มารู้จักเชื้อไวรัสโคโรนากันเถอะ
ณ วันนี้คงมีน้อยคนที่ไม่รู้จักไวรัสโคโรนา ถึงจะเป็นคนเก็บตัวไม่ติดตามข่าวสารขนาดไหนก็เถอะ แต่ลองได้ออกไปนอกบ้านแล้วเจอผู้คนสวมผ้าปิดปากหรือหน้ากากอนามัยทั้งแล้วล่ะก็ คงต้องแปลกใจกันบ้างล่ะว่ามันเกิดอะไรขึ้น เรามารู้จักชื่อแล้วที่มาของไวรัสชนิดนี้กัน
ภาพจำลองเชื้อไวรัสโคโรนา
ที่มา https://unsplash.com/photos/w9KEokhajKw, CDC
ไวรัสโคโรนาคือ ?
ไวรัสโคโรนาเป็นชื่อของไวรัสตระกูลหนึ่งซึ่งก่อให้เกิดโรคตั้งแต่ไข้หวัดธรรมดาไปจนถึงโรคร้ายแรง ตัวอย่างผลงานที่ผ่านมาของสมาชิกในตระกูลมหาวิบัตินี้ได้แก่เจ้า MERS-CoV ที่ทำให้เกิดโรค MERS (Middle East Respiratory Syndrome หรือกลุ่มอาการโรคทางเดินหายใจตะวันออกกลาง) ที่พบในตะวันออกกลางโดยเริ่มจากซาอุดีอาระเบียปี 2012 หรือเจ้า SARS-CoV ที่ทำให้เกิดโรค SARS (Severe Acute Respiratory Syndrome หรือ โรคทางเดินหายใจเฉียบพลันรุนแรง) ที่เริ่มระบาดจากประเทศจีนราวปี ค.ศ. 2002 ส่วนเจ้าไวรัสโคโรนาสายพันธุ์ใหม่ 2019 (Novel Coronavirus 2019 หรือ 2019-nCoV) นั้นถือว่าเป็นไวรัสโคโรนาสายพันธุ์ที่เจ็ดที่ติดต่อในมนุษย์
ทำไมถึงชื่อโคโรนา?
ชื่อของไวรัสโคโรนานี้มาจากภาษาละตินโดยคำว่า Corona ในภาษาละตินแปลว่า Crown หรือมงกุฎเพราะรูปร่างของไวรัสชนิดนี้มีลักษณะเป็นก้อนกลมที่ผิวภายนอกมีปุ่ม ๆ ยื่นออกมาเหมือนมงกุฎอยู่ล้อมรอบนั่นเอง
ทำไมเรียกว่า COVID-19
COVID-19 เป็นชื่อเรียกของโรคติดเชื้อชนิดนี้ มีที่มาจากกรมอนามัยโลกตั้งขึ้นมา ซึ่ง CO แทน corona, VI แทน virus, D แทน disease และ 19 แทน 2019
ตัวการแพร่เชื้อ
ไวรัสโคโรนา 2019 นี้ถือเป็น zoonotic disease หรือเชื้อที่ติดได้ทั้งในสัตว์และในคน มีการคาดเดาถึงสาเหตุต้นตอการแพร่ของไวรัสตัวนี้ว่ามาจากค้างคาวเนื่องจากการวิเคราะห์รหัสพันธุกรรมแล้วพบว่ามีส่วนคล้ายไวรัสที่พบในค้างคาวถึงกว่าแปดสิบเปอร์เซ็นต์ แต่จากการตรวจหาบางสำนักกลับพบว่ามันมีส่วนคล้ายไวรัสที่พบในงูมากที่สุด แถมอัปเดตล่าสุดนักวิจัยในจีนระบุว่าตัวนิ่มอาจเป็นต้นต่อในการแพร่ไวรัสชนิดนี้อีกด้วย ดังนั้น ณ ตอนนี้จึงสรุปได้ยากว่าไวรัสโคโรนา2019นี้มาเริ่มมาจากสัตว์ชนิดใดกันแน่
อาการเมื่อติดเชื้อ
เมื่อติดเชื้อแล้วจะทำให้เกิดอาการเกี่ยวกับระบบทางเดินหายใจ, ไอ, จาม, หายใจลำบาก, มีไข้และ ปวดเมื่อยตามร่างกาย หนักเข้าก็จะปอดอักเสบจนถึงขั้นเสียชีวิต
พบผู้ติดเชื้อครั้งแรกที่ไหน?
