เรียนรู้ เตรียมพร้อมกับสังคมผู้สูงอายุ
กระแสการเปลี่ยนแปลงทางสังคมเป็นกระแสที่ไม่แพ้เรื่องอื่นใดเลย และเรื่องที่จะนำเสนอต่อไปนี้ ก็เป็นเรื่องของการเปลี่ยนแปลงที่ใกล้ตัวพวกเรา ๆ มากเสียด้วย นั่นก็คือ เรื่องของผู้สูงอายุนั่นเอง ทั้งนี้ จากแหล่งรายงานข้อมูลทางด้านสังคมมากมายต่างก็กำลังอยู่ในช่วงการเตรียมความพร้อมกับการช่วงการเปลี่ยนแปลงสำคัญของประเทศไทยคือ การเข้าสู่สังคมผู้สูงอายุ (Aging Society) และสังคมผู้สูงอายุโดยสมบูรณ์ (Aged Society) หรือการก้าวเข้าสู่ยุคจำนวนประชากรผู้สูงอายุที่มีมากกว่าวัยอื่นในประเทศไทยของเรานั่นเอง
ภาพ ผู้สูงอายุ
ที่มา https://pixabay.com/, StockSnap
สังคมผู้สูงอายุ และสังคมผู้สูงอายุโดยสมบูรณ์
ผู้สูงอายุหรือประชากรผู้มีอายุ 60 ปีขึ้นไป ตามข้อมูลนิยามของสหประชาชาติที่กำหนดให้สูงอายุ ประชากรอายุ 60 ปีขึ้นไป เกินร้อยละ 10 หรืออายุ 65 ปีขึ้นไป เกินร้อยละ 7 ของประชากรทั้งหมด ถือว่าประเทศนั้นได้ก้าวเข้าสู่สังคมผู้สูงอายุและจะเป็นสังคมผู้สูงอายุโดยสมบูรณ์ เมื่อมีสัดส่วนเพิ่มขึ้นเป็นร้อยละ 20 และร้อยละ 14 ตามลำดับ ส่วนสังคมผู้สูงอายุระดับสุดยอด จะมีจำนวนประชากรสูงอายุที่มีอายุเกินกว่า 60 ปีขึ้นไปเกิน ร้อยละ 25 ของประชากรทั้งหมด
ซึ่งสถานการณ์ที่จะเกิดขึ้นดังกล่าวอาจเป็นจากนโยบายการลดจำนวนมีบุตรหรือลดภาววะการเจริญพันธ์ หรืออาจเกิดจากอัตราการตายของประชากรที่เพิ่มมากขึ้นอย่างต่อเนืองมากกว่าอัตราการเกิด ซึ่งมีผลทำให้สัดส่วนประชากรสูงอายุมีแนวโน้มเพิ่มมากขึ้น แต่ประเด็นและสาระสำคัญที่เราต้องเตรียมพร้อม หากเกิดสถานการณ์ดังกล่าวขึ้นจริง ซึ่งก็มมีแนวโน้มเป็นไปได้อย่างมากคือ แผนหรือแนวทางสำคัญในการรับมือและดำเนินงานเพื่อคุ้มครอง ส่งเสริม และสนับสนุนสถานภาพ บทบาท และกิจกรรมของผู้สูงอายุ
สถานการณ์และข้อมูลด้านผู้สูงอายุ มักจะมีข้อมูลที่ตรงกับความเป็นจริงที่ว่า ผู้สูงอายุมักมีปัญหาสุขภาพกายและสุขภาพจิต อันเนื่องมาจากการเสื่อมสมรรถภาพตามอายุที่มากขึ้น จึงจำเป็นต้องได้รับการดูแลอย่างใกล้ชิด ทั้งในด้านปัญหาสุขภาพและสภาพแวดล้อมรอบตัวผู้สูงอายุ เนื่องจากสิ่งเหล่านี้ล้วนส่งผลต่อคุณภาพชีวิต บุคคลในครอบครัวมีบทบาทสำคัญในการดูแลผู้สูงอายุ จึงจำเป็นต้องเข้าใจปัญหา เพื่อจะได้ดูแลสุขภาพและสภาพแวดล้อมของผู้สูงอายุอย่างถูกต้องและเหมาะสม
