"มด" สัตว์จิ๋วแต่แจ๋ว!!
"มด" สัตว์จิ๋วแต่แจ๋ว !!
เร็ว ๆ นี้ทุกคนคงมีโอกาสได้ชมภาพยนตร์ "ANT MAN" มนุษย์มดมหากาฬ หนังคุณภาพดี ที่หยิบยกสัตว์ตัวจิ๋วอย่าง "มด" มากลายเป็นวีรบุรุษฮีโร่ช่วยเหล่ามนุษย์
แต่ในความเป็นจริงแล้ว "มด" ก็หาได้เป็นแค่สัตว์ตัวเล็ก ๆ ไร้ประสิทธิภาพไม่ มันเป็นสัตว์จิ๋วแต่แจ๋ว ที่สร้างความน่าประหลาดใจอยู่ไม่น้อยเลยทีเดียวค่ะ
มด เป็นแมลงในวงศ์ Formicidae อันดับ Hymenoptera มดมีการสร้างรังเป็นอาณาจักรขนาดใหญ่ บางรังมีจำนวนประชากรมากถึงล้านตัว มีการแบ่งวรรณะกันทำหน้าที่คือ วรรณะมดงาน เป็นมดเพศเมียเป็นหมัน ทำหน้าที่หาอาหาร สร้างและซ่อมแซมรัง ปกป้องรังจากศัตรู ดูแลตัวอ่อน และงานอื่น ๆ ทั่วไป เป็นวรรณะที่พบได้มากที่สุด วรรณะสืบพันธุ์ เป็นมดเพศผู้ และราชินี เพศเมีย มีหน้าที่สืบพันธุ์ เนื่องจากมดเป็นสัตว์ในวงศ์ Formicidae จึงสามารถผลิต กรดมดหรือกรดฟอร์มิก ได้เป็นลักษณะเฉพาะของสัตว์ในวงศ์นี้
ความ “แจ๋ว” ของ “มด” !!
นักขุดเจาะ
มดนั้นเป็นสัตว์นักขุดเจาะโดยธรรมชาติ มันสามารถทำได้หลายหน้าที่ทั้งขนย้าย ตัดชิ้นส่วน ปรับพื้นผิวเพื่อให้เหมาะแก่การสร้างอาณาจักรอันยิ่งใหญ่ โดยใช้ขากรรไกร ขา และหนวดในการแต่งทรงดิน/ทรายให้เป็นก้อนกลมเล็กคล้ายลูกบอล แล้วค่อยๆ ลำเลียงขึ้นไปยังพื้นผิวดิน สร้างเป็นเนินรังมดขึ้นมา
จอมพลัง
รู้หรือไม่ว่า สัตว์ตัวจิ๋วอย่างมด สามารถยกของหนักมากกว่าน้ำหนักตัวได้ 50 เท่า !!
ใครว่าเจ็บนิดเดียวเหมือนมดกัด ?
Bullet Ant (มดกระสุน) เเมลงที่ต่อยเจ็บที่สุดในโลก ความสามารถในการต่อยเจ็บราวกับถูกกระสุนปืนยิง ความเจ็บปวดให้เราทนทุกข์ทรมานอยู่ราว ๆ 24 ชั่วโมง
เป็นตู้เก็บอาหาร
มดน้ำผึ้ง (honey ant) มดชนิดนี้จัดเก็บอาหารสำรองไว้ในตัวในรูปของอาหารเหลวและน้ำ จนกระทั่งส่วนท้ายที่เป็นท้องของตัวมดจะขยายออกไปเท่ากับเมล็ดถั่วทีเดียว
ทำไมมดชอบจูบกัน
เราชอบเห็นมดจูบกันอยู่บ่อย ๆ นั้น แท้จริงแล้วพวกมดมันกำลังสื่อสารกัน ด้วยหนวดต่างหาก เมื่อเพื่อนมดตัวหนึ่งหิว ก็จะเอาหนวดไปเคาะที่แก้มของมดงานที่ออกหาอาหาร มดงานก็จะปล่อยอาหารที่เก็บไว้ที่กระเพาะหน้าออกมาแบ่งให้เพื่อน ๆ ส่วนในกระเพาะหลังเก็บอาหารไว้กินเอง
กลิ่น "มด" กลิ่นมหัศจรรย์
