เมื่อทารกลืมตาดูโลก สายใยรักสายใยชีวิตระหว่างแม่และลูกน้อยในครรภ์อย่างสายสะดือจะต้องถูกตัดออก ส่วนที่อยู่นอกร่างกายจะหดตัวเหลือเป็นสะดือที่มองเห็นได้ แล้วเคยสงสัยหรือไม่ว่า เกิดอะไรขึ้นกับส่วนของสะดือที่อยู่ด้านในร่างกาย?
ภาพที่ 1 สะดือ
ที่มา freestocks/Unsplash
ในสัตว์เลี้ยงลูกด้วยนม สายสะดือ (Umbilical cord) เป็นท่อที่เชื่อมระหว่างรกและตัวอ่อนที่กำลังเจริญเติบโตในครรภ์ มีความยาวประมาณ 50-70 เซนติเมตร และมีเส้นผ่านศูนย์กลางประมาณ 1-2 เซนติเมตร ประกอบด้วยเส้นเลือดดำ 1 เส้นคอยทำหน้าที่นำส่งเลือดที่อุดมไปด้วยอาหารและออกซิเจนจากรกไปสู่ทารกในครรภ์ และเส้นเลือดแดง 2 เส้นที่ทำหน้าที่ในการลำเลียงของเสียออกจากร่างกายของทารก โดยเส้นเลือดทั้งหมดนี้จะถูกห่อหุ้มด้วยเนื้อเยื่อเกี่ยวพันที่มีลักษณะคล้ายเมือกที่เรียกว่า Wharton’s jelly
สายสะดือจะหยุดการทำหน้าที่ที่สำคัญในการขนส่งเลือดไปมาระหว่างแม่และลูกเมื่อถูกตัดขาดด้วยเครื่องมือแพทย์ภายหลังการคลอด โดยสายสะดือที่ถูกตัดออกนั้นจะค่อย ๆ แห้ง เปลี่ยนเป็นสีดำ ก่อนจะหลุดออกในช่วงสัปดาห์แรกและกลายเป็นสะดือที่มองเห็นได้บนร่างกาย แต่จะมีใครสนใจบ้างว่ามีอะไร
ภาพที่ 2 ภาพตัดขวางของสายสะดือ
ที่มา wikipedia.org
สำหรับสิ่งที่เกิดขึ้นหลังสะดือภายในของร่างกายนั้น หลังจากที่ทารกคลอดและหายใจได้เองครั้งแรก เลือดจะเปลี่ยนเส้นทางการไหลเวียนไปที่ปอด จึงทำให้เส้นเลือดที่เป็นส่วนประกอบของสายสะดือหยุดการทำงาน โดยเส้นเลือดแดง 2 เส้นจะหดตัวเพื่อหยุดการไหลเวียนของเลือดที่รก ส่วนเส้นเลือดดำก็จะยุบตัวลงอย่างช้า ๆ และฟอร์มตัวเป็นเส้นเอ็นซึ่งเป็นเนื้อเยื่อเกี่ยวพัน โดยเส้นเอ็นเหล่านี้จะแบ่งตับออกเป็นส่วน ๆ และยังคงมีบางส่วนที่ยึดติดกับสะดือด้านใน
ส่วนของเส้นเลือดแดงและเส้นเลือดดำที่อยู่ใกล้เคียงกับสะดือมากที่สุดจะเสื่อมสภาพลงและกลายเป็นเส้นเอ็นที่ยึดติดอยู่กับสะดือด้านในโดยไม่มีหน้าที่เกี่ยวข้องกับการทำงานของระบบต่างๆ ในร่างกาย และมีบางส่วนที่จะกลายเป็นส่วนหนึ่งของระบบไหลเวียนเลือดในบริเวณของเชิงกราน ซึ่งไหลเวียนเลือดไปยังส่วนต่าง ๆ ของกระเพาะปัสสาวะ ท่อไต และท่ออสุจิ ทั้งนี้ในบางคนอาจมีความผิดปกติจากการฟอร์มตัวของสายสะดือภายหลังการคลอดเช่น ภาวะปัสสาวะรั่วออกทางสะดือ (Patent urachus) เป็นต้น
ตอนนี้ทุกคนคงได้ทราบแล้วว่าสายสะดือซึ่งครั้งหนึ่งเคยเป็นสายชีวิตที่เชื่อมระหว่างแม่และทารกในครรภ์จะเปลี่ยนเป็นเส้นเอ็นและยังมีการเชื่อมต่อกับการขนส่งเลือดภายในร่างกาย ดังนั้นหากมีคู่สนทนาที่สงสัยเกี่ยวกับสายสะดือที่หายไป ความรู้ดังกล่าวจะช่วยให้คุณให้คำตอบกับบุคคลเหล่านั้นได้
แหล่งที่มา
Hannah Dahlen. (2017, 26 October). I’ve always wondered: what’s behind the belly button?
Retrieved December 25, 2017,
from https://theconversation.com/ive-always-wondered-whats-behind-the-belly-button-84598
Hannah Dahlen. (2015, 15 June). Delay clamping babies’ umbilical cords for better health and development.
Retrieved December 25, 2017,
from https://theconversation.com/delay-clamping-babies-umbilical-cords-for-better-health-and-development-42406
Umbilical cord.
Retrieved December 25, 2017,
from https://en.wikipedia.org/wiki/Umbilical_cord
สถาบันส่งเสริมการสอนวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยี (สสวท.) กระทรวงศึกษาธิการ เป็นหน่วยงานของรัฐที่ไม่แสวงหากำไร ได้จัดทำเว็บไซต์คลังความรู้ SciMath เพื่อส่งเสริมการสอนวิทยาศาสตร์ คณิตศาสตร์และเทคโนโลยีทุกระดับการศึกษา โดยเน้นการศึกษาขั้นพื้นฐานเป็นหลัก หากท่านพบว่ามีข้อมูลหรือเนื้อหาใด ๆ ที่ละเมิดทรัพย์สินทางปัญญาปรากฏอยู่ในเว็บไซต์ โปรดแจ้งให้ทราบเพื่อดำเนินการแก้ปัญหาดังกล่าวโดยเร็วที่สุด
The Institute for the Promotion of Teaching Science and Technology (IPST), Ministry of Education, a non-profit organization under the Thai government, developed SciMath as a website that provides educational resources in Science, Mathematics and Technology. IPST invites visitors to use its online resources for personal, educational and other non-commercial purpose. If there are any problems, please contact us immediately.
Copyright © 2018 SCIMATH :: คลังความรู้ SciMath. Terms and Conditions. Privacy. , All Rights Reserved.
อีเมล: This email address is being protected from spambots. You need JavaScript enabled to view it. (ให้บริการในวันและเวลาราชการเท่านั้น)