โรนัลด์ รอส ผู้ค้นพบพาหะโรคมาลาเรีย
เชื่อว่าหลายคนคงทราบกันดีว่า ยุงเป็นพาหะนำมาซึ่งโรคติดต่อร้ายแรงที่ชื่อว่า โรคมาลาเรีย หรือโรคไข้จับสั่น ก่อนหน้านี้เรายังไม่ทราบว่าโรคมาลาเรียนี้มีสาเหตุการเกิดมาจากอะไร จึงทำให้แนวทางป้องกันและรักษาเป็นไปได้ยากและทำให้โรคนี้คร่าชีวิตผู้คนไปเป็นมากมาย จนกระทั่ง “โรนัลด์ รอส” (Ronald Ross) แพทย์ลูกครึ่งชาวอังกฤษและอินเดีย ได้ค้นพบพาหะของเชื้อมาลาเรียได้เป็นผลสำเร็จ จนได้รับการยกย่องเป็น “เซอร์ โรนัลด์ รอส” (Sir Ronald Ross) และยังได้รับ รางวัลโนเบล สาขาการแพทย์และสรีระวิทยาในปี ค.ศ. 1902 (พ.ศ. 2445) เรามาทำความรู้จักกับประวัติของเขาและผลงานอันเลื่องชื่อนี้กันดีกว่า
โรนัลด์ รอส (Ronald Ross) เกิดเมื่อวันที่ 13 พฤษภาคม ค.ศ. 1875 ณ เมืองอัลมอรา ประเทศอินเดีย เขาสำเร็จการศึกษาด้านแพทยศาสตร์จากโรงพยาบาลเซนต์บาร์โธโลมิวในกรุงลอนดอน หลังจากสำเร็จการศึกษาแล้ว รอสได้กลับไปประเทศอินเดียซึ่งเป็นบ้านเกิดของเขาเองเพื่อเป็นแพทย์ประจำอยู่ที่นั่น และที่นี่เองซึ่งเป็นสถานที่เกิดโรคมาลาเรียกำลังระบาดอย่างรุนแรง มีผู้ป่วยที่เสียชีวิตเป็นจำนวนมาก และยังไม่มีวิธีการใดสามารถรักษาให้หายขาดได้ รอสจึงเกิดความสนใจที่จะศึกษาหาที่มาของโรคมาลาเรียนี้เพื่อหาวิธีการักษาและป้องกันนั่นเอง
ภาพที่ 1 Ronald Ross
ที่มา https://th.wikipedia.org/wiki/โรนัลด์_รอสส์#/media/File:Ronald_Ross.jpg
ก่อนหน้านี้ โรคมาลาเรียมีการศึกษาเพื่อหาแนวทางการรักษาและสืบหาสาเหตุมาก่อนหน้าในระดับหนึ่ง โดยนายแพทย์ชารลส์ เลฟวแรน (Charles Leveran ) ผู้ซึ่งค้นพบว่าเชื้อพลาสโมเดียม (plasmodium) คือเชื้อโปรโตซัวที่ทำให้เกิดโรคมาลาเรีย แต่ก็ได้เพียงเท่านั้น เพราะยังไม่สามารถหาสาเหตุที่มาได้ว่า เชื้อชนิดนี้แพร่เข้ามาสู่คนได้อย่างไร รอสจึงได้ทำการศึกษาโรคมาลาเรียนี้อย่างจริงจัง โดยได้รับคำแนะนำและเป็นที่ปรึกษาจากแพทริค แมนสัน (Patrick Manson) นักพยาธิวิทยาผู้ได้รับการขนานนามว่า บิดาแห่งยารักษาโรค และยังเป็นผู้ค้นพบพาหะของโรคเท้าช้าง (Elephantiasis)
ภาพที่ 2 ยุงก้นปล่อง พาหะโรคมาลาเรีย
ที่มา https://www.matichon.co.th/region/news_932479
