ถอดบทเรียนการจัดการศึกษาในช่วงการระบาดของโควิด 19 ของประเทศสิงคโปร์
เป็นระยะเวลามากกว่า 1 ปีแล้ว ที่นานาประเทศและประเทศไทยได้รับผลกระทบจากการระบาดของโควิด 19 เป็นเหตุให้ทุกวงการ ทุกหน่วยงานทั้งภาครัฐและเอกชนของแต่ละประเทศต้องปรับตัวเข้ากับชีวิตวิถีใหม่ (New Normal) แม้แต่วงการการศึกษาก็ต้องรับการเรียนเปลี่ยนการสอนครั้งใหญ่ เพื่อให้นักเรียนยังคงได้รับการศึกษาที่เป็นพื้นฐานของการดำรงชีพ และการเป็นพลเมืองที่มีคุณภาพของประเทศ ในบทความนี้ ผู้อ่านจะได้เรียนรู้แนวทางการจัดการศึกษาในระดับประถมศึกษาของประเทศสิงคโปร์* ในช่วงการระบาดของโควิด 19 ซึ่งอาจนำไปปรับใช้ในการจัดการเรียนการสอนให้กับนักเรียนไทยในช่วงการระบาดของโควิด 19 ที่ประเทศเรากำลังเผชิญอยู่ในขณะนี้ สำหรับแนวทางดังกล่าว องค์กรพัฒนาวิชาชีพครูของสิงคโปร์ (Academy of Singapore Teachers - AST) โดย Dr. Cynthia Seto, Dr. Chang Suo Hui และ Dr. Tan Dai Hwee เป็นผู้แบ่งปันไว้ มีดังนี้
ประชากรประเทศสิงคโปร์
ที่มา https://www.bbc.com/news/world-asia-57167542
การจัดการศึกษาของสิงคโปร์โดยสังเขป
สิงคโปร์เชื่อว่าการศึกษาเป็นหนึ่งในปัจจัยสำคัญที่กำหนดระดับทางสังคมของคน ดังนั้น หากสามารถจัดโปรแกรมการศึกษาตามที่ได้วางแผน ออกแบบ และกำหนดคุณภาพที่เหมือนกันในทุกโรงเรียนให้กับนักเรียนทุกคน จะเป็นการเตรียมเส้นทางส่งเสริมและผลักดันให้นักเรียนได้พัฒนาตนเองอย่างเต็มขีดความสามารถ และสนับสนุนให้นักเรียนได้ทำในสิ่งที่มุ่งหวังอย่างเต็มที่ เพื่อให้นักเรียนทุกคนประสบความสำเร็จและมีสถานะทางสังคมที่ดี
สิงคโปร์ตั้งเป้าหมายทางการศึกษาหรือผลลัพธ์จากการจัดการเรียนการสอนคือ ให้นักเรียนมีความเชื่อมั่นในตัวเอง สามารถกำหนดและสร้างแนวทางการดำเนินชีวิตและการงานของตนเองได้ นักเรียนเป็นผู้ที่สามารถให้ความช่วยเหลือผู้อื่น และเป็นพลเมืองที่มีส่วนร่วมกับภาคสังคมได้ ระบบการจัดการศึกษาของสิงคโปร์ให้ความสำคัญกับ 4 เรื่องคือ การจัดการศึกษาที่เปิดกว้างและเป็นองค์รวม โดยจะพัฒนานักเรียนทั้งในด้านทักษะ สมรรถนะ อุปนิสัย และชีวิตของนักเรียนตามเป้าหมายดังกล่าวข้างต้น เรื่องที่สองคือ การใช้ภาษาแม่และความสามารถสื่อสารด้วยภาษาที่สอง รวมถึงวัฒนธรรมของสิงคโปร์และวัฒนธรรมของทุกประเทศในอาเซียน เรื่องที่สามคือ หลักสูตรที่ส่งเสริมการใช้เทคโนโลยีสารสนเทศและการสื่อสาร (Information and Communication Technology - ICT) ที่สร้างบรรยากาศการเรียนรู้ และส่งเสริมสมรรถนะสำคัญเพื่อขับเคลื่อนเศรษฐกิจฐานความรู้ และเรื่องสุดท้ายคือ การพัฒนาวิชาชีพครูทั้งก่อนประจำการและประจำการแล้ว ให้มีความเป็นมืออาชีพทั้งในส่วนของการดำรงชีวิตและการประกอบอาชีพการงาน
