ขยะพลาสติก สร้างปัญหามลพิษสิ่งแวดล้อมและสุขภาพ
ขยะพลาสติก สร้างปัญหามลพิษสิ่งแวดล้อมและสุขภาพ
ท่านผู้อ่านเคยสงสัยหรือไม่ว่าพลาสติกจำนวนมากที่เกลื่อนบ้านเรามีผลกระทบต่อสิ่งแวดล้อมมากแค่ไหน แล้วอีกกี่ปีพลาสติกจึงจะหมดไปจากโลกเรา? หรือเราต้องมีส่วนร่วมด้วยช่วยกันอย่างไรจึงจะช่วยลดปัญหาขยะพลาสติกลงได้? ไปศึกษาข้อมูลกันค่ะ
พลาสติก เป็นวัสดุที่ถูกนำมาใช้งานได้อย่างกว้างขวาง และมีปริมาณการใช้งานในด้านต่างๆเพิ่มขึ้นอย่างต่อเนื่อง จนอาจกล่าวได้ว่าพลาสติกเป็นวัสดุที่มีบทบาทสำคัญในชีวิตประจำวันไปแล้ว ปัจจุบันการผลิตพลาสติกมีต้นทุนการผลิตที่ต่ำ อีกทั้งยังมีเทคโนโลยีสมัยใหม่ที่สามารถผลิตพลาสติกให้มีคุณสมบัติตามความต้องการได้อย่างหลากหลาย เช่น ถุงใส่อาหาร บรรจุภัณฑ์ใส่อาหารและเครื่องดื่ม ฟิล์มถนอมอาหาร ของเล่นเด็ก อุปกรณ์ก่อสร้าง และ เฟอร์นิเจอร์ เป็นต้น อย่างไรก็ตามการผลิตพลาสติก จะมีการเพิ่มสารเติมแต่งบางชนิดลงไป ซึ่งสารเหล่านี้อาจปนเปื้อนสู่อาหาร หากมีการใช้งานพลาสติกที่ไม่ถูกวิธีหรือใช้ไม่เหมาะสมกับประเภทของพลาสติก อาจส่งผลก่อให้เกิดมะเร็ง และนำมาซึ่งผลกระทบต่อการเกิดโรคเรื้อรังต่างๆได้
จากรายงานของ International Agency for Research on Cancer (IARC) กล่าวว่า สารเติมแต่งในการผลิตพลาสติก เช่น Vinyl chloride และ Formaldehyde จัดเป็นสารก่อมะเร็งกลุ่ม 1 คือ เป็นสารที่มีหลักฐานยืนยันได้ว่าสามารถก่อให้เกิดโรคมะเร็งในคน ในแง่ของสิ่งแวดล้อมการใช้งานพลาสติกที่เพิ่มมากขึ้น นำมาสู่ปริมาณขยะพลาสติกที่เพิ่มขึ้นตามไปด้วย จากรายงานของกรมควบคุมมลพิษ กระทรวงทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม พบว่าในปี 2555 มีขยะพลาสติกจากภาคอุตสาหกรรมทั่วประเทศประมาณ 2.1 ล้านตัน เพิ่มขึ้นจากปีพ.ศ. 2554 ประมาณ 0.3 ล้านตัน จากการที่พลาสติกมีคุณสมบัติยากต่อการสลายตัวและเสื่อมสภาพ ทำให้ขยะมูลฝอยประเภทพลาสติกคงอยู่ในสภาพแวดล้อมได้เป็นเวลานาน ทำให้เกิดปัญหาขยะพลาสติกซึ่งเป็นภาระในการจัดการเป็นอย่างมาก และยังก่อให้เกิดปัญหาสิ่งแวดล้อมตามมาอย่างหลีกเลี่ยงไม่ได้ อีกทั้งพลาสติกยังอาจปนเปื้อนสู่ห่วงโซ่อาหารและเป็นอันตรายต่อสุขภาพมนุษย์ได้ เช่น พลาสติกบางชนิด เมื่อหมดอายุการใช้งานจะถูกย่อยสลายกลายเป็นขยะชิ้นเล็กๆ ซึ่งสามารถแทรกในชั้นดินหรือปนเปื้อนสู่แหล่งน้ำ พลาสติกบางชนิดหากเกิดการเผาไหม้ จะทำให้เกิดควันพิษในอากาศและก๊าซคาร์บอนไดออกไซด์ที่เป็นสาเหตุภาวะโลกร้อน พลาสติกถือเป็นวัสดุที่กลายเป็นส่วนหนึ่งของชีวิตมนุษย์ยุคปัจจุบันแต่การใช้งานพลาสติกมีทั้งคุณและโทษ ดังนั้นจึงควรเพิ่มความระมัดระวังและศึกษาการใช้พลาสติกแต่ละชนิดอย่างถูกวิธี เพื่อป้องกันสารพิษที่อาจปนเปื้อนเข้าสู่ร่างกาย ตลอดจนสร้างจิตสำนึกลดปริมาณการผลิตและการใช้พลาสติกลง เพื่อลดปัญหามลภาวะของสิ่งแวดล้อม
