หน้ากากอนามัยใช้ยังไงให้อนามัย
ใครจะไปคาดคิดว่าสักวันหนึ่งสิ่งของที่ขาดตลาด โดนโก่งราคา จะไม่ใช่อาหารหรือยารักษาโรคแต่อย่างใด แต่เป็นสิ่งที่เรามองข้ามกันมาโดยตลอดอย่าง “หน้ากากอนามัย”ซะอย่างนั้น จริง ๆ เราตื่นตัวเรื่องหน้ากากมาก่อนหน้านี้นานแล้ว ตั้งแต่เมื่อตอนฝุ่น PM 2.5 นั่นเอง ตอนนั้นหน้ากากชนิด N95 ก็เริ่ม ๆ ที่จะมีแนวโน้มขาดตลาด พอมาตอนนี้ไม่ใช่แค่หน้ากาก N95 เท่านั้นที่ขาดตลาด เพราะแม้กระทั่งหน้ากากอนามัยแบบธรรมดาก็ขาดตลาดตามกันไปด้วย เพราะการระบาดอย่างหนักของไวรัสโคโรนา 2019 (COVID-19) อย่างที่เรารู้กัน
หน้ากากอนามัยป้องกันเชื้อไวรัสโคโรนา (Covid-19) ได้จริงหรือไม่
ก่อนอื่นเราต้องไปดูกันว่าไวรัสโคโรนาแพร่กระจายได้อย่างไร จริง ๆ แล้วยังไม่มีข้อพิสูจน์ว่าไวรัสชนิดนี้สามารถแพร่ทางอากาศแบบละอองเกสรดอกไม้ได้ ถึงขนาดนั้นจะมีก็แค่ลอยปะปนมากับละอองฝอย ที่เกิดจากผู้ติดเชื้อที่มีการไอหรือจามออกมา ซึ่งหมายถึงมันจะไม่ลอยอย่างอิสระไปได้ไกลมากนัก แล้วพอคนต่อไปที่อยู่บริเวณนั้นหายใจเข้าไปโดยตรงหรือสัมผัสดวงตาหรือมีการสัมผัสละอองน้ำลาย หรือเสมหะด้วยมือ แล้วเผลอเอามือไปสัมผัสหน้า สัมผัสปาก ขยี้ตาก็จะทำให้คนคนนั้นรับเชื้อไวรัสเข้าไปได้ หรือต่อให้มือสะอาดแต่เผลอนำอาหารที่มีไวรัสปนเปื้อนมารับประทาน ก็จะทำให้ติดเชื้อได้เช่นกัน นั่นจึงเป็นที่มาของสโลแกนที่ว่า “กินร้อน ช้อนกลางล้างมือ และ สวมหน้ากากอนามัย" นั่นเอง (ตอนนี้เปลี่ยนเป็น “ช้อนเรา” แล้ว)
ภาพที่ 1 หน้ากากอนามัยแบบปกติ
ที่มา https://pixabay.com , Coyot
มาถึงตรงนี้ก็คงจะเริ่มพอเห็นภาพแล้ว...เห็นว่าหน้ากากอนามัยป้องกันเชื้อได้จริง?...เปล่า...เราเห็นรูเบ้อเริ่มที่อยู่ระหว่างหน้ากากอนามัยกับหน้าเรานี่แหละ!! พาลให้สงสัยว่าขนาดตาเรายังมองเห็นแล้ว มันจะไปกันละอองไวรัสที่ลอยอยู่ในบริเวณนั้นได้ยังไงกัน??