ผู้ติดเชื้อกลุ่มแรกถูกพบในประเทศจีน เมืองอู่ฮั่น จากการสำรวจพบว่าผู้ติดเชื้อส่วนมากมีส่วนเกี่ยวข้องกับตลาดขายส่งอาหารทะเลฮั่วหนานในเมืองอู่ฮั่นโดยมาซื้อสินค้าหรือเป็นคนงานในตลาดแห่งนี้ การระบาดเริ่มต้นขึ้นเมื่อต้นเดือนธันวาคม ค.ศ. 2019 จนทางการจีนได้ยืนยันเมื่อวันที่ 31 ธันวาคม ค.ศ. 2019 ต่อองค์การอนามัยโลกว่าพบผู้ป่วยปอดอักเสบจากการติดเชื้อไวรัสที่ไม่เคยพบในมนุษย์มาก่อน และในวันที่ 3 มกราคม ค.ศ. 2020 ก็ได้รายงานอย่างเป็นทางการว่าโรคดังกล่าวมีสาเหตุมาจากไวรัสโคโรนาสายพันธุ์ใหม่ 2019 อย่างไรก็ตาม มีรายงานจากวารสารThe Lancet ว่าพบผู้ป่วยคนแรกที่แสดงอาการเลยจริงๆเมื่อวันที่ 1 ธันวาคม ค.ศ. 2019 แต่ผู้ป่วยคนนี้ไม่ได้มีส่วนเกี่ยวข้องใดๆกับตลาดฮั่วหนานเลย จึงมีความเป็นไปได้ว่าได้มีการติดเชื้อกันอย่างเงียบ ๆ นอกตลาดฮั่วหนานมาก่อนแล้วแต่มาแพร่กระจายเป็นวงกว้างจากตลาดแห่งนี้มากกว่า
การติดเชื้อและวิธีการป้องกัน
ไวรัสโคโรนา 2019 สามารถแพร่เชื้อได้จากคนสู่คนผ่านทางละอองที่เกิดจากการหายใจ, ไอ, จาม และแพร่จากสัตว์สู่คนได้อีกด้วย จึงควรหลีกเลี่ยงการอยู่ใกล้ผู้ป่วยที่มีอาการไอ, จาม และมีไข้ ไม่เข้าไปในพื้นที่เสี่ยงเช่น ชุมชนแออัด หรือเมืองที่มีประวัติพบผู้ป่วยโรคนี้ (ส่วนเมืองอู่ฮั่นนั้นถูกปิดไปเรียบร้อยโรงเรียนจีนแล้ว) ระวังการสัมผัสพื้นผิวที่สกปรก ล้างมือให้สะอาดอยู่เสมอ ใส่หน้ากากอนามัยหรือแว่นตาเพื่อกันละอองที่มีไวรัสปะปนเข้าร่างกายได้ สิ่งที่น่ากลัวของไวรัสตัวนี้คือ ถึงแม้ผู้ติดเชื้อจะยังไม่แสดงอาการป่วยแต่ก็สามารถแพร่เชื้อไปให้คนอื่นได้แล้วนั่นเอง! ทำให้การคัดกรองแค่ว่าคนคนนี้มีไข้หรือเปล่าจึงไม่สามารถรับประกันได้ 100% ว่าเค้าจะไม่ใช่คนแพร่เชื้อ นั่นทำให้ทางการจึงต้องออกมาตรการกักตัวผู้ที่กลับจากเมืองจีนไว้ดูอาการ 14 วันก่อนให้แน่ใจว่าไม่ได้ติดเชื้อแน่ ๆ แล้วจึงปล่อยตัวกลับบ้านได้ และนี่เป็นอีกสาเหตุหนึ่งที่ผู้คนตื่นตัวในการหาหน้ากากอนามัยมาปิดปากป้องกันตัวเองไว้ก่อนเพียงแค่การออกจากบ้านเท่านั้นเพราะเรามิอาจรู้ได้ว่ามีผู้ป่วยติดเชื้อปะปนอยู่ในที่ที่เราไปหรือไม่ หรือแม้แต่เราเองถ้าติดเชื้อไปแล้วล่ะก็จะได้ไม่ไปแพร่เชื้อให้คนอื่นอีกด้วย พูดถึงการป้องกันนี้แล้วบางคนอาจจะคิดว่าคนมันจะติดก็ต้องติดไประวังแค่นี้จะช่วยอะไรได้ อยากให้ปรับความคิดเสียใหม่ เพราะถ้าเชื้อเข้าสู้ร่างกายในปริมาณมากในทีเดียว เชื้อจะไปเจริญเติบโตและทำลายเนื้อเยื่อปอดอย่างรวดเร็วเกินกว่าที่เม็ดเลือดขาวในร่างกายจะปรับตัวเรียนรู้ที่จะกำจัดเชื้อนี้ได้ทันจนทำให้ระบบหายใจล้มเหลวเฉียบพลันถึงแก่ชีวิต แต่ถ้าเชื้อเข้าไปในร่างกายไม่เยอะมาก อาการติดเชื้อหรือปอดอักเสบจะค่อยเป็นค่อยไปจนเม็ดเลือดขาวพอจะมีเวลากำจัดเชื้อตัวนี้ ได้ก่อนที่เนื้อเยื่อปอดจะถูกทำลายมากเกินไปได้ เราจึงควรเตรียมพร้อมและระมัดระวังให้มากที่สุดเท่าที่จะทำได้เพื่อความปลอดภัยตัวเราเองและคนรอบข้างตัวเราดีกว่า เพราะจนถึงตอนนี้ยังไม่มียารักษาหรือวัคซีนป้องกันไวรัสชนิดนี้ เท่าที่ทำได้แพทย์ก็แค่ให้ยารักษาตามอาการ รอให้ร่างกายเรียนรู้ที่จะกำจัดเชื้อเองเท่านั้น