การจัดการเรียนการสอนในช่วงวิกฤติ
เมื่อศึกษาจุดเน้นในการจัดการศึกษา จะพบว่าสิงคโปร์ให้ความสำคัญกับการส่งเสริมการใช้เทคโนโลยีในการเรียนการสอนตั้งแต่ก่อนที่จะเกิดการระบาดของโควิด 19 แล้ว เช่น การใช้ ICT ในการค้นคว้าหรือเพิ่มพูนประสบการณ์ระหว่างเรียน การเรียนผ่านแอปพลิเคชัน การทำแบบฝึกหัดหรือโจทย์หลังจากเรียนในชั้นเรียน ตลอดจนการทบทวนบทเรียนในภายหลังทั้งที่โรงเรียนและที่บ้าน อย่างไรก็ตาม ในช่วงที่ประชาชนชาวสิงคโปร์ติดเชื้อโควิด 19 เป็นจำนวนมาก สิงคโปร์ได้เปลี่ยนรูปแบบการจัดการศึกษาจากแบบปกติเป็นการจัดการเรียนรู้ที่บ้านอย่างเต็มรูปแบบ (Home-Based Learning - HBL ให้กับผู้เรียนทุกระดับชั้นตั้งแต่ประถมศึกษาจนถึงอุดมศึกษา ระหว่างเดือนเมษายน - พฤษภาคม พ.ศ. 2563 โดยปรับเปลี่ยนการเรียนการสอนแบบพบหน้ากันเป็นเรียนผ่านแอปพลิเคชันต่าง ๆ ใช้การเรียนการสอนแบบห้องเรียนกลับด้าน (Flipped Classroom) โดยให้นักเรียนศึกษาหัวข้อต่าง ๆ จากวีดิทัศน์ที่ครูบันทึกไว้ ซึ่งครูอาจเลือกบันทึกวีดิทัศน์ผ่านโปรแกรมต่าง ๆ เช่น YouTube, Loom, Tik Tok หรือ PowerPoint เพื่อให้นักเรียนได้ศึกษาเนื้อหาตามหลักสูตร มีการมอบหมายงานให้นักเรียนแต่ละคนทำตามโจทย์หรือคำสั่งตามลำดับที่ครูวางแผนไว้ หรือตามลำดับขั้นตอนที่กำหนดไว้ในแต่ละแอปพลิเคชัน โดยใช้สื่ออุปกรณ์ที่พอจะหาได้ภายในบ้านแทน มีการใช้โปรแกรมการเรียนออนไลน์ที่ส่งเสริมความร่วมมือและมีปฏิสัมพันธ์กันผ่านหน้าจอคอมพิวเตอร์ ด้วยการใช้โปรแกรมต่าง ๆ เช่น Google Classroom, Nearpod การใช้แอปพลิเคชันต่าง ๆ หรือการใช้สื่ออุปกรณ์ภายในบ้านล้วนอยู่ภายใต้หลักการเดียวกันคือ จะทำอย่างไรให้การเรียนการสอนที่กำลังเกิดขึ้นนั้นเป็นประโยชน์กับนักเรียนมากที่สุด และการปรับเปลี่ยนวิธีสอนดังกล่าวสามารถสรุปเป็นตาราง ดังนี้
การเรียนการสอนปกติ | ⇒ | การเรียนรู้ที่บ้าน Home-Based Learning (HBL) |
การสอนในชั้นเรียนตามปกติ | การสอนด้วยวีดิทัศน์ การสอนผ่านสื่อออนไลน์ | |
การเรียนรู้ผ่านการทำกิจกรรมในชั้นเรียน | การเรียนรู้จากสิ่งของที่หาได้ในบ้าน ชีวิตจริง, การเรียนผ่านแอปพลิเคชัน |
|
การสืบค้นหาคำตอบที่นำโดยครู | การเรียนรู้ สืบค้น ทำแบบฝึกหัดไปตามลำดับของโปรแกรมที่ใช้ | |
กลวิธีการสอนที่เหมาะสมของแต่ละวิชา | การปฏิบัติการเสมือนจริง และประสบการณ์จริงในชีวิตประจำวันของนักเรียน |