ใช่แล้ว หน้ากากอนามัยกันไวรัสไม่ได้หรอก...หมายถึง “กันไม่ได้ 100%” แต่ช่วยลดอัตราเสี่ยงหรือจำนวนเชื้อที่เรามีโอกาสไปรับเข้ามา หรือแพร่ให้คนอื่นต่างหาก เรามาลองดูหน้ากากอนามัยแต่ละชนิดกัน
หน้ากากอนามัยแบบปกติ (แบบเยื่อกระดาษ 3 ชั้น)
โดยทั่วไปเป็นแบบสามชั้น ทำจากแผ่นใยสังเคราะห์ที่เรียกว่า Spunbond ชั้นนอกมักจะเห็นเป็นสีเขียวซึ่งเป็นชั้นกันของเหลวไม่ให้ซึมเข้าหรือหลุดออกจากร่างกาย ชั้นกลางเป็นแผ่นกรองดัก เชื้อโรคและฝุ่น ส่วนชั้นในจะเป็นวัสดุนุ่มเพื่อสัมผัสกับร่างกาย ขณะที่แบบสี่ชั้นหรือมากกว่านั้นจะเพิ่ม ActivatedCarbon เพื่อดักจับสารเคมีได้มากขึ้นและอย่างที่เห็น ๆ กันว่าหน้ากากนี้ยังไม่ได้แนบสนิทกับใบหน้าทำให้ยังมีเชื้อเล็ดลอดเข้าหรือออกจากช่องว่างนั้นได้แต่อย่างน้อยมันก็ยังมีสัดส่วนในการกรองอากาศที่ไหลผ่านแผ่นหน้ากากโดยตรงได้อยู่และป้องกันไม่ให้เราเผลอเอามือไปสัมผัสจมูกหรือปากโดยตรงได้ หน้ากากชนิดนี้เป็นที่คุ้นเคยกันอย่างดี พบได้ทั่วไปและควรเป็นชนิดที่ใช้ครั้งเดียวแล้วทิ้งไป
หน้ากากแบบ N95
หน้ากากแบบนี้มีประสิทธิภาพในการป้องกันเชื้อทั้งเข้าและออกได้ดีกว่าแบบธรรมดาเพราะใช้ วัสดุที่กรองอนุภาคหรือเชื้อโรคได้เล็กถึง 0.3 ไมครอนและบางยี่ห้อจะใช้เส้นลวดที่แข็งแรงและมีซีลเสริมตรงส่วนที่เอาไว้ปรับเข้ากับใบหน้าได้มากกว่าทำให้การสวมใส่กระชับกว่าแบบธรรมดารวมถึงส่วนล่างมักจะทำเป็นแบบเข้ารูปหน้าได้ดีกว่าแบบธรรมดาด้วย
ภาพที่ 2 หน้ากากอนามัยแบบ N95
ที่มา https://pixabay.com , Engin_Akyurt
หน้ากากแบบผ้า
เป็นที่พูดถึงกันขึ้นมาเนื่องจากการขาดตลาดของหน้ากากทั้ง 2 ชนิดที่กล่าวไป จริง ๆ แล้วหน้ากากแบบผ้าไม่ได้ถูกออกแบบมาให้สามารถกรองเชื้อโรคเล็ก ๆ ได้ แต่อย่างน้อยในสภาวะแบบนี้ ก็เป็นทางเลือกหนึ่งที่พอที่จะทดแทนกันได้ เพราะอย่างน้อยก็ยังป้องกันการเผลอเอามือหรือสิ่งใด ๆ ที่อาจปนเปื้อนเชื้อโรคไปสัมผัสกับใบหน้าโดยตรงได้
ทีนี้เราเห็นภาพแล้วใช่ไหมว่าหน้ากากอนามัยสามารถผ่อนหนักเป็นเบาได้ แต่การใช้งานก็ต้องใช้ให้ถูกเพราะจากการที่เราเข้าใจการแพร่เชื้อและการทำงานของหน้ากากว่าช่วยกันเชื้อโรคทางไหนได้บ้างแล้ว เราก็ต้องพยายามไม่ให้ เชื้อโรค ”สะสม”บริเวณหน้ากากให้มากที่สุดด้วยไม่อย่างนั้นแทนที่หน้ากากจะช่วยกันเชื้อโรคกลับกลาย เป็นตัวสะสมเชื้อโรคชั้นดีเลย เรามาดูวิธีใช้ให้ถูกต้องกันดีกว่า
ภาพที่ 3 หน้ากากอนามัยแบบผ้า
ที่มา https://pixabay.com , Deny_Hell
ล้างมือให้สะอาดตลอดเวลา
อย่างที่บอกไปว่าเชื้อโรคจำนวนมากอาจจะมาจับกลุ่มตามผิวหน้ากากได้ ถ้าเป็นอย่างนั้นตัวหน้ากากเองนี่แหละจะเป็นตัวเพิ่มเชื้อให้เราด้วยซ้ำ ดังนั้นหากเราเผลอเอามือไปสัมผัสโดนหน้ากากบ่อย ก็อาจทำให้เชื้อต่าง ๆ กระจายไปอยู่ที่มือได้อย่างแน่นอน
จัดให้ลวดอยู่ด้านบน กดให้แนบกับจมูก