สถานการณ์ล่าสุดที่สำคัญ : องค์การอนามัยโลก (WHO) ได้ประกาศให้การแพร่ระบาดของไวรัส โคโรนาสายพันธุ์ใหม่ 2019 หรือ โควิด-19 เป็น “การระบาดใหญ่ทั่วโลก” เป็นที่เรียบร้อยแล้ว (12 มีนาคม 2563)
สถานการณ์ที่ควรติดตาม : ประชาชนทั่วไปสามารถติดตามรายงานสถานการณ์ และการแจ้งเตือนการระบาดจากกรมควบคุมโรคได้ที่ https://ddc.moph.go.th/viralpneumonia/index.php
แหล่งที่มา
Jon C. (2020, 26 January). Wuhan seafood market may not be source of novel virus spreading globally. Retrieved February 7, 2020, From https://www.sciencemag.org/news/2020/01/wuhan-seafood-market-may-not-be-source-novel-virus-spreading-globally
Jackson R. (2020, 7 February). Coronavirus outbreak explained: Death toll climbs again; China starts drug trials. Retrieved February 8, 2020, From https://www.cnet.com/how-to/coronavirus-outbreak-explained-death-toll-climbs-again-china-starts-drug-trials/
Dyani L. (2020, 31 January). Coronavirus outbreak: what’s next?. Retrieved February 7, 2020, From https://www.nature.com/articles/d41586-020-00236-9
Cedric S, et al. (2020, 8 February). Mapping the Coronavirus Outbreak Across the World. Retrieved February 8, 2020, From https://www.bloomberg.com/graphics/2020-wuhan-novel-coronavirus-outbreak/
โอภาส พุทธเจริญ. (2020, 3 February). ตระหนัก เรียนรู้ ป้องกันไวรัสโคโรนาสายพันธุ์ใหม่ 2019. Retrieved February 7, 2020, From https://www.chula.ac.th/cuinside/26952/
World Health Organization. (2020, 30 January). Statement on the second meeting of the International Health Regulations (2005) Emergency Committee regarding the outbreak of novel coronavirus (2019-nCoV). Retrieved February 7, 2020, From https://www.nature.com/articles/d41586-020-00236-9
China daily. (2020, 7 February). Latest on the novel coronavirus outbreak. Retrieved February 8, 2020, From https://www.chinadaily.com.cn/a/202002/07/WS5e2a95d9a310128217273202.html
-
11366 มารู้จักเชื้อไวรัสโคโรนากันเถอะ /article-science/item/11366-2020-03-12-03-30-49เพิ่มในรายการโปรด