เมื่อวิธีการสอนเปลี่ยนจากการพบหน้ากันไปเป็นการเรียนที่บ้าน บทบาทของครูจากที่เคยมีปฏิสัมพันธ์กับนักเรียนและดูแลอย่างใกล้ชิดในชั้นเรียนจึงหายไป เหลือเพียงการออกแบบกิจกรรมและประสบการณ์การเรียนรู้ การใช้คำถาม และการแก้ไขสิ่งที่นักเรียนเข้าใจผิดหรือคลาดเคลื่อนในเรื่องต่าง ๆ ในขณะเดียวกันบทบาทของนักเรียนก็เปลี่ยนไปด้วยเช่นเดียวกัน คือ ต้องสื่อสารผ่านระบบเทคโนโลยีแทนการพบครูโดยตรง รวมถึงต้องศึกษาวิธีการเรียนรู้ด้วยตัวเอง นอกจากครูและนักเรียนที่ต้องปรับบทบาทเกี่ยวกับการเรียนการสอนแล้ว ผู้ปกครองก็เป็นอีกบุคคลหนึ่งที่ต้องมีบทบาทในการเรียนการสอนเพิ่มมากขึ้นในช่วงวิกฤติ คือต้องคอยดูแลช่วยเหลือนักเรียนแทนครูทั้งด้านสังคมและอารมณ์ ด้านเนื้อหา ตลอดจนการใช้เทคโนโลยี ดังแสดงในตาราง 1
ตาราง 1 บทบาทของผู้เกี่ยวข้องในการเรียนการสอนแบบพบหน้ากันกับการเรียนรู้ที่บ้าน
บุคคล | บทบาทในการเรียนการสอน | |
แบบพบหน้า | แบบเรียนรู้ที่บ้าน | |
ครู |
1. คอยดูแลใกล้ชิดด้านสังคมและอารมณ์ 2. ออกแบบกิจกรรม ประสบการณ์การเรียนรู้การใช้คำถาม และตรวจสอบสิ่งที่นักเรียนเข้าใจคลาดเคลื่อน 3. เป็นผู้นำให้นักเรียนได้สืบค้นตามที่ครูวางแผน |
1. ออกแบบกิจกรรม ประสบการณ์การเรียนรู้การใช้คำถาม และตรวจสอบสิ่งที่นักเรียนเข้าใจคลาดเคลื่อน 2. ใช้ ICT ในการสอน และช่วยเหลือนักเรียนในการใช้เทคโนโลยี 3. การนำนักเรียนในการสืบค้นลดลง เนื่องจากการใช้แอปพลิเคชันมักจะมีขั้นตอนกระบวนการที่ต้องทำตามที่เฉพาะเจาะจงอยู่แล้ว |
นักเรียน |
1.เรียนรู้ในชั้นเรียนด้วยความช่วยเหลือจากครู 2. ใช้เทคโนโลยีค้นหาข้อมูล ทำแบบฝึกหัด ทบทวนบทเรียน |
1. เรียนรู้ด้วยตนเอง (ผ่านระบบเทคโนโลยีและแอปพลิเคชันต่าง ๆ ) 2. เรียนรู้และพัฒนาทักษะการใช้เทคโนโลยี |
ผู้ปกครอง |
1. สนับสนุนการเรียนรู้ของนักเรียน 2. ติดต่อสื่อสารตามวาระที่กำหนด |
1. คอยดูแลใกล้ชิดด้านสังคมและอารมณ์ด้านเนื้อหาวิชา และการใช้เทคโนโลยี 2. ติดต่อสื่อสารให้ครูทราบการเรียนรู้ของนักเรียน |
ปัญหา วิธีแก้ไข และผลพลอยได้จากวิกฤติโควิด 19
1. นักเรียนมีความเครียดจากการไม่ได้พบครูและเพื่อนนักเรียนด้วยกัน
2. ความไม่เสมอภาคในการเข้าถึงสื่อเทคโนโลยี
จากปัญหาดังกล่าว สิงคโปร์ได้แก้ปัญหาข้อแรก ดังนี้
1. เพิ่มเวลาการใช้โปรแกรมและแอปพลิเคชันที่นักเรียนได้พบครูและเพื่อนนักเรียนมากขึ้น
2. ขอความร่วมมือผู้ปกครองในการเป็นผู้อำนวยความสะดวกและคอยช่วยเหลือนักเรียนแทนครู และติดต่อสื่อสารกับครูมากขึ้น เพื่อแก้ปัญหาได้อย่างมีประสิทธิภาพยิ่งขึ้นและทันท่วงที