ภาพที่ 1 ขยะพลาสติกที่ก่อให้เกิดปัญหาสิ่งแวดล้อม
ที่มา http://www.pixabay.com/stux
พลาสติกเป็นวัสดุสังเคราะห์ที่มีบทบาทอย่างมากในชีวิตประจำวันของมนุษย์ในยุคนั้น พลาสติกมีคุณสมบัติในด้านราคาถูก น้ำหนักเบา แข็งแรง ทนทาน ทำให้พลาสติกกลายเป็นที่นิยมและมีปริมาณการใช้งานเพิ่มมากขึ้นอย่างต่อเนื่อง เช่น ถุงพลาสติก บรรจุภัณฑ์ใส่อาหารของเล่นเด็ก เฟอร์นิเจอร์ เป็นต้น ถึงแม้พลาสติกจะมี ความสะดวกและมีข้อดีมากกว่าวัสดุอื่น ๆ แต่สารประกอบในพลาสติกบางชนิดก็ก่อให้เกิดอันตรายต่อสุขภาพได้ นอกจากนั้น กระบวนการผลิตพลาสติกจะมีการเพิ่มสารเติมแต่งบางชนิดลงไป เช่น สารเสริมสภาพพลาสติก สารคงสภาพพลาสติก สารยับยั้งปฏิกิริยาและสารสีต่างๆ ดังนั้นการขาดความรู้และมีความเข้าใจผิด เกี่ยวกับการใช้งานพลาสติก อาจทำให้สารเคมีจากผลิตภัณฑ์พลาสติกถูกปนเปื้อนสู่อาหารและเครื่องดื่มได้ ซึ่งอาจส่งผลกระทบโดยตรงต่อสุขภาพของผู้บริโภค นอกจากนี้ปริมาณการใช้พลาสติกที่เพิ่มมากขึ้น ทำให้เกิดของเสียที่เป็นภาระในการจัดเก็บและการทำลาย โดยเฉพาะพลาสติกบางชนิดที่ไม่สามารถนำกลับมาใช้ใหม่ได้ อาจก่อให้เกิดผลกระทบต่อระบบนิเวศในที่สุด แม้การใช้งานพลาสติกจะมีประโยชน์ในหลายด้าน แต่โทษและผลเสียจากการใช้พลาสติกก็มีอยู่มากเช่นกัน การใช้งานพลาสติกทุกครั้งจึงควรคำนึงถึงความปลอดภัยต่อสุขภาพ โดยเฉพาะกับทารกและเด็ก ในด้านสิ่งแวดล้อมเราควรเลือกใช้พลาสติกที่สามารถนำกลับมาใช้ใหม่ได้ หรือพลาสติกที่สามารถย่อยสลายได้เพื่อลดผลกระทบต่อสิ่งแวดล้อม
ปัญหาขยะพลาสติกจึงกลายเป็นปัญหามลพิษที่สำคัญ เนื่องจากปริมาณการใช้งานที่เพิ่มขึ้น ส่งผลให้เกิดขยะพลาสติกในปริมาณมากขึ้นตามไปด้วย พลาสติกเป็นสารที่คงทนต่อการย่อยสลายของจุลินทรีย์ ทำให้การสลายตัวโดยธรรมชาติเกิดขึ้นได้ช้ามาก (Mueller, 2006) จากรายงานของ Ohtake et al. (1998) พบว่าการย่อยสลายพลาสติกชนิดโพลิเอธิลีนต้องใช้เวลามากกว่า 100 ปี ขยะพลาสติกจึงอาจส่งผลกระทบต่อการเสื่อมโทรมของคุณภาพดินและการเสื่อมคุณภาพของน้ำ นอกจากนี้การเผาทำลายพลาสติกยังก่อให้เกิดก๊าซคาร์บอนไดออกไซด์และก๊าซพิษอื่นๆ ซึ่งเป็นสาเหตุของภาวะโลกร้อนอีกด้วย
ภาพที่ 2 ผลกระทบจากขยะพลาสติกในท้องทะเล
ที่มา http://www.pixabay.com/ TheDigitalArtist
