ความรู้เบื้องต้นเกี่ยวกับซอฟต์แวร์
ซอฟต์แวร์ คืออะไร
นักเรียนหลายคนอาจคุ้นเคยกับคำว่าโปรแกรมเสียเป็นส่วนใหญ่ ก็เนื่องด้วยว่าเป็นคำเรียกภาษาไทยของคำว่าซอฟต์แวร์ (Software) ทั้งนี้ คำอธิบายเกี่ยวกับซอฟต์แวร์สามารถอธิบายได้ว่า เป็นองค์ประกอบของคอมพิวเตอร์ที่เราไม่สามารถสัมผัสจับต้องได้โดยตรง เรียกอีกนัยหนึ่งว่าเป็นชุดคำสั่งหรือโปรแกรม (Program) ที่ถูกเขียนหรือพัฒนาขึ้นมา เพื่อให้คอมพิวเตอร์ทำงานตามความต้องการของผู้เขียนคำสั่ง ทั้งนี้ ซอฟต์แวร์เป็นเสมือนตัวเชื่อมระหว่างผู้ใช้งาน (User) กับคอมพิวเตอร์ (Computer) ให้สามารถเข้าใจกันได้
ภาพ ภาษาคอมพิวเตอร์ที่ใช้พัฒนาซอฟต์แวร์
ที่มา https://pixabay.com , Pexels
อีกคำอธิบายหนึ่งกล่าวได้ว่า ซอฟต์แวร์ ก็เป็นส่วนของระบบคอมพิวเตอร์ที่ใช้ในการจัดเก็บและประมวลผลข้อมูล ซอฟต์แวร์นั้นนอกจากจะสามารถใช้งานบนคอมพิวเตอร์ได้แล้ว ยังสามารถใช้งานบนเครื่องใช้ หรืออุปกรณ์อิเล็กทรอนิกส์ อื่น ๆ ได้ เช่น โทรศัพท์มือถือ หรือหุ่นยนต์ในโรงงาน หรือเครื่องใช้ไฟฟ้าต่าง ๆ
นอกจากนี้ซอฟต์แวร์ยังถูกพัฒนาตามวิวัฒนาการทางด้านเทคโนโลยีที่ใช้ในกลุ่มของอุปกรณ์สื่อสารทันสมัยอย่างพวกสมาร์ตโฟน ซึ่งเราเรียกมันว่า แอปพลิเคชัน (Application) ซึ่งจริง ๆ แล้ว มันก็คือซอฟต์แวร์ประเภทหนึ่ง
ประวัติของคำว่า ซอฟต์แวร์ มาจาก จอห์น ดับเบิลยู. เทอร์กีย์ (John W. Turkey) ในปี พ.ศ. 2500 (ค.ศ. 1957) ได้นิยามเรียกใช้คำว่า ซอฟต์แวร์ขึ้นมาเป็นครั้งแรก โดยแนวคิดของซอฟต์แวร์ปรากฏครั้งแรกในเรียงความของแอลัน ทัวริง บิดาของวิทยาการคอมพิวเตอร์ กล่าวกันว่าโปรแกรมคอมพิวเตอร์ชิ้นแรกของโลกเขียนโดยเอดา ไบรอน เป็นโปรแกรมที่ใช้สำหรับเครื่องวิเคราะห์ (analytical engine) ของชาร์ลส แบบเบจ
ในแง่คำอธิบายทางกายภาพ อาจกล่าวได้ว่า ซอฟต์แวร์มีความสัมพันธ์ควบคู่กับคำว่าฮาร์ดแวร์ กล่าวคือซอฟต์แวร์ เป็นชื่อเรียกเพื่อใช้เปรียบต่างกับฮาร์ดแวร์ ซึ่งเป็นลักษณะทางกายภาพในการเก็บและประมวลผลของซอฟต์แวร์ ในคอมพิวเตอร์ซอฟต์แวร์จะถูกเรียกใช้งานในแรมและประมวลผลผ่านซีพียู
