สมเด็จพระนางเจ้าสิริกิติ์ พระบรมราชินีนาถ กับรางวัลหลุยส์ ปาสเตอร์
ผ้าไหม เปรียบได้เหมือนสื่อสะท้อนให้เห็นพระมหากรุณาธิคุณที่สมเด็จพระนางเจ้าสิริกิติ์ พระบรมราชินีนาถ มีต่อราษฎร และเกษตรกรผู้ปลูกหม่อนเลี้ยงไหม ให้สามารถช่วยเหลือตัวเอง และมีการงานอาชีพที่มั่นคง มีชีวิตความเป็นอยู่ที่ดีขึ้นจากอาชีพปลูกหม่อนเลี้ยงไหม การทอผ้าไหม และการขายผ้าไหม
ภาพที่ 1 : คณะกรรมการหม่อนไหมระหว่างประเทศ (International Sericultural Commission)
ขอพระราชทานพระบรมราชานุญาตทูลเกล้าฯ ถวายรางวัลหลุยส์ปาสเตอร์
ที่มา : http://qsds.go.th/newqsds/file_show/qts6.pdf
พระมารดาแห่งไหมไทย
ด้วยพระอัจฉริยภาพ พระปรีชาสามารถทางศิลปศาสตร์ และสายพระเนตรอันยาวไกล ในการศึกษาพัฒนาหม่อนไหมในไทย และต่างประเทศด้วยพระองค์เอง เพื่อมุ่งวังให้ผ้าไหมไทยเป็นเอกลักษณ์อันทรงคุณค่าให้กับแผ่นดินไทย ผ้าไหมไทยจึงชื่อเสียงแพร่หลายเป็นที่รู้จัก และยอมรับของนานาประเทศ พระราชกรณียกิจที่ทรงทุ่มเทเพื่อปวงชนชาวไทย อันเป็นคุณประโยชน์ต่อประเทศชาติ และราษฎรอย่างหาสุดมิได้ เพื่อน้อมรำรึกถึงพระมหากรุณาธิคุณ ปวงชนชาวไทย โดยกรมหม่อนไหม กระทรวงเกษตรและสหกรณ์ จึงได้ถวายพระราชสมัญญา “พระมารดาแห่งไหมไทย” แด่สมเด็จพระนางเจ้าสิริกิติ์ พระบรมราชินีนาถ ประกาศพระเกียรติคุณให้พสกนิกรชาวไทยและนานาประเทศได้รับทราบ และจารึกไว้ในประวัติศาสตร์ชาติไทยสืบไป โดยได้ประกาศในราชกิจจานุเบกษา เมื่อวันที่ 21 สิงหาคม พ.ศ. 2555
ต้นแบบการแต่งกายชุดไทย
สมเด็จพระนางเจ้าสิริกิติ์ พระบรมราชินีนาถ ทรงเป็นผู้ที่มีบทบาทสําคัญต่อวงการหม่อนไหมไทย โดยฉลองพระองค์ของพระนางเจ้าสิริกิติ์ พระบรมราชินีนาถ ล้วนผลิตมาจากผ้าไหมทั้งสิ้น ในขณะที่เสด็จฯ เยือนต่างประเทศ ทรงโปรดการใช้ผ้าไหมไทยทำฉลองพระองค์ทั้งแบบไทย และแบบสากล ทำให้ชุดไทยกลายเป็นกระแสนิยมกันอย่างแพร่หลายมากยิ่งขึ้น ทรงเป็นเหมือนตัวแทนของสตรีไทยที่ทรงนำความงดงาม และเอกลักษณ์ของผ้าไหมไทยให้เป็นที่รู้จัก ผ้าไหมไทยจึงได้รับการเผยแพร่จนเป็นที่รู้จักกันอย่างแพร่หลายทั้งในและต่างประเทศ นับเป็นความภาคภูมิใจให้กับคนไทยทั้งชาติ
ภาพที่ 2 : เหรียญรางวัล Louis Pasteur
ที่มา : http://qsds.go.th/newqsds/file_show/qts6.pdf
ทูลเกล้าฯ ถวายรางวัล Louis Pasteur
เพื่อเทิดพระเกียรติพระวิริยะอุตสาหะของสมเด็จพระนางเจ้าสิริกิติ์ พระบรมราชินีนาถ ในพระราชกรณียกิจด้านการอนุรักษ์และพัฒนาการผลิตไหมไทยจนเป็นที่รู้จักของทั่วโลก รวมทั้งช่วยให้ราษฎรผู้ผลิตไหมไทยมีความเป็นอยู่ที่ดีขึ้น จากการส่งเสริมและสนับสนุนให้เกษตรกรมีอาชีพปลูกหม่อนเลี้ยงไหม ตลอดจนส่งเสริมการทอผ้าไหมลายต่าง ๆ รวมถึงทรงเป็นผู้นําเสนอเอกลักษณ์ของผ้าไหมไทย คณะกรรมาธิการหม่อนไหมระหว่างประเทศ International Sericultural Commission (ISC) ซึ่งเป็นองค์กรเกี่ยวกับการพัฒนาหม่อนไหมระดับโลก จึงได้ขอพระราชทานพระบรมราชานุญาตทูลเกล้าฯ ถวายรางวัล หลุยส์ ปาสเตอร์ แด่สมเด็จพระนางเจ้าสิริกิติ์ พระบรมราชินีนาถ ในปี พ.ศ. 2545
แหล่งที่มา
ปวงประชา แซ่ซ้องพระเกียรติคุณ.(ออนไลน์).สืบค้นเมื่อวันที่ 22 กรกฎาคม 2560.จาก http://qsds.go.th/newqsds/file_show/qts6.pdf.
ประกาศสํานักนายกรัฐมนตรี เรื่อง การถวายพระราชสมัญญา “พระมารดาแห่งไหมไทย”.สืบค้นเมื่อวันที่ 22 กรกฎาคม 2560.จาก http://www.ratchakitcha.soc.go.th/DATA/PDF/2555/E/130/22.PDF.
พระมารดาแห่งไหมไทย.สืบค้นเมื่อวันที่ 22 กรกฎาคม 2560.จาก https://library.stou.ac.th/odi/queen-of-silk-2014/index.html.
-
7380 สมเด็จพระนางเจ้าสิริกิติ์ พระบรมราชินีนาถ กับรางวัลหลุยส์ ปาสเตอร์ /other-article/item/7380-2017-07-20-07-18-07เพิ่มในรายการโปรด