PM 2.5 สิ่งเล็ก ๆ ที่เรียกว่า “ร้าย”
ในช่วง 1-2 ปีที่ผ่านมา เป็นช่วงที่ชาวกรุงเทพและจังหวัดใกล้เคียงทั้งหลายต้องกลายเป็นมนุษย์ “หน้ากาก” เพราะจู่ ๆ อากาศโดยรอบกรุงเทพมหานคร จังหวัดใกล้เคียง และจังหวัดใหญ่ ๆ เช่น นครราชสีมา ก็ถูกปกคลุมด้วยหมอกสีขาวขุ่น ทำลายทัศนวิสัยในการมองเห็นระยะไกลไปมาก และยังดูคล้ายกับว่าเป็นหมอกที่เกิดจากการลดต่ำของอุณหภูมิเช่นเดียวกับตามยอดดอยต่าง ๆ ในประเทศไทย แต่หาไม่ หมอกร้ายเหล่านั้นมิได้เกิดจากการควบแน่นของไอน้ำในอากาศเพราะอุณหภูมิต่ำแต่อย่างใด หากแต่เป็นการรวมพลอย่างมหาศาลของสิ่งเล็กจิ๋วที่มนุษย์ไม่สามารถมองเห็นได้ในสภาวะปกติ เพราะมีขนาดเส้นผ่านศูนย์กลางเป็น 1 ใน 25 ของเส้นผ่านศูนย์กลางเส้นผมมนุษย์ และทั่วโลกได้ขนานนามกองทัพปีศาจร้ายเหล่านี้ว่า “PM 2.5”
ภาพฝุ่นละอองในอากาศพื้นที่เขตกรุงเทพมหานคร
ที่มา อธิพันธ์ ขันทะลี
PM 2.5 มีอีกชื่อหนึ่งว่า Fine Particle Matter, Particulate matter (ส่วนเลข 2.5 เป็นเลขระบุขนาด) หรือ ฝุ่นละอองขนาดเล็กจิ๋ว ซึ่งก็จิ๋วสมชื่อจริง ๆ เพราะฝุ่นละอองเหล่านี้เล็กจนต้องใช้หน่วยทางฟิสิกส์ว่า ไมครอน เพื่อบอกขนาดตัวของพวกมัน ฝุ่นละอองเหล่านี้ถูกนับว่าเป็นมลพิษในอากาศซึ่งสามารถส่งผลต่อสุขภาพของมนุษย์และสิ่งมีชีวิตอื่น ๆ ได้หากพวกมันมีปริมาณที่มากพอ ซึ่งนอกจากจะมีผลร้ายต่อสุขภาพโดยตรงแล้วยังส่งผลถึงความปลอดภัยในชีวิตประจำวันด้วยเพราะฝุ่นละอองขนาดเล็กจิ๋วเหล่านี้เมื่อเกิดการสะสมรวมกันมากเข้าในบริเวณไหนก็ตามก็จะทำให้บริเวณนั้นมีลักษณะเหมือนมีหมอกมาปกคลุมทั่วทั้งบริเวณซึ่งก็จะส่งผลทำให้ไปลดทัศนวิสัยในการมองเห็นของมนุษย์และอาจเป็นอันตรายอย่างมากเมื่ออยู่บนท้องถนน โดยเจ้าฝุ่นละอองพวกนี้จะชอบมาในช่วงที่ลมสงบ อย่างเช่น ในฤดูหนาว (ไม่มีลมช่วยพัดฝุ่นให้กระจายออกไปจากพื้นที่)
ถ้า PM 2.5 มีขนาดเล็กมากแล้วจะส่งผลร้ายต่อสุขภาพได้อย่างไร?
