เศรษฐกิจหมุนเวียน (BCG Model) กับตัวอย่างงานวิจัยของเยาวชนไทยยุคใหม่
จากรายงาน The World Population Prospects 2019 ของฝ่ายเศรษฐกิจและกิจการสังคมสหประชาชาติ (United Nations: UN) ซึ่งคาดการณ์ว่า ในปี ค.ศ. 2050 จำนวนประชากรโลกจะเพิ่มสูงขึ้นถึง 9.7 พันล้านคน และอาจจะเพิ่มสูงเกือบ 1.1 หมื่นล้านคน ในปี 2100 จำนวนประชากรโลกที่เพิ่มมากขึ้นนี้ ทำให้มีความต้องการใช้ทรัพยากรธรรมชาติในการดำรงชีวิตเพิ่มมากขึ้นอย่างรวดเร็ว จนกระทั่งแซงหน้าการเติบโตทางเศรษฐกิจ ทรัพยากรเริ่มขาดแคลน ความหลากหลายทางชีวภาพลดลง การผลิตและการใช้พลังงานในรูปแบบต่าง ๆ เช่น ไฟฟ้า น้ำมัน เพื่อการดำรงชีวิตมีมากขึ้น ทำให้มีการปลดปล่อยแก๊สเรือนกระจกและแก๊สอื่น ๆ อีกหลายชนิดออกสู่บรรยากาศ จนก่อให้เกิดมลพิษทางอากาศและทางน้ำเพิ่มมากขึ้น ส่งผลให้เกิดการเปลี่ยนแปลงภูมิอากาศ และผลกระทบตามมา เช่น เกิดความแห้งแล้ง การแพร่ระบาดของโรค น้ำท่วม ดินถล่ม หากเราไม่ร่วมกันปรับตัวหรือลดการพัฒนาสิ่งที่จะส่งผลเสียต่อการดำรงชีวิตในปัจจุบัน เราคงจะต้องเผชิญกับปัญหาที่ตามมาอีกมากมาย จนไม่สามารถดำรงชีวิตได้อย่างมีความสุข ดังนั้น การพัฒนาที่ยั่งยืนเพื่อปรับความต้องการด้านเศรษฐกิจ สังคม และสิ่งแวดล้อมให้สมดุล จึงเป็นแนวทางที่ช่วยให้เรายังคงดำรงชีวิตอยู่ได้อย่างยั่งยืนร่วมกันต่อไป
การพัฒนาที่ยั่งยืน (Sustainable Development)
เป็นการพัฒนาที่บูรณาการองค์ประกอบที่เกี่ยวข้องทั้งหลาย มาประสานกันเป็นองค์รวมอย่างสมดุลบนพื้นฐานของทรัพยากรธรรมชาติ ภูมิปัญญาและวัฒนธรรม การมีส่วนร่วมของประชาชนทุกกลุ่ม ด้วยความเอื้ออาทรเคารพซึ่งกันและกัน เพื่อความสามารถในการพึ่งตนเองและคุณภาพชีวิตที่เท่าเทียมกัน การบรรลุการพัฒนาที่ยั่งยืนมีองค์ประกอบสำคัญ 3 ประการ ได้แก่ การเติบโตทางเศรษฐกิจ ความครอบคลุมกันทางสังคม และการคุ้มครองสิ่งแวดล้อม
เป้าหมายการพัฒนาที่ยั่งยืน (Sustainable Development Goals: SDGs)
ในปี พ.ศ. 2558 ประเทศสมาชิกสหประชาชาติรวม 193 ประเทศ ได้ร่วมกันกำหนดเป้าหมายการพัฒนาที่ยั่งยืน ซึ่งมีทั้งหมด 17 เป้าหมาย รายละเอียดในแต่ละเป้าหมาย ดังภาพ 1 เพื่อเป็นแนวทางให้แต่ละประเทศดำเนินการร่วมกันในการพัฒนาสังคม เศรษฐกิจ และสิ่งแวดล้อมอย่างยั่งยืน เริ่มตั้งแต่ พ.ศ. 2559-2573 เป็นเวลา 15 ปี โดยแบ่งเป็น 5 กลุ่มเป้าหมายหลัก ได้แก่ สังคม (People) เศรษฐกิจ (Prosperity) สิ่งแวดล้อม (Planet) สันติภาพและความยุติธรรม (Peace) และความเป็นหุ้นส่วนในการพัฒนา (Partnership) โดยมีรายละเอียดเป้าหมายในแต่ละกลุ่ม ดังตารางที่ 1 (สำนักงานสภาพัฒนาการ เศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติ, 2564)
ภาพ 1 เป้าหมายการพัฒนาที่ยั่งยืน (Sustainable Development Goals: SDGs)
ที่มา (United Nations, 2019) และ (สำนักงานสภาพัฒนาการเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติ, 2564)
