ปรากกฎการณ์ของโลก
ข้างขึ้น – ข้างแรม (The Moon’s Phases)
ข้างขึ้น-ข้างแรม (The Moon’s Phases) คือ ปรากฎการณ์ที่ผู้สังเกตบนโลกมองเห็นด้านสว่างของดวงจันทร์เปลี่ยนแปลงรูปร่าง บางวันจะเห็นพระจันทร์เสี้ยว บางวันเห็นพระจันทร์เต็มดวง หรือบางวันไม่เห็นพระจันทร์ ซึ่งการเปลี่ยนแปลงนี้จะเกิดขึ้นครบรอบในหนึ่งเดือน เรียกช่วงเวลาที่พระจันทร์มืดและสว่างขึ้นเรื่อยๆ จนพระจันทร์เต็มดวงว่า ข้างขึ้น (ใช้เวลาประมาณ 15 วัน เรียก ขึ้น 1 ค่ำ – ขึ้น 15 ค่ำ) และเรียกช่วงเวลาที่พระจันทร์เต็มดวงแล้วค่อยๆ เล็กลงจนมืดหรือมองไม่เห็นดวงจันทร์ว่า ข้างแรม (ใช้เวลาประมาณ 15 วัน เรียก แรม 1 ค่ำ – แรม 14 ค่ำ สำหรับเดือนคี่ และแรม 1 ค่ำ – แรม 15 ค่ำ สำหรับเดือนคู่) ดังนั้นในหนึ่งรอบหรือหนึ่งเดือนจันทรคติ ใช้เวลาเฉลี่ยประมาณ 29.5 วัน
ภาพที่ 1 พระจันทร์ในวันขึ้น 8 ค่ำ
ที่มา: http://2g.pantip.com/cafe/camera/topic/O8503648/O8503648.html
ภาพที่ 2 การเปลี่ยนแปลงรูปร่างของดวงจันทร์ในรอบเดือน
ที่มา: http://earthsky.org/moon-phases/understandingmoonphases
ข้างขึ้น – ข้างแรมเกิดจากอะไร
ข้างขึ้นข้างแรม เกิดจากการเปลี่ยนตำแหน่งของดวงจันทร์ เนื่องจากดวงจันทร์โคจรรอบโลก ซึ่งใช้เวลา 29.5 วัน การที่เรามองเห็นรูปร่างของดวงจันทร์เปลี่ยนแปลงไปในแต่ละวันเนื่องจาก ดวงจันทร์มีรูปร่างเป็นทรงกลม ไม่มีแสงในตัวเอง ด้านสว่างได้รับแสงจากดวงอาทิตย์ แต่ด้านตรงข้ามกับดวงอาทิตย์ถูกบังด้วยเงาของตัวเอง ดวงจันทร์โคจรรอบโลกหนึ่งรอบเป็นมุม 360 องศา ใช้เวลาประมาณ 29.5 วัน ดังนั้นในหนึ่งวันดวงจันทร์จะเคลื่อนที่ทางทิศตะวันออกประมาณ 12 องศา ทำให้ดวงจันทร์จะปรากฏบนท้องฟ้าช้าลงวันละประมาณ 50 นาที พร้อมกับรูปร่างที่เปลี่ยนไปดังภาพที่ 3
ภาพที่ 3 การเกิดข้างขึ้นข้างแรม
ที่มา: http://www.lesa.biz/astronomy/astro-events/moon-phases
คนไทยแบ่งเดือนทางจันทรคติ (Lunar month) โดยใช้เวลาที่ดวงจันทร์มาปรากฏที่ตำแหน่งเดิม ถือเป็น 1 เดือนทางจันทรคติ (เดือน หมายถึงดวงจันทร์) ซึ่งใช้เวลาเฉลี่ย 29.5 วัน ปฏิทินจันทรคติของไทยจึงแบ่งเดือนออกเป็น 2 พวก คือ พวก เดือนขาด หรือ เดือนคี่ และพวก เดือนเต็มหรือเดือนคู่ โดยให้เดือนคี่มี 29 วัน และเดือนคู่มี 30 วัน ซึ่งเฉลี่ยแล้วจะได้เดือนละ 29.5 วัน วันเริ่มต้นของเดือนคือ ขึ้น 1 ค่ำ โดยถือให้วันขึ้น 15 ค่ำ (ดวงจันทร์สว่างเต็มดวง), วันแรม 15 ค่ำ (14 ค่ำ สำหรับเดือนคี่, ดวงจันทร์มืดทั้งดวง), วันแรม 8 ค่ำ และวันขึ้น 8 ค่ำ (ดวงจันทร์สว่างครึ่งดวง) เป็นวันพระ
