เตรียมตัวอย่างไรดี เมื่ออยากไปสัมผัสแสงเหนือที่ขั้วโลก
อยากไปดูแสงเหนือต้องไปนอร์เวย์จริงหรือไม่? แล้วที่เราเห็นนักท่องเที่ยวเขาไปตามล่าแสงเหนือกัน เขาไปดูกันที่ไหนนะ? แล้วแสงเหนือมันคืออะไร ทำไมต้องไปดูถึงขั้วโลกนะ? ท่านผู้อ่านเคยสงสัยหรือไม่ เคยได้ยินแต่แสงเหนือ แสงใต้ก็มีหรือ? หากสงสัยก็ศึกษาข้อมูลก่อนไปตามล่าแสงเหนือกันเลย!
ภาพที่ 1 ปรากฏการณ์แสงออโรร่า
ที่มา http://sundogretreat.com/
กำเนิดแสงเหนือ แสงใต้
แสงเหนือ แสงใต้ หรือออโรร่า (Aurora) เป็นปรากฏการณ์ทางธรรมชาติ ที่มีแสงเรืองบนท้องฟ้าในเวลากลางคืน โดยมักจะขึ้นในบริเวณแถบขั้วโลก โดยบางครั้งจะเรียกว่า แสงเหนือ หรือ แสงใต้ ขึ้นอยู่กับแหล่งกำเนิด ซึ่งแหล่งกำเนิดแสงออโรร่าจะอยู่ในซีกโลกเหนือและซีกโลกใต้ โดยจะมีเส้นแนวของการเกิดแสงอยู่รอบ ๆ ขั้วแม่เหล็กของโลก เรียงตัวกันในรูปทรงไข่เหนือขั้วแม่เหล็กโลกดังกล่าว ดังนั้นหากเกิดแสงออโรร่าในซีกโลกเหนือ เราจึงเรียกว่าแสงเหนือ และหากเกิดแสงออโรร่าในซีกโลกใต้ เราจึงเรียกว่าแสงใต้นั่นเอง
ปรากฏการณ์ดังกล่าว เกิดจากจุดสุริยะบนดวงอาทิตย์ที่มีเพิ่มมากขึ้น (Coronal Mass Ejection :CME) ยิ่งมีจุดสุริยะมากเพียงใด อนุภาคสุริยะยิ่งถูกปลดปล่อยมามากเท่านั้น ปรากฏการณ์นี้เกิดล่าสุดเมื่อปี พ.ศ. 2554 – 2555 ซึ่งจุดสุริยะ (Sunspot) เป็นจุดที่เกิดจากสนามแม่เหล็กบนผิวดวงอาทิตย์ที่หนาแน่นมาก อุณหภูมิบริเวณนี้จะเย็นกว่าบริเวณใกล้เคียง (เย็นกว่าประมาณ 1,000 องศา) และมีสีดำกว่า จุดสุริยะนี่เองเมื่อถูกส่งออกมาสู่อวกาศ อนุภาคจะถูกสนามแม่เหล็กโลกดึงไว้และเกิดเป็นออโรรา และเมื่อมีลมสุริยะ (Solar Wind) เป็นแก๊สของอิเล็กตรอนและไอออนที่วิ่งมาด้วยความเร็วเหนือเสียง (Supersonic) ยิ่งมีลมสุริยะมากเท่าไร ออโรร่าก็เข้าใกล้เส้นศูนย์สูตรมากขึ้นเท่านั้น ออโรร่าจึงเป็นปรากฏการณ์ที่ดวงอาทิตย์มีการปลดปล่อยก้อนมวลออกมา อนุภาคไฟฟ้าพลังงานสูงจะถูกปลดปล่อยออกมาด้วยความเร็วสูงนับพันกิโลเมตรต่อวินาที ปรากฏการณ์ CME นี้มักจะเกิดร่วมกับ Solar Flare หรือ Prominence (เป็นปรากฏการณ์คล้ายเปลว) ซึ่งเราเรียกปรากฏการณ์ดังกล่าวว่า แสงเหนือ หรือ แสงใต้ นั่นเอง
ในขณะเดียวกัน ปรากฏการณ์ในธรรมชาติอีกประเภทหนึ่งที่ยังสร้างความงุนงงสงสัยให้กับทั้งนักวิทยาศาสตร์และนักมานุษยวิทยา นั่นก็คือการเรืองแสงในสิ่งมีชีวิตโดยเฉพาะอย่างยิ่งในมนุษย์เองนั้นถือว่าเป็นแสงออโรร่าได้หรือไม่? เรามีคำตอบให้ท่านค่ะ
ภาพที่ 2 ปรากฏการณ์หนอนเรืองแสง