ตารางที่ 1 กลุ่มเป้าหมายหลักของ SDGs (ปรับจาก: ไทยพับลิก้า, 2560)
กลุ่มเป้าหมาย | Sustainable Development Goals: SDGs |
การพัฒนาคน
(People) |
|
เศรษฐกิจ (Prosperity)
|
|
สิ่งแวดล้อม (Planet) |
|
สันติภาพ สถาบันที่เข้มแข็ง และความยุติธรรม (Peace) |
|
หุ้นส่วนการพัฒนา (Partnership) |
นโยบายการขับเคลื่อนประเทศไทยกับ BCG Model
ประเทศไทยจัดทำนโยบายการขับเคลื่อนประเทศโดยใช้ BCG Model ซึ่งเป็นการพัฒนาเศรษฐกิจแบบองค์รวมใน 3 ส่วน ได้แก่
+ เศรษฐกิจชีวภาพ (Bioeconomy) โดยการใช้ทรัพยากรชีวภาพให้คุ้มค่าและมีมูลค่าสูงขึ้น การประยุกต์ใช้เทคโนโลยี ช่วยในการผลิต
+ เศรษฐกิจหมุนเวียน (Circular Economy) เป็นการใช้ทรัพยากรให้คุ้มค่าที่สุด เน้นการหมุนเวียนนำกลับมาใช้ซ้ำ หรือนำกลับมาใช้ใหม่ได้ เช่น ระบบการผลิตแบบเดิมที่เริ่มจากการใช้ทรัพยากรในการผลิตสินค้าใช้งาน จากนั้นนำสิ่งที่เหลือจากการผลิตไปทิ้งหรือกำจัด (Take-Make-Use-Dispose) แต่เมื่อเรานำ BCG Model มาใช้ ระบบการผลิตจะเปลี่ยนเป็นรูปแบบการหมุนเวียนนำวัตถุดิบมาใช้ซ้ำหรือนำกลับมาใช้ใหม่ (Make-Use-Return/Recycle) เพื่อลดปริมาณของเสีย
+ เศรษฐกิจสีเขียว (Green Economy) เน้นพัฒนาเศรษฐกิจร่วมกับการพัฒนาสังคมและสิ่งแวดล้อม ซึ่งนำ BCG Model มาใช้เป็นหลักสำคัญในการพัฒนาเศรษฐกิจ สังคม และสิ่งแวดล้อมของประเทศไทย
นโยบายนี้ยังช่วยตอบโจทย์และสอดคล้องกับเป้าหมายการพัฒนาที่ยั่งยืน (SDGs) รวมทั้งหลักการของปรัชญาเศรษฐกิจ พอเพียง (Sufficiency Economy Philosophy: SEP) ที่เรารู้จักกันเป็นอย่างดี โดย BCG Model เน้นการสร้างมูลค่าของอุตสาหกรรม ใน 4 กลุ่มหลัก ได้แก่ เกษตรและอาหาร พลังงานและวัสดุชีวภาพ สุขภาพและการแพทย์ การท่องเที่ยวและบริการ โดยมีการบูรณาการเทคโนโลยีและสร้างสรรค์นวัตกรรมเพื่อเพิ่มมูลค่าให้กับสินค้า ผลิตภัณฑ์ การบริการให้มีมูลค่าเพิ่มมากขึ้น และยังเป็นมิตรกับ สิ่งแวดล้อม นอกจากเป็นการใช้ทรัพยากรอย่างคุ้มค่าแล้ว ยังลดปัจจัยที่ส่งผลต่อการเปลี่ยนแปลงภูมิอากาศได้ทางหนึ่ง รวมทั้งยัง เป็นการร่วมกันอนุรักษ์สิ่งแวดล้อมได้อย่างยั่งยืนด้วย
ภาพ 2 แสดงการสร้างมูลค่าของอุตสาหกรรมหลัก 4 กลุ่มของ BCG Model
ที่มา (สำนักงานพัฒนาวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีแห่งชาติ, 2563)
เยาวชนไทยยุคใหม่กับการทำงานวิจัยที่ร่วมพัฒนาโลกให้ยั่งยืน
