การศึกษาลูกน้ำยุงกับการเปลี่ยนแปลงภูมิอากาศ
ผลกระทบจากการเปลี่ยนแปลงภูมิอากาศต่อสุขอนามัยและโรคระบาดส่งผลให้คนทั่วโลกกังวลเป็นอย่างมาก เนื่องจากอุณหภูมิที่สูงขึ้นส่งผลให้เชื้อโรค หรือพาหะนำโรคบางชนิดเจริญได้อย่างรวดเร็ว นอกจากนี้การที่โลกของเรามีการสื่อสารกันได้รวดเร็วทำให้การแพร่ระบาดของโรคเป็นไปได้ง่ายและรวดเร็วมากขึ้น
สำหรับประเทศไทยปัญหาการเกิดโรคอุบัติซ้ำ (Re-emerging infectious disease : REID) ที่สำคัญโรคหนึ่งที่เป็นปัญหาสาธารณสุขอันดับต้น ๆ คือ โรคไข้เลือดออก และมาลาเรีย ซึ่งมีพาหะนำโรค คือ ยุง สำหรับยุงก็เป็นพาหะนำโรคชนิดหนึ่งที่ได้รับผลกระทบจากการเปลี่ยนแปลงภูมิอากาศด้วย โดยลูกน้ำยุงจะพัฒนากลายเป็นยุงที่โตเต็มวัยเร็วขึ้นออกหากินถี่ขึ้น ออกไข่เร็วขึ้น บินได้ไกลขึ้น ทำให้โอกาสในการเกิดโรคที่มียุงเป็นพาหะเกิดได้เร็วและบ่อยครั้งขึ้น โดยจะเห็นได้จากข่าวการแพร่ระบาดของโรคในประเทศไทยและประเทศใกล้เคียง
เรื่องน่ารู้เกี่ยวกับยุง
ยุงเป็นแมลงในวงศ์คิวลิซิดี (Culicidae) แมลงในวงศ์นี้มีแถบคู่ที่ปีกและกลางลำตัว มีรูปร่างยาว และขายาว ยุงเป็นพาหะนำโรคหลายชนิด เช่น ไข้เลือดออก มาลาเรีย ไข้เหลือง ไข้สมองอักเสบ โรคเท้าช้าง โรคชิคุนกุนยา (โรคไข้ปวดข้อยุงลาย)
ยุงมีการเจริญเติบโตและเปลี่ยนแปลงรูปร่างแบบสมบูรณ์ (complete metamorphosis) ซึ่งประกอบด้วย ไข่ (egg) ลูกน้ำ (larva) ตัวโม่ง (pupa) และยุงตัวเต็มวัย (adult) ซึ่งลักษณะการวางไข่ ลูกน้ำ ตัวโม่ง และยุง จะแตกต่างตามชนิดของยุง ซึ่งความแตกต่างนี้เองจึงนำมาใช้ในการจำแนกชนิดของยุ่งเพื่อใช้ในการศึกษาและวิจัยต่อไป
ภาพวงจรชีวิตของยุง
การจำแนกชนิดยุง
การจำแนกชนิดของยุงมีส่วนช่วยในการสนับสนุนงานด้านชีววิทยาในการควบคุมแม่ลงที่เป็นพาหะนำโรค โดยจะเน้นที่ยุงตัวเมีย เนื่องจากยุงตัวเมียจะกินเลือดและเป็นพาหะนำโรคโดยยุงตัวเมียจะกินเลือดก่อนวางไข่ทุกครั้งเพื่อนำโปรตีนจากเลือดไปใช้ในการทำให้ไข่เจริญเติบโต่ได้เต็มที่
ในการจำแนกชื่อของยุงสามารถทำได้โดยตาเปล่า ซึ่งต้องอาศัยความชำนาญเฉพาะบุคคล หรือดูได้จากสัณฐานวิทยาของยุง เช่น ลักษณะหนวด ลักษณะของเกล็ด ซึ่งต้องอาศัยเครื่องมือช่วย เช่น กล้องจุลทรรศน์ แว่นขยาย โดยใช้รูปวิธานเพื่อการจำแนก