ไม่ได้พูดกันเล่น ๆ มีคนที่ยังไม่เข้าใจการใส่หน้ากากอีกมาก อาจเพราะเราไม่เคยสนใจมันมาก่อนจึงอาจเผลอกลับหัวหน้ากากไม่ได้เอาลวดที่ไว้ปรับเข้ารูปใบหน้าไว้ตรงจมูก ทำให้ ลดประสิทธิภาพการกันเชื้อไปด้วย
ดึงส่วนล่างมาให้อยู่ใต้คางปิดใบหน้าให้มิดชิด
ถ้าเป็นแบบมีสี ให้หันด้านมีสีออกข้างนอก ถ้าเป็นแบบยางยืด ให้เกี่ยวใบหู ถ้าเป็นแบบเชือกรัดให้รัดเชือกส่วนล่างกับต้นคอ ส่วนบน รัดกับศีรษะ
ไม่นำกลับมาใช้ซ้ำ
เมื่อหน้ากากที่เราใส่นั้น เริ่มสังเกตถึงความสกปรกหรือชื้นมาก ๆ ให้เปลี่ยนทันที ไม่ต้องรอจนหมดวัน ส่วนแบบผ้าใช้ซ้ำได้แต่ต้องซักหรือใช้น้ำยาทำความสะอาดก่อนใช้ครั้งต่อไปเสมอ ตอนทิ้งหน้ากาก ให้ใส่ถุงแล้วรัดให้มิดชิดเพื่อป้องกันไม่ให้เชื้อกระจายไปสู่ผู้อื่น
นอกจากที่กล่าวไปทั้งหมดนั้น ตอนพูดคุยกับคนอื่น ให้พยายามใส่หน้ากากไว้ตลอด ส่วนตอนถอดหน้ากาก ให้จับที่สายคล้อง ไม่จับตรงส่วนผ้าเพื่อนลดโอกาสสัมผัสกับเชื้อโรค
ภาพที่ 4 การจับหน้ากาก ให้จับบริเวณสายคล้อง
ที่มา https://pixabay.com , 15734951
เท่านี้โอกาสที่เราจะติดเชื้อหรือแพร่เชื้อให้กับคนอื่นก็ลดลงไปแล้ว ยังไงก็อย่าลืมสโลแกนที่ว่า กินร้อน ช้อนเรา ล้างมือ และสำหรับในช่วงการแพร่ระบาดของไวรัสโคโรนา 2019 (COVID-19) นี้ ก็แนะนำว่าอย่าเพิ่งออกจากบ้านไปไหนโดยไม่จำเป็น ผู้เขียนหวังว่าผู้อ่านรวมถึงทุกคนบนโลกจะผ่านพ้นวิกฤติครั้งนี้ไปได้โดยเร็ว และสูญเสียน้อยที่สุด
แหล่งที่มา
Krosteen, C. (2020, 18 March). Does Wearing a Mask Protect You from the Flu and Other Viruses?. Retrieved 4 April 2020, from https://www.healthline.com/health/cold-flu/mask
U.S. FOOD & DRUG. (2020, 11 March). N95 Respirators and Surgical Masks (Face Masks). Retrieved 3 April 2020, from https://www.fda.gov/medical-devices/personal-protective-equipment-infection-control/n95-respirators-and-surgical-masks-face-masks
World Health Organization. (2020, 5 February). Coronavirus disease (COVID-19) advice for the public: When and how to use masks. Retrieved 3 April 2020, from https://www.who.int/emergencies/diseases/novel-coronavirus-2019/advice-for-public/when-and-how-to-use-masks
Elaine L, et al. (2010). Preventing Transmission of Pandemic Influenza and Other Viral Respiratory Diseases (1st ed). Washington, DC: The National Academies Press.
David, S. (2020, 2 April). Coronavirus: Expert panel to assess face mask use by public. Retrieved 4 April 2020, from https://www.bbc.com/news/science-environment-52126735
-
11468 หน้ากากอนามัยใช้ยังไงให้อนามัย /article-science/item/11468-2020-04-20-08-52-51เพิ่มในรายการโปรด
-
คำที่เกี่ยวข้อง