ไวรัสคอมพิวเตอร์ ตอนที่ 1
ไวรัสคอมพิวเตอร์ (computer virus) เป็นคำเรียกของชุดโปรแกรมคอมพิวเตอร์ หรือชุดคำสั่งบนระบบปฏิบัติการใด ๆ ซึ่งถูกเขียนขึ้นมาเพื่อให้ทำงานในการใดการหนึ่ง อาจมีประโยชน์ หรือโทษก็ได้ แต่โดยส่วนใหญ่เป็นไปในทางโทษที่ทำให้เกิดความเสียหาย ทำให้คอมพิวเตอร์ไม่สามารถทำงานได้ หรือทำงานได้โดยไม่สะดวก
ภาพ คอมพิวเตอร์
ที่มา https://pixabay.com , geralt
ประวัติสำคัญเกี่ยวกับไวรัสคอมพิวเตอร์
มีข้อมูลบึกทึกไว้ว่าโปรแกรมคอมพิวเตอร์ตัวแรกที่มีรูปแบบของไวรัส เกิดขึ้นเมื่อปี พ.ศ. 2505 โดยทีมวิศวกรของ Bell Telephone Laboratories ได้สร้างเกมชื่อว่า "Darwin" เป็นเกมที่มีลักษณะกำหนดกฎเกณฑ์การต่อสู้ระหว่างผู้เข้าแข่งขัน สามารถตรวจดูสภาพแวดล้อมการแข้งขันเพื่อประเมินสภาพแวดล้อม ทำสำเนา และทำลายตัวเองได้ จุดประสงค์หลักของเกมนี้ก็คือลบโปรแกรมทั้งหมดที่คู่แข่งเขียนและครอบครองสนามรบ ต่อมาในปี พ.ศ. 2513 (ค.ศ. 1970) มีการตรวจพบไวรัส Creeper ในเครือข่าย APRAnet ของทหารอเมริกา ถือเป็นต้นแบบไวรัสคอมพิวเตอร์ในปัจจุบัน ปี พ.ศ. 2525 มีการตรวจพบไวรัสชื่อ "Elk Cloner" นั้นเป็นคอมพิวเตอร์ไวรัสบนเครื่องคอมพิวเตอร์ส่วนบุคคลตัวแรก
โปรแกรมที่เรียกว่าไวรัสคอมพิวเตอร์ เกิดขึ้นจากโปรแกรมที่สามารถสำเนาตัวเองขึ้นมาได้ โดยกำเนิดขึ้นเป็นครั้งแรกในปี พ.ศ. 2526 โดย ดร.เฟรดเดอริก โคเฮน (Fred Cohen) นักวิจัยของมหาวิทยาลัยเพนซิลวาเนีย ประเทศสหรัฐอเมริกา ซึ่งได้ได้ทำการศึกษาโปรแกรมลักษณะนี้และได้นิยามชื่อลักษณะแบบนี้ชื่อว่า "ไวรัส" แต่นั่นเป็นเพียงแค่จุดเริ่มต้นที่ยังไม่มีการจดบันทึกหรือกล่าวถึงอย่างกว้างขวาง
ส่วนไวรัสที่แพร่ระบาดและสร้างความเสียหายให้กับคอมพิวเตอร์จนทำให้มีการบันทึกไว้ครั้งแรก เกิดขึ้นเมื่อปี พ.ศ. 2529 โดยไวรัสที่มีชื่อว่า "เบรน (Brain)" ไวรัสเบรนถูกเขียนขึ้นโดยโปรแกรมเมอร์สองพี่น้องชาวปากีสถาน ชื่อ อัมจาด (Amjad) และ เบซิท (Basit) เพื่อป้องกันการคัดลอกทำสำเนาโปรแกรมของพวกเขาโดยไม่จ่ายเงิน
ลักษณะสำคัญของไวรัสคอมพิวเตอร์
โดยส่วนใหญ่โปรกรมไวรัสที่ถูกสร้างหรือเขียนขึ้นมา มักมีเป้าหมายสร้างความเสียหายซึ่งมีลักษณะเหมือนเชื้อโรคขนาดเล็ก ดังนั้นไวรัสคอมพิวเตอร์จึงมีพฤติกรรมในลักษณะเดียวกับไวรัสในทางชีววิทยา ซึ่งสามารถแพร่กระจายไปในเซลล์ของสิ่งมีชีวิตในลักษณะเดียวกัน จึงเป็นที่มาของคำว่า ไวรัส