วันแรม 15 ค่ำ (New Moon): เมื่อดวงจันทร์อยู่ระหว่างโลกกับดวงอาทิตย์ ดวงจันทร์หันด้านเงามืดเข้าหาโลก ตำแหน่งปรากฏของดวงจันทร์อยู่ใกล้กับดวงอาทิตย์ แสงสว่างของดวงอาทิตย์ ทำให้เราไม่สามารถมองเห็นดวงจันทร์ได้เลย
หลังจากนั้นจะเป็นวันขึ้น 1 ค่ำ พระจันทร์เป็นเสี้ยวเล็กมาก และจะตกลับขอบฟ้าหลังจากดวงอาทิตย์ประมาณ 50 นาที และวันถัดมาคือวันขึ้น 2 ค่ำ ดวงจันทร์อยู่ห่างดวงอาทิตย์ไปทางตะวันออกมากขึ้น ส่วนที่ได้รับแสงอาทิตย์ หรือด้านสว่างหันมาทางโลกมากขึ้น และหันด้านนูนไปทางดวงอาทิตย์ เราจึงมองเห็นดวงจันทร์โตขึ้น และจะลับขอบฟ้าหลังจากดวงอาทิตย์ประมาณ 1 ชั่วโมง 40 นาที (เนื่องจากดวงจันทร์โคจรรอบโลก ทำให้เราเห็นดวงจันทร์ขึ้นช้าวันละประมาณ 50 นาที) และวันถัดมาดวงจันทร์ก็จะดวงโตขึ้นเรื่อยๆ ช่วงนี้สามารถมองเห็นดวงจันทร์ปรากฎเวลากลางวันได้
วันขึ้น 8 ค่ำ (First Quarter): เมื่อดวงจันทร์เคลื่อนมาอยู่ในตำแหน่งมุมฉากระหว่างโลกกับดวงอาทิตย์ ทำให้เรามองเห็นด้านสว่างและด้านมืดของดวงจันทร์มีขนาดเท่ากัน เนื่องจากดวงจันทร์ห่างจากดวงอาทิตย์ 90 องศา ดังจันทร์จึงขึ้นเวลาเที่ยงวัน และเมื่อพระอาทิตย์ลับขอบฟ้า ดวงจันทร์จะอยู่ที่ตำแหน่งสูงสุดบนท้องฟ้า (จุดเหนือศรีษะ) หันด้านนูนไปทางดวงอาทิตย์ ดวงจันทร์จะตกลับขอบฟ้าเวลาประมาณเที่ยงคืน
วันขึ้น 15 ค่ำ หรือ วันเพ็ญ (Full Moon): ดวงจันทร์โคจรมาอยู่ด้านตรงข้ามกับดวงอาทิตย์ ดวงจันทร์หันด้านที่ได้รับแสงอาทิตย์เข้าหาโลก ทำให้เรามองเห็นดวงจันทร์เต็มดวง พอดวงอาทิตย์ลับของฟ้าทางตะวันตกดวงจันทร์เพ็ญจะขึ้นทางตะวันออก เพราะฉะนั้น ดวงจันทร์วันขึ้น 15 ค่ำ จึงอยู่บนฟ้าตลอดทั้งคืนและสว่างที่สุดด้วย
หลังจากขึ้น 15 ค่ำแล้วจะเป็นวันแรม 1 ค่ำจนถึงแรม 14 ค่ำ สำหรับเดือนคี่ ส่วนเดือนคู่จะมีถึงแรม 15 ค่ำ วันแรมน้อย ๆ ดวงจันทร์ยังสว่างมากและขึ้นจากขอบฟ้าช้าลงวันละประมาณ 50 นาที
วันแรม 8 ค่ำ (Third Quarter): ดวงจันทร์โคจรมาอยู่ในตำแหน่งมุมฉากระหว่างโลกกับดวงอาทิตย์ ทำให้เรามองเห็นด้านสว่างและด้านมืดของดวงจันทร์มีขนาดเท่ากัน
ความเข้าใจที่คลาดเคลื่อน