มดมีกลิ่นพิเศษเฉพาะตัวที่ผลิตขึ้นมาเอง ในทางวิทยาศาสตร์บอกว่ากลิ่นนั้นเป็นสารเคมีของฮอร์โมนชนิดหนึ่งเรียกว่า "ฟีโรโมน" ฟีโรโมนเป็นสารเคมีที่สุดใช้ในการติดต่อสื่อสาร และบอกทางกัน เมื่อมดตัวหนึ่งพบอาหาร มันจะปล่อยกลิ่นออกมาจากปลายท้อง และระหว่างที่เดินกลับรังก็จะใช้ส่วนท้องแตะทางเดินไปตลอดทาง เพื่อแจ้งข่าวให้เพื่อนมดด้วยกันรู้ถึงแหล่งอาหาร เมื่อมดตัวอื่น ๆ ได้กลิ่น ก็จะเดินตามกันเป็นแถวเพื่อกิน และขนอาหารกลับรัง ถ้ายังมีอาหารเหลืออยู่ ในระหว่างขนอาหารกลับ ก็จะปล่อยฟีโรโมนเพิ่มขึ้นเรื่อย ๆ แต่ถ้าอาหารหมดแล้ว มดก็จะไม่กลับไปที่แหล่งอาหารนั่นอีก
นอกจากนี้ มดยังปล่อยฟีโรโมน เพื่อเตือนภัยกับสมาชิกในกลุ่ม เมื่อได้รับอันตราย มดก็จะปล่อยฟีโรโมนออกมา สมาชิกมดก็จะมาอยู่รวมกันเป็นกลุ่ม และมีปฏิกิริยาโต้ตอบกับผู้บุกรุกทันที
แพมด
มดคันไฟสามารถเกาะตัวกันเป็นแพ เมื่อเกิดน้ำท่วมขึ้น มดบางส่วนจะเสียสละตัวเองทำตัวเป็นแพมีชีวิต ให้ มด บางตัวขึ้นไปอยู่ด้านบน เพื่อหนีภัยน้ำท่วม ถึงแม้ตัวเองจะต้องจมน้ำตาย
มดจะใช้เวลาเพียงไม่นานเพื่อสร้างแพขึ้นมา โดยใช้ขากรรไกรและขายึดเกาะกันไว้ "แพมด" มีลักษณะคล้ายแพนเค้ก ฐานล่างของแพประกอบด้วยมดประมาณครึ่งหนึ่งของทั้งรัง ซึ่งพวกมันจะจมอยู่ใต้และจะเกาะตัวกันอย่างหนาแน่น เพื่อพยุงน้ำหนักของมดตัวอื่นๆที่อยู่ด้านบน ซึ่งได้แก่มดที่มีหน้าที่ต่างๆ ตัวอ่อน และราชินีมด ซึ่งทั้งหมดก็เปรียบเสมือนผู้โดยสาร บางรังอาจมีประชากรหลายแสนตัว อาจสร้างแพได้ใหญ่กว่าครึ่งเมตร และสามารถลอยบนน้ำอยู่ได้หลายอาทิตย์หรือเป็นเดือน จนกว่าจะเจอแผ่นดินที่สร้างมารถสร้างรังใหม่ได้
แพของมดคันไฟ ปรับเปลี่ยนได้ตามสถาณการณ์ มดทุกตัวสามารถสลับที่กันได้ มดที่อยู่ด้านล่างอาจขึ้นไปด้านบน และมดด้านบนก็สามารถลงไปด้านล่างได้อย่างรวดเร็ว ในกรณีที่สมาชิกสูญหายไปกับกระแสน้ำหรือถูกปลากิน
ขอบคุณข้อมูลจาก
http://teen.mthai.com/variety/50766.html
www.ความรู้รอบตัว.com/ สาระน่ารู้/สาระน่ารู้เรื่องสัตว์/เรื่องน่าทึ่งของมด.html
https://yuikiyui.wordpress.com/2007/09/02/มหัศจรรย์แห่ง-มด
http://www.indepencil.com/มดคันไฟกับแพที่มีชีวิต
-
4747 "มด" สัตว์จิ๋วแต่แจ๋ว!! /article-biology/item/4747-qq-1026เพิ่มในรายการโปรด