การใช้งานพลาสติกก่อให้เกิดผลกระทบในวงกว้างทั้งต่อมนุษย์และสิ่งแวดล้อม ทำให้มีการค้นคว้าและพัฒนากระบวนการผลิตใหม่ๆ เพื่อลดปัญหาสุขภาพที่อาจเกิดกับผู้บริโภครวมถึงปัญหาสิ่งแวดล้อม ปัจจุบันจึงมีการผลิตพลาสติกที่เป็นมิตรต่อสิ่งแวดล้อม เช่น พลาสติกชีวภาพ (Bioplastic) เป็นพลาสติกที่ผลิตขึ้นจากวัสดุ ธรรมชาติซึ่งส่วนใหญ่เป็นพืชสามารถย่อยสลายได้ (Biodegradable) เช่น เซลลูโลส (Cellulose) คอลลาเจน (Collagen) เคซีน (Casein) พอลิเอสเตอร์ (Polyester) แป้ง (Starch) และโปรตีนจากถั่ว (Soy Protein) เป็นต้น โดยแป้งเป็นวัสดุธรรมชาติที่นิยมนำมาผลิตพลาสติกชีวภาพมากที่สุด เนื่องจากหาได้ง่าย มีปริมาณมากและราคาถูก สำหรับประเทศไทยพืชที่นิยมนำมาใช้เป็นวัตถุดิบในการผลิตพลาสติกชีวภาพ คือ ข้าวโพดและมันสำปะหลัง เนื่องจากเป็นผลผลิตทางการเกษตรที่มีปริมาณมากและราคาถูก ตัวอย่างพลาสติกชีวภาพ เช่น Polylactic acid หรือ PLA วัตถุดิบที่ใช้ในการผลิต PLA ได้แก่ พืชที่มีแป้งเป็นองค์ประกอบหลักเช่น ข้าวโพด และมันสำปะหลัง
โดยกระบวนการผลิตจะเริ่มจากการย่อยแป้งให้เป็นน้ำตาล และใช้กระบวนการ fermentation ด้วยแบคทีเรีย ได้เป็น lactic acid และน้ำตาล lactic acid ที่ได้มาผ่านกระบวนการทางเคมี เพื่อเปลี่ยนโครงสร้างให้เป็น polymer ที่เป็นสายยาวที่เรียกว่า Polylactic acid (PLA) ซึ่ง PLA มีคุณสมบัติพิเศษคือ มีความใสไม่ย่อยสลายในสภาพแวดล้อมทั่วไป แต่สามารถย่อยสลายได้เองเมื่อนำไปฝังกลบในดิน Polyhydroxyalkanoates หรือ PHAs วัตถุดิบที่ใช้ในการผลิต PHAs ก็คือ ข้าวโพด มันสำปะหลังและอ้อย โดยกระบวนการผลิตจะเริ่มจากการย่อยแป้งให้เป็นน้ำตาลด้วยเชื้อ Escherichia coli ซึ่งสามารถเปลี่ยนโครงสร้างทางเคมีของน้ำตาลให้เป็น PHAs โดย PHAs มีคุณสมบัติในการขึ้นรูปเป็นฟิล์ม การฉีดและเป่าให้ได้เป็นผลิตภัณฑ์หลากหลายแบบ ปัจจุบันมีการนำพลาสติกชีวภาพมาใช้ประโยชน์หลายด้าน เช่น ด้านการแพทย์โดยการนำพลาสติกชีวภาพมาผลิตเป็นวัสดุทางการแพทย์ เช่น ผิวหนังเทียม ไหมละลาย อุปกรณ์ประเภทสกรูและแผ่นดามกระดูกที่ฝังอยู่ในร่างกายที่สามารถย่อยสลายได้เอง ด้านบรรจุภัณฑ์เพื่อการบริโภค เช่น สารเคลือบกระดาษสำหรับห่ออาหาร หรือแก้วน้ำชนิดใช้แล้วทิ้ง ถุงสำหรับใส่ของ ถ้วยหรือถาดย่อยสลายได้สำหรับบรรจุอาหารสำเร็จรูปและอาหารจานด่วน ฟิล์มและถุงพลาสติกย่อยสลายได้ทางชีวภาพ สำหรับใช้ใส่ขยะเศษอาหาร โฟมเม็ดกันกระแทก เป็นต้น ด้านการเกษตรนิยมนำมาผลิตเป็นแผ่นฟิล์มสำหรับคลุมดินและวัสดุสำหรับการเกษตร เช่น แผ