ซึ่งถ้าไวรัสคอมพิวเตอร์นี้ ได้ถูกเข้าไปอยู่ในคอมพิวเตอร์แล้ว มันสามารถที่จะทำงานด้วยตัวมันเองผ่านชุดคำสั่งที่ผู้เขียนกำหนดไว้ ดยการสอดแทรกตัวสำเนาไปในรหัสคอมพิวเตอร์ส่วนของข้อมูลเอกสารหรือส่วนที่สามารถปฏิบัติการได้ ซึ่งส่วนใหญ่ก็เป็นคำสั่งที่ทำขึ้นเพื่อ ทำลาย โจมตี ขัดขวางการทำงานให้ผิดปกติหรือใช้งานไม่ได้ เช่น ขัดขวางการอ่านข้อมูล ขัดขวางการเข้าถึงข้อมูลในหน่วยความจำ ขัดขวางการทำงานของอุปกรณ์ต่อพ่วงต่างๆ และที่สร้างความเสียหายอย่างมากที่สุด คือ การเข้าไปทำลายแฟ้มข้อมูลหรือเข้าไปทำลายระบบต่าง ๆ ของเครื่องคอมพิวเตอร์ ทำลายระบบปฏิบัติการ โปรแกรมใช้งานหรือข้อมูลอื่น ๆ ที่อยู่ในคอมพิวเตอร์ ลบโปรแกรม ทำลายข้อมูล ไฟล์ข้อมูลหรือโปรแกรมให้หายไป จนบางครั้งไม่สามารถใช้งานได้อีกต่อไป
ยังมีไวรัสอีกรูปแบบที่ไม่ถึงทำลายให้เสียหายแต่ก็ทำให้เกิดความรำคาญ เช่น สาเหตุ พบข้อความวิ่งไปมาที่หน้าจอ หรือกรอบข้อความเตือนไม่ทราบสาเหตุ แบบแก้ไขหรือหยุดการทำงานไม่ได้ หรือรบกวนการทำงาน เช่น การบู๊ตระบบช้าลง เรียกใช้โปรแกรมได้ไม่สมบูรณ์ หรือเกิดอาการค้างหรือแฮงก์โดยไม่ทราบ มีการตั้งเวลาให้ทำงานเฉพาะตามเงื่อนไข เช่น เมื่อถึงวันที่ที่กำหนด หรือเมื่อทำการขยายตัวได้ถึงระดับหนึ่ง ซึ่งไวรัสเหล่านี้จะเรียกว่า บอมบ์ (bomb) หรือระเบิด ซึ่งส่วนใหญ่จะเป็นคำสั่งชุดโปรแกรมที่ถูกกำหนดเวลาการทำงานไว้ลักษณะเป็นระเบิดเวลานั่นเอง
การติดไวรัส (infection) แฟ้มข้อมูลที่ติดไวรัสนี้จะเรียกว่า โฮสต์ (host) ไวรัสนั้นเป็นประเภทหนึ่งของโปรแกรมประเภทมัลแวร์ (malware) หรือโปรแกรมที่มีประสงค์ร้าย ในความหมายที่ใช้กันทั่วไปนั้น ไวรัสยังใช้หมายรวมถึง เวิร์ม (worm) ซึ่งก็เป็นโปรแกรมอีกรูปแบบหนึ่งของมัลแวร์ ซึ่งบางครั้งก็ทำให้ผู้ใช้คอมพิวเตอร์นั้นสับสนเมื่อคำไวรัสนั้นใช้ในความหมายที่เฉพาะเจาะจง คอมพิวเตอร์ไวรัสนั้นโดยทั่วไปจะไม่ส่งผลก่อให้เกิดความเสียหายต่อฮาร์ดแวร์โดยตรง แต่จะทำความเสียหายต่อซอฟต์แวร์
ประเภทของไวรัสคอมพิวเตอร์
บู๊ตเซกเตอร์ไวรัส (Boot Sector Viruses หรือ Boot Infector Viruses) คือไวรัสที่แพรากระจายในตอนที่ทำการบู๊ตเครื่อง โดยเก็บตัวเองอยู่ในบู๊ตเซกเตอร์ของฮาร์ดดิสก์ การทำงานของบู๊ตเซกเตอร์ไวรัส บู๊ตเซ็กเตอร์ไวรัสจะทำงานได้ก็ต่อเมื่อเราเสียบแผ่นดิสก์เก็ตคาไว้ที่ไดรว์ พอเราเปิดเครื่องคอมพิวเตอร์ขึ้นมาเครื่องจะบู๊ตข้อมูลจากแผ่นดิสก์ก่อน
โปรแกรมไวรัส (Program Viruses หรือ File Intector Viruses) เป็นไวรัสที่ทำงานโดยการแทรกผ่านมากับโปรแกรมต่าง ๆ จากการดาวน์โหลดมาเพื่อการติดตั้ง ส่วนใหญ่เป็นไฟล์ที่มีนามสกุลเป็น COM หรือ EXE และบางชนิดสามารถเข้าไปติดและทำงานในกลามนามสกุลไฟล์ที่เป็นโปรแกรมของระบบปฏิบัติการ เช่น อยู่ในโปรแกรมที่มีนามสกุลเป็น sys และโปรแกรมประเภท Overlay Programsได้ด้วย
ม้าโทรจัน (Trojan Horse) เป็นโปรแกรมที่ถูกเขียนขึ้นมาให้ทำตัวเหมือนว่าเป็น โปรแกรมธรรมดาทั่ว ๆ ไป เพื่อหลอกล่อผู้ใช้ให้ทำการเรียกขึ้นมาทำงาน แต่เมื่อถูกเรียกขึ้นมาแล้ว ก็จะเริ่มทำลายตามที่โปรแกรมถูกเรียกใช้ทันที ม้าโทรจันบางตัวถูกเขียนขึ้นมาใหม่ทั้งชุดโดยคนเขียนจะทำการตั้งชื่อโปรแกรมพร้อมชื่อรุ่นและคำอธิบายการใช้งานที่ดูสมจริงเพื่อหลอกให้คนที่จะเรียกใช้ตายใจ จุดประสงค์ของคนเขียนม้าโทรจันอาจจะเช่นเดียวกับคนเขียนไวรัส คือ เข้าไปทำ อันตรายต่อข้อมูลที่มีอยู่ในเครื่อง หรืออาจมีจุดประสงค์เพื่อที่จะล้วงเอาความลับของระบบ คอมพิวเตอร์
โพลีมอร์ฟิกไวรัส (Polymorphic Viruses) เป็นชื่อที่ใช้ในการเรียกไวรัสที่มีความสามารถในการแปรเปลี่ยนตัวเองได้เมื่อสร้างสำเนาตัวเองเกิดขึ้น ซึ่งอาจเกิดได้ถึงหลายร้อยรูปแบบ ผลก็คือทำให้ไวรัสเหล่านี้ยากต่อการถูกตรวจจับโดยโปรแกรมตรวจหาไวรัสที่ใช้วิธีการสแกนอย่างเดียว ไวรัสใหม่ ๆ ในปัจจุบันที่มีความสามารถนี้เริ่มมีจำนวนเพิ่มมากขึ้นเรื่อย ๆ
สทีลต์ไวรัส (Stealth Viruses) เป็นชื่อเรียกไวรัสที่มีความสามารถในการพรางตัวต่อการตรวจจับได้ เช่น ไฟล์อินเฟกเตอร์ ไวรัสประเภทที่ไปติดโปรแกรมใดแล้วจะทำให้ขนาดของ โปรแกรมนั้นใหญ่ขึ้น ถ้าโปรแกรมไวรัสนั้นเป็นแบบสทีลต์ไวรัส จะไม่สามารถตรวจดูขนาดที่แท้จริงของโปรแกรมที่เพิ่มขึ้นได้ เนื่องจากตัวไวรัสจะเข้าไปควบคุมดอส เมื่อมีการใช้คำสั่ง DIRหรือโปรแกรมใดก็ตามเพื่อตรวจดูขนาดของโปรแกรม ดอสก็จะแสดงขนาดเหมือนเดิมทุกอย่างราวกับว่าไม่มีอะไรเกิดขึ้น
มาโครไวรัส (Macro Viruses) ไวรัสที่แทรกมากับไฟล์เอกกสารที่มีการฝังคำสั่งควบคุมการทำงานไว้
Worm (หนอน) ไวรัสรูปแบบหนี่งที่สามารถแพร่กระจายได้อย่างรวดเร็ว
แหล่งที่มา
neay999. บทที่ 8 Virus and Malware. สืบค้นเมื่อวันที่ 22 สิงหาคม 2561 . จาก https://neay999.wordpress.com/บทที่-8-virus-and-malware/
ความมั่นคงปลอดภัยของระบบสารสนเทศ. สืบค้นเมื่อวันที่ 22 สิงหาคม 2561 . จาก https://sites.google.com/site/ges0503chiwitkabthekhnoloyi/bth-thi-5-khwam-mankhng-plxdphay-khxng-rabb-sarsnthes/7-phay-khukkham
บทความที่ 3 ความปลอดภัยของเทคโนโลยีสารสนเทศ. สืบค้นเมื่อวันที่ 22 สิงหาคม 2561 . จาก http://margauxmuk.blogspot.com/2015/07/3_21.html
ไวรัสคอมพิวเตอร์คืออะไร. สืบค้นเมื่อวันที่ 22 สิงหาคม 2561 . จาก https://sites.google.com/site/spiderit2556/khwam-ru-dan-thekhnoloyi/wiras-khxmphiwtexr-khux-xari
ไวรัสคอมพิวเตอร์. สืบค้นเมื่อวันที่ 22 สิงหาคม 2561 . จาก https://th.wikipedia.org/wiki/ไวรัสคอมพิวเตอร์
ไวรัสคอมพิวเตอร์คืออะไร ?. สืบค้นเมื่อวันที่ 22 สิงหาคม 2561 . จาก https://web.ku.ac.th/schoolnet/snet1/software/virus/
ไวรัสคอมพิวเตอร์ ตอนที่ 2
คราวที่แล้วเราทำความรู้จักไวรัสคอมพิวเตอร์กันไปพอสังเขป ไวรัสเองมีวิวัฒนาการตามยุคตามสมัยของการพัฒนาเทคโนโลยีคอมพิวเตอร์เช่นเดียวกัน การพัฒนารูปแบบ เทคนิคการแพร่กระจาย ความสามารถ รวมทั้งความรุนแรงในการก่อความเสียหายให้ระบบ ที่แตกต่างไปจากเดิมมาก ดังนั้น ปัจจุบันคำว่า "ไวรัสคอมพิวเตอร์" จึงมีความหมายที่กว้างขึ้นไปจากเดิมและมีการบัญญัติคำศัพท์ขึ้นมาใหม่ว่า "มัลแวร์ (Malware: Malicious Software)"
"มัลแวร์ (Malware: Malicious Software)" ซึ่งหมายถึงชุดคำสั่งทางคอมพิวเตอร์ โปรแกรมหรือซอฟต์แวร์ใด ๆ ที่ได้รับการจัดทำขึ้นมาโดยมีจุดมุ่งหมายที่ให้ทำงานในลักษณะที่เป็นการโจมตีทั้งระบบ การทำให้ระบบเสียหาย รวมไปถึงการโจรกรรมข้อมูล
มัลแวร์ แบ่งออกได้หลากหลายประเภทจะสร้างความเสียหายให้แก่เครื่องคอมพิวเตอร์หรือระบบเครือข่ายคอมพิวเตอร์ และอาจมีความสามารถในการเคลื่อนที่จากคอมพิวเตอร์หนึ่งไปยังอีกเครื่องหนึ่งหรือจากเครือข่ายหนึ่งไปยังอีกเครือข่ายหนึ่งได้ด้วยตัวเอง
ไวรัสคอมพิวเตอร์เองกลับกลายเป็นเพียงแค่มัลแวร์ชนิดหนึ่งเพียงเท่านั้น ผู้ใช้งานคอมพิวเตอร์ทุกคนควรรู้ลักษณะและพฤติกรรมการทำงานของมัลแวร์ในทุกรูปแบบ รวมถึงการป้องกันตัวเองจากมัลแวร์ในทุก ๆ รูปแบบ
นอกจากที่กล่าวไปในตอนที่ 1 แล้ว ปัจจุบันเรายังพบมัลแวร์ในรูปแบบอื่น ๆ อีกเช่น โค้ด Exploit ซึ่งหมายถึงโปรแกรมที่ออกแบบมาให้สามารถทำการเจาะระบบโดยอาศัยช่องโหว่ของระบบปฏิบัติการหรือแอปพลิเคชันที่ทำงานอยู่บนระบบ เพื่อให้ไวรัสหรือผู้บุกรุกสามารถครอบครอง ควบคุม หรือกระทำการอย่างหนึ่งอย่างใดบนระบบได้ อีกประเภทคือ ข่าวไวรัสหลอกลวง (Hoax) ซึ่งมักจะอยู่ในรูปแบบของการส่งข้อความต่อๆ กันไป เหมือนกับการส่งจดหมายลูกโซ่ โดยข้อความประเภทนี้จะใช้หลักจิตวิทยา ทำให้ข่าวสารนั้นน่าเชื่อถือ ถ้าผู้ที่ได้รับข้อความปฏิบัติตามอาจจะทำให้เกิดความเสียหายต่อระบบคอมพิวเตอร์ เช่น การให้ลบไฟล์ข้อมูลที่จำเป็นของระบบปฏิบัติการโดยหลอกว่าเป็นไวรัสคอมพิวเตอร์ ทำให้ระบบปฏิบัติการทำงานผิดปกติ ดังจะเห็นได้ทั่วไปในสื่อโซเชี่ยลมีเดียต่าง ๆ
การคุกคามของไวรัสในระบบ
โดยปกติแล้วไวรัสคอมพิวเตอร์เข้าคุมคามระบบได้เนื่องจากสาเหตุหลัก ๆ 3 ประการ คือ
มีการเรียกใช้งานไฟล์ที่มีไวรัสคอมพิวเตอร์ฝังตัวอยู่ ปัจจุบันไวรัสคอมพิวเตอร์มักจะใช้หลักจิตวิทยาที่เรียกว่า Social Engineering เพื่อทำการล่อลวงให้ผู้ใช้งานเรียกเปิดไฟล์ที่เป็นไวรัส หรือไวรัสอาจแฝงอยู่ในรูปแบบของ link ในอีเมลหรือเว็บไซต์ต่าง ๆ ที่หลอกลวงให้ผู้ใช้คลิกเพื่อเรียกใช้งานหรือเข้าไปอ่าน
ระบบที่ไม่มีการใช้งานโปรแกรม Anti-Virus หรือมีการใช้งานโปรแกรม Anti-Virus แต่ไม่ได้ทำการ update ฐานข้อมูล ถึงแม้ระบบจะมีการติดตั้งซอฟต์แวร์ดังกล่าวอยู่ แต่หากไม่มีการ update ฐานข้อมูลไวรัสให้ทันสมัยอยู่เสมอ หรือ ไม่มีการใช้งานซอฟต์แวร์ Anti-virus เพื่อตรวจสอบโดยละเอียดว่าระบบปราศจากไวรัสคอมพิวเตอร์อย่างสม่ำเสมอแล้วนั้น ไวรัสคอมพิวเตอร์ก็ยังอาจสามารถเข้ามาคุกคามระบบได้
ระบบปฏิบัติการหรือซอฟต์แวร์ที่ทำงานอยู่บนระบบมีช่องโหว่ (Vulnerbilities) พร้อมทั้งระบบมีการเชื่อมต่อกับเครือข่าย ระบบปฏิบัติการและซอฟต์แวร์มักจะมีช่องโหว่อยู่เสมอ ทำให้ให้ผู้โจมตีสามารถเข้ามาครอบครอง ควบคุมการทำงาน นำไวรัสคอมพิวเตอร์มาเรียกใช้งาน หรือ ทำการบางอย่างบนระบบได้ ระบบปฏิบัติการต่าง ๆ จึงมักมีการอัปเดตให้ทันสมัยเพื่อลดหรือปิดช่องโหว่ที่เกิดขึ้น
การตรวจหาไวรัส
การตรวจหาไวรัสเป็นขั้นเริ่มต้นในการดึงเอาโปรแกรมบางส่วนของตัวไวรัสมาเก็บไว้เป็นฐานข้อมูลเพื่อทำการทำลายหรือกำจัดมันออกไป หรือที่เราเรียกว่า ฆ่าไวรัส ซึ่งเราสามารถใช้วิธีการสแกนโดยใช้ โปรแกรมตรวจหาไวรัสที่ใช้วิธีการสแกน (Scanning) เรียกว่า สแกนเนอร์ (Scanner) ในการตรวจหาไวรัสซิกเนเจอร์ (VirusSignature) และเมื่อสแกนเนอร์ถูกเรียกขึ้นมาทำงานก็จะเข้าตรวจหาไวรัสในหน่วยความจำ บูตเซกเตอร์และไฟล์โดยใช้ ไวรัสซิกเนเจอร์ที่มีอยู่ เราสามารถใช้วิธีนี้ตรวจสอบโปรแกรมหรือไฟล์ที่มาใหม่ได้ทันทีเลยว่าติดไวรัสหรือไม่ เพื่อป้องกันไม่ให้ไวรัสถูกเรียกขึ้นมาทำงานตั้งแต่เริ่มแรก แต่วิธีนี้ก็ยังมีข้อบกพร่องอยู่เช่น ฐานข้อมูลที่เก็บไวรัสซิกเนเจอร์จะต้องทันสมัยอยู่เสมอ ยากที่จะตรวจจับไวรัสประเภทโพลีมอร์ฟิก และถ้ามีไวรัสประเภทสทีลต์ไวรัสติดอยู่ในเครื่องตัวสแกนเนอร์อาจจะไม่สามารถ ตรวจหาไวรัสชนิดนี้ได้ อีกทั้งจำเป็นจะต้องหาสแกนเนอร์ ตัวที่ใหม่ที่สุดมาใช้อยู่เสมอ
การแก้ไขระบบที่ติดไวรัสคอมพิวเตอร์
ติดตั้งโปรแกรม Anti-virus
ตรวจสอบว่าระบบติดไวรัสอะไร โดยการใช้โปรแกรมสำหรับตรวจสอบไวรัสซึ่งอาจทำได้โดยการอาศัยเครื่องคอมพิวเตอร์อีกเครื่องหนึ่งเข้ามาต่อพ่วงเพื่อช่วยในการตรวจสอบ หรืออาศัยระบบการตรวจสอบไวรัสคอมพิวเตอร์ผ่านทางเว็บ (Web-based virus scan engine)
Download โปรแกรมสำหรับแก้ไขไวรัสที่ตรวจพบมาใช้กำจัดไวรัส
อุดช่องโหว่ของระบบปฏิบัติการ
Update ฐานข้อมูลไวรัสของโปรแกรม Anti-virus แล้วใช้โปรแกรมทำการตรวจหาไวรัสบนระบบอีกครั้ง
ปรับแต่งการทำงานของระบบปฏิบัติการและซอฟต์แวร์บนระบบให้มีความปลอดภัยสูง
ระมัดระวังในการเปิดอ่านอี-เมล์ และการเปิดไฟล์จากสื่อบันทึกข้อมูลต่าง ๆ
ไม่ควรเปิดไฟล์ที่มีนามสกุลแปลกๆ
สำรองข้อมูลที่สำคัญบนระบบอยู่เสมอ
เมื่อเครื่องติดไวรัส ให้พยายามหาที่มาของไวรัสนั้น
บูตเครื่องใหม่ทันทีที่ทราบว่าเครื่องติดไวรัส
อาจใช้โปรแกรมตรวจหาไวรัสที่ใหม่และมากกว่าหนึ่งโปรแกรม
งดใช้ Feature การ share ไฟล์ผ่านเครือข่าย
หลีกเลี่ยงการเปิดอ่านอีเมลหรือเข้าเว็บไซต์ที่มีหัวเรื่องที่มีลักษณะเป็นข้อความจูงใจ ชวนเชื่อ หรือเป็นรูปภาพเชิญชวนในทางไม่เหมาะสม
การอัปเดตระบบปฏิบัติการต่าง ๆ ให้ทันสมัยอยู่เสมอ เพื่อป้องกันการถูกโจมตีตามช่องโหว่ต่าง ๆ
แหล่งที่มา
neay999. บทที่ 8 Virus and Malware. สืบค้นเมื่อวันที่ 22 สิงหาคม 2561 . จาก https://neay999.wordpress.com/บทที่-8-virus-and-malware/
ความมั่นคงปลอดภัยของระบบสารสนเทศ. สืบค้นเมื่อวันที่ 22 สิงหาคม 2561 . จาก https://sites.google.com/site/ges0503chiwitkabthekhnoloyi/bth-thi-5-khwam-mankhng-plxdphay-khxng-rabb-sarsnthes/7-phay-khukkham
บทความที่ 3 ความปลอดภัยของเทคโนโลยีสารสนเทศ. สืบค้นเมื่อวันที่ 22 สิงหาคม 2561 . จาก http://margauxmuk.blogspot.com/2015/07/3_21.html
ไวรัสคอมพิวเตอร์คืออะไร. สืบค้นเมื่อวันที่ 22 สิงหาคม 2561 . จาก https://sites.google.com/site/spiderit2556/khwam-ru-dan-thekhnoloyi/wiras-khxmphiwtexr-khux-xari
สถาบันส่งเสริมการสอนวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยี (สสวท.) กระทรวงศึกษาธิการ เป็นหน่วยงานของรัฐที่ไม่แสวงหากำไร ได้จัดทำเว็บไซต์คลังความรู้ SciMath เพื่อส่งเสริมการสอนวิทยาศาสตร์ คณิตศาสตร์และเทคโนโลยีทุกระดับการศึกษา โดยเน้นการศึกษาขั้นพื้นฐานเป็นหลัก หากท่านพบว่ามีข้อมูลหรือเนื้อหาใด ๆ ที่ละเมิดทรัพย์สินทางปัญญาปรากฏอยู่ในเว็บไซต์ โปรดแจ้งให้ทราบเพื่อดำเนินการแก้ปัญหาดังกล่าวโดยเร็วที่สุด
The Institute for the Promotion of Teaching Science and Technology (IPST), Ministry of Education, a non-profit organization under the Thai government, developed SciMath as a website that provides educational resources in Science, Mathematics and Technology. IPST invites visitors to use its online resources for personal, educational and other non-commercial purpose. If there are any problems, please contact us immediately.
Copyright © 2018 SCIMATH :: คลังความรู้ SciMath. Terms and Conditions. Privacy. , All Rights Reserved.
อีเมล: This email address is being protected from spambots. You need JavaScript enabled to view it. (ให้บริการในวันและเวลาราชการเท่านั้น)