ไวน์แดงกับสุขภาพของลำไส้
การดื่มเครื่องดื่มแอลกอฮอล์ไม่ใช่ทางเลือกสำหรับการดูแลสุขภาพที่ดี แต่หากต้องเลือกดื่มแอลกอฮอล์ ไวน์แดงควรเป็นเครื่องดื่มที่ได้รับคัดเลือก (และควรดื่มในปริมาณที่พอเหมาะ) เมื่อนักวิจัยกล่าวว่า ไวน์แดงอาจดีต่อลำไส้
ภาพที่ 1 ไวน์แดง
ที่มาภาพ https://pixabay.com/images/id-1433498/, JillWellington
การศึกษาใหม่จาก King's College London ซึ่งตีพิมพ์ในวารสาร Gastroenterology ชี้ให้เห็นว่า จากการศึกษาผลกระทบของเครื่องดื่มแอลกอฮอล์อย่างเบียร์ ไซเดอร์ ไวน์แดง ไวน์ขาว และสุราที่มีต่อจุลินทรีย์ในลำไส้ (gut microbiome) และสุขภาพที่ตามมาในกลุ่มหญิงฝาแฝดหญิงชาวอังกฤษจำนวนกว่า 900 คนซึ่งลงทะเบียนเข้าร่วมโปรแกรมวิจัยสุขภาพ
และทำการศึกษาในกลุ่มอื่นอีก 2 ประเทศคือ สหรัฐอเมริกาและเนเธอแลนด์นั้น ผลการศึกษาพบว่า ผู้ที่ดื่มไวน์แดงในปริมาณที่เหมาะสมจะมีความหลากหลายของจุลินทรีย์ในลำไส้มากกว่าเมื่อเทียบกับผู้ที่ไม่ได้ดื่ม และนั่นเป็นสัญญาณสำคัญของสุขภาพของลำไส้ แม้ว่าจะพิจารณาถึงปัจจัยต่าง ๆ เช่น อายุ น้ำหนัก อาหาร และสถานะทางเศรษฐกิจและสังคมของกลุ่มเป้าหมายร่วมด้วยแล้วก็ยังพบผลของความสัมพันธ์ดังกล่าว
ภาพที่ 2 องุ่น
ที่มาภาพ https://pixabay.com/images/id-3550733/, Bru-nO
ไมโครไบโอม (Microbiome) เป็นสารพันธุกรรมของจุลินทรีย์ที่มีชีวิตอยู่ภายในร่างกาย โดยมีบทบาทสำคัญต่อสุขภาพของมนุษย์ ซึ่งความไม่สมดุลของจุลินทรีย์ดีเมื่อเปรียบเทียบกับจุลินทรีย์ไม่ดีในลำไส้ สามารถวิเคราะห์เพื่อนำไปสู่ผลลัพธ์ ด้านสุขภาพที่ไม่พึงประสงค์ได้ เช่น ระบบภูมิคุ้มกันที่แย่ลง น้ำหนักที่เพิ่มขึ้น หรือคอเลสเตอรอลที่สูงขึ้น ทั้งนี้คนที่มีชนิดของจุลินทรีย์ในลำไส้มากกว่าถือเป็นสัญญาณที่ดีของระบบทางเดินอาหาร อย่างไรก็ดี นักวิจัยตั้งข้อสังเกตว่า การเพิ่มขึ้นจุลินทรีย์ที่มีความหลากหลายและเป็นประโยชน์ต่อลำไส้อาจเกิดจากสารที่พบในไวน์แดงหรือที่เรียกว่า โพลิฟีนอล
โพลีฟีนอล (Polyphenols) เป็นสารอาหารรอง (micronutrients) ที่พบได้ในผักและผลไม้มากมาย อาทิ เปลือกองุ่น ซึ่งมีคุณสมบัติที่เป็นประโยชน์ต่อสุขภาพร่างกาย ทั้งต้านการอักเสบ เป็นสารต้านอนุมูลอิสระที่มีส่วนช่วยลดความเสี่ยงในการเกิดโรคและความผิดปกติต่าง ๆ และยังทำหน้าที่เป็นเชื้อเพลิงสำหรับจุลินทรีย์ที่มีประโยชน์ที่อาศัยอยู่ในลำไส้ของเรา ซึ่งอาจช่วยในเรื่องของการลดน้ำหนัก ทั้งนี้ในการศึกษาก่อนหน้ารายงานว่า ไวน์แดงมีส่วนช่วยในการป้องกันโรคหัวใจอีกด้วย