หลายคนเข้าใจว่า ดวงจันทร์โคจรรอบโลก 1 รอบ ใช้เวลา 29.5 วัน ดังนั้น ในวันที่ดวงจันทร์มาอยู่ในตำแหน่งตรงกับดวงอาทิตย์ในแต่ละเดือน คือวันแรม 15 ค่ำ ควรจะเกิดสุริยุปราคา (solar eclipse) หรือวันขึ้น 15 ค่ำ ควรจะเกิดจันทรุปราคา (lunar eclipse) แต่ทำไมเราไม่เห็นปรากฏการณ์ดังกล่าวเกิดขึ้นทุกเดือน
ทั้งนี้เป็นเพราะระนาบการโคจรของดวงจันทร์โคจรรอบโลก (Moon's orbit) ทำมุมประมาณ 5 องศา กับระนาบการโคจรของโลกรอบดวงอาทิตย์ (Earth's orbit) ดังนั้น ในวันที่พระจันทร์เต็มดวง (ขึ้น 15 ค่ำ) หรือวันที่พระจันทร์มืด (แรม 15 ค่ำ) ดวงจันทร์จะอยู่ในตำแหน่งเหนือ หรือ ใต้ เส้นตรงจากดวงอาทิตย์มายังโลก จึงไม่อยู่ในแนวเส้นตรงเดียวกัน ทำให้ไม่สามารถเกิดปรากฎการณ์จันทรุปราคา หรือสุริยุปราคา ในทุกเดือน ถึงอย่างนั้น จันทรุปราคา หรือสุริยุปราคาก็มีโอกาสเกิดขึ้นได้ เมื่อ ดวงจันทร์อยู่ใกล้กับจุดตัด (intersection) ระหว่างระนาบการโคจรของดวงจันทร์รอบโลก และระนาบการโคจรของโลกรอบดวงอาทิตย์ แต่มีกาสเกิดขึ้นน้อยมากในแต่ละปี ดังภาพที่ 4
ภาพที่ 4 แสดงระนาบการโคจรของดวงจันทร์โคจรรอบโลก และระนาบการโคจรของโลกรอบดวงอาทิตย์ แสดงถึงโอกาสการเกิดจันทรุปปราคาหรือสุริยุปราคา ในรอบปี
ที่มา: https://astronomy.stackexchange.com/questions/11728/supermoon-lunar-eclipse
กลับไปที่เนื้อหา
สุริยุปราคา จันทรุปราคา
ภาพที่ 1 แสดงการเกิดสุริยุปราคาเต็มดวง ที่ Madras, Oregon, United States วันที่ 21 สิงหาคม 2017
ที่มา: https://www.voathai.com/a/the-great-american-eclipse/3995304.html
จากภาพที่ 1 เป็นปรากฎการณ์สุริยุปราคาเต็มดวงที่เกิดขึ้นที่สหรัฐอเมริกา เมื่อวันที่ 21 สิงหาคม 2560 ที่ผ่านมา เป็นปรากฎการณ์ทางธรรมชาติที่สวยงามและเกิดขึ้นได้ยากมาก เรียกได้ว่าต้องรอนานหลายปีกว่าจะมีปรากฎการณ์นี้เกิดขึ้นที่ประเทศไทยบ้าง แล้วปรากฏการณ์นี้เกิดขึ้นได้อย่างไร ทำไมจึงเกิดขึ้นยาก และมีความสำคัญอย่างไร เรามาหาคำตอบกันครับ
สุริยุปราคา (Solar Eclipse)
สุริยุปราคา หรือ สุริยคราส เป็นปรากฏการณ์ธรรมชาติ เกิดขึ้นเมื่อดวงอาทิตย์ ดวงจันทร์ และโลก โคจรมาเรียงอยู่ในแนวเดียวกันโดยมีดวงจันทร์อยู่ตรงกลาง ดวงจันทร์บังดวงอาทิตย์ทั้งดวงหรือบางส่วน ทำให้คนบนโลกสังเกตเห็นเงามืดมาบดบังดวงอาทิตย์ สุริยุปราคาจะเกิดขึ้นเฉพาะวันเดือนมืด (แรม 15 ค่ำ หรือ ขึ้น 1 ค่ำ) เนื่องจากเป็นวันที่ดวงจันทร์อยู่ตรงกลางระหว่างโลก และดวงอาทิตย์ ถ้าดวงจันทร์บังดวงอาทิตย์หมดทั้งดวง เรียกว่า สุริยุปราคาเต็มดวง (total eclipse) แต่ถ้าดวงจันทร์บังดวงอาทิตย์ได้บางส่วน เรียกว่า สุริยุปราคาบางส่วน (partial eclipse)