ชุดของคำสั่งหรือโปรแกรม จะเป็นลำดับขั้นตอนการทำงานที่เขียนขึ้นด้วยคำสั่งของคอมพิวเตอร์ที่ถูกเขียนหรือพัฒนาด้วยภาษาคอมพิวเตอร์อีกชั้นหนึ่ง คำสั่งเหล่านี้จะเรียงกันเป็นโปรแกรมคอมพิวเตอร์ ที่ทำงานโดยหลักการพื้นฐานของภาษษคอมพิวเตอร์ที่มาจากข้อมูลที่เป็นตัวเลขฐานสอง ซึ่งใช้แทนข้อมูลที่เป็นตัวเลข ตัวอักษร รูปภาพ วีดีโอ และเสียงพูดก็ได้เช่นเดียวกัน
ความสำคัญของซอฟต์แวร์
นับจากวันที่คอมพิวเตอร์กำเนิดขึ้น นับเป็นความสำเร็จทางด้านการพัฒนาสมองอัจฉริยะที่ไม่ใช่มนุษย์ โดยใช้ความสามารถของอุปกรณ์อิเล็กทรอนิกส์ในการคิดคำนวณแทนสมองของมนุษย์ ทั้งนี้คอมพิวเตอร์เครื่องหนึ่งสามารถทำงานแตกต่างกันได้มากมายด้วยซอฟต์แวร์ที่แตกต่างกัน เพราเราสามารถออกแบบให้โปรแกรมคอมพิวเตอร์สามารถทำงานหรือประมวลคำสั่งที่เราสร่างขึ้นได้ในหลายรูปแบบ ซอฟต์แวร์จึงหมายรวมถึงโปรแกรมคอมพิวเตอร์ทุกประเภทที่ทำให้คอมพิวเตอร์ทำงานได้
แต่สิ่งหนึ่งที่ต้องทำความเข้าใจก็คือการที่ซอฟต์แวร์สามารถทำงานได้หรือประมวลผลคำสั่งนั้น ได้ ก็เนื่องด้วยว่า การที่เราเห็นคอมพิวเตอร์ทำงานให้กับเราได้มากมาย เพราะว่ามีผู้พัฒนาโปรแกรมคอมพิวเตอร์มาให้เราสั่งงานคอมพิวเตอร์ทั้งนี้ก็สร้างมาเพื่อทำงานตามคำสั่งในหลายรูปแบบตามความต้องการของผู้ใช้งานแต่ละกลุ่มแต่ละประเภท เช่น ร้านค้าอาจใช้คอมพิวเตอร์ทำบัญชีที่ยุ่งยากซับซ้อน บริษัทขายตั๋วใช้คอมพิวเตอร์ช่วยในระบบการจองตั๋ว คอมพิวเตอร์ช่วยในเรื่องกิจการงานธนาคารที่มีข้อมูลต่าง ๆ มากมาย คอมพิวเตอร์ช่วยงานพิมพ์เอกสารให้สวยงาม เป็นต้น การที่คอมพิวเตอร์ดำเนินการให้ประโยชน์ได้มากมายมหาศาลจะอยู่ที่ซอฟต์แวร์ ซอฟต์แวร์จึงเป็นส่วนสำคัญของระบบคอมพิวเตอร์ หากขาดซอฟต์แวร์คอมพิวเตอร์ก็ไม่สามารถทำงานได้ ซอฟต์แวร์จึงเป็นสิ่งที่จำเป็น และมีความสำคัญมาก และเป็นส่วนประกอบหนึ่งที่ทำให้ระบบสารสนเทศเป็นไปได้ตามที่ต้องการ
