รักวัวให้ผูก รักลูกให้อยู่กับธรรมชาติ
ธรรมชาติของคนเป็นพ่อเป็นแม่ ก็คงอดไม่ได้ใช่ไหม ที่จะเห็นลูกรักในวัยเตาะแตะเปรอะเปื้อนมอมแมม อย่าเครียดหรือหงุดหงิดใจไปเลย วันนี้มีข้อแนะนำ ว่าทำไมเราควรปล่อยให้ลูก ๆ อยู่กับธรรมชาติบ้าง
ทุกวันนี้เราอาจพบข้อแตกต่างจากการสังเกตได้ว่า เด็กที่เติบโตมาจากสังคมต่างจังหวัด กับเด็กที่เติบโตในสังคมเมืองมีสุขภาพกายและจิตใจที่แตกต่างกัน เด็กในสังคมเมืองค่อนข้างที่จะอ่อนแอ เป็นโรคภัยไข้เจ็บได้ง่ายกว่า มีภูมิคุ้มกันในร่างกายน้อยกว่าเด็กที่เติบโตในสังคมต่างจังหวัด เช่นเดียวกัน ในเรื่องของสุขภาพจิต เด็กในสังคมเมืองค่อนข้างที่จะมีความเคร่งเครียดทางด้านอารมณ์มากกว่าเด็กที่อยู่ในสังคมต่างจังหวัด ก็มีข้อน่าสงสัยว่าเด็กในสังคมเมืองมักเป็นเด็กที่สุขภาพกายและสุขภาพจิตอ่อนแอกว่าเด็กในสังคมต่างจังหวัด
ภาพที่ 1 เด็กเล่นกองทราย
ที่มา https://pixabay.com
มีการกล่าวถึง โรคหรือภาวะหนึ่งที่เรียกว่า ภาวะขาดธรรมชาติ หรือ Nature deficit disorder แต่ก็ยังไม่มีการบัญญัติไว้ว่าเป็นโรคชัดเจนทางการแพทย์ เพียงแต่เป็นบทความหนึ่งเขียนอธิบายถึงภาวะนี้ให้เป็นตัวอย่างและแนวทางป้องกันในหนังสือของ Richard Louv เรื่อง Last child in the woods ในปี 2005 โดยเขียนอธิบายถึงเด็กกลุ่มหนึ่งที่ไม่ค่อยใช้เวลากับกิจกรรมนอกบ้านไปสัมผัสธรรมชาติ ซึ่งเด็กกลุ่มนี้พบว่ามีปัญหาสุภาพ ตัวอย่างที่มีรายงานพบคือ โรคภูมิแพ้ ทางด้านสุขภาพจิตใจก็เช่นเดียวกัน พบว่ามีปัญหาโรคภาวะซึมเศร้า เป็นต้น
สภาวะทางด้านร่างกาย
สังเกตง่าย ๆ จาก เด็กในสังคมเมืองส่วนใหญ่อยู่ในสภาะวะสิ่งแวดล้อมที่สะอาดมากเกินไป อยู่แต่ในพื้นที่สะอาดบ่อย ๆ เด็กจะมีปัญหาสุขภาพ เพราะไม่เคยพบเจอกับเชื้อโรคเลย ทำให้ร่างกายไม่มีภูมิป้องกันเชื้อโรคนั่นเอง มีงานวิจัยที่แนะนำว่าควรให้เด็กได้สัมผัสกับธรรมชาติบ้าง เพราะธรรมชาติมีจุลินทรีย์ช่วยเรื่องระบบภูมิคุ้มกันของร่างกาย
มาร์ค แมคมอริส กุมารแพทย์จาก University of Michigan Health System กล่าวไว้ว่า เราทำให้ชีวิตประจำวันของเราสะอาดขึ้น ระบบภูมิคุ้มกันในร่างกายเราจึงไม่ต้องจัดการกับเชื้อโรคมากนัก ซึ่งก็ทำให้ระบบภูมิคุ้มกันของเราหันกลับมาทำให้เราเกิดโรคภูมิแพ้แทน โดยระบบภูมิคุ้มกันในร่างกายเรามีหน้าที่ง่าย ๆ ก็คือการต่อสู้กับเชื้อโรคต่าง ๆ เช่น แบคทีเรีย ไวรัส หรือ ปรสิตต่าง ๆ รวมถึงการทำปฏิกิริยากับสิ่งแปลกปลอมต่าง ๆ ทำให้เราเกิดอาการแพ้
ระบบภูมิคุ้มกันของร่างกายจะจดจำสิ่งแปลกปลอมที่จะทำร้ายร่างกายเรา โรคภูมิแพ้เป็นภาวะที่ภูมิของร่างกายมีปฏิกิริยากับโปรตีนหรือสารก่อภูมิแพ้ allergen จากสิ่งแวดล้อมซึ่งปกติจะไม่มีอันตรายสำหรับผู้ที่ไม่แพ้ ปฏิกิริยานี้เริ่มเมื่อเราได้รับสารก่อภูมิแพ้ก็จะเกิดการสร้างภูมิที่เรียกว่า IgE antibody ตัว antibody นี้จะกระตุ้น Mast cell ให้มีการหลั่งสาร Histamin ขึ้นที่เนื้อเยื่อต่าง เช่น ผิวหนัง ปอด จมูก ลำไส้ ทำให้เกิดการอักเสบของอวัยวะต่างๆ อาการแสดงจะเกิดตามอวัยวะต่าง ๆ นั่นก็หมายถึงร่างการมีปฏิกิริยาในการต่อต้านเชื้อโรคนั่นเอง