ภาพที่ 2 แบบจำลองการเกิดสุริยุปราคา ดวงจันทร์โคจรมาอยู่ระหว่างโลกและดวงอาทิตย์ ทำให้เกิดเงาทอดยาวไปยังโลก ผู้สังเกตที่อยู่ในตำแหน่งเงาของดวงจันทร์บนโลก จึงจะสังเกตเห็นสุริยุปราคา
ที่มา: http://bsmearthscience.blogspot.com/2015/09/3rd-grade-week-5-solar-and-lunar.html
ในแต่ละปีสามารถเกิดสุริยุปราคาบนโลกได้อย่างน้อย 2 ครั้ง สูงสุดไม่เกิน 5 ครั้ง ในจำนวนนี้อาจไม่มีสุริยุปราคาเต็มดวงเลยแม้แต่ครั้งเดียว หรืออย่างมากไม่เกิน 2 ครั้ง โอกาสที่จะได้เห็นสุริยุปราคาเต็มดวงสำหรับสถานที่ใดสถานที่หนึ่งบนพื้นโลกนั้นค่อนข้างยาก เนื่องจากสุริยุปราคาเต็มดวงแต่ละครั้งจะเกิดในบริเวณแคบ ๆ ภายในแถบที่เงามืดของดวงจันทร์พาดผ่านเท่านั้น ตามสถิติแล้วสุริยุปราคาจะกลับมาปรากฎซ้ำที่เดิมจะต้องใช้เวลาถึง 375 ปี!...แต่เกิดปรากฎการณ์ให้เราได้เห็นไม่กี่นาที
ภาพที่ 3 สุริยุปราคา บางส่วนที่เชียงใหม่ 9 มีนาคม 2016 เวลา 07.19-07.39 น.
ที่มา: http://news.siamza.com/3202
สุริยุปราคาในประเทศไทย ช่วงกรุงรัตนโกสินทร์
ในประเทศไทยมีบันทึกเหตุการณ์สุริยุปราคา หรือราหูอมตะวัน ในช่วงกรุงรัตนโกสินทร์ ดังนี้
ครั้งที่ 1 เกิดสุริยุปราคาเต็มดวง 18 สิงหาคม พ.ศ. 2411 ตรงตามเวลาที่พระบาทสมเด็จพระจอมเกล้าเจ้าอยู่หัวทรงคำนวณไว้ ที่ตำบลหว้ากอจังหวัดประจวบคีรีขันธ์ เป็นสุริยุปราคาเต็มดวงครั้งแรกในประวัติศาสตร์ของไทย
ครั้งที่ 2 เกิดสุริยุปราคาเต็มดวงเมื่อวันที่ 6 เมษายน พ.ศ. 2418 โดยเป็นสุริยุปราคาเต็มดวงครั้งแรกที่เห็นได้ในกรุงเทพมหานครนับตั้งแต่สถาปนากรุงรัตนโกสินทร์เป็นต้นมา โดยกินหมดดวงเวลา 14:31:29 น. - 14:35:21 น. ตามเวลามาตรฐานประเทศไทยในปัจจุบัน แต่เส้นกึ่งกลางคราสไม่ผ่านกรุงเทพมหานคร
ครั้งที่ 3 เกิดสุริยุปราคาเต็มดวงวันที่ 9 พฤษภาคม พ.ศ. 2472 เห็นได้ที่จังหวัดสตูล สงขลา ยะลา ปัตตานี นราธิวาส โดยพระบาทสมเด็จพระปกเกล้าเจ้าอยู่หัวเสด็จไปทอดพระเนตรที่จังหวัดปัตตานี โดยมีคณะนักดาราศาสตร์จากต่างประเทศขนอุปกรณ์มาศึกษาสุริยุปราคาด้วย แต่หลังจากนั้นก็มีการประดิษฐ์เครื่องมือศึกษาดวงอาทิตย์ได้โดยไม่ต้องพึ่งสุริยุปราคาอีก
ครั้งที่ 4 เกิดสุริยุปราคาเต็มดวง ในหลายจังหวัด เมื่อวันที่ 20 มิถุนายน พ.ศ. 2498 นับเป็นสุริยุปราคาเต็มดวงครั้งที่สองที่เห็นได้ในกรุงเทพ
