รู้จักไหม “ใบยาตีน”
ยาสูบ มีแหล่งกำเนิดตอนกลางของทวีปอเมริกา จากการบันทึกประวัติของยาสูบเกิดขึ้นเมื่อวันที่ 12 ตุลาคม พ.ศ. 2035 เมื่อโคลัมบัส (Christopher Columbus) ขึ้นฝั่งที่ซานซัลวาดอร์ (San Salvador) ในหมู่เกาะอินดีสตะวันตก ได้เห็นชาวพื้นเมืองเอาใบไม้ชนิดหนึ่งมามวน จุดไฟตอนปลายแล้วดูดควัน ซึ่งตามบันทึกได้กล่าวว่า ชาวพื้นเมืองมวนยาสูบด้วยใบข้าวโพด ต่อมาชาวสเปน เรียกยามวนนี้ว่า ซิการา (cigara) และเรียกเพี้ยนกันมาเป็นคำว่า ซิการ์ (cigar) จากหลักฐานและการขุดพ้นซากปรักหักพังของเมืองเก่าของพวกมายา บนคาบสมุทรคาร์เทน (Cartan) ประเทศเม็กซิโก ได้พบกล้องยาสูบสมัยโบราณ ลักษณะตรงโคนสำหรับดูดยา แยกออกเป็นสองง่ามสำหรับอัดเข้าไปในจมูก ด้วยเหตุนี้ที่ชาวอเมริกันโบราณจึงสูบยากันทางจมูก และกล้องชนิดนี้ คนพื้นเมืองเรียกว่า ทาบาโค (tabaco) ซึ่งเป็นต้นกำเนิดของคำว่า โทแบคโค (tobacco)
สำหรับประเทศแรกที่เริ่มปลูกยาสูบในทวีปเอเชีย คือ ประเทศฟิลิปปินส์ จากนั้นจึงแพร่หลายไปยังประเทศอินเดีย ประเทศจีน และประเทศอินโดนีเซีย ตามลำดับ ส่วนคนไทยแต่เดิมเรียกยาสูบเป็นคำกลางๆ ว่า “ยา” และใช้คำว่ายาไปประกอบกับคำอื่น ๆ ที่บอกลักษณะของยาสูบแต่ละประเภท เช่น ยาเส้น ยาฉุน ยาจืด ยามวน เป็นต้น ซึ่งในประเทศไทยแม้จะไม่มีหลักฐานแน่ชัดว่าคนไทยเริ่มการสูบยาเมื่อใด แต่จากหลักฐานที่พบและรวบรวมได้ เช่น กล้องยาสูบในสมัยสุโขทัยก็อาจทำให้เชื่อได้ว่าคนไทยมีวัฒนธรรมที่เกี่ยวข้องกับยาสูบมาประมาณ 700 ปี แต่ถ้าจากหลักฐานทางลายลักษณ์อักษร ก็เชื่อได้ว่าวัฒนธรรมการสูบยาในประเทศไทยมีมานานกว่า 300 ปีแล้ว จากการบันทึกของหมอสอนศาสนาในสมัยกรุงศรีอยุธยา โดยบันทึกไว้ว่าเมื่อเขาเข้ามาในเมืองไทยในสมัยสมเด็จพระนารายณ์มหาราชนั้นพบว่า คนไทยสูบยากันทั่วไป โดยชาวเปอร์เซียเป็นผู้นำเข้ามาและเป็นการสูบยาในลักษณะหั่นใบยา ที่มวนด้วยใบตองหรือใบบัว และมีการสูบจากกล้องหรือเคี้ยวเส้นยาสูบ บางทีก็ป่นเป็นผงสูดเข้าจมูกแบบยานัตถุ์
การเพาะกล้าและปลูกยาสูบสายพันธุ์ที่มักพบในไทย คือพันธุ์เวอร์ยิเนีย (Verginia) ซึ่งเป็นพันธุ์ต่างประเทศมีอยู่ราว 10 สายพันธุ์ แต่ยังมีอีก 4 สายพันธุ์ที่ปลูกในเวลาต่อมาคือ Hickory, White Berley, Maryland และ Joiner โดยสายพันธุ์ที่นำมาทดลองปลูกครั้งแรกได้แก่พันธุ์ Joiner และ White Berley มีหม่อมเจ้าสิทธิพร กฤดากร อธิบดีกรมตรวจกสิกรรม เป็นองค์ประธานในการปลูกต้นแรก เมื่อวันที่ 28 กันยายน พ.ศ. 2476 ในเวลาต่อมาวิชาการด้านยาสูบได้ปฏิบัติติดต่อกันจนจัดตั้งสาขาพืชไร่ คณะผลิตกรรมการเกษตร ตามพระราชบัญญัติสถาบันเทคโนโลยีการเกษตร เมื่อปี พ.ศ. 2518 ด้วย และยังได้เน้นเรื่องยาสูบเป็นสาขาวิชาเอกในช่วงเวลานั้น
ภาพต้นยาสูบที่ใบยาส่วนล่างเริ่มสุกแก (ใบยาตีน)
ที่มา https://pixabay.com, sarangib