โครงการ GLOBE ประเทศไทย โดยสถาบันส่งเสริมการสอนวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยี (สสวท.) ได้จัดการประกวดผลงานวิจัยวิทยาศาสตร์สิ่งแวดล้อม (GLOBE Student Research Competition: GLOBE SRC) และการประกวดนวัตกรรมในการอนุรักษ์ทรัพยากรน้ำ (Thailand Junior Water Prize: TJWP) เป็นประจำทุกปี โดยมีโรงเรียนทั่วประเทศส่งผลงานเข้าร่วม ประกวดฯ อย่างต่อเนื่อง ซึ่งงานวิจัยเหล่านี้เป็นการศึกษาเพื่อแก้ปัญหาสิ่งแวดล้อมในท้องถิ่นของตน งานวิจัยของนักเรียนในปีนี้ มีหลายผลงานที่นำแนวคิดของ BCG Model และ SDGs มาประยุกต์ใช้ ตัวอย่างงานวิจัยที่ชนะเลิศการประกวด TJWP 2021 จากโรงเรียนดำรงราษฎร์สงเคราะห์ อำเภอเมือง จังหวัดเชียงราย เรื่อง “เข็มขัดดูดซับความชื้นและให้ธาตุอาหารจากวัสดุเหลือทิ้งในชุมชน เพื่อการดูแลท่อนพันธุ์อ้อยระยะแรกปลูก” งานวิจัยนี้มีแนวคิดการสร้างนวัตกรรมจากวัสดุเหลือทิ้ง ในชุมชน คือ ชานอ้อยและเกล็ดปลานวลจันทร์ เพื่อแก้ปัญหาการอนุรักษ์ทรัพยากรน้ำในการปลูกอ้อย และลดปริมาณของเสีย ซึ่งจะช่วยลดผลกระทบต่อสิ่งแวดล้อมในท้องถิ่น โดยมีขั้นตอนตามแนวทางการศึกษาวิจัย ดังนี้
1. การสกัดกาวเจลาตินจากเกล็ดปลานวลจันทร์
ศึกษาวิธีการและสัดส่วนที่เหมาะสมที่ใช้ในการสกัดสารจากเกล็ดปลานวลจันทร์ เพื่อนำมาใช้เป็นกาวเจลาตินในการเชื่อมประสานชานอ้อย และจากการศึกษานี้ยังพบว่าของเสียจาก กระบวนการสกัดสามารถนำมาใช้เป็นธาตุอาหารที่สำคัญให้กับนวัตกรรมที่สร้างขึ้นได้ จึงเป็นการใช้วัสดุได้อย่างคุ้มค่า และลดต้นทุนของปุ๋ยที่เกษตรกรต้องใส่ในแปลงปลูกอ้อยในระยะแรกปลูก
2. การสกัดเส้นใยจากชานอ้อยที่เหมาะสมต่อการใช้เป็นวัสดุดูดซับ และสมบัติบางประการเมื่อประสานด้วยกาวเจลาติน
ศึกษาวิธีการสกัดเส้นใยจากชานอ้อยที่เหมาะสมต่อการใช้เป็นวัสดุดูดซับ รวมทั้งศึกษาสมบัติของแผ่นเส้นใยจากชานอ้อยที่สกัดได้ เช่น การดูดซับ การอุ้มน้ำ การทนต่อแรงดึงเมื่อ อิ่มตัวด้วยน้ำ
3. ออกแบบและศึกษาประสิทธิภาพของนวัตกรรมที่สร้างขึ้น
ออกแบบผลงานในรูปแบบเข็มขัดซึ่งสะดวกในการใช้งาน เพื่อช่วยให้สามารถดูดซับความชื้น และให้ธาตุอาหารที่พัฒนาขึ้นต่อการเจริญเติบโตของท่อน พันธุ์อ้อยระยะแรกปลูก และเพิ่มประสิทธิภาพการป้องกันแมลงศัตรู โดยใช้สารสกัดจากสะเดาและเป็นพืชสมุนไพรธรรมชาติ ซึ่งเป็นแนวคิดในการทำการเกษตรแบบเป็นมิตรกับสิ่งแวดล้อม
ภาพ 3 การออกแบบนวัตกรรมและการนำไปใช้งาน
ที่มา (ธนวิชญ์ น้ำใจดี และฟิวเจอร์ คงชู, 2564)
ผลงานนวัตกรรมที่สร้างขึ้นนี้ มีแนวคิดที่รวมการออกแบบผลงานนวัตกรรมจากวัสดุเหลือใช้ในท้องถิ่น เพื่อเพิ่มความชื้นในดิน เพิ่มธาตุอาหารให้กับท่อนพันธุ์อ้อยในระยะแรกปลูก ทำให้อ้อยเจริญเติบโตได้ดี ส่งผลให้อ้อยมีผลผลิตสูงขึ้น ช่วยลดการใช้ปริมาณน้ำในระยะแรกปลูก โดยเฉพาะในพื้นที่ที่มีน้ำใช้ได้อย่างจำกัดทั่วประเทศ ลดการใช้สารกำจัด ศัตรูพืช และการนำของเสียจากกระบวนการผลิตมาใช้ประโยชน์ ซึ่งเป็นแนวทางหนึ่งที่จะ ช่วยแก้ปัญหาทางด้านการเกษตร และการจัดการทรัพยากรน้ำ งานวิจัยนี้นอกจากตอบโจทย์ BCG Model แล้ว ยังสอดคล้องกับ SDGs ในหลายเป้าหมาย ได้แก่ เป้าหมาย ที่ 1 ขจัดความยากจน เป้าหมายที่ 2 ขจัดความหิวโหย เป้าหมายที่ 6 การจัดการน้ำและสุขาภิบาล