เรียนรู้วิทย์ที่รัสเซีย ตอน มารู้จักแสงเหนือ
เมื่อสี่ปีก่อนผู้เขียนได้ยินคำว่า แสงเหนือ เป็นครั้งแรกจากรองศาสตราจารย์ ดร.สมพล เล็กสกุล อดีตผู้เชี่ยวชาญสาขาคณิตศาสตร์มัธยมศึกษา สสวท. เล่าให้ฟังว่า ภรรยาของท่านเดินทางไปดูแสงเหนือที่ประเทศนอร์เวย์สองครั้งแต่ไม่เห็นแสงเหนือเลย นั่นคือสิ่งที่จุดประกายให้สนใจ และคิดไว้ว่าจะต้องไปดูแสงเหนือสักครั้งหนึ่งในชีวิต จึงเริ่มคันหาโปรแกรมทัวร์ของบริษัทนำเที่ยวต่าง จนพบว่าการไปดูแสงเหนือที่ประเทศนอร์เวย์มีค่าใช้จ่ายเป็นเงินหลายแสนบาททำให้ต้องลืมโปรแกรมดูแสงเหนือไประยะเวลาหนึ่ง
ต่อมาได้อ่านข้อเขียนของชาวเน็ตเรื่องการไปดูแสงเหนือที่เมือง Murmansk ในประเทศรัสเซีย ด้วยงบประมาณที่ไม่สูง ทำให้เรื่องแสงเหนือกลับมาอยู่ในความสนใจอีกครั้ง ประกอบกับมีสายการบินหนึ่งที่จะไปประเทศฟินแลนด์ ลดราคาและทราบข้อมูลว่ามีรถไฟเดินทางจาก Helsinki ไป St. Petersbourg ในรัสเซีย จึงคิดว่านอกจากจะได้ไปดูแสงเหนือที่เมือง Murmansk แล้ว ยังได้ท่องเที่ยว Helsinki กับ Moscow และ St. Petersbourg ด้วยการนั่งรถไฟอีกด้วยจึงได้ตัดสินใจเดินทางไปท่องเที่ยวในครั้งนี้
มารู้จักกับแสงเหนือ
แสงเหนือ (Aurora Borealis)เป็นปรากฏการณ์ธรรมชาติที่ทำให้เกิดความสวยงามตระการตาในท้องฟ้าเวลากลางคืน มองดูคล้าย ๆ แสงจากท้องฟ้าและหมู่ดาวกำลังเต้นระบำอย่างสวยงาม แสงสีที่ปรากฏมีหลายสีทั้งแสงสีเขียว สีฟ้า สีชมพู สีแดง สีเหลือง สีม่วง แสงออโรรามักเกิดขึ้นบริเวณแถบขั้วโลก ถ้าเกิดทางขั้วโลกเหนือก็จะเรียกว่าแสงเหนือ แต่หากเกิดทางขั้วโลกใต้ก็จะเรียกว่า แสงใต้ (Aurora Austrais) แต่ถ้าใช้คำว่า Aurora Polarisจะหมายถึง แสงขั้วโลก ที่ใช้เรียกทั้งแสงเหนือและแสงใต้
แสงเหนือ-แสงใต้เกิดจากอะไร
ปรากฏการณ์แสงเหนือแสงใต้ เกิดจากการซนกันระหว่างโมเลกุลแก๊สในบรรยากาศโลกกับอนุภาคคอสมิกที่มาจากดวงอาทิตย์ แล้วปล่อยลำแสงสีต่าง ๆ ออกไปขึ้นอยู่ว่าการชนกันนั้นเกิดขึ้นในช่วงชั้นบรรยากาศใดและเกิดจากแก๊สอะไร ในชั้นบรรยากาศที่ความสูง 100กิโลเมตรขึ้นไป ประกอบด้วยโมเลกุลแก๊สไนโตรเจนและออกซิเจนเป็นส่วนใหญ่ ในชั้นบรรยากาศที่อยู่ต่ำกว่า 120 กิโลเมตร ซึ่งเป็นช่วงชั้นที่มีโมเลกุลแก๊สไนโตรเจนหนาแน่นกว่าออกซิเจน แสงออโรราจะปรากฏเป็นสีฟ้าและสีม่วง และที่ระดับความสูงตั้งแต่ 120-180 กิโลเมตรขึ้นไปช่วงนี้จะมีโมเลกุลแก๊สออกซิเจนหนาแน่นมาก แสงออโรราจะเป็นสีเขียวอมเหลือง ซึ่งพบได้เสมอทั้งแสงเหนือและแสงใต้ ส่วนแสงสีแดงจะปรากฏในชั้นบรรยากาศที่สูงกว่า 180 กิโลเมตรขึ้นไป
ช่วงเวลาที่เกิดแสงเหนือ