สำหรับกลุ่ม (genus) ของยุงที่มีความสำคัญทางการแพทย์มี 4 กลุ่มคือ
จะทำการวิจัยลูกน้ำยุงกับการเปลี่ยนแปลงภูมิอากาศได้อย่างไร
การวิจัยลูกน้ำยุงเป็นกิจกรรมที่เด็กจะสามารถทำได้ง่ายและไม่ต้องใช้อุปกรณ์มาก โดยสำรวจชนิดและจำนวนของลูกน้ำยุงที่พบในภาชนะต่าง ๆ จากนั้นนำข้อมูลปริมาณลูกน้ำยุงไปเชื่อมโยงกับข้อมูลทางด้านสิ่งแวดล้อมอื่น ๆ ที่เกี่ยวข้อง เช่น ข้อมูลทางด้านบรรยากาศ น้ำ หรือข้อมูลสถิติผู้ป่วยโรคไข้เลือดออก สามารถดูรายละเอียดเกี่ยวกับวิธีการศึกษาลูกน้ำยุงเพิ่มเติมได้ทางเว็บไชต์ http://ww.twibl.org/LearningModule/mosquito/mosquito.htm
สำหรับการศึกษาลูกน้ำยุงกับการเปลี่ยนแปลงภูมิอากาศสามารถทำได้ในหลายประเด็น เช่น เราสามารถใช้ปริมาณลูกน้ำยุงลายในการประเมินความเสี่ยงของพื้นที่เสี่ยงต่อการระบาดของโรคไข้เลือดออก การนับจำนวนลูกน้ำยุงแต่ละชนิดที่พบในภาชนะกักเก็บน้ำชนิดต่าง ๆ ทั้งในบริเวณบ้าน และนอกบริเวณบ้านโดยการจำแนกชนิดของลูกน้ำยุงจะใช้รูปวิธาน หรืออาจจะไปขอรับคำแนะนำในการจำแนกชนิดลูกน้ำได้จากผู้เชี่ยวชาญในท้องถิ่น เช่น สำนักโรคติดต่อนำโดยแมลง สังกัดกรมควบคุมโรค กระทรวงสาธารณสุขโดยข้อมูลที่ได้เหล่านี้ถูกนำไปวิเคราะห์ร่วมกับข้อมูล ที่ได้จากการตรวจวัดทางด้านบรรยากาศได้แก่ การตรวจวัดอุณหภูมิสูงสุด-ต่ำสุด ความชื้นสัมพัทธ์ในอากาศ จำนวนวันฝนตก และปริมาณน้ำฝน หรือการตรวจวัดทางด้านน้ำ เช่น ค่า pH ของน้ำที่ไปเก็บตัวอย่างลูกน้ำยุง อุณหภูมิของน้ำ ความโปร่งใสของน้ำ ปริมาณออกซิเจนที่ละลายในน้ำ การจะใช้ข้อมูลใดบ้างนั้นก็ขึ้นอยู่กับคำถามวิจัยของแต่ละคน แล้วมาวิเคราะห์ก่อนว่าอะไรเป็นปัจจัยที่เกี่ยวข้อง โดยไม่จำเป็นต้องเก็บข้อมูลเหล่านี้ทั้งหมด
ภาพลูกน้ำยุงผ่านกล้องจุลทรรศน์
การเก็บลูกน้ำยุงในบริเวณบ้าน
รูปวิธานในการจำแนกชนิดลูกน้ำยุง
การเกาะที่ผิวน้ำ
เรื่องน่ารู้
โรคอุบัติซ้ำ (Re-emerging infectious disease : REID) หมายถึง โรคติดเชื้อที่กลับมาระบาดใหม่ หลังจากที่ควบคุมโรคได้แล้ว หรือพบหลังจากไม่เคยมีการระบาดในพื้นที่เดิมมาเป็นระยะเวลานาน รวมถึงภาวะที่เชื้อก่อโรคดื้อยาด้วย เช่น โรคเอดส์ โรคมาลาเรีย วัณโรค อหิวาตกโรค ไข้เลือดออก