การสร้างคุณค่าให้ผู้สูงอายุเห็นคุณค่าและมีความภาคภูมิใจในตนเอง ซึ่งจะก่อให้เกิดประโยชน์แก่บุคคลใกล้ชิด ตลอดจนชุมชน และสังคมของผู้สูงอายุอีกด้วย ซึ่งประกอบด้วยวิธีการสำคัญดังนี้
1. การสร้างเสริมความรู้และทัศนคติที่ดี ความรู้สึกพึงพอใจต่อการมีชีวิตยืนยาว การสร้างทัศนคติที่ดีต่อการดำรงชีวิตยืนยาว เป็นการสร้างพลังทางกายและใจไปด้วยกัน หากมีความรู้ว่าตนสามารถมีชีวิตที่ยืนยาวได้ด้วยวิธีใด ก็จำทำให้มีความเชื่อมั่นในการเปิดรับแนวทางการมีชีวิตอยู่ เห็นประโยชน์ของการมีชีวิตยืนยาว
2. การแสวงหาความรู้ใหม่และข้อเท็จจริงเรียนรู้โลกและสังคม ควรเปิดโอกาสให้ผู้สูงอายุได้รับการส่งเสริมความรู้ด้านต่าง ๆ จากผู้รู้ ผู้เชี่ยวชาญ หรือจากผู้สูงอายุต้นแบบที่เป็นตัวอย่างที่ดี ทั้งโดยทางตรงและทางอ้อม
- หมั่นกระทำพฤติกรรมซึ่งสนับสนุนต่อการมีชีวิตยืนยาว เมื่อผู้สูงอายุเกิดความรู้สึกพึงพอใจต่อการมีชีวิตยืนยาวแล้ว ผู้สูงอายุน่าจะมีแนวโน้มที่จะหมั่นกระทำพฤติกรรมซึ่งสนับสนุนเจตคติที่ดีต่อการมีชีวิตยืนยาว เช่น การดูแลตนเองให้พร้อมในการพึ่งพาและช่วยเหลือตนเองได้
- การมุ่งมั่นเป็นผู้ให้ที่ดีอย่างต่อเนื่อง ผู้สูงอายุควรมุ่งมั่นเป็นผู้ให้ที่ดีอย่างต่อเนื่องได้ ตัวอย่างเช่น การให้ความรู้ ความคิด ให้แนวทาง ให้คำแนะนำ ให้การปรึกษา ให้ข้อคิดจากการ มีชีวิตยืนยาว ตลอดจนแบ่งปันประสบการณ์ให้แก่ผู้ที่เกี่ยวข้อง
- การปฏิบัติตนเป็นผู้รับที่ดีอยู่เสมอ ผู้สูงอายุควรปฏิบัติตนเป็นผู้รับที่ดีอยู่เสมอ ตัวอย่างเช่น การน้อมรับคำแนะนำความช่วยเหลือจากผู้อื่นได้ด้วยดี เมื่อประสบปัญหาที่เกินกำลังและสติปัญญาของตนเพียงลำพังที่จะแก้ไขได้ โดยไม่อวดดี อวดรู้ อวดหยิ่ง การยอมรับความรู้และประสบการณ์ใหม่ ๆ เพื่อช่วยให้ตนสามารถปรับตัวได้อย่างเท่าทันกับการเปลี่ยนแปลงของโลก
จากที่กล่าวมาทั้งหมดนี้ การดูแลผู้สูงอายุประกอบด้วยการเรียนรู้และความเข้าใจวิธีดูแลที่ถูกต้อง ไม่ใช่เพื่อแค่ผู้สูงอายุในตอนนี้ แต่ก็เพื่อสร้างบรรทัดฐานในอนาคตต่อสังคม และตัวของพวกเราเองไว้ด้วยเช่นกัน
แหล่งที่มา
สังคมผู้สูงอายุโดยสมบูรณ์ (Aged Society). สืบค้นเมื่อ 16 พฤษภาคม 2561. จาก https://fopdev.or.th/สังคมผู้สูงอายุโดยสมบู/
อนุชา ม่วงใหญ่. แนวคิด และวิธีการ เพื่อการดำรงชีวิตอย่างมีคุณค่าของผู้สูงอายุ. สืบค้นเมื่อ 16 พฤษภาคม 2561. จาก http://www.rtna.ac.th/departments/research/data/006.pdf
-
8503 เรียนรู้ เตรียมพร้อมกับสังคมผู้สูงอายุ /other-article/item/8503-2018-07-18-04-49-58เพิ่มในรายการโปรด