ครั้งที่ 5 เกิดสุริยุปราคาเต็มดวง ในเขต 11 จังหวัด ได้แก่ จังหวัดตาก จังหวัดกำแพงเพชร จังหวัดอุทัยธานี จังหวัดนครสวรรค์ จังหวัดลพบุรี จังหวัดเพชรบูรณ์ จังหวัดนครราชสีมา จังหวัดบุรีรัมย์ จังหวัดสระแก้ว จังหวัดพิจิตร และ จังหวัดชัยภูมิ เมื่อวันที่ 24 ตุลาคม พ.ศ. 2538
คำเตือน ในการสังเกตปรากฎการณ์สุริยุปราคา ไม่ควรมองด้วยตาเปล่า เพราะจะทำให้ดวงตาได้รับอันตรายจากรังสีที่มาจากดวงอาทิตย์ แต่ควรมองผ่านอุปกรณ์กรองแสงต่างๆ เช่น แว่นตาสังเกตปรากฎการณ์สุริยุปราคา เป็นต้น
จันทรุปราคา (Lunar Eclipse)
จันทรุปราคา หรือ จันทรคราส เกิดขึ้นเมื่อดวงจันทร์วันเพ็ญเคลื่อนที่ผ่านเงาของโลก ซึ่งจะเกิดขึ้นเมื่อดวงอาทิตย์ โลก และดวงจันทร์โคจรมาอยู่ในแนวเส้นตรงเดียวกัน โดยมีโลกอยู่ตรงกลาง เกิดขึ้นได้เฉพาะในคืนพระจันทร์เต็มดวงหรือ ขึ้น 15 ค่ำ คนไทยสมัยโบราณเรียกปรากฎการณ์นี้ว่า "ราหูอมจันทร์" ระยะเวลาในการเกิดปรากฎการณ์หรือรูปแบบของการเกิดขึ้นอยู่กับตำแหน่งวงโคจรของดวงจันทร์เมื่อเทียบกับวงโคจรของโลก ดังนั้นจึงมีโอกาสที่จะเกิดจันทรุปราคาเพียงปีละ 1 - 2 ครั้ง
ภาพที่ 4 การเกิดจันทรุปราคาเต็มดวงที่อุทธยานหลวงราชพฤกษ์ จังหวัดเชียงใหม่ 10 ธันวาคม 2554
ที่มา: https://www.it24hrs.com/2014/narit-lunar-eclipse-2557/
จันทรุปราคาเต็มดวง เกิดจากโลกบังแสงจากดวงอาทิตย์ทำให้เกิดเงามืดบนดวงจันทร์ทั้งหมด แต่จะมีแสงจากดวงอาทิตย์บางส่วนที่เลี้ยวเบนผ่านเงามืดของโลกได้ ทำให้มองเห็นดวงจันทร์เป็นสีแดง เนื่องจากดวงจันทร์เป็นสีแดงนี้เองที่เราเรียกว่า พระจันทร์สีเลือด (a blood moon)
การเกิดจันทรุปราคาจะแตกต่างจากสุริยุปราคา กล่าวคือ สุริยุปราคาจะมีเวลาในการเกิดปรากฎการณ์ไม่กี่นาที เนื่องจากเงาของดวงจันทร์มีขนาดเล็กมากเมื่อเทียบกับขนาดของโลก และสังเกตเห็นได้เฉพาะบริเวณที่เงามืดของดวงจันทร์ผ่าน แต่สำหรับจันทรุปราคามีระยะเวลาในการเกิดปรากฎการณ์หลายชั่วโมง และสามารถสังเกตเห็นได้ในทุกพื้นที่ที่เป็นช่วงเวลากลางคืน ทั้งนี้เนื่องจากโลกมีขนาดใหญ่กว่าดวงจันทร์มากนั้นเอง ตามภาพที่ 5
ภาพที่ 5 แบบจำลองการเกิดจันทรุปราคาเต็มดวง
ที่มา: http://www.manager.co.th/Science/ViewNews.aspx?NewsID=9570000114525&Html=1&TabID=1&
ทำไมเราจึงไม่เห็นสุริยุปราคาหรือจันทรุปราคาทุกเดือน?
