ผักแปม สมุนไพรปรับสมดุลร่างกาย
ในยุคสังคมออนไลน์ปัจจุบันการเจริญของเทคโนโลยีและการเติบโตของสังคมเมือง ทำให้คนเรามีความสะดวกสบายในการดำรงชีวิตประจำวันมากขึ้น แต่ในขณะเดียวกันคนเราก็เผชิญกับความเครียด การดำรงชีวิตในสังคมเมือง การทำงาน การเดินทางที่เร่งรีบ มีความเสี่ยงกับการที่ได้รับกับมลภาวะต่าง ๆ มากมาย มีความเสี่ยงต่อการได้รับสารพิษหรือสารที่ก่อโรคจากสิ่งแวดล้อมที่อยู่อาศัย รวมทั้งเครี่องอุปโภคบริโภคต่าง ๆ ทำให้ร่างกายของเราต้องพยายามปรับตัวและรักษาสมดุลของร่างกายให้อยู่ในภาวะที่ดีอยู่เสมอ การที่ร่างกายได้รับ สารทีช่วยปรับสมดุล เพื่อทำให้ร่างกายมีสุขภาพดี จึงเป็นทางเลือกที่ดีของคนเราในปัจจุบัน
ดร. ปองทิพย์ สิทธิสาร จากภาควิชาเภสัชวินิจฉัย คณะเภสัชศาสตร์ มหาวิทยาลัยมหิดล ได้กล่าวไว้ในบทความเผยแพร่ความรู้สู่ประชาชน เรื่อง ผักแปม สมุนไพรปรับสมดุล ว่า การได้รับสารที่ส่งเสริมให้ร่างกายมีสุขภาพดี เป็นทางเลือกของคนในยุคปัจจุบัน เป็นที่มาของคำว่า สารปรับสมุล (adaptogens) ที่จะช่วยให้ร่างกายปรับสภาพ ให้สามารถมีความทนทานต่อความเครียดทางกายภาพ ชีวภาพ อารมณ์ เป็นต้น
ภาพ ลักษณะใบและก้านใบของ ผักแปม
ขอบคุณ ภาพจาก ภาควิชาเภสัชวินิจฉัย คณะเภสัชศาสตร์ มหาวิทยาลัยมหิดล
ลักษณะทางพฤกษศาสตร์ ผักแปมจัดเป็นพืชสมุนไพร มีชื่อทางวิทยาศาสตร์ว่า อะแคนโทพาแนกซ์ ไตรโฟเลียทัส (Acanthopanax trifoliatus Merr.) ซึ่งเป็นพืชสมุนไพรอยู่ในวงศ์เดียวกันกับพืชพวกโสม คือ วงศ์อะราเลียซีอี (Araliaceae) ผักแปมจัดเป็นไม้พุ่มหรือพุ่มกึ่งยืนต้น
ลำต้น สูงประมาณ 1 – 2 เมตร กิ่งก้านอ่อนมีสีเขียว มีหนามกระจายอยู่ทุกส่วนของลำต้น
ใบ มีลักษณะยาวรี รูปไข่ ขอบใบมีลักษณะหยักคล้ายกับฟันเลื่อย ปลายใบแหลม มีเส้นใบเห็นชัดทั้งด้านบนและด้านล่างของใบ ก้านใบยาว 5 – 6 เซ็นติเมตร แต่ละก้านใบมีใบย่อยแยกออกเป็น 5 ใบ ใบที่อยู่ตรงกลางจะมีขนาดใหญ่สุด ขนาดของใบกว้างประมาณ 2 – 3 เซ็นติเมตร ยาว 4 – 7 เซ็นติเมตร
ดอก ออกเป็นช่อตามปลายกิ่ง ก้านช่อดอกยาว 2 – 7 เซ็นติเมตร ดอกมีจำนวนมากติดเป็นกระจุกที่ปลายก้าน มีกลีบดอก 5 กลับ
ผล มีลักษณะแบนมีขนาดกว้างและยาวประมาณ 3 – 4 มิลลิเมตร
ผักแปม จัดเป็นผักพื้นบ้านของประเทศไทย ขึ้นเจริญอยู่ทางภาคเหนือของประเทศและทางภาคอิสานที่อยู่ติดกับภาคเหนือ ประชาชนนิยมปลูกตามริมบ่อน้ำ หนอง สระน้ำ ลำธารที่มีน้ำไหลและมีแสงแดดส่องทั่วถึงแปลงที่ปลูก
การใช้ผักแปมเป็นอาหาร
ประชาชนทางภาคเหนือนิยมรับประทานใบอ่อนและยอด เป็นผักสดแกล้มกับลาบ จิ้มน้ำพริก ทำเป็นแกงอ่อม ทำให้มีรสกลมกล่อมฝาดขมเล็กน้อย
สรรพคุณทางการแพทย์
ดร.ปองทิพย์ สิทธิสาร ยังได้กล่าวว่าทางการแพทย์แผนไทย ใช้ใบอ่อนและยอดของผักแปมรับประทาน บำรุงร่างกาย แก้อาการอ่อนเพลีย รักษาเลือดคั่งในแผลฟกช้ำ รากและเปลือกลำต้นใช้บำรุงร่างกาย รักษาเบาหวาน ฤทิ์ของผักแปมซึ่งจัดเป็นสมุนไพรไทยนั้น ตามตำราแพทย์แผนไทยที่ใกล้เคียงกับ การปรับสมดุล และต้านการออกซิเดชั่นได้แก่ ถอนพิษ ฟอกโลหิต บำรุงตับ บำรุงร่างกาย บำรุงกำลัง แก้อ่อนเพลีย ทำให้ร่างกายสมบูรณ์ และเป็นยาอายุวัฒนะ