ภาษาคอมพิวเตอร์ เป็นกลไกสำคัญที่ใช้ในการพัฒนาซอฟต์แวร์ มนุษย์ต้องการใช้คอมพิวเตอร์ช่วยในการทำงาน มนุษย์จะต้องบอกขั้นตอนวิธีการให้คอมพิวเตอร์ทราบ การที่บอกสิ่งที่มนุษย์เข้าใจให้คอมพิวเตอร์รับรู้ และทำงานได้อย่างถูกต้อง จำเป็นต้องมีสื่อกลาง ถ้าเปรียบเทียบกับชีวิตประจำวันแล้ว เรามีภาษาที่ใช้ในการติดต่อซึ่งกันและกัน เช่นเดียวกันถ้ามนุษย์ต้องการจะถ่ายทอดความต้องการให้คอมพิวเตอร์รับรู้และปฏิบัติตาม จะต้องมีสื่อกลางสำหรับการติดต่อเพื่อให้คอมพิวเตอร์รับรู้ เราเรียกสื่อกลางนี้ว่าภาษาคอมพิวเตอร์
เนื่องจากคอมพิวเตอร์ทำงานด้วยสัญญาณทางไฟฟ้า ใช้แทนด้วยตัวเลข 0 และ 1 ได้ ผู้ออกแบบคอมพิวเตอร์ใช้ตัวเลข 0 และ 1 นี้เป็นรหัสแทนคำสั่งในการสั่งงานคอมพิวเตอร์ รหัสแทนข้อมูลและคำสั่งโดยใช้ระบบเลขฐานสองนี้ คอมพิวเตอร์สามารถเข้าใจได้ เราเรียกเลขฐานสองที่ประกอบกันเป็นชุดคำสั่งและใช้สั่งงานคอมพิวเตอร์ว่าภาษาเครื่อง
การใช้ภาษาเครื่องนี้ถึงแม้คอมพิวเตอร์จะเข้าใจได้ทันที แต่มนุษย์ผู้ใช้จะมีข้อยุ่งยากมาก เพราะเข้าใจและจดจำได้ยาก จึงมีผู้สร้างภาษาคอมพิวเตอร์ในรูปแบบที่เป็นตัวอักษร เป็นประโยคข้อความ ภาษาในลักษณะดังกล่าวนี้เรียกว่า ภาษาคอมพิวเตอร์ระดับสูง ภาษาระดับสูงมีอยู่มากมาย บางภาษามีความเหมาะสมกับการใช้สั่งงานการคำนวณทางคณิตศาสตร์และวิทยาศาสตร์ บางภาษามีความเหมาะสมไว้ใช้สั่งงานทางด้านการจัดการข้อมูล
ในการทำงานของคอมพิวเตอร์ คอมพิวเตอร์จะแปลภาษาระดับสูงให้เป็นภาษาเครื่อง ดังนั้นจึงมีผู้พัฒนาโปรแกรมคอมพิวเตอร์สำหรับแปลภาษาคอมพิวเตอร์ระดับสูงให้เป็นภาษาเครื่อง โปรแกรมที่ใช้แปลภาษาคอมพิวเตอร์ระดับสูงให้เป็นภาษาเครื่องเรียกว่า คอมไพเลอร์ (compiler) หรืออินเทอร์พรีเตอร์ (interpreter)
คอมไพเลอร์จะทำการแปลโปรแกรมที่เขียนเป็นภาษาระดับสูงทั้งโปรแกรมให้เป็นภาษาเครื่องก่อน แล้วจึงให้คอมพิวเตอร์ทำงานตามภาษาเครื่องนั้น
ส่วนอินเทอร์พรีเตอร์จะทำการแปลทีละคำสั่ง แล้วให้คอมพิวเตอร์ทำตามคำสั่งนั้น เมื่อทำเสร็จแล้วจึงมาทำการแปลคำสั่งลำดับต่อไป ข้อแตกต่างระหว่างคอมไพเลอร์กับอินเทอร์พรีเตอร์จึงอยู่ที่การแปลทั้งโปรแกรมหรือแปลทีละคำสั่ง ตัวแปลภาษาที่รู้จักกันดี เช่น ตัวแปลภาษาเบสิก ตัวแปลภาษาโคบอล
ซอฟต์แวร์หรือโปรแกรมคอมพิวเตอร์จึงเป็นส่วนสำคัญที่ควบคุมการทำงานของคอมพิวเตอร์ให้ดำเนินการตามแนวความคิดที่ได้กำหนดไว้ล่วงหน้าแล้ว คอมพิวเตอร์ต้องทำงานตามโปรแกรมเท่านั้น ไม่สามารถทำงานที่นอกเหนือจากที่กำหนดไว้ในโปรแกรม