ส่วนปัญหาการเข้าถึงสื่อเทคโนโลยีนั้น สิงคโปร์วางแผนงานเดิมไว้ว่านักเรียนในระดับมัธยมศึกษาทุกคนจะได้รับเครื่องมือหรือสื่ออุปกรณ์ที่ใช้ในการเรียนรู้ เพื่อเตรียมนักเรียนให้มีทักษะที่จำเป็นในศตวรรษที่ 21 ภายในปี ค.ศ. 2028 แต่เมื่อเกิดการระบาดของโควิด 19 จึงได้ปรับแผนดังกล่าวมาเป็นภายในปี ค.ศ. 2021 นอกจากนี้ สิงคโปร์ยังส่งเสริมการใช้เทคโนโลยีในการเรียนรู้สำหรับนักเรียนเฉพาะกลุ่ม เช่น เด็กเล็ก เด็กเรียนอ่อน เด็กที่มีความต้องการพิเศษ และเด็กในกลุ่มเสี่ยงอีกด้วยโดยมีการเลือกใช้โปรแกรมหรือแอปพลิเคชันที่เหมาะสมกับเด็กแต่ละกลุ่ม เช่น ใช้การคลิกเมาส์เป็นหลักแทนการใช้แป้นพิมพ์สำหรับเด็กเล็กใช้จำนวนคำสั่งในการทำกิจกรรมน้อยลงสำหรับเด็กเรียนอ่อน
นอกจากนี้ สิงคโปร์ยังได้ทบทวนเพื่อวางแผนต่อไปด้วยว่า จะใช้ ICT ในการเรียนการสอนอย่างไรให้เกิดประสิทธิภาพสูงสุด โดยมีข้อพิจารณาดังนี้
ㆍ ความสะดวก ความคล่องตัวในการเรียนการสอน
ㆍ โอกาสในการมีปฏิสัมพันธ์ของนักเรียนกับเพื่อน ครู เนื้อหาวิชา และชุมชน
ㆍ การส่งเสริมกระบวนการเรียนรู้ การได้รับความรู้ ตลอดจนทักษะในการใช้ ICT
การจัดการศึกษาในช่วงการระบาดของโควิด 19 ดังกล่าวข้างต้น สิงคโปร์ได้บรรจุรูปแบบการเรียนรู้ที่บ้าน (HBL) เป็นส่วนหนึ่งของการจัดการศึกษาในช่วงปกติต่อไป อย่างไรก็ตาม แม้ว่า HBL จะช่วยให้การดำเนินการเรียนการสอนเกิดขึ้นได้อย่างดีในช่วงวิกฤติ สามารถส่งเสริมให้นักเรียนฝึกกำหนดแนวทางการเรียนรู้ของตัวเองโดยไม่ต้องพึ่งพาผู้อื่น ฝึกความเป็นระเบียบและสามารถจัดการชีวิตของตนเองได้ แต่เนื่องจากการเรียนรู้เป็นกิจกรรมทางสังคมที่ช่วยส่งเสริมพัฒนาการด้านสังคมและอารมณ์ ดังนั้น การศึกษาแบบปกติที่พบหน้ากันยังเป็นสิ่งจำเป็น จึงทำให้เกิดแนวคิดในการจัดการเรียนรู้แบบผสมผสาน (Blended Learning) ระหว่างการเรียนที่โรงเรียนและการเรียนที่บ้าน ซึ่งสิงคโปร์ได้ศึกษาเรื่องนี้มาระยะหนึ่งแล้วก่อนหน้าที่จะประสบกับช่วงวิกฤติ เกิดเป็นภาพของการจัดการเรียนรู้นี้ที่ชัดเจนมากขึ้น และสามารถใช้เป็นแนวทางในการจัดการเรียนการสอนต่อไปในอนาคต รายละเอียดเกี่ยวกับการจัดการเรียนรู้แบบผสมผสาน (Blended Learning) ติดตามได้ในฉบับต่อไป
สิ่งที่ได้เรียนรู้จากการแบ่งปันของสิงคโปร์
การศึกษาการจัดการเรียนการสอนของสิงคโปร์ในช่วงวิกฤติดังกล่าว จะเห็นได้ชัดเจนว่าสิงคโปร์สามารถเปลี่ยนวิกฤติที่เกิดขึ้นให้เป็นโอกาสได้อย่างดีเยี่ยม โดยเฉพาะการอำนวยให้การเรียนการสอนดำเนินไปได้อย่างมีประสิทธิภาพ แม้จะอยู่ในช่วงวิกฤติก็ตาม
ประชากรประเทศสิงคโปร์