จากที่เราทราบมาเบื้องต้นแล้วว่า สุริยุปราคาและจันทรุปราคาเกิดจากดวงอาทิตย์ โลก และดวงจันทร์โคจรมาอยู่ในแนวเส้นตรงเดียวกัน ซึ่งในแต่ละเดือนควรมีโอกาสเกิดขึ้นถึงเดือนละสองครั้ง แต่ความจริงแล้วการเกิดสุริยุปราคาหรือจันทรุปราคานั้นมีโอกาสเกิดขึ้นได้ยากมาก เนื่องจากระนาบการโคจรรอบโลกของดวงจันทร์ (Moon’s orbit) ทำมุมกับระนาบการโคจรรอบดวงอาทิตย์ของโลก (Earth’s orbit) ประมาณ 5 องศา ดังแสดงในภาพที่ 6 ดังนั้น ในแต่ละเดือนดวงจันทร์จะมาอยู่ในแนวเส้นตรงเดียวกันกับดวงอาทิตย์และโลกแต่อยู่เยื้องไปทางเหนือ หรือใต้ จึงไม่เกิดจันทรุปราคาหรือสุริยุปราคา แต่ในหนึ่งปีจะมีโอกาสตรงกันได้ 2 ครั้ง คือเมื่อดวงจันทร์มาอยู่ในตัวแหน่งตัดกัน (intersection) ของระนาบวงโคจรพอดีนั้นเอง (โอ้..เกิดยากทีเดียว)
ภาพที่ 6 แสดงระนาบการโคจรของดวงจันทร์รอบโลก และระนาบของโลกโคจรรอบดวงอาทิตย์ แสดงตำแหน่งที่มีโอกาสเกิดสุริยุปราคาและจันทรุปราคา
ที่มา: http://www.astronomy.ohio-state.edu/~pogge/Ast161/Unit2/eclipses.html
การเกิดฤดูกาล
ในระยะเวลา 1 ปี สภาพภูมิอากาศ และสิ่งแวดล้อมรอบตัวเรามีการเปลี่ยนแปลงตลอดเวลา เราเรียกการเปลี่ยนแปลงตามช่วงเวลาของภูมิอากาศนี้ว่า ฤดูกาล โดยในเขตอบอุ่นและเขตหนาว จะแบ่งออกเป็น 4 ฤดู ได้แก่ ฤดูใบไม้ผลิ (Spring) ฤดูร้อน (Summer) ฤดูใบไม้ร่วง (Autumn) และฤดูหนาว (Winter) ส่วนในเขตร้อนจะแบ่งออกเป็น 3 ฤดู ได้แก่ ฤดูร้อน ฤดูหนาว และฤดูฝน (Rainy) แล้วฤดูกาลเกิดขึ้นได้อย่างไร เรามาศึกษาจากบทเรียนนี้กัน
ภาพที่ 1 การเปลี่ยนแปลงตามฤดูกาลของต้นไม้
ที่มา: http://www.thaithesims4.com/topic.php?topic=125756
ฤดูกาลเกิดจากอะไร?
ฤดูกาล (Seasons) เกิดจากโลกโคจรรอบดวงอาทิตย์และแกนโลกเอียง 23.5 องศา กับระนาบการโคจร ทำให้ที่ตำแหน่งต่างๆ ระหว่างการโคจร โลกเอียงตัวเข้าหาดวงอาทิตย์แตกต่างกัน จึงทำให้โลกมีการดูดซับพลังงานจากดวงอาทิตย์แตกต่างกันในแต่ละช่วงของปี นั่นคือ ในช่วงที่ซีกโลกเหนือหันเข้าหาดวงอาทิตย์ซึ่งถือว่าเป็นช่วงฤดูร้อนของซีกโลกเหนือเนื่องจากได้รับพลังงานจากดวงอาทิตย์มากที่สุดและมีกลางวันที่ยาวนานที่สุด ทางซีกโลกใต้จะห่างจากดวงอาทิตย์มากที่สุด นั่นคือเป็นฤดูหนาวของซีกโลกใต้ซึ่งมีกลางวันที่สั้นที่สุด การเปลี่ยนฤดูกาลในช่วงปี แสดงได้ดังภาพที่ 2
ภาพที่ 2 แกนของโลกเอียง 23.5° ขณะที่โคจรรอบดวงอาทิตย์ ทำให้เกิดฤดูกาลต่างๆ
ที่มา: http://www.emreciftci.net/2011/06/googles-summer-surprise.html
วันที่ 20 - 21 มีนาคม (Vernal Equinox or Spring Equinox) ดวงอาทิตย์ขึ้นตรงทิศตะวันออกและตกตรงทิศตะวันตกพอดี กลางวันและกลางคืนยาวเท่ากัน ซีกโลกเหนือเป็นฤดูใบไม้ผลิ เนื่องจากโลกได้รับพลังงานจากดวงอาทิตย์มากขึ้นเมื่อเทียบกับฤดูหนาว ต้นไม้ผลิใบออกมาเพื่อสังเคราะห์แสงผลิตอาหาร