ที่มา https://commons.wikimedia.org/wiki/File:Glow_Worm_Caverns_-_Blue_Mountains,_Australia.jpg , John Hartanowicz
ปรากฏการณ์การเรืองแสงในสิ่งที่มีชีวิตบางชนิดนั้นเกิดจากการเปลี่ยนแปลงทางชีวเคมีอย่างต่อเนื่อง โดยมีสารเอนไซม์บางอย่างเป็นตัวกระตุ้นให้โมเลกุลส่วนหนึ่งเกิดการออกซิไดซ์และปล่อยพลังงานออกมาในรูปของแสงสีฟ้า น้ำเงิน เขียว หรือขาว ซึ่งสารชีวเคมีที่เป็นตัวสำคัญในการทำให้เกิดปฏิกิริยา “แสงเย็น” ดังกล่าวมีอยู่หลายชนิด ได้แก่ ออกซิเจน, ลิวซิเฟอเรส (luciferase), ลิวซิเฟอรีน (lucifurein) และอะดิโนซินไตรฟอสเฟท หรือ ATP (Adinosine triphosphate) เป็นต้น ปฏิกิริยาเคมีเหล่านี้ไม่สามารถเกิดขึ้นในเซลล์ของร่างกายมนุษย์ได้อย่างเด็ดขาด ดังนั้นการเรืองแสงได้ในตัวคนจึงยังเป็นสิ่งที่มืดมนและยังไม่มีใครอธิบายได้ว่าอะไรเป็นสาเหตุที่แน่ชัด ซึ่งอาจเกิดจากปฏิกริยาทางชีวเคมีหรือปฏิกิริยาจากแม่เหล็กไฟฟ้ากับระบบชีวภาพกันแน่ หรือคงต้องมองกันในแง่จิตในมิติที่ไม่เกี่ยวข้องกับทางวิทยาศาสตร์กายภาพเลยก็เป็นได้ แต่ทว่าสีสันของพลังงานในร่างกายมนุษย์จะเปลี่ยนแปลงไปได้ตามสุขภาพของอารมณ์ เช่น สีแสดส้มจะเกิดเมื่อมีอารมณ์โกรธ หรือเกลียด หรือถูกกดดัน สีแดงเข้มคล้ำจะเกิดขึ้นเมื่อมีอารมณ์ขุ่นข้องหมองใจ อยู่ในโทสจริตหรือกำลังลุ่มหลงด้วยโลภราคะ สีน้ำตาลจะปรากฏขึ้นเมื่อเกิดอารมณ์ตระหนี่ หึงหวง หรือเกิดความงก สีแดงดอกกุหลาบเกิดขึ้นเมื่ออยู่ในอารมณ์แห่งความรัก ความใคร่ทางกาม สีเหลืองจะเกิดขึ้นถ้าอยู่ในอารมณ์เป็นกลางหรือในขณะใช้ความคิดทางสติปัญญา สีม่วงจะปรากฏออกมาเมื่อเกิดอารมณ์สงบ วิเวก สีน้ำเงินปรากฏได้ก็ต่อเมื่ออยู่ในอารมณ์เชื่อมั่น มีจิตศรัทธาในรสพระธรรมหรือบุญกุศล และสีเขียวจะเกิดขึ้นถ้ามีอารมณ์อิจฉาริษยา เป็นต้น
กลับมาที่แสงออโรร่าที่เราจะไปตามล่ากันค่ะ ท่านผู้อ่านเคยสงสัยหรือไม่ว่าสีของแสงออโรร่ามีกี่สี แต่ละแหล่งกำเนิดก่อให้เกิดสีที่ต่างกันหรือไม่ แล้วสีของแสงออโรร่าจะแปรเปลี่ยนไปตามสภาพอากาศได้หรือไม่นะ?........แสงออโรร่าปรากฏในหลายสีด้วยกัน มีทั้งแสงสีเขียว แสงสีฟ้า แสงสีชมพู สีแดง สีเหลือง หรือแม้กระทั่งสีม่วงก็เคยมีให้เห็นกันมาแล้ว ซึ่งปรากฏการณ์แสงเหนือ แสงใต้ เกิดจากการชนกันระหว่างก๊าซในชั้นบรรยากาศโลกกับอนุภาคไฟฟ้าที่ถูกปล่อยออกมาจากพลังงานแสงอาทิตย์ ก่อให้เกิดการระเบิดเป็นลำแสงสีต่าง ๆ กันออกไป ขึ้นอยู่กับแสงนั้นเกิดขึ้นในช่วงชั้นบรรยากาศไหน และเกิดจากก๊าซอะไรนั่นเอง ประเด็นนี้ต้องกลับไปเปิดตำราวิชาเคมีแล้วล่ะค่ะว่าธาตุตัวใด ให้สีอะไรได้บ้าง เราก็จะพบคำตอบสีของแสงออโรร่านั่นเอง !