สารปรับสมดุล หมายความถึง สารที่เพิ่มความสามารถของร่างกายในการปรับตัวให้เข้ากับความเครียดภายในร่างกายและจากสิ่งแวดล้อมที่อยู่รอบ ๆ ตัว โดยกระตุ้นระบบภูมิคุ้มกัน ระบบประสาท และการทำงานของระบบต่าง ๆ ภายในร่างกาย เพื่อความทนทานของอวัยวะต่าง ๆ ต่อความเครียด และสิ่งแวดล้อม รวมถึงรักษาการทำงานของระบบเมแทบอไลท์ของร่างกาย ให้ปกติและมีประสิทธิภาพ มีฤทธิในการนำสมดุลกลับคืนสู่ร่างกาย (balancing) บำรุงร่างกาย (tonic) และยังช่วยชลอความเสื่อมสภาพของคนเรา ลดการเกิดออกซิเดชั่น (oxidation)
มีรายงานทาง หนังสือพิมพ์ เดลินิวส์ ฉบับวันเสาว์ที่ 10 มกราคม 2558 เรื่อง ผักแปม พืชสมุนไพรไทย – ต้นไม้ชายคา มีการศึกษาวิจัยเบื้องต้นในหลอดทดลอง พบว่าส่วนต่าง ๆ ของผักแปมแสดงฤทธิ์ในด้าน การต้านออกซิเดชั่นได้ดี โดยเฉพาะส่วนของรากและใบอ่อนของผักแปม มีฤทธิ์ที่ดีมากในการต้านอนุมูลอิสระ ยับยั้งการเกิดออกซิเดชั่นของเซลล์สมองของหนู และยังยับยั้งเอนไซม์ที่เกี่ยวข้องกับการเกิดอัลไซเมอร์ และจากการศึกษาในสัตว์ทดลองยังพบว่า สารสกัดน้ำของใบผักแปมยังได้แสดงฤทธิ์ในการต้านการวิตกกังวล ต้านอักเสบ และส่งเสริมความจำ การเรียนรู้ในสัตว์ทดลองอีกด้วย และเมื่อได้ศึกษาความเป็นพิษเฉียบพลันในสัตว์ทดลอง พบว่าสารสกัดน้ำของใบผักแปมไม่แสดงความเป็นพิษ
ในใบผักแปมมีสารกลุ่ม ฟีโนลิก (Phenolic) และ ฟลาโวนอยด์ (Phlavonoids)ในปริมาณที่สูง สารสำคัญที่แสดงฤทธิ์ต้านออกซิเดชั่น ได้แก่ คลอโรจีนิก แอซิด (Cholrogenic acid) ไอโสเคอซิติน (Isoqurcetin) เคอซิติน (Quercitin) ดังนั้นผักแปมซึ่งเป็นผักพื้นบ้านของไทย จึงน่าจะเป็นสมุนไพรที่มีศักยภาพในการที่จะพัฒนาเพื่อใช้ประโยชน์ในทางการแพทย์และเภสัชกรรมโดยเฉพาะในด้านการออกซิเดชั่น อย่างไรก็ตามการนำสมุนไพรไปประยุกต์ใช้นั้น จำเป็นจะต้องมีการควบคุมคุณภาพ เริ่มตั้งแต่วัตถุดิบสมุนไพร กระบวนการผลิต ผลิตภัณฑ์สำเร็จรูป และการกำหนดมาตรฐาน การทดสอบความเป็นพิษ เป็นต้น
....................
สุนทร ตรีนันทวัน
ฝ่ายนวัตกรรมและเทคโนโลยีเพื่อการเรียนรู้
สำนักเทคโนโลยีสารสนเทศ สสวท.
ข้อมูลอ้างอิง
- ผักแปม สมุนไพรปรับสมดุล (Online) เข้าถึงได้จาก http://www.pharmacy.mnahidol.ac.th/th/knowledge/article163/ผักแปมปรับสมดุล สืบค้น 20/10/2558
- ผักแปม พืชสมุนไพรไทย (Online) เข้าถึงได้จาก http://www.dailynews.co.th/agriculture/292767 สืบค้น 20/10/2558
- ผักแปม สาระความรู้ทางการเกษตร (Online) เข้าถึงได้จาก http://natress.psu.ac.th/radio/radio/_article/radio48-49/48-490045 สืบค้น 20/10/2558
- ลดความอ้วนและไขมันในเลือดสูง ด้วยผักพื้นบ้านไทย (Online) เข้าถึงได้จาก http://www.harmacy.mahidol.ac.th/knowledge/article/151/ลดความอ้วนและไขมันในเลือดสูงด้วยผักพื้นบ้านไทย สืบค้น 20/10/2558
-
4796 ผักแปม สมุนไพรปรับสมดุลร่างกาย /article-biology/item/4796-2016-04-04-03-00-36เพิ่มในรายการโปรด