ช่วงเวลาที่ดีที่สุดของการเกิดแสงเหนือจะเป็นช่วงฤดูหนาวในดินแดนขั้วโลกเหนือ ตั้งแต่ กุมภาพันธ์ – เมษายน กันยายน - ตุลาคม ในขณะที่ท้องฟ้าปลอดโปร่ง ไร้เมฆ และมืดมิดสนิท มีสภาพแวดล้อมที่ค่อนข้างปลอดมลภาวะ ถ้าเป็นช่วงเวลาตั้งแต่ 22.00 - 24.00 น. โอกาสในการเห็นแสงเหนือก็จะยิ่งมาก ปรากฏการณ์แสงเหนือ เป็นความมหัศจรรย์ที่ธรรมชาติสร้างสรรค์ขึ้นได้อย่างอลังการ แต่การจะได้ชมปรากฏการณ์นี้ไม่ใช่เรื่องง่าย เพราะต้องไปให้ถูกที่และถูกเวลาแม้จะมีการพยากรณ์ว่าจะเกิดแสงเหนือ แต่ถ้าวันนั้นท้องฟ้าปิด ก็จะไม่ได้เห็นเช่นกัน
ภาพ 1 เมือง Murmansk เมืองท่าสำคัญและเป็นเมืองที่สามารถเห็นปราณฏการณ์แสงเหนือไต้ในประเทศรัสเซีย
กลุ่มประเทศที่สามารถเห็นแสงเหนือได้
1. ประเทศไอซ์แลนด์ ตั้งอยู่กลางมหาสมุทรแอตแลนติก ระหว่างเกาะกรีนแลนด์ นอร์เวย์ และสหราชอาณาจักร เป็นประเทศที่นักท่องเที่ยวมักจะไปชมแสงเหนือกัน เพราะมีทิวทัศน์ที่สวยงามน่าประทับใจสุด ๆ โดยจุดที่นักท่องเที่ยวมักจะไปรอดูแสงเหนือจะอยู่ทางด้านตะวันตกเฉียงเหนือของเกาะ เพราะเป็นที่ตั้งของสถานที่ท่องเที่ยวสวย ๆ มากมาย หนึ่งในสถานที่นั้นคือ Kirkjufell Mountain ซึ่งเป็นภูเขารูปร่างสวยงาม แปลกตาบริเวณโดยรอบเต็มไปด้วยธรรมชาติที่งดงาม รวมถึงมีน้ำตกที่ไหลลงสู่มหาสมุทรด้วย
2. ประเทศฟินแลนด์ เป็นเป้าหมายหนึ่งของนักท่องเที่ยวที่มาชมแสงเหนือ โดยเฉพาะในภูมิภาค Lapland ซึ่งอยู่ทางภาคเหนือของประเทศ จะมีนักท่องเที่ยวขึ้นไปรอชมแสงเหนือกันอย่างคับคั่งทุกปี โรงแรมหลายแห่งจัดสร้างที่พักเป็นแบบ Glass Igloos เพื่อให้นักท่องเที่ยวได้นอนชมแสงเหนือได้ในยามค่ำคืน
3. ประเทศแคนาตา สามารถไปขมแสงเหนือไต้ในภูมิภาคทางด้านเหนือของประเทศ และเมืองยอดนิยมของนักท่องเที่ยวคือ เมืองเยลโลว์ไนฟ์ (Yellowknife)
4. กรีนแลนด์ ประเทศเดนมาร์ค สถานที่ที่นักท่องเที่ยวนิยมไปชมแสงเหนืออยู่ที่เขต Kangerlussuaqซึ่งเป็นหมู่บ้านเล็ก ๆ ตั้งอยู่ทางฝั่งทิศตะวันตกของเกาะกรีนแลนด์ มีวิวที่สวยงามและนักท่องเที่ยวสามารถมองเห็นแสงเหนือได้อย่างชัดเจน
5. เมือง Murmansk ประเทศรัสเซีย เป็นเมืองท่าสำคัญ ตั้งอยู่ทางทิศตะวันตกเฉียงเหนือของประเทศใกล้ชายแดนประเทศนอร์เวย์และประเทศฟินแลนด์
6. ประเทศนอร์เวย์ อยู่ในเขต Arctic Circle ที่สวยงามด้วยวิวของทิวเขา ป่าสน และทะเล สามารถชมแสงเหนือได้ที่เมือง Tromso ซึ่งตั้งอยู่ทางด้านเหนือของประเทศนอร์เวย์
7. รัฐอะแลสกา ประเทศสหรัฐอเมริกา เมืองที่นักท่องเที่ยวไปชมแสงเหนือคือ Fairbanks เป็นเมืองใหญ่อันดับต้น ๆ ของอะแลสกา และนักท่องเที่ยวสามารถเห็นแสงเหนือได้จากบริเวณตัวเมือง โดยไม่ต้องขับรถไปไกลจากเมืองมาก จึงปลอดภัย และไม่ยุ่งยาก
การถ่ายภาพแสงเหนือ
อุปกรณ์ที่ใช้ในการถ่ายภาพแสงเหนือประกอบด้วย กล้อง DSLR ขาตั้งกล้อง และไฟฉาย