แมนสัน เป็นผู้ชี้ข้อสงสัยที่ว่า “ยุง” อาจเป็นพาหะนำโรคมาลาเรีย จึงเป็นผลทำให้รอสได้เริ่มทำการวิจัยทดลองเพื่อแสวงหาคำตอบของข้อสงสัยที่ว่า “ยุง” เป็นพาหะของโรคมาลาเรียหรือไม่ ? การทดลองนี้เริ่มจากการนำยุงไปกัดคนเป็นโรคมาลาเรีย และนำยุงตัวนั้นไปกัดคนปกติที่ไม่ได้ป่วยแต่อย่างใด ด้วยสมติฐานที่ว่าคนที่โดนยุงตัวนั้นกัดจะต้องเป็นโรคมาลาเรียอย่างแน่นอน แต่ผลการทดลองกลับออกมาว่า คนผู้นั้นก็ไม่ได้ป่วยเป็นโรคมาลาเรียแต่อย่างใด
รอสยังดำเนินการทดลองต่อไปอย่างต่อเนื่อง แต่ในช่วงต่อมาได้มีการเปลี่ยนแผนการทดลอง โดยศึกษายุงแต่ละชนิดอย่างละเอียดจนในที่สุดก็พบว่าเชื้อมาลาเรียเป็นเชื้อที่มีอยู่ในมีในต่อมน้ำลายของยุง และเป็นยุงก้นปล้องเท่านั้น และยังได้ข้อมูลที่ลึกไปกว่านั้นก็คือ เป็นยุงก้นปล่องตัวเมียเท่านั้นอีกด้วย จากเหตุผลที่ว่ายุงก้นปล่องตัวเมียต้องการเลือดจากคนหรือสัตว์อื่นเพื่อการดำรงชีวิต เนื่องจากภายในเลือดจะมีโปรตีนที่มันต้องการใช้ในการวางไข่ ส่วนยุงตัวผู้โดยปกติต้องการน้ำหวานจากดอกไม้และผลไม้เพื่อการดำรงชีวิตเท่านั้น นั้นหากเมื่อยุงก้นปล่องตัวเมียที่มีเชื้อมาลาเรียมากัดคน คนจะได้รับเชื้อทำให้เป็นโรคมาลาเรียได้ทันที โดยจะปล่อยเชื้อตัวอ่อนซึ่งเป็นระยะติดต่อเข้าสู่เลือดคน เรียกว่า สปอโรซอยต์ (sporozoite) เชื้อนี้จะเข้าสู่เซลล์ตับและมีการแบ่งตัวอย่างรวดเร็ว เรียกว่า เมอโรซอยต์ (merozoite) หลังจากนั้นเมอโรซอยด์จำนวนมากก็จะบุกเข้ากระแสเลือดเพื่อทำลายเซลล์เม็ดเลือดแดงของคนจนกระทั่งเซลล์เม็ดเลือดแดงแตกออก ซึ่งตอนนี้เองจะทำให้เกิดอาการไข้จับสั่นนั่นเอง
แหล่งที่มา
โรนัลด์ รอสส์. สืบค้นเมื่อ 22 เมษายน 2561, จาก
http://th.wikipedia.org/wiki/โรนัลด์_รอสส์
มาลาเรีย. สืบค้นเมื่อ 22 เมษายน 2561, จาก
http://th.wikipedia.org/wiki/มาลาเรีย
มาลาเรีย : โรคที่คนไทยควรทำความรู้จักให้ดี. สืบค้นเมื่อ 22 เมษายน 2561, จาก
http://www.sc.mahidol.ac.th/usr/?p=51
พิชาติ อุปรานุเคราะห์. สืบค้นเมื่อ 22 เมษายน 2561, จาก
www.medicine.cmu.ac.th/dept/parasite/WEBTHAI/StudentSheets/331Lecture/NewPdf/เอกสารสอน331/07.พิชาติ-สปอฺโรซัว-แก้ไข.pdf
สำนักโรคติดต่อนำโดยแมลง กรมควบคุมโรค กระทรวงสาธารณสุข. สืบค้นเมื่อ 22 เมษายน 2561, จาก
http://www.karunvej.com/pathumthani/en/site/health_articles/detail/62
โรคจากสัตว์เซลล์เดียว. สืบค้นเมื่อ 22 เมษายน 2561, จาก
http://kanchanapisek.or.th/kp6/sub/book/book.php?book=10&chap=2&page=t10-2-infodetail17.html
-
8402 โรนัลด์ รอส ผู้ค้นพบพาหะโรคมาลาเรีย /other-article/item/8402-2018-06-01-02-55-14เพิ่มในรายการโปรด