พระบิดาแห่งการสื่อสาร
พระราชอัจฉริยภาพด้านการสื่อสารด้วยวิทยุ
ตามที่ได้เกิดเหตุการณ์อุทกภัยขึ้นในพื้นที่หลายจังหวัดของประเทศไทยในช่วงนี้ และตรงกับวันนี้ “วันสื่อสารแห่งชาติ” ทำให้นึกถึงเรื่องราวในอดีตเกี่ยวกับการสื่อสารของไทยกับพระอัจฉริยภาพด้านวิทยุสื่อสารของพระบาทสมเด็จพระปรมินทรมหาภูมิพลอดุลยเดช ที่ทรงช่วยเหลือบรรเทาทุกข์ของพสกนิกรชาวไทยทั่วประเทศ ที่ประสบภัยพิบัติทุกครั้งในอดีต
ภาพประกอบจาก https://www.iurban.in.th/
อุปกรณ์สื่อสารส่วนพระองค์
พระบาทสมเด็จพระปรมินทรมหาภูมิพลอดุลยเดช อันนับได้ว่าพระองค์ท่านเป็นบิดาแห่งการสื่อสารไทย ด้วยทรงสนพระราชหฤทัยในการสื่อสารด้วยวิทยุ ทรงศึกษาหาความรู้อย่างจริงจังด้วยพระองค์เอง อุปกรณ์ตัวแรกที่พระองค์ทรงใช้คือวิทยุแบบกระเป๋าหิ้ว FM-5 ซึ่งกองการตำรวจสื่อสารได้ทูลเกล้าฯ ถวาย ทรงใช้ทดลอง ซ่อมแซม และปรับแต่งวิทยุด้วยพระองค์เอง ตลอจนพระราชทานกระแสพระราชดำริเกี่ยวกับสายส่งสัญญาณ และสายอากาศวิทยุ ให้ผู้ที่เกี่ยวข้องรับไปพิจารณาศึกษาทางด้านวิชาการ และทดลองทำขึ้นใช้งาน เพื่อนำมาใช้ในกิจการงานของประเทศ
ภาพประกอบจาก https://www.matichon.co.th/
รหัสจากฟากฟ้า “VR009”
กิจการวิทยุสมัครเล่นในไทยเมื่อปี พ.ศ. 2507 ก่อกำเนิดรหัสจากฟากฟ้า “VR009” พระนามเรียกขานประจำพระองค์ กับเรื่องราวประทับใจ เกี่ยวกับที่มาของรหัสนี้ ในอดีต (ก่อนปี พ.ศ. 2507) ประเทศไทย ไม่อนุญาตให้บุคคลทั่วไปใช้วิทยุสื่อสารได้ ด้วยเหตุผลว่าอาจจะส่งผลกระทบต่อความมั่นคง จนกระทั่งปี พ.ศ. 2524 พล.ต.ต.สุชาติ เผือกสกนธ์ อธิบดีกรมไปรษณีย์โทรเลขในขณะนั้น ได้นำความกราบบังคมทูลพระองค์ว่า "ถ้าจะทำให้ผู้ที่ใช้วิทยุไม่ถูก ทำให้ถูกต้องนั้น พระองค์ทรงมีพระราชดำรัสอย่างไร" ซึ่งพระองค์ท่านตรัสว่า "ก็เป็นเรื่องที่ดีสิ เขาจะได้ภาคภูมิใจ" หลังจากนั้นพล.ต.ต.สุชาติ จึงตั้งชมรมวิทยุอาสาสมัคร (Voluntary Radio:VR) และทูลเกล้าฯ ถวายรหัส "VR009" ต่อมาภายหลังมีการเปลี่ยนรหัสเรียกขานเป็น HS1A (โฮเทล-เซียร่า-วัน-อัลฟ่า) และหากทรงติดต่อในข่ายวิทยุสายลมซึ่งเป็นข่ายของราชการ ก็จะมีพระนามเรียกขานเป็น "สายลม 09" อีกรหัสหนึ่งด้วย
ภาพประกอบจาก http://www.posttoday.com
เหตุการณ์ครั้งสำคัญ
เมื่อครั้งประเทศไทยเป็นเจ้าภาพกีฬาซีเกมส์ครั้งที่ 13
ในครั้งนั้นจำเป็นต้องใช้วิทยุสื่อสารสำหรับรายงานการแข่งขัน ซึ่งขณะนั้นอุปกรณ์ที่ใช้คือวิทยุสมัครเล่นหรือวอล์กกี้ทอล์กกี้ ความถี่ย่าน VHF แต่เกิดปัญหาในการส่งสัญญาณ พระองค์ท่านจึงติดต่อเข้ามา พร้อมรับสั่งว่า พระองค์ท่านรับฟังและติดตามอยู่ ทรงควบคุมเครือข่ายวิทยุสายลม และใช้คำพระราชทานคำแนะนำ ในการติดตั้งอุปกรณ์รับส่งสัญญาณ จนสามารถใช้งานได้ตามปกติจนจบการแข่งขัน
เมื่อครั้งเกิดน้ำท่วมใหญ่
“สายลม VR009 วิธีใส่ถุงพลาสติก ถ้ากลัวว่าตกน้ำก็ต้องใส่สองชั้น ใส่เข้าไปแล้วก็ผูกด้วยหนังสติ๊ก แล้วก็ใส่อีกชั้นหนึ่งกลับหัวกันแล้วก็ผูกหนังสติ๊ก อย่างนั้นน้ำไม่เข้า ลงทะเลยังได้ เปลี่ยน”
พระสุรเสียงของพระบาทสมเด็จพระปรมินทรมหาภูมิพลอดุลยเดช ที่ทรงมีพระราชกระแสรับสั่งกับศูนย์ควบคุมข่ายวิทยุสายลม และใช้คำสนทนาเรียบง่ายเป็นกันเอง ในครั้งที่เกิดน้ำท่วมกรุงเทพมหานคร ปี พ.ศ. 2528 และเหตุการณ์วาตภัยครั้งใหญ่ที่เกิดในพื้นที่จังหวัดราชบุรี ปี พ.ศ. 2539 พระองค์ท่านก็ใช้วิทยุสื่อสารพระราชทานคำแนะนำ แก่นักวิทยุสมัครเล่นที่ลงพื้นที่ช่วยเหลือผู้ประสบภัยเช่นเดียวกัน
ด้วยพระองค์ท่านที่ทรงติดตามเหตุการณ์ และพระราชทานคำแนะนำ ในการแก้ปัญหาสัญญาณวิทยุ ทรงใช้วิทยุสื่อสารส่วนพระองค์ในการติดต่อสื่อสารกับเจ้าหน้าที่อาสาสมัคร อาสากู้ภัย จึงทำให้ปวงชนชาวไทยสามารถผ่านเหตุการณ์วิกฤตในแต่ละครั้งมาได้
แหล่งที่มา
1. https://www.thairath.co.th/content/387370
2. http://www.posttoday.com/social/general/461254
3. https://www.matichon.co.th/news/329223
4. https://www.iurban.in.th/inspiration/kingofcommnnication/
-
7376 พระบิดาแห่งการสื่อสาร /other-article/item/7376-2017-07-20-07-08-58เพิ่มในรายการโปรด