วิธีการถ่ายภาพ
ตั้งกล้องบนขาตั้ง ถ้าต้องการถ่ายเฉพาะภาพแสงเหนือ เปิดหน้ากล้องที่ F.8 หรือ F.11 เพื่อให้ได้ภาพที่ชัดลึก ตั้งระยะที่ infinity กด shutter ค้างไว้ ตั้งแต่ 10 ถึง 15 วินาที ก็จะได้ภาพแสงเหนือที่งดงามและมีสีสันสดใสถ้าจะถ่ายให้ติดภาพนายแบบหรือนางแบบ ก็ใช้ไฟฉายส่องเพื่อช่วยในการหาระยะชัด และที่สำคัญคือ นายแบบหรือนางแบบต้องยืนนิ่งจนกว่าจะปิด shutter มิฉะนั้นภาพก็จะไม่ชัด
เนื่องจากบริเวณที่สังเกตเห็นแสงเหนือได้ จะต้องมืดสนิท ถ้ามีแสงสีต่าง ๆ และจาง ๆ มาปรากฎให้เห็น นั่นแสดงว่าท่านได้เห็นแสงเหนือแล้ว แสงสีต่าง ๆ นี้จะปรากฎให้เห็นนานประมาณครึ่งชั่วโมงหรือน้อยกว่า จากนั้นท้องฟ้าก็จะมืดสนิทเช่นเดิม อย่าคาดหวังว่าท่านจะได้เห็นสีสันที่เจิดจ้าเหมือนในภาพถ่าย เพราะความสามรถในการรับภาพของตากับเลนส์ของกล้องนั้นต่างกัน วิธีการถ่ายภาพสามารถทำให้ภาพแสงเหนือที่บันทึกได้สดใสกว่าภาพที่เห็นด้วยตาเปล่า
ภาพ 2 แสงเหนือที่เมือง Murmansk
ภาพ 3 แสงจากไฟฉายจะช่วยให้หาระยะขัดที่ใบหน้าคนได้ง่ายขึ้น
สำหรับความรู้สึกของผู้เขียนในการไปดูแสงเหนือในครั้งนี้ เป็นประสบการณ์ใหม่ที่ได้ทดสอบร่างกายวัย 65 ปี กับการเดินทางที่ทรหดมากอีกครั้งหนึ่ง เพราะต้องเปลี่ยนเครื่องบินสองครั้ง เครื่องเสียเวลาสองชั่วโมงครึ่ง ต้องนอนรอเครื่องบินที่สนามบิน Moscow เพื่อบินไป Murmansk อีก 6 ชั่วโมง กระเป้าเดินทางมาช้ากว่าพวกเรา2 วันกับ 1 คืน ทำให้ต้องผจญความหนาวที่อุณหภูมิติดลบถึง 20 องศาเซลเซียส ในค่ำคืนที่ได้ไปดูแสงเหนือด้วยความไม่พร้อม และขาดขาตั้งกล้องอันเป็นอุปกรณ์สำคัญในการถ่ายภาพ การสื่อสารกับบุคคลที่เกี่ยวข้องทำได้ยากเพราะคนส่วนใหญ่พูดแต่ภาษารัสเซีย ในการถ่ายภาพจึงใช้วิธีวางกล้องบนหิมะที่แข็งตัวแทนขาตั้ง ก็ได้ภาพดีระดับหนึ่งแต่พวกเราก็ได้รับความสนุกสนานกับการท่องเที่ยวและการแก้ปัญหาในแต่ละวัน ทำให้ผ่านพันอุปสรรคที่ไม่คาดคิดมาได้ และยังมีความสุขและรู้สึกประทับใจในประสบการณ์ครั้งนี้อย่างไม่มีวันลืมเลือน
บทความนี้เป็นส่วนหนึ่งของนิตยสาร สสวท. ผู้อ่านสามารถติดตามบทความที่น่าสนใจเพิ่มเติมได้ที่ https://magazine.ipst.ac.th/
บรรณานุกรม
ดูแลงเหนือที่รัสเซีย. สืบคั้นเมื่อ 7 มีนาคม 2561. จาก https://pantip.com/topic/36180610.
แสงเหนือที่รัสเซีย. สืบคั้นเมื่อ 4 มกราคม 2561. จาก https://pantip.com/topic/36180610.
ออโรรา (ดาราศาสตร์). สืบคั้นเมื่อ 7 มีนาคม 2561. จาก https://th.wikipedia.org/Wiki/ออโรรา (ดาราศาสตร์).
-
12426 เรียนรู้วิทย์ที่รัสเซีย ตอน มารู้จักแสงเหนือ /article-science/item/12426-2021-08-23-06-08-51เพิ่มในรายการโปรด