โรคติดเชื้ออุบัติใหม่ (Emerging infectious disease : EID) หมายถึง โรคติดเชื้อที่เกิดขึ้นใหม่ รวมถึงโรคติดเชื้อที่พบในพื้นที่ใหม่ ตัวอย่างเช่น โรคกลุ่มอาการทางหายใจเฉียบพลันรุนแรงหรือโรค SARS (Severe acute respiratory syndrome) ไข้หวัดใหญ่นก (Avian Flu) โรคไข้หวัดใหญ่สายพันธุ์ AH1N1 2009) ซึ่งเป็นการผสมข้ามสายพันธุระหว่างไวรัสไข้หวัดใหญ่นกกับไวรัสไข้หวัดใหญ่ในคน
บทความนี้เป็นส่วนหนึ่งของนิตยสาร สสวท. ผู้อ่านสามารถติดตามบทความที่น่าสนใจเพิ่มเติมได้ที่ https://magazine.ipst.ac.th/
บรรณานุกรม
Florida Medical Entomology Laboratory. (2556). ภาพวงจรชีวิตยุง. สืบค้นเมื่อ 9 กันยายน 2556, จาก http://fmel.ifas.ufl.edu/kits/cycle.shtml
กฤษณะเตช เจริญสุธาสินี และคณะ. (2552). หลักวิธีดำเนินการศึกษาเรื่องยุง คู่มือการศึกษาสำหรับครู. นครศรีธรรมราช: มหาวิทยาลัยวสัยลักษณ์
ปรัชญา สมบูรณ์. (2556). ยุง. สืบค้นเมื่อ 9 กันยายน 2556, จาก http://www.med.cmu.ac.th/dept/parasite/public/Mosquito.htm
มหาวิทยาลัยวลัยลักษณ์. Mosquito learning module. สืบคันเมื่อ 9 กันยายน 2556, จาก http:/www.twibl.org/LearningModule/mosquito/mosquito.htm
วิชาการ.คอม. ภาพยุงกันปล่อง. สืบคั้นเมื่อ 9 กันยายน 2556, จาก http:/www.vcharkarn.com/blog/45262/2
สถาบันวิจัยวิทยาศาสตร์สาธารณสุข. กรมวิทยาศาสตร์การแพทย์. กระทรวงสาธารณสุข. (2553). ชีววิทยา นิเวศวิทยา และการควบคุมยุงในประเทศไทย.สืบค้นเมื่อ 9 กันยายน 2556, จาก http://webdb.dmsc.moph.go.th/ifcnih/ applications/fles/Mosq9620Control9620rp4%2Bcover.pdf
สถาบันวิจัยวิทยาศาสตร์สาธารณสุข. กรมวิทยาศาสตร์การแพทย์. กระทรวงสาธารณสุข. (2553). ชีววิทยาและการควบคุมแมลงที่เป็นปัญหา
สาธารณสุข. สืบคั้นเมื่อ 9 กันยายน 2556, จาก http://webdb.dmsc.moph.go.th/ifcnih/applications/fles/nsect9620Control9620rp4%2Bcover.pdf
สมชัย บวรกิตติ และคณะ. (2555, กุมภาพันธ์). โลกร้อนกับสุขภพ. กรุงเทพฯ: สถาบันสิ่งแวดล้อมไทย.
-
12792 การศึกษาลูกน้ำยุงกับการเปลี่ยนแปลงภูมิอากาศ /article-biology/item/12792-2023-01-20-06-30-30เพิ่มในรายการโปรด
-
คำที่เกี่ยวข้อง