รู้ไว้ ทำความเข้าใจให้ดี PrEP (เพร็ป) และ PEP (เป๊ป)
ในไม่กี่ปีที่ผ่านมา เราคงเคยได้ยินกันมาบ้างเกี่ยวกับแนวทางการป้องกันการติดเชื้อ HIV ทั่วโลกรวมถึงประเทศไทย ต่างก็ให้ความสำคัญและมีการหาแนวทางป้องกันไม่ให้มีผู้ติดเชื้อรายใหม่
ภาพที่ 1 PrEP และ PEP
ที่มา https://thevillagepharmacy.ca
จากแนวโน้มที่มีแต่จะมากขึ้นของผู้ติดเชื้อรายใหม่ ซึ่งบ่งบอกให้เห็นว่าในอนาคตการติดเชื้อจะเพิ่มสูงขึ้นอย่างแน่นอน การป้องกันก่อนการสัมผัสเชื้อและติดเชื้อจึงเป็นวิธีการลดจำนวนผู้ติดเชื้อรายใหม่ ที่ดีที่สุด
ปัจจุบันในประเทศไทย มีการใช้ยาเพื่อป้องกันการติดเชื้อ HIV โดยหลังจากที่องค์การอนามัยโลกแนะนำให้ประเทศสมาชิกจ่ายยาต้านไวรัสให้กับกลุ่มเสี่ยงที่มีอัตราการติดเชื้อรายใหม่ โดยเฉพาะกลุ่มชายรักชายและสาวประเภทสอง
การใช้ยาต้านไวรัสเพื่อป้องกันการติดเชื้อ HIV ในประเทศไทย มีแนวทางดังนี้
PrEP
PrEP (Pre-Exposure Prophylaxis) อ่านว่า เพร็ป เป็นยาต้านไวรัสสำหรับผู้ที่ยังไม่ติดเชื้อ HIV เพื่อป้องกันการติดเชื้อ เหมาะสำหรับกลุ่มผู้ที่อยู่ในภาวะสุ่มเสี่ยง เช่น มีเพศสัมพันธ์โดยไม่ได้ใช้ถุงยางอนามัยทุกครั้ง หรือมีคู่สัมพันธ์ที่มีเชื้อ HIV
เพร็ป เป็นการให้ยา 2 ตัว ร่วมกันก่อนการสัมผัสเชื้อ คือ ยาทีโนโฟเวียร์ (TDF) ให้ร่วมกับเอมทริซิตาบีน (FTC) สามารถป้องกันการติดเชื้อ HIV ได้ร้อยละ 92 ซึ่งจะมีประสิทธิภาพมากน้อยแค่ไหนขึ้นอยู่กับการทานยา โดยมีข้อกำหนดการใช้ยาคือ ทานทุกวัน โดยยาที่แนะนำให้ใช้ในปัจจุบันคือ Tenofovir 300 มิลลกรัม Emtricitabine 200 มิลลิกรัม ครั้งละ 1 เม็ด วันละ 1 ครั้ง ทั้งนี้มีข้อสำคัญว่า ผู้ใช้ยาจะต้องเป็นบุคคลที่ไม่มีเชื้อ HIV มาก่อนเท่านั้น ดังนั้น ก่อนการใช้ยาจะต้องเข้ารับการตรวจเชื้อ HIV ในขั้นตอนแรกของการรับบริการก่อน นอกจากนี้ยังต้องตรวจสภาพร่างกายและการทำงานของตับและไต ว่าปรกติหรือไม่ เพราะมีผลข้างเคียงต่อตับและไตอยู่บ้างเหมือนกัน สำหรับการใช้ยาตัวนี้
ทั้งนี้จำเป็นต้องเรียนรู้และป้องกันการติดเชื่อร่วมไปกับวิธีอื่น ๆ ไปด้วย เช่น การใช้ถุงยางทุกครั้งที่มีเพศสัมพันธ์ การตรวจเลือดอย่างสม่ำเสมอ แนะนำว่าทุก ๆ 3 เดือน และการลดจำนวนคู่นอน เป็นต้น
