สิทธิบัตร สิทธิ์ที่นักประดิษฐ์ต้องรู้
หลายปีที่ผ่านมานี้ หลายคนคงเคยได้เห็นข่าวการฟ้องร้องเรื่องการละเมิดสิทธิบัตรของกันและกันระหว่างบริษัทชั้นนำแนวหน้าของโลกด้านการผลิตอุปกรณ์สื่อสารทั้ง 2 ค่าย ไม่ต้องเอ่ยชื่อก็คงพอจะเดากันได้ ซึ่งต่างก็มีข้อพิพาทฟ้องร้องกันอยู่เรื่อย ๆ เราเองก็คงจะไม่พูดถึงคดี แต่สิ่งที่จะนำมาฝากกันวันนี้ก็คือความรู้เรื่องของสิทธิบัตร ว่าคืออะไร มีความสำคัญอย่างไรบ้าง ทั้งนี้ก็อยากให้ผู้อ่านศึกษาข้อมูลเบื้องต้นกันเอาไว้เพื่อเป็นประโยชน์ในอนาคต เพราะเรื่องนี้ไม่ใช่เรื่องไม่สำคัญ แต่เป็นเรื่องที่สำคัญมากที่ควรเรียนรู้เอาไว้
ภาพที่ 1 สิทธิบัตร
ที่มา http://creative-commons-images.com/handwriting/p/patent.html
ก่อนอื่นอยากให้ทุกคนทำความเข้าใจก่อนว่าจริง ๆ แล้ว สิทธิบัตรเป็นประเภทหนึ่งของทรัพย์สินทางปัญญา เพื่อให้เห็นภาพที่ชัดเจน สามารถดูภาพที่ 2 ประกอบ จะทำให้เข้าใจมากขึ้น ทั้งนี้คงไม่อธิบายในเชิงลึกเกี่ยวกับทรัพย์สินทางปัญญาไว้ทั้งหมด แต่สามารถอ่านเพิ่มเติมทั้งหมดได้ตามแหล่งทีมาที่ให้ไว้
ในทางสากลกำหนดทรัพย์สินทางปัญญาแบ่งออกเป็น 2 ประเภท ได้แก่ ทรัพย์สินทางอุตสาหกรรม (Industrial Property) และลิขสิทธิ์ (Copyright) ซึ่งสิทธิบัตรนั้นเป็นประเภทหนึ่งของทรัพย์สินทางอุตสาหกรรม (Industrial Property)
ภาพที่ 2 แผนภูมิทรัพย์สินทางปัญญา
ที่มา http://www.am.mahidol.ac.th/web/images/documents/Research department/Manual/11 Introduction to Intellectual Property.pdf
สิทธิบัตร (Patent) คืออะไร
กรมทรัพย์สินทางปัญญา กระทรวงพาณิชย์ ให้คำจำกัดความของสิทธิบัตรไว้สั้น ๆ ว่า สิทธิบัตร คือ หนังสือสำคัญที่ออกให้เพื่อคุ้มครองการประดิษฐ์ ทั้งนี้ขออธิบายขยายให้ชัดเจนขึ้นมาอีกขั้นก็คือ หนังสือสำคัญที่รัฐออกให้เพื่อคุ้มครองการประดิษฐ์ การออกแบบผลิตภัณฑ์ให้ผู้ทรงสิทธิบัตร มีสิทธิเด็ดขาดแต่เพียงผู้เดียวในการแสวงหาผลประโยชน์จากสิ่งประดิษฐ์หรือการออกแบบผลิตภัณฑ์ที่ได้รับสิทธิบัตรนั้น ภายในช่วงเวลาหนึ่ง ตามที่กฎหมายกำหนดเท่านั้น
ทั้งนี้ตามที่กฎหมายกำหนดในที่นี้ก็คือ ระเบียบว่าด้วยสิทธิบัตร พ.ศ. 2522 ซึ่งมีข้อกำหนด รูปแบบหรือประเภทของสิทธิบัตรตาม พ.ร.บ. สิทธิบัตร ซึ่งมีอยู่ 3 ประเภท คือ
1. สิทธิบัตรการประดิษฐ์ หมายถึง ความคิดสร้างสรรค์เกี่ยวกับลักษณะองค์ประกอบโครงสร้างหรือกลไกของผลิตภัณฑ์ รวมทั้งกรรมวิธีในการผลิต การเก็บรักษา หรือการปรับปรุงคุณภาพของผลิตภัณฑ์ให้ดีขึ้น หรือทำให้เกิดผลิตภัณฑ์ใหม่ที่แตกต่างไปจากเดิม
2. สิทธิบัตรการออกแบบผลิตภัณฑ์ หมายถึง ความคิดสร้างสรรค์เกี่ยวกับรูปร่างลักษณะภายนอกของผลิตภัณฑ์ องค์ประกอบของลวดลาย หรือสีของผลิตภัณฑ์ ซึ่งสามารถใช้เป็นแบบสำหรับการผลิตเชิงอุตสาหกรรม รวมทั้งหัตถกรรมได้
3. อนุสิทธิบัตร (Petty patent) เป็นการให้ความคุ้มครองสิ่งประดิษฐ์คิดค้น เช่นเดียวกับสิทธิบัตรการประดิษฐ์ แต่แตกต่างกันตรงที่การประดิษฐ์ที่จะขอรับอนุสิทธิบัตร เป็นการประดิษฐ์ที่มีเป็นการปรับปรุงเพียงเล็กน้อย และมีประโยชน์ใช้สอยมากขึ้น
การจดสิทธิบัตร มีข้อดีอย่างไร
ด้านประชาชน สร้างความเชื่อมั่นให้แก่ภาคประชาชน ที่จะได้รับของดีมีคุณภาพและให้ความปลอดภัย
ด้านเจ้าของสิทธิบัตร ได้รับผลตอบแทนจากสังคม คือ การได้รับความคุ้มครองสิทธิบัตรอันนำมาซึ่งค่าตอบแทนได้
ทั้งหมดที่กล่าวมานี้ก็เป็นเพียงส่วนหนึ่งที่อยากให้อ่านไว้เป็นข้อมูลเบื้องต้น รายละเอียดเกี่ยวกับขั้นตอนการจดสิทธิบัตรสามารถอ่านเพิ่มเติมได้ในแหล่งที่มา
แหล่งที่มา
กรมทรัพย์สินทางปัญญา กระทรวงพาณิชย์. สิทธิบัตรคืออะไร . สืบค้นเมื่อ 23 เมษายน 2561, จาก http://www.ipthailand.go.th/th/patent-001.html
ความรู้เบื้องต้นด้านทรัพย์สินทางปัญญา . สืบค้นเมื่อ 23 เมษายน 2561, จาก http://www.am.mahidol.ac.th/web/images/documents/Research department/Manual/11 Introduction to Intellectual Property.pdf
สิทธิบัตร . สืบค้นเมื่อ 23 เมษายน 2561, จาก http://www.trueinnovationcenter.com/ip_patent.php
สิทธิบัตร . สืบค้นเมื่อ 23 เมษายน 2561, จาก https://th.wikipedia.org/wiki/สิทธิบัตร
-
8484 สิทธิบัตร สิทธิ์ที่นักประดิษฐ์ต้องรู้ /other-article/item/8484-2018-07-18-04-21-20เพิ่มในรายการโปรด