีความร้อนสะสมใต้หลังคาน้อยกว่าบ้านที่ไม่มีฉนวนกันความร้อน สิ่งที่ต้องคำนึงถึงในการเลือกใช้ฉนวนชนิดนี้คือ ต้องพึงระลึกว่าความสามารถในการสะท้อนความร้อนจะหมดไปหากมีฝุ่นผงมาเกาะที่แผ่นสะท้อนความร้อน โดยปกตินิยมใช้แบบฟอยด์อย่างเดียวปูใต้กระเบื้องแต่อยู่บนแป และมีไม้ระแนงที่ฝ้าชายคาภายนอกรอบตัวบ้านช่วยระบายลมใต้หลังคาช่วยลดความร้อนอีกทีหนึ่ง
2. แผ่นยิปซั่มบอร์ด เป็นแผ่นบางๆ ใช้กั้นผนังหรือทำฝ้าเพดาน บางแผ่นก็ติด แผ่นสะท้อนความร้อนเข้าไปด้วย แผ่นยิปซั่มบอร์ดนี้จะป้องกันการนำ ความร้อนได้
3.ใยแก้ว เป็นฉนวนกันความร้อนอีกตัวหนึ่ง มีลักษณะเป็นแผ่นฟูโปร่งด้วยเส้นใย สีเหลืองหรือสีขาว บางอย่าง จะมีแผ่นเงาสะท้อนรังสีความร้อนหุ้มอยู่ด้วย ความหนาโดยประมาณ ๒ - ๔ นิ้วฟุต น้ำหนักเบา ป้องกันความร้อนได้ดีมาก ใช้ติดตั้งทั้งที่ฝ้า เพดานและผนัง การติดตั้งก็ไม่ยาก แต่ยังเป็นที่ถกเถียงกันอยู่ว่าฉนวนกันความร้อนชนิดที่เป็นใยแก้วนั้น เป็นอันตรายต่อสุขภาพหรือไม่ ทางที่ดีก็ไม่ควรจะสัมผัสฉนวนใยแก้วโดยตรงเป็นดีที่สุด ฉนวนชนิดนี้ ตำแหน่งการติดตั้งควรติดตั้งให้ใกล้ฝ้าที่สุด ซึ่งต่างจากการติดตั้งแผ่นสะท้อนความร้อน ติดเฉพาะฝ้าบนห้องเลยออกไปไม่จำเป็นต้องติดตั้งจนสุดปลายหลังคา
4.การพ่นโฟมใต้หลังคา เป็นการฉีดโฟมบริเวณที่ต้องการป้องกันความร้อน วิธีการนี้ยังไม่เป็นที่นิยม เพราะคุณสมบัติของโฟมคือ กันความร้อนได้แต่ติดไฟก็ง่าย ประกอบกับมีราคาแพง และมีความยืดหยุ่นในการใช้งานน้อย
5.อิฐกันความร้อน เป็นอิฐสมัยใหม่ที่ตอนนี้เราผลิตได้แล้วในประเทศ เช่น พวกคอนกรีตมวลเบา ซึ่งมีรูพรุน อยู่ใน ก้อนคอนกรีตนั้น และ รูพรุนนั้นเอง ทำหน้าที่เป็นฉนวนกันความร้อน ใช้ก่อเป็นผนังเหมือนอิฐมอญ หรือคอนกรีตบล๊อคทั่วไป แต่สิ่งที่ควรระวังคือ การก่ออาจจะต้องมีความระมัดระวังมากขึ้นกว่าการก่ออิฐมอญ เพราะหากก่อฉาบผิดกรรมวิธีที่เขากำหนดไว้ อาจจะต้องเจอ ปัญหาเรื่อง การแตกร้าวของปูนฉาบได้
เทคนิคทำให้บ้านเย็นโดยการใช้ฉนวนกันความร้อน