ในเมื่อฝุ่นละอองเล็กจิ๋วพวกนี้มันเล็กมาก ๆ มันจึงสามารถส่งผลร้ายต่อร่างกายของเราได้อย่างแน่นอน ในทางกายภาพแล้วร่างกายมนุษย์มีความสามารถในการกรองฝุ่นได้ในระดับดีทีเดียวโดยการใช้ขนจมูกและน้ำมูกเพื่อดักจับสิ่งแปลกปลอมต่าง ๆ ก่อนที่จะเข้าสู่ร่างกาย แต่ PM 2.5 นั้นเล็กเกินกว่าที่กลไกทางกายภาพนี้จะสามารถดักจับไว้ได้ พวกมันจึงทะลุผ่านระบบทางเดินหายใจและเข้าสู่ปอดจนอาจลามเข้าสู่กระแสเลือดได้อีกด้วย และไม่เพียงแต่เป็นปัญหากับระบบทางเดินหายใจเท่านั้น เจ้าฝุ่นจิ๋วนี้ถ้าเราสัมผัสกับมันมากเข้าก็จะส่งผลให้เกิดอาการระคายเคืองได้ เช่น ต่อดวงตา จมูก หรือลำคอ และเป็นปกติที่ร่างกายของเราจะรับมือด้วยการ ไอ จาม หรือคัดจมูก และเชื่อหรือไม่ว่าฝุ่นพวกนี้ยังทำให้เราเสี่ยงที่จะเป็นโรคภูมิแพ้และโรคหัวใจได้อีกด้วย โดยนักวิทยาศาสตร์ได้ทำการศึกษาความเชื่อมโยงของการเพิ่มขึ้นของ PM 2.5 ในชีวิตประจำวันที่เราต้องสัมผัสว่าสามารถที่จะทำให้มนุษย์เป็นโรคหลอดลมอักเสบเรื้อรังได้ และลดประสิทธิภาพการทำงานโดยรวมของปอด เพิ่มความเสี่ยงในการเป็นโรคมะเร็งปอดและโรคหัวใจ โดยเฉพาะอย่างยิ่งในกลุ่มเด็กจะมีผลกระทบมากเป็นพิเศษ
แล้วเจ้าฝุ่นจิ๋ววายร้ายพวกนี้มาจากไหนกัน?
ความจริงคือ มาจากมนุษย์ นี่เอง ทั้งจากภายในครัวเรือนและภายนอกครัวเรือน แหล่งกำเนิดของฝุ่นจิ๋วนอกครัวเรือนอย่างเช่น ยานพาหนะต่าง ๆ ทั้งรถยนต์ จักรยานยนต์ ที่ใช้การเผาไหม้เชื้อเพลิงเป็นแหล่งพลังงานก็จะปล่อยไอเสียออกมาซึ่งในไอเสียนั้นเองที่เป็นแหล่งกำเนิดของฝุ่นจิ๋วร้ายพวกนี้ รวมถึงการเผาสิ่งต่าง ๆ ที่ทำให้เกิดควันไฟ เช่น การทำไร่เลื่อนลอยที่ต้องมีการเผาหน้าดินไปเรื่อย ๆ, การเผาเพื่อทำถ่าน, หรือการเผาเพื่อทำลายเศษกิ่งไม้ใบหญ้าตามบ้านที่เป็นแค่กองไฟเล็ก ๆ แต่แหล่งกำเนิดของฝุ่นที่มาจากแหล่งธรรมชาติก็มี เช่น การระเบิดของภูเขาไฟ การเกิดไฟป่าซึ่งทั้งสองสาเหตุนี้สามารถแพร่กระจายฝุ่นจิ๋วออกไปได้หลายร้อยตารางกิโลเมตร ส่วนกิจกรรมภายในครัวเรือนที่สามารถทำให้เกิดฝุ่นจิ๋วได้คือ การประกอบอาหาร (ที่ใช้การเผาถ่าน เช่น หมูกระทะ), การสูบบุหรี่, การจุดตะเกียงน้ำมัน
วิธีที่ดีที่สุดการรับมือฝุ่นเหล่านี้คือการร่วมมือกันของทุกคน ในการลดการใช้รถยนต์ส่วนตัว หันมาเดินทางโดยใช้ขนส่งสาธารณะให้มากขึ้น (รถไฟฟ้า BTS, รถไฟใต้ดิน MRT) การช่วยกันไม่ก่อกองไฟต่าง ๆ เพราะไม่เช่นนั้นเราอาจจะต้องอาศัยอยู่ในโลกที่ขุ่นมัวและทำร้ายสุขภาพด้วย PM 2.5 ไปตลอดกาล
แหล่งที่มา
Department of Health. (Feb 2018). Fine Particles (PM 2.5) Questions and Answers. Retrieved Nov 10, 2019, from https://www.health.ny.gov/environmental/indoors/air/pmq_a.htm
World Health Organization. (Unknown). Ambient air pollution: Pollutants. Retrieved Nov 10, 2019, from https://www.who.int/airpollution/en/
Thai PBS News. (2562, 1 ตุลาคม). "n-Breeze" แผ่นกรองนาโนเทคสู้ฝุ่น PM 2.5. สืบค้นเมื่อ 10 พฤศจิกายน 2562, จาก https://news.thaipbs.or.th/content/284745
-
11216 PM 2.5 สิ่งเล็ก ๆ ที่เรียกว่า “ร้าย” /article-science/item/11216-pm-2-5เพิ่มในรายการโปรด
-
คำที่เกี่ยวข้อง