แหล่งที่มา
ความหมายและความสำคัญของซอฟต์แวร์.สืบค้นเมื่อ 12 กันยายน 2561.จาก https://sites.google.com/a/srm.ac.th/krukate/bth-reiyn-wicha-thekhnoloyi-3/bth-thi-1-reuxng-sxfwaer/hnwy-thi-1-khwam-hmay-laea-khwam-sakhay-khxng-sxftwaer
ซอฟต์แวร์.สืบค้นเมื่อ 12 กันยายน 2561.จาก https://th.wikipedia.org/wiki/ซอฟต์แวร์
ซอฟท์แวร์ คืออะไร ?. สืบค้นเมื่อ 12 กันยายน 2561.จาก https://web.ku.ac.th/schoolnet/snet1/software/software/
ซอฟต์แวร์ประยุกต์คืออะไร แบ่งออกเป็นกี่ประเภท อะไรบ้าง จงอธิบาย.สืบค้นเมื่อ 12 กันยายน 2561.จาก https://sites.google.com/site/mju5303103351cs203/sxftwaer-prayukt-khux-xari-baeng-xxk-pen-ki-prapheth-xari-bang-cng-xthibay
กลับไปที่เนื้อหา
ประเภทของซอฟต์แวร์
การแบ่งประเภทของซอฟต์แวร์แบ่งออกได้เป็นหลายกลุ่มหลายแบบ ตามประเภทหลัก ๆ ที่ควรรู้ดังนี้
ภาพ ภาษาคอมพิวเตอร์ที่ใช้พัฒนาซอฟต์แวร์
ที่มา https://pixabay.com , Pexels
การแบ่งเชิงเทคนิค
การแบ่งเชิงเทคนิค สามารถแบ่งซอฟต์แวร์เป็น 3 ประเภทหลักคือ
- ซอฟต์แวร์ระบบ (System/Infrastructure software หรือ Operating Software : OS)
หมายถึงโปรแกรมที่ทำหน้าที่ประสานการทำงาน ติดต่อการทำงานระหว่างฮาร์ดแวร์กับซอฟต์แวร์ประยุกต์ หรือใช้ในการทำให้คอมพิวเตอร์ฮาร์ดแวร์ทำงานกับระบบคอมพิวเตอร์ได้ เพื่อให้ผู้ใช้สามารถใช้ Software ได้อย่างมีประสิทธิภาพ และทำหน้าที่ในการจัดการ ระบบ ดูแลรักษาเครื่อง การแปลภาษาระดับต่ำหรือระดับสูงให้เป็นภาษาเครื่องเพื่อให้เครื่องอ่านได้เข้าใจ โดยรวมถึงระบบปฏิบัติการ ไดรเวอร์ และระบบหลักของคอมพิวเตอร์ต่าง ๆ
ทั้งนี้ ซอฟต์แวร์ระบบ สามารถแบ่งออกได้เป็น 4 ชนิด ดังนี้
1.1 ระบบปฏิบัติการ (Operating System) หมายถึง ชุดโปรแกรมหรือซอฟต์แวร์ที่อยู่ระหว่างฮาร์ดแวร์(อุปกรณ์คอมพิวเตอร์) และซอฟต์แวร์ประยุกต์มีหน้าที่ควบคุมการปฏิบัติงานของฮาร์ดแวร์ และสนับสนุนคำสั่งสำหรับควบคุมการทำงานของฮาร์ดแวร์ให้กับซอฟต์แวร์ประยุกต์ ซึ่งเป็นที่นิยมและรู้จักจนเรียกกันบ่อย ๆ เช่น Windows , DOS , Linux , Mac OS X , Android