จะไปดูแสงเหนือแสงใต้ ต้องไปที่ไหนกันบ้างนะ?
บริเวณที่เกิดออโรร่าเป็นบริเวณรูปไข่ (Oval-shape region) รอบๆ ขั้วแม่เหล็กของโลก โดยรูปไข่จะเบ้ไปทางด้านกลางคืนของโลก เมื่อออโรร่าสงบ รูปไข่จะมีเส้นผ่านศูนย์กลาง 3,000 กิโลเมตร แต่เมื่อเกิดออโรร่ารุนแรงขึ้น รูปไข่จะกว้างขึ้นกว่า 4,000 หรือ 5,000 กิโลเมตร เนื่องจากขั้วแม่เหล็กเหนือของโลกอยู่ทางตอนเหนือของแคนาดา ออโรร่า โบเรลลีส (Aurora Borealis) จึงพบมากที่เส้นรุ้ง (Latitude) ที่มีประชากรอาศัยมากในซีกโลก (hemisphere) ตะวันตก ส่วนออโรร่าออลเตรลีส (Aurora Australis) สามารถมองเห็นได้จากเกาะทัชมาเนีย (Tasmania) และทางตอนใต้ของนิวซีแลนด์ ทั้งนี้แสงเหนือมักจะเกิดได้ทางตอนเหนือของแคนาดา ทางตอนเหนือของอะแลสกา ทางตอนใต้ของกรีนแลนด์และไอซ์แลนด์ รวมทั้งทางชายฝั่งทิศเหนือของประเทศนอร์เวย์และไซบีเรีย ส่วนแสงใต้แม้จะเห็นได้ไม่บ่อยเท่าแสงเหนือ แต่ก็เคยปรากฏให้เห็นในบริเวณวงแหวนรอบทวีปแอนตาร์กติกา และมหาสมุทรอินเดียใต้
ช่วงเวลาที่ดีที่สุดของการเกิดแสงเหนือจะอยู่ในช่วงฤดูหนาวของทางขั้วโลก ซึ่งเป็นช่วงเดือนกันยายน ตุลาคม มีนาคม และเมษายน นอกจากนี้หากได้ไปเยือนขั้วโลกในขณะที่ท้องฟ้าปลอดโปร่ง ไร้เมฆ มีความมืดมิดสนิท มีสภาพแวดล้อมที่ค่อนข้างปลอดมลพิษ และเป็นช่วงเวลาตั้งแต่ 22.00-24.00 น. ก็จะยิ่งมีโอกาสในการเห็นแสงเหนือมากขึ้น
รู้แหล่งกำเนิดแล้ว ทราบที่ไปที่มาของแสงแต่ละแห่งแล้ว เรียกชื่อแสงได้ถูกต้องแล้ว เตรียมตัวไปกันเลยดีกว่า อ๊ะๆๆๆๆๆ........อย่าลืมจองตั๋วบินก่อนนะคะ ไม่งั้นพลาดเที่ยวบินมา จะหาว่าไม่เตือนนะคะ
แหล่งที่มา
ณวรา พิไชยแพทย์. (2560). จุดประกาย 8 Life, ซัมเมอร์อินนอร์เวย์. นิตยสาร "Life Story". กรุงเทพธุรกิจปีที่ 29 ฉบับที่ 10409
ออร่าในร่างกายมนุษย์ พลังงานเคมีที่พบด้วยหลักฐานทางวิทยาศาสตร์. สืบค้นเมื่อ 5 พฤษภาคม 2562. จาก http://www.dmc.tv/forum/index.php?showtopic=3452
Aurora. Retrieved May 5 , 2019. From https://th.wikipedia.org/Aurora/
-
10460 เตรียมตัวอย่างไรดี เมื่ออยากไปสัมผัสแสงเหนือที่ขั้วโลก /article-chemistry/item/10460-2019-07-01-04-26-37เพิ่มในรายการโปรด