การที่เด็กเล็ก ๆ มีโอกาสสัมผัสกับเชื้อโรคต่าง ๆ น้อยลง ทำให้ปัจจุบันกลายเป็นว่าเด็ก ๆ เป็นภูมิแพ้มากขึ้น และกลายเป็นสภาวะการถ่ายทอดทางพันธุกรรม เพราะเมื่อต่อมากลายเป็นรุ่นพ่อรุ่นแม่ ก็อาจจะให้กำเนิดเด็กที่เป็นโรคภูมิแพ้ต่อไปอีก ทำให้ในปัจจุบันมีคนเป็นโรคภูมิแพ้เป็นจำนวนมาก
คงไม่ต้องถึงกับให้ลูกๆ ของเราไปเสี่ยงหรือสัมผัสกับเชื้อโรคโดยตรง แต่ควรจะให้ได้สัมผัสกับเชื้อโรคที่ไม่ร้ายแรงนัก ทำให้ระบบภูมิคุ้มกันได้ทำงานตามความเหมาะสม ให้เด็กได้โดนแดดโดนลมซะบ้างครับ จะได้มีภูมิต้านทานที่แข็งแรง
สภาวะทางด้านจิตใจ
จากสภาพแวดล้อมที่อยู่กับอุปกรณ์อิเล็กทรอนิกส์หรือของเล่นทางวัตถุต่าง ๆ ที่มีผลกระทบต่อภาวะทางอารมณ์ หรือแม้กระทั่งการคร่ำเคร่งกับการเรียนมากเกินไป เช่น การเรียนพิเศษ การทำกิจกรรมตามที่พ่อแม่ส่งให้ทำ ทำให้เกิดภาวะปัญหาทางอารมณ์พฤติกรรมมากกว่าเด็กในต่างจังหวัด หากร่างกายของคนเราไม่เจอกับเชื้อโรคเลย จะทำให้สมองผลิตสารความสุข Serotonin น้อยลง จนอาจกลายเป็นโรคซึมเศร้าได้
คำแนะนำสำหรับพ่อแม่
การปล่อยให้ลูกได้เล่นนอกบ้านบ้าง ได้สัมผัสธรรมชาติจะทำให้เขามีจิตใจที่ละเอียดอ่อนและอ่อนโยนทำให้เข้าใจคนรอบข้างได้มากขึ้น และการอยู่ในพื้นที่แคบ ๆ แต่ปลอดภัย อาจทำให้ลูกเจ็บป่วยได้ง่ายเพราะร่างกายไม่เคยได้รับเชื้อโรค ซึ่งในบางครั้ง การได้รับเชื้อโรคในครั้งแรกก็มีผลดี เพราะจะช่วยให้ลูกมีภูมิคุ้มกันที่ดีต่อร่างกาย เติบโตไปก็จะลดการเป็นโรคร้าย ทั้งนี้ ก็คงไม่ได้ขึ้นอยู่กับว่าอยู่ในสังคมเมืองหรือต่างจังหวัดซะทีเดียว แค่เป็นเพียงองค์ประกอบเล็ก ๆ เท่านั้น แต่ที่น่าเป็นห่วง คือการเลี้ยงดูจากพ่อแม่มากกว่า
แหล่งที่มา
ตุลยา แสงเพ็ญ. อนามัยจัดระวังลูกเป็นโรค ปล่อยลูกให้เปรอะเปื้อนบ้าง. สืบค้นเมื่อ สืบค้นเมื่อ 23 สิงหาคม 2560, จาก
https://th.theasianparent.com/อนามัยจัดระวังลูกเป็นโรค-ปล่อยลูกให้เปรอะเปื้อนบ้าง
(2559,16 กันยายน). โรคขาดธรรมชาติ. สืบค้นเมื่อ 23 สิงหาคม 2560, จาก
https://www.facebook.com/kendekthai/posts/1167463833292801:0
University of Michigan Health System. (2007, 9). The Hygiene Hypothesis: Are Cleanlier Lifestyles Causing More Allergies For Kids?.
Retrieved October 5, 2017,
from https://www.sciencedaily.com/releases/2007/09/070905174501.htm
โรคภูมิแพ้ Allergy. สืบค้นเมื่อ 7 ตุลาคม 2560, จาก
https://www.siamhealth.net/public_html/index0/allindex.htm
-
7460 รักวัวให้ผูก รักลูกให้อยู่กับธรรมชาติ /other-article/item/7460-2017-09-08-01-56-17เพิ่มในรายการโปรด