1.2 ยูทิลิตี้ (Utility Program) เป็นโปรแกรมที่ทำหน้าที่เพิ่มประสิทธิภาพของเครื่องคอมพิวเตอร์ ทำให้เครื่องทำงานง่ายขึ้นเร็วขึ้น และการป้องกันการรบกวนโดยโปรแกรมที่ไม่พึงประสงค์ โดยส่วนใหญ่เป็นโปรแกรมที่ช่วยในแง่การเป็นเครื่องมือในการทำให้ดีขึ้น เร็วขึ้น หรืออำนวยความสะดวกในการใช้งานนั่นเอง เช่น โปรแกรมป้องกันไวรัส , โปรแกรม Defrag เพื่อจัดเรียงข้อมูลบนฮาร์ดดิสก์ใหม่ ทำให้การอ่านข้อมูลเร็วขึ้น , โปรแกรมยกเลิกการติดตั้งโปรแกรม Uninstall Program , โปรแกรมบีบอัดไฟล์ (WinZip-WinRAR)เพื่อทำให้ไฟล์มีขนาดเล็กลง ,โปรแกรมการสำรองข้อมูล(Backup Data)
1.3 ดีไวซ์ไดเวอร์ (Device Driver หรือ Driver) เป็นโปรแกรมที่ทำหน้าที่ติดต่อกับคอมพิวเตอร์ในส่วนการรับเข้าและการส่งออก ของแต่ละอุปกรณ์ เช่น เมื่อเราซื้อกล้องวีดีโอมาใหม่และต้องการนำเอาวีดีโอที่ถ่ายเสร็จ นำไปตัดต่อที่คอมพิวเตอร์ ก็ต้องติดตั้งไดเวอร์ หรือโปรแกรมที่ติดมากับกล้อง ทำการติดตั้งที่เครื่องคอมพิวเตอร์เพื่อให้เครื่องคอมพิวเตอร์รู้จักและสามารถรับข้อมูลเข้าและส่งข้อมูลออกได้
โดยปกติโปรแกรม windows ที่เรามีอยู่ในเครื่องคอมพิวเตอร์จะมีไดเวอร์ติดตั้งมาให้แล้วโดยเราไม่ต้องทำการติดตั้งไดเวอร์เอง เช่น ไดเวอร์สำหรับเมาส์ ,ไดเวอร์คีย์บอร์ด, ไดเวอร์สำหรับการใช้ USB Port , ไดเวอร์เครื่องพิมพ์ แต่ถ้าอุปกรณ์ใดไม่สามารถใช้งานร่วมกับเครื่องคอมพิวเตอร์ได้ก็ต้องหาไดเวอร์มาติดตั้งเพื่อให้สามารถใช้งานได้ ซึ่งต้องเป็นไดเวอร์ที่พัฒนามาของแต่ละบริษัทผู้ผลิตอุปกรณ์
1.4 ตัวแปลภาษา (Language Translator) คือโปรแกรมที่ทำหน้าที่แปลภาษาระดับต่ำหรือระดับสูงเพื่อให้เครื่องคอมพิวเตอร์เข้าใจว่าต้องการให้ทำอะไร เช่น เมื่อโปรแกรมเมอร์ได้เขียนโปรแกรมเสร็จโดยเขียนในลักษณะภาษาระดับต่ำ (Assenbly) หรือภาษาระดับสูง (โปรแกรมภาษา C) เสร็จก็ต้องมีตัวแปลภาษาเพื่อให้เครื่องคอมพิวเตอร์อ่านเข้าใจ เพราะเครื่องคอมพิวเตอร์จะเข้าใจเฉพาะตัวเลข 0 กับ ตัวเลข 1 เท่านั้น