ภาพที่ 3 ในช่วง 21 มีนาคม - 20 มิถุนายน ซีกโลกเหนือเป็นฤดูใบไม้ผลิ (ประเทศไทยตรงกับฤดูร้อน)
รังสีจากดวงอาทิตย์ตั้งฉากกับพื้นผิวโลกบริเวณเส้นศูนย์สูตร ทำให้เวลาในช่วงกลางวันเท่ากับกลางคืน
ที่มา: https://www.youtube.com/watch?v=WLRA87TKXLM
วันที่ 20 - 21 มิถุนายน เป็นวันครีษมายัน (Summer Solstice) โลกหันซีกโลกเหนือเข้าหาดวงอาทิตย์ ทำให้เรามองเห็นดวงอาทิตย์อยู่ค่อนไปทางทิศเหนือ (Dec +23.5°) ดวงอาทิตย์ขึ้นเร็วตกช้า เวลากลางวันยาวกว่ากลางคืน ซีกโลกเหนือเป็นฤดูร้อน
ภาพที่ 4 ในช่วง 21 มิถุนายน - 21 กันยายน ซีกโลกเหนือเป็นฤดูร้อน (ประเทศไทยตรงกับฤดูฝน)
ซีกโลกเหนือหันเข้าหาดวงอาทิตย์ รังสีจากดวงอาทิตย์ตั้งฉากกับผิวโลกเหนือเส้นศูนย์สูตร ทางซีกโลกเหนือกลางวันยาวนานกว่ากลางคืน
ที่มา: https://www.youtube.com/watch?v=WLRA87TKXLM
วันที่ 22 - 23 กันยายน เป็นวันศารทวิษุวัท (Autumnal Equinox) ดวงอาทิตย์ขึ้นตรงทิศตะวันออกและตกตรงทิศตะวันตกพอดี กลางวันและกลางคืนยาวเท่ากัน ซีกโลกเหนือเป็นฤดูใบไม้ร่วง เนื่องจากโลกได้รับพลังงานจากดวงอาทิตย์ลดลงเมื่อเทียบกับฤดูร้อน ต้นไม้จึงผลัดใบทิ้ง
ภาพที่ 5 ในช่วง 22 กันยายน - 21 ธันวาคม ซีกโลกเหนือเป็นฤดูใบไม้ร่วง (ประเทศไทยตรงกับฤดูฝน) รังสีจากดวงอาทิตย์ตั้งฉากกับผิวโลกบริเวณเส้นศูนย์สูตรอีกครั้ง ทำให้เวลากลางวันเท่ากับกลางคืน
ที่มา: https://www.youtube.com/watch?v=WLRA87TKXLM
วันที่ 20 - 21 ธันวาคม เป็นวันเหมายัน (Winter Solstice) โลกหันซีกโลกใต้เข้าหาดวงอาทิตย์ ทำให้เรามองเห็นดวงอาทิตย์อยู่ค่อนไปทางทิศใต้ (Dec -23.5°) ซีกโลกเหนือเป็นฤดูหนาว ดวงอาทิตย์ขึ้นช้าตกเร็ว เวลากลางวันสั้นกว่ากลางคืน โลกจึงได้รับพลังงานจากดวงอาทิตย์น้อยที่สุด ต้นไม้ในเขตละติจูดสูงทิ้งใบหมด เนื่องจากพลังงานแสงแดดไม่พอสำหรับการสังเคราะห์แสง
ภาพที่ 6 ในช่วง 22 ธันวาคม - 20 มีนาคม ซีกโลกเหนือเป็นฤดูหนาว (ประเทศไทยตรงกับฤดูหนาว)
ซีกโลกใต้หันเข้าหาดวงอาทิตย์ รังสีจากดวงอาทิตย์ตั้งฉากกับผิวโลกต่ำกว่าเส้นศูนย์สูตร ทำให้ทางซีกโลกเหนือกลางวันสั้นกว่ากลางคืน
ที่มา: https://www.youtube.com/watch?v=WLRA87TKXLM
ความแตกต่างของช่วงเวลากลางวันและกลางคืนมีอิทธิพลต่อการผลิและผลัดใบในเขตละติจูดสูงๆ เช่น ทวีปยุโรปและอเมริกาเหนือ แต่ในเขตละติจูดต่ำใกล้เส้นศูนย์สูตรจะไม่มีผลมากนัก เนื่องจากดวงอาทิตย์ปรากฏเป็นมุมสูงใกล้จุดเหนือศีรษะ พื้นผิวโลกได้รับพลังงานจากดวงอาทิตย์มากตลอดทั้งปี ต้นไม้จึงไม่ผลัดใบ
ฤดูกาลในประเทศไทย