แม้ว่าการศึกษานี้จะชี้ให้เห็นถึง ความสัมพันธ์ระหว่างการบริโภคไวน์แดงและความหลากหลายของจุลินทรีย์ที่มีประโยชน์ในลำไส้ แต่การศึกษาข้างต้นเป็นเพียงการศึกษาเชิงสังเกตการณ์ (observational study) ซึ่งต้องอาศัยการศึกษาเพิ่มเติมถึงผู้ที่บริโภคผลิตภัณฑ์ขององุ่นแดงที่ไม่มีแอลกอฮอล์ หรือปัจจัยอื่น ๆ ร่วมด้วย จึงจะสามารถสรุปเกี่ยวกับความสัมพันธ์ใด ๆ ระหว่างการบริโภคไวน์แดงและการเปลี่ยนแปลงของจุลินทรีย์ในลำไส้ รวมถึงแนวโน้มที่จะส่งผลให้เกิดประโยชน์ต่อสุขภาพได้ และหากจะใช้ข้อมูลใด ๆ เพื่อเป็นข้ออ้างในการยกแก้วไวน์ในมือขึ้นดื่มสักแก้ว ควรระลึกไว้เสมอว่า การดื่มเครื่องดื่มแอลกอฮอล์ในปริมาณมากเชื่อมโยงถึงความเสี่ยงที่เพิ่มขึ้นของปัญหาสุขภาพหลายประการ ทั้งโรคมะเร็งบางชนิด โรคหัวใจ โรคหลอดเลือดสมอง และที่สำคัญคือ โรคตับ และเพื่อรักษาระดับความเสี่ยงต่ำ นักวิจัยแนะนำว่า การดื่มไวน์แดง 1 แก้วต่อ 2 สัปดาห์ก็เพียงพอแล้วที่จะเห็นผลของความสัมพันธ์ดังกล่าว
อย่างไรก็ตาม เราเรียนรู้ถึงโรคภัยไข้เจ็บที่เกิดจากสุรายาเมาเหล้าไวน์ที่มีมากมาย และหากทราบความเสี่ยงต่อสุขภาพและร่างกายแล้ว ขอเน้นย้ำอีกครั้งว่า งานวิจัยนี้ไม่ใช่ข้อแก้ตัวที่จะดื่มเครื่องดื่มแอลกอฮอล์ในปริมาณมาก
แหล่งที่มา
Red wine benefits linked to better gut health, study finds.Retrieved September 19, 2019, From https://www.kcl.ac.uk/news/red-wine-benefits-linked-to-better-gut-health-study-finds
Caroline I. Le Roy, Philippa M. Wells, Jiyeon Si, Jeroen Raes, Jordana T. Bell, Tim D. Spector. Red Wine Consumption Associated With Increased Gut Microbiota α-diversity in 3 Independent Cohorts. Gastroenterology, 2019; DOI: 10.1053/j.gastro.2019.08.024
Kings College London. (2019, August 28). Red wine benefits linked to better gut health, study finds.Retrieved September 19, 2019, From https://www.sciencedaily.com/releases/2019/08/190828194219.htm
The Human Microbiome,Retrieved September 19, 2019, From https://depts.washington.edu/ceeh/downloads/FF_Microbiome.pdf
Ana Gotter. (2017, May 23). What are polyphenols?.Retrieved September 19, 2019, From https://www.healthline.com/health/polyphenols-foods
-
11358 ไวน์แดงกับสุขภาพของลำไส้ /article-biology/item/11358-2020-03-12-02-31-19เพิ่มในรายการโปรด
-
คำที่เกี่ยวข้อง