ทั้งนี้ นการพัฒนาซอฟต์แวร์จำเป็นต้องมีซอฟต์แวร์ที่ใช้ในการแปลภาษาระดับสูง เพื่อแปลภาษาระดับสูงให้เป็นภาษาเครื่อง ภาษาระดับสูงมีหลายภาษา ภาษาระดับสูงเหล่านี้สร้างขึ้นเพื่อให้ผู้เขียนโปรแกรมเขียนชุดคำสั่งได้ง่าย เข้าใจได้ ตลอดจนถึงสามารถปรับปรุงแก้ไขซอฟต์แวร์ในภายหลังได้
ภาษาระดับสูงที่พัฒนาขึ้นมาทุกภาษาจะต้องมีตัวแปลภาษาสำหรับแปลภาษา ภาษาระดับสูงซึ่งเป็นที่รู้จักและนิยมกันมากในปัจจุบัน เช่น ภาษาปาสคาล ภาษาเบสิก ภาษาซี และภาษาโลโก
1) ภาษาปาสคาล เป็นภาษาสั่งงานคอมพิวเตอร์ที่มีรูปแบบเป็นโครงสร้าง เขียนสั่งงานคอมพิวเตอร์เป็นกระบวนความ ผู้เขียนสามารถแบ่งแยกงานออกเป็นชิ้นเล็ก ๆ แล้วมารวมกันเป็นโปรแกรมขนาดใหญ่ได้
2) ภาษาเบสิก เป็นภาษาที่มีรูปแบบคำสั่งไม่ยุ่งยาก สามารถเรียนรู้และเข้าใจได้ง่าย มีรูปแบบคำสั่งพื้นฐานที่สามารถนำมาเขียนเรียงต่อกันเป็นโปรแกรมได้
3) ภาษาซี เป็นภาษาที่เหมาะสำหรับใช้ในการพัฒนาซอฟต์แวร์อื่น ๆ ภาษาซีเป็นภาษาที่มีโครงสร้างคล่องตัวสำหรับการเขียนโปรแกรมหรือให้คอมพิวเตอร์ติดต่อกับอุปกรณ์ต่าง ๆ
4) ภาษาโลโก เป็นภาษาที่เหมาะสำหรับการเรียนรู้และเข้าใจหลักการโปรแกรมภาษาโลโกได้รับการพัฒนาสำหรับเด็ก
นอกจากภาษาที่กล่าวถึงแล้ว ยังมีภาษาคอมพิวเตอร์ที่ใช้กันอยู่ในปัจจุบันอีกมากมายหลายภาษา เช่น ภาษาฟอร์แทรน ภาษาโคบอล ภาษาอาร์พีจี
2.โปรแกรมประยุกต์ หรือซอฟต์แวร์ประยุกต์ (Application software) ช่วยให้ผู้ใช้งานสามารถดำเนินงานต่าง ๆ โดยทั่วไปเช่น โปรแกรมสำนักงาน ฐานข้อมูล คอมพิวเตอร์เกม เว็บเบราว์เซอร์ โดยโปรแกรมประยุกต์จะมีจียูไอ
โปรแกรมคอมพิวเตอร์ (Tools/Utilities) ประกอบไปด้วยเครื่องมือช่วยให้โปรแกรมเมอร์เขียนโปรแกรมอื่น ๆ หรือโปรแกรมประยุกต์ได้ เครื่องมือต่าง ๆ ประกอบไปด้วย คอมไพเลอร์ อินเตอร์พรีเตอร์ ดีบักเกอร์
การแบ่งตามรูปแบบการส่งมอบ แบ่งได้เป็น 2 กลุ่มคือ
1.ซอฟต์แวร์สำเร็จรูป (Package software) ซอฟต์แวร์ที่มีการขาย ให้เช่า หรือให้บริการ โดยคิดค่าบริการเป็น transaction หรือ license
2.ซอฟต์แวร์ที่พัฒนาเงินเดือน (Outsources software development) เป็นการออกแบบและพัฒนาซอฟต์แวร์เพื่อใช้งานเฉพาะกับงานประเภทต่าง ๆ เฉพาะกิจกรรมไป ส่วนใหญ่ลิขสิทธิ์ของซอฟต์แวร์นี้จะเป็นของผู้ที่ว่าจ้างให้พัฒนาขึ้น