ถ้าหากพื้นผิวของโลกมีสภาพเป็นเนื้อเดียวเหมือนกันหมด (ทรงกลมที่สมบูรณ์) ทุกบริเวณของโลกจะมี 4 ฤดูตามที่กล่าวมาแล้วข้างต้น อย่างไรก็ตามพื้นผิวโลกมีสภาพแตกต่างกัน เช่น ภูเขา ที่ราบ ทะเล มหาสมุทร ซึ่งส่งอิทธิพลต่อสภาพลมฟ้าอากาศ ประเทศไทยตั้งอยู่บนคาบสมุทรอินโดจีน ขนาบด้วยมหาสมุทรอินเดียกับทะเลจีนใต้ จึงตกอยู่ในอิทธิพลของลมมรสุม (Monsoon) ทำให้ประเทศไทยมี 3 ฤดู ดังนี้
ฤดูร้อน: ตั้งแต่เดือนมีนาคม ถึงกลางเดือนพฤษภาคม
ฤดูฝน: ตั้งแต่กลางเดือนพฤษภาคม ถึงปลายเดือนตุลาคม
ฤดูหนาว: ตั้งแต่ปลายเดือนตุลาคม ถึงเดือนกุมภาพันธ์
แหล่งที่มา
ปรากฏการณ์จันทรุปราคาเต็มดวง. สืบค้นเมื่อวันที่ 19 สิงหาคม 2560. จาก
http://www.narit.or.th/index.php/nso/1713-total-lunar-eclipse-2557
สุริยุปราคา. สืบค้นเมื่อวันที่ 19 สิงหาคม 2560. จาก
https://th.wikipedia.org/wiki/
Lunar eclipse.
Retrieved August 21, 2017.
From https://en.wikipedia.org/wiki/Lunar_eclipse
Mr. Gantt's Earth Science Lab Blog. Solar and Lunar Eclipses.
Retrieved August 21, 2017.
From http://bsmearthscience.blogspot.com/2015/09/3rd-grade-week-5-solar-and-lunar.html
Solar eclipse.
Retrieved August 19, 2017.
From https://en.wikipedia.org/wiki/Solar_eclipse
Lunar Eclipses and Solar Eclipses.
Retrieved August 19, 2017.
From https://spaceplace.nasa.gov/eclipses/en/
ฤดูกาล. สืบค้นเมื่อวันที่ 15 สิงหาคม 2560. จาก
http://www.lesa.biz/astronomy/astro-events/seasons
ฤดูกาล. สืบค้นเมื่อวันที่ 15 สิงหาคม 2560. จาก
https://th.wikipedia.org/wiki/
Season.
Retrieved August 15, 2017.
From https://en.wikipedia.org/wiki/Season
What causes the seasons.
Retrieved August 15, 2017.
From https://spaceplace.nasa.gov/seasons/en/
What Causes Seasons on Earth.
Retrieved August 15, 2017.
From https://www.timeanddate.com/astronomy/seasons-causes.html
ข้างขึ้นข้างแรม. สืบค้นเมื่อวันที่ 15 สิงหาคม 2560. จาก
http://www.lesa.biz/astronomy/astro-events/moon-phases
นิพนธ์ ทรายเพชร. การสังเกตดวงจันทร์. สืบค้นเมื่อวันที่ 15 สิงหาคม 2560. จาก
http://thaiastro.nectec.or.th/library/moonobs.html
Deborah Byrd. Top 4 keys to mastering moon phases.
Retrieved August 15, 2017.
From http://earthsky.org/moon-phases/understandingmoonphases
Lunar phase.
Retrieved August 15, 2017.
From https://en.wikipedia.org/wiki/Lunar_phase
กลับไปที่เนื้อหา
-
7868 ปรากกฎการณ์ของโลก /lesson-physics/item/7868-2018-02-26-08-27-01เพิ่มในรายการโปรด