หากมีงบประมาณมากควรติดตั้งทั้งที่ผนังและหลังคารวมทั้งฝ้าเพดานของทุกห้อง โดยเฉพาะอย่างยิ่งห้องที่มีการติดตั้งเครื่องปรับอากาศ เพราะจะทำให้เครื่องปรับอากาศทำงานน้อยลงเป็นการประหยัดพลังงานด้วย หากมีงบประมาณปานกลาง ควรติดตั้งฉนวนที่หลังคา แล้วเลือกติดที่ผนังด้านที่ร้อนที่สุด 1-2 ด้าน โดยมากจะเป็นด้านที่โดนแดดมากๆ เช่น ทิศใต้ ทิศตะวันตก ถ้าหากมีงบประมาณน้อยควรเลือกติดที่หลังคา เพราะหลังคาจะได้รับความร้อนมากที่สุดเกือบตลอดเวลา หากท่านที่มีเบี้ยน้อยจริงๆ ควรหางบประมาณสำหรับติดตั้งฉนวนกันความร้อนที่หลังคาหรือฝ้าเพดานของชั้นบนสุด เพื่อป้องกันไม่ให้ฝ้าเพดานร้อนและแผ่ความร้อนลงมา และอย่าเผลอติดฉนวนในบ้านจนเต็มไปหมด จนไม่ยอมเจาะช่องเปิดประเภทหน้าต่าง หรือบานเกล็ดระบายอากาศร้อน เพราะฉนวนจะทำหน้าที่กันไม่ให้ความร้อนออกไปจากบ้านด้วย ดังนั้นหากติดตั้งฉนวนในบ้านแล้ว ต้องยอมให้ลมพัดผ่านในบ้านได้
สำหรับบ้านพักอาศัยที่มีฝ้าเพดานภายในห้อง ซึ่งมีอยู่หลายรูปแบบ เช่น ฝ้าเพดานแบบ ที-บาร์ (T-BAR) ลักษณะเป็นตารางสามารถยกเปิดแผ่นฝ้าของแต่ละช่องตารางได้ กรณีนี้สามารถทำเองได้ โดยการยกเปิดแผ่นฝ้า แล้วใช้ฉนวนแบบแผ่น หรือแบบม้วน โดยปูทับไปบนตาราง แล้วปิดแผ่นฝ้าตามเดิมเป็นอันเรียบร้อย การปูก็พยายามให้ฉนวนชิดติดกันหรือซ้อนทับ เพื่อให้การป้องกันความร้อนได้ผลดียิ่งขึ้น โดยเฉพาะช่วงรอยต่อระหว่างแผ่นฉนวน
สำหรับบ้านที่มีฝ้าเพดานแบบแผ่นเรียบไม่เห็นรอยต่อระหว่างแผ่นเป็นแบบที่ปิดตายไม่สามารถยกเปิดได้ มีทั้งใช้แผ่นยิปซั่ม แผ่นไม้อัด การติดตั้งฉนวนกับฝ้าแบบนี้ด้วยตัวเองจะยุ่งยากพอควร ทางที่ดีควรหาช่างมาติดตั้งให้ การเลือกใช้ฉนวนก็สามารถใช้ได้ทั้งแบบแผ่น และแบบม้วน หรือแม้แต่ฉนวนพวกที่ใช้ฉีดพ่นบริเวณใต้กระเบื้องมุงหลังคา (สำหรับฉนวนแบบฉีดพ่นอาจต้องใช้ผู้ชำนาญโดยเฉพาะมาทำให้)
ในขั้นตอนการติดตั้งฉนวนที่สำคัญต้องระวังคือ ฉนวนส่วนใหญ่นั้นหากเปียก หรือโดนความชื้นจะมีประสิทธิภาพในการป้องกันความร้อนลดลง แถมอาจสร้างปัญหาให้เราอีก การใช้ก็ควรมีวัสดุห่อหุ้มเพื่อป้องกันความชื้น เช่น แผ่นฟอล์ย มีฉนวนบางประเภทเท่านั้นที่ทนความชื้น แต่อาจมีราคาสูง เช่น พวกโฟม เป็นต้น ซึ่งท่านสามารถเลือกนำไปใช้ได้ตามความเหมาะสม
-
7308 ฟิสิกส์รอบตัว ตอน ฉนวนกันความร้อน /lesson-physics/item/7308-2017-06-14-15-23-36เพิ่มในรายการโปรด