PEP
PEP (Post -Exposure Prophylaxis) อ่านว่า เป๊ป เป็นยาต้านไวรัสสำหรับผู้ที่ยังไม่ติดเชื้อ HIV แต่พึ่งไปสัมผัสหรือรับเชื้อ HIV มา เราอาจเรียกได้ว่า ยาเป๊ปเป็นยาฉุกเฉิน โดยจำเป็นต้องกินยาให้เร็วที่สุดภายหลังการสัมผัสเชื้อ ภายในเวลา 72 ชั่วโมง จากภาวะเสี่ยงต่าง ๆ อาทิมีเพศสัมพันธ์โดยไม่ป้องกัน
PEP ประกอบด้วยยาต้านไวรัสประมาณ 3ชนิด ที่ทำงานโดยช่วยยับยั้งการแบ่งตัวของสารพันธุกรรมในเชื้อ และยับยั้งการกลายเป็นตัวไวรัสที่สมบูรณ์ ซึ่งจะทำให้ร่างกายสร้างระบบภูมิคุ้มกันในการป้องกันก่อนจะแพร่กระจายในร่างกายได้ การรับประทานยาชนิดนี้ จำเป็นต้องทานอย่างต่อเนื่องเป็นเวลาหนึ่งเดือน และต้องทานยาต้านไวรัสเหมือนกับผู้ติดเชื้อ HIV ประกอบกันไปอีก 2-3 ชนิด ทั้งนี้อาจมีผลข้างเคียงโดยเกิดอาการท้องเสีย ปวดหัว คลื่นไส้ อาเจียน โดยจำเป็นต้องอยู่ในการดูแลและควบคุมโดยแพทย์
สรุปก็คือ PrEP (เพร็ป) และ PEP (เป๊ป) มีข้อจำแนกอย่างชัดเจนดังนี้
- PrEP คือยาป้องกันก่อนการเสี่ยงในการได้รับหรือสัมผัสเชื้อ HIV
- PEP คือยาฉุกเฉินที่ต้องทานหลังการเสี่ยงการได้รับหรือสัมผัสเชื้อ HIV ภายในเวลา 72 ชั่วโมง
การป้องกันการมีผู้ติดเชื้อรายใหม่ โดยการใช้ PrEP (เพร็ป) และ PEP (เป๊ป) อย่างถูกต้องตามคำแนะนำของแพทย์ จะช่วยลดความเสี่ยงในการรับเชื้อ HIV ได้จริง ดังจะเห็นได้จาก แนวทางการรักษาและป้องกันการติดเชื้อ HIV ของสถาบันที่เป็นที่ยอมรับทั่วโลก ซึ่งนำไปสู่การลดการระบาดของโรคเอดส์ได้อย่างได้ผลในอนาคตนั่นเอง
แหล่งที่มา
ยาต้านไวรัสเอชไอวีเพื่อป้องกัน (ยาเพร็พ-ยาเป๊ป). สืบค้นเมื่อ 18 ตุลาคม 2560, จาก
http://adamslove.org/d.php?id=72
PEP (เป๊ป). สืบค้นเมื่อ 18 ตุลาคม 2560, จาก
http://www.lovefoundation.or.th/th/pep-post-exposure-prophylaxis#prep
วันทนีย์ โลหะประกิตกุล (2559, 2 สิงหาคม). “เพร็พ” และ “เป็ป” ก็ต้านเอดส์เหมือนกัน. สืบค้นเมื่อ 18 ตุลาคม 2560, จาก
http://haamor.com/th/เพร็พและเป็ปก็ต้านเอดส์เหมือนกัน-2
-
7738 รู้ไว้ ทำความเข้าใจให้ดี PrEP (เพร็ป) และ PEP (เป๊ป) /other-article/item/7738-pep-prepเพิ่มในรายการโปรด