หากวิเคราะห์ให้ลึกลงไปถึงปัจจัยหรือที่มาของการรับมือกับการเรียนการสอนในช่วงวิกฤติได้อย่างน่าชื่นชม ก็น่าจะมาจากสิงคโปร์มีความเป็นเลิศในด้านการวางแผนอย่างเป็นระบบ มีการศึกษาวิธีการเรียนการสอนใหม่ๆ ในแบบต่าง ๆ ที่สามารถนำมาปรับใช้ในช่วงวิกฤติได้ทันท่วงที และหากพิจารณาด้านแหล่งเรียนรู้และทรัพยากรทางการศึกษา จะพบว่ามีการจัดเตรียมและเพิ่มจำนวนสื่ออุปกรณ์ (ICT) ตลอดจนขอความร่วมมือจากผู้ปกครองและชุมชน เพื่อสนับสนุนการเรียนรู้ของนักเรียนทุกกลุ่มอย่างเต็มที่ อีกด้านหนึ่งที่สำคัญมากเช่นกันก็คือ ทุกโรงเรียนนำไปใช้และปฏิบัติตามแผนอย่างจริงจัง ทำให้การเรียนรู้เกิดขึ้นอย่างเป็นรูปธรรมและมีประสิทธิภาพ
นอกจากนี้ ในทางปฏิบัติเรายังได้เรียนรู้อีกว่า การที่จะนำโปรแกรมหรือแอปพลิเคชันใดมาใช้ จะต้องมีการพิจารณาเครื่องมือเหล่านั้นก่อนว่ามีความเหมาะสมกับวัยของนักเรียนหรือไม่ นักเรียนสามารถเรียนรู้ด้วยตนเองได้ในระดับใด ส่งเสริมการเรียนรู้มากน้อยเพียงใด สนับสนุนการเรียนแบบร่วมมือหรือส่งเสริมการทำงานเป็นกลุ่มหรือไม่ ซึ่งทั้งหมดนี้ก็เพื่อทำให้การเรียนรู้นั้นๆ มีความหมายต่อตัวนักเรียนนั่นเอง
* สิงคโปร์เป็นประเทศหนึ่งในกลุ่มประเทศที่นักเรียนมีสมรรถนะสูงที่สุด ในการสอบตามโปรแกรมประเมินสมรรถนะนักเรียนมาตรฐานสากล (PISA) ที่ดำเนินการโดยองค์การเพื่อความร่วมมือทางเศรษฐกิจและการพัฒนา (OECD)
บทความนี้เป็นส่วนหนึ่งของนิตยสาร สสวท. ปีที่ 49 ฉบับที่ 230 พฤษภาคม - มิถุนายน 2564
ผู้อ่านสามารถติดตามบทความที่น่าสนใจเพิ่มเติมได้ที่ https://emagazine.ipst.ac.th/230/36/
บรรณานุกรม
Chang, Suo Hui. (2021). Sharing on distance learning from a teacher’s perspective. Distance Learning in the Time of Crisis: The Singapore Experience. The Institute for the Promotion of Teaching Science and Technology. Bangkok. Online Lecture.
Pak, Tee Ng. (2017). Learning From Singapore: The Power of Paradoxes. New York: Routledge.
Seto, Cynthia. (2021). Overview of the focus of Mathematics and Science learning in Singapore. Distance Learning in the Time of Crisis: The Singapore Experience. The Institute for the Promotion of Teaching Science and Technology. Bangkok. Online Lecture.
Tan, Dai Hwee. (2021). Sharing on COVID-19 and the future of education. Distance Learning in the Time of Crisis: The Singapore Experience. The Institute for the Promotion of Teaching Science and Technology. Bangkok. Online Lecture.
-
12887 ถอดบทเรียนการจัดการศึกษาในช่วงการระบาดของโควิด 19 ของประเทศสิงคโปร์ /other-article/item/12887-19เพิ่มในรายการโปรด
-
คำที่เกี่ยวข้อง