ธรรมชาติของยาสูบแตกต่างจากพืชอื่นใบของยาสูบมีสารประกอบไนโตรเจนจนหมู่หนึ่งที่เรียกว่า “แอลคาลอยด์” ซึ่งมีนิโคตินเป็นส่วนใหญ่นิโคตินเป็นองค์ประกอบที่ทำให้เกิดลักษณะเฉพาะตัวของยาสูบ หรืออาจกล่าวได้ว่านิโคตินคือยาสูบ ต้นยาสูบจะผลิตสารนิโคตินที่รากแล้วส่งไปเก็บไว้ที่ใบดังนั้นถ้าต้นยาสูบมีรากมากก็มีแนวโน้มที่จะผลิตสารนิโคตินได้มากตามไปด้วย ใบยาเหล่านี้เมื่อเกิดการเผาไหม้ จะทำให้เกิดสารประกอบต่างๆ อีกจำนวนมากทำให้เกิดกลิ่นสีและรสต่างๆ ความหอม และความฉุน ซึ่งแตกต่างกันไปตามประเภทของยาสูบ ใบยาสูบแต่ละประเภทจะมีปริมาณสารประกอบเคมีทำให้เป็นลักษณะเด่นแตกต่างกันเช่นจากความแตกต่างของปริมาณสารประกอบเป็นเหตุผลหนึ่งที่อุตสาหกรรม ผลิตบุหรี่จำเป็นต้องผสมใบยาประเภทต่าง ๆ เข้าด้วยกันตามสัดส่วน เพื่อให้ได้ทั้งกลิ่นและรสเป็นที่พอใจของผู้สูบ อย่างไรก็ดี ใบยาสูบทุกประเภทหากนำมาสังเคราะห์องค์ประกอบเคมีต่าง ๆ จะได้เหมือนกันหมด เพียงแต่มีปริมาณแตกต่างกันเท่านั้น นอกจากนี้ระดับความแก่สุกของใบยาและตำแหน่งของใบบนลำต้น เช่น ใบยาส่วนยอด ส่วนกลางและส่วนล่าง ก็มีส่วนประกอบทำให้ทางเคมีและคุณสมบัติอื่น ๆ เช่น กลิ่นและรสแตกต่างกันด้วย
กล่าวโดยสรุป ยาสูบ 1 ต้น จะมีใบยาสูบจากใบยาตีนชั้นล่างถึงใบยาบนชั้นใบยายอด (ที่ตอนยอดแล้ว) จำนวน 18-21 ใบ จะเหมาะสมที่สุดคือ ใบยาที่ผ่านการตอนยอด (Topping) ขนาดชุดใบยายอดจะมีขนาดความหนาและความยาวเท่าๆ กับชุดใบยากลาง ซึ่งเกษตรกรชาวไร่จะต้องเข้าใจในการเก็บเกี่ยวที่ถูกต้อง ต้องเก็บเกี่ยวให้ได้ความสุกแก่พอดี ถึงจะได้คุณภาพใบยาแห้งที่บ่มออกมาดี มีคุณภาพดีทั้งทางเคมีและทางฟิสิกส์ถ้าใบยาแก่แต่ไม่สุกก็จะได้ใบยาแห้งที่บ่มออกมาไม่ดีที่สุด และต้นยาสูบที่จะนำผลผลิตใบยาสดมาขายเป็นใบยาสด จะมีลักษณะการสังเกตและเก็บเกี่ยวดังนี้
1. ชุดใบยายอด ซึ่งเก็บครั้งที่ 1 ของชุดยายอด ก่อนครั้งสุดท้ายชุดใบยายอด จะมี 6 ใบและเป็น 6 ใบสุดท้ายของต้น ซึ่งชุดใบยายอดนี้จะมี 2 ชั้น ๆ ละ 3 ใบ รวมเป็น 6 ใบ (เก็บเกี่ยวได้ 2 ครั้ง ๆ ละ 3 ใบ)
2. ชุดใบยากลาง มี 3 ชั้น ๆ ละ 3 ใบรวมเป็น 9 ใบ (เก็บเกี่ยวได้ 3 ครั้ง ๆ ละ 3 ใบ)
3. ชุดใบยาตีน มี 1 ชั้น ๆ ละ 3 ใบ (เก็บเกี่ยวได้ 1 ครั้ง ๆ ละ 3 ใบ) ยังมีชั้นใบยาตีนทรายอีก 1 ชั้น ๆ ละ 2-3 ใบ ซึ่งจะนับรวมหรือไม่นับรวมก็ได้
อย่างไรก็ตาม ยาสูบซึ่งมีคุณสมบัติเป็นสารเสพติดประเภทหนึ่ง ขึ้นชื่อว่าเสพติดแล้วย่อมให้โทษมากกว่าประโยชน์อย่างแน่นอน ผู้อ่านที่่เป็นเยาวชนทั้งหลายก็ควรหลีกเลี่ยงเป็นอย่างยิ่ง
แหล่งที่มา
การยาสูบแห่งประเทศไทย. (2558, 17 มกราคม). ยาสูบกับการค้นพบ. สืบค้นเมื่อ 13 สิงหาคม 2562, จาก https://www.thaitobacco.or.th/th/2015/01/006812.html
SANOOK.COM. (2555, 20 สิงหาคม). ยาสูบ อีกหนึ่งพืชเศรษฐกิจของเกษตรกรไทย. สืบค้นเมื่อ 13 สิงหาคม 2562, จาก https://www.sanook.com/travel/1009004/
@Tobacco.ORG. (2561, 13 มีนาคม). ยาสูบเงินล้าน. สืบค้นเมื่อ 13 สิงหาคม 2562, จาก https://www.facebook.com/Tobacco.ORG/posts/1567096116736946/
-
10639 รู้จักไหม “ใบยาตีน” /article-biology/item/10639-2019-09-02-02-19-11เพิ่มในรายการโปรด