เป้าหมายที่ 7 พลังงานสะอาดที่ทุกคนเข้าถึงได้ เป้าหมายที่ 12 แผนการบริโภคและการผลิตที่ยั่งยืน และเป้าหมายที่ 13 การรับมือการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศ จึงเห็นได้ว่าการส่งเสริมให้นักเรียนได้ทำงานวิจัยจากปัญหาที่พบเห็นในชีวิตประจำวัน และเชื่อมโยงกับความรู้ความเข้าใจต่อการพัฒนาประเทศ โดยคำนึงถึงการดูแลรักษาสิ่งแวดล้อม สามารถทำให้เยาวชนไทยเกิดแนวคิดสร้างสรรค์ และนำไปสู่การสร้างนวัตกรรมที่สามารถขยายผล ต่อยอด ประยุกต์ใช้ได้จริงอย่างกว้างขวาง ทำให้เกิดการยกระดับเพิ่มผลผลิตทางการเกษตรของประเทศ และเกิดการพัฒนาเศรษฐกิจ สังคม และสิ่งแวดล้อมของโลกอย่างยั่งยืนต่อไป
บทความนี้เป็นส่วนหนึ่งของนิตยสาร สสวท. ปีที่ 49 ฉบับที่ 231 กรกฎาคม - สิงหาคม 2564
ผู้อ่านสามารถติดตามบทความที่น่าสนใจเพิ่มเติมได้ที่ https://emagazine.ipst.ac.th/231/36/
บรรณานุกรม
United Nations. (2019). SDG Guide line. Retrieved July 1, 2021, from https://www.un.org/sustainabledevelopment/wp-content/uploads/2019/01/SDG_Guidelines_AUG_2019_Final.pdf.
United Nations. (2020). SDG Report 2020. Retrieved July 1, 2021, from https://unstats.un.org/sdgs/report/2020/The-Sustainable-Development-Goals-Report-2020.pdf.
กระทรวงการอุดมศึกษา วิทยาศาสตร์ วิจัยและนวัตกรรม. (พฤศจิกายน 2562). ข้อเสนอ BCG in Action: The New Sustainable Growth Engine โมเดลเศรษฐกิจสู่การพัฒนาที่ยั่งยืน. สืบค้นเมื่อ 1 กรกฎาคม 2564, จาก https://www.nstda.or.th/home/wp-content/uploads/2020/03/images_file-pdf_20200306-bcg-in-action.pdf.
ไทยพับลิก้า. (3 มีนาคม 2560). SDGs 2017: กางยุุทธศาสตร์ชาติ แผนฯ 12 และ 30 ประเด็นความยั่งยืนเร่งด่วนเพื่อบรรลุุเป้าหมาย. สืบค้นเมื่อ 1 กรกฎาคม 2564, จาก https://thaipublica.org/2017/03/sdgs-2017/.
ธนวิชญ์ น้ำ ใจดี และฟิวเจอร์ คงชูู. (2564). เข็มขัดดูดซับความชื้นและให้ธาตุอาหารจากวัสดุเหลือทิ้งในชุมชน เพื่อการดูแลท่อนพันธุ์อ้อยระยะแรกปลูก. การประกวด Thailand Junior Water Prize 2021:
สถาบันส่งเสริมการสอนวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยี. สำนักงานพัฒนาวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีแห่งชาติ (สวทช.). (2563). โมเดลเศรษฐกิจใหม่ BCG. สืบค้นเมื่อ 1 กรกฎาคม 2564, จาก https://www.nstda.or.th/home/knowledge_post/bcg-by-nstda/.
สำนักงานสภาพัฒนาการเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติ. ประเทศไทยกับการพัฒนาที่ยั่งยืน. สืบค้นเมื่อ 1 กรกฎาคม 2564, จาก https://sdgs.nesdc.go.th/.
-
12892 เศรษฐกิจหมุนเวียน (BCG Model) กับตัวอย่างงานวิจัยของเยาวชนไทยยุคใหม่ /other-article/item/12892-bcg-modelเพิ่มในรายการโปรด
-
คำที่เกี่ยวข้อง