การแบ่งตามประเภทของการนำไปใช้งานหลัก แบ่งได้เป็น 3 กลุ่มคือ
1.ซอฟต์แวร์ช่วยในการบริหารจัดการทั่วไป (Enterprise software) เป็นซอฟต์แวร์ที่ใช้กับการทำงานเพื่อแก้ปัญหา/จัดการทรัพยากรของ บุคคล/องค์กร เช่น ซอฟต์แวร์บัญชี ซอฟต์แวร์จัดทำเอกสาร เป็นต้น
2.ซอฟต์แวร์สำหรับอุปกรณ์พกพาขนาดเล็ก (Mobile applications software) เป็นซอฟต์แวร์ที่ทำงานผ่านระบบปฏิบัติการพิเศษบนอุปกรณ์ขนาดเล็ก เช่น โทรศัพท์มือถือ PDA โดยสามารถแบ่งเป็นกลุ่มใหญ่ๆ ได้ 2 กลุ่ม คือ (1) ซอฟต์แวร์เพื่อสนับสนุนธุรกรรมทางธุรกิจ (Business applications) เช่น Mobile banking, Mobile payment, GPS on Mobile, Mobile applications for business process management และ(2) ซอฟต์แวร์ที่เกี่ยวข้องกับนันทนาการและบันเทิง (Entertainment applications) ซึ่งรวมเกมบนโทรศัพท์เคลื่อนที่
3.ซอฟต์แวร์สมองกลฝังตัว (Embedded System Software) เป็นซอฟต์แวร์ซึ่งฝังอยู่ไว้ในอุปกรณ์อิเล็กทรอนิกส์ต่างๆ เพื่อใช้สำหรับควบคุมการทำงานของอุปกรณ์นั้น ๆ เช่น ระบบ GPRS ระบบทำความเย็นอัจฉริยะ ระบบตรวจสอบย้อนกลับ เป็นต้น
แหล่งที่มา
ความหมายและความสำคัญของซอฟต์แวร์.สืบค้นเมื่อ 12 กันยายน 2561.จาก https://sites.google.com/a/srm.ac.th/krukate/bth-reiyn-wicha-thekhnoloyi-3/bth-thi-1-reuxng-sxfwaer/hnwy-thi-1-khwam-hmay-laea-khwam-sakhay-khxng-sxftwaer
ซอฟต์แวร์.สืบค้นเมื่อ 12 กันยายน 2561.จาก https://th.wikipedia.org/wiki/ซอฟต์แวร์
ซอฟท์แวร์ คืออะไร ?. สืบค้นเมื่อ 12 กันยายน 2561.จาก https://web.ku.ac.th/schoolnet/snet1/software/software/
ซอฟต์แวร์ประยุกต์คืออะไร แบ่งออกเป็นกี่ประเภท อะไรบ้าง จงอธิบาย.สืบค้นเมื่อ 12 กันยายน 2561.จาก https://sites.google.com/site/mju5303103351cs203/sxftwaer-prayukt-khux-xari-baeng-xxk-pen-ki-prapheth-xari-bang-cng-xthibay
กลับไปที่เนื้อหา
-
9435 ความรู้เบื้องต้นเกี่ยวกับซอฟต์แวร์ /lesson-technology/item/9435-2018-11-14-08-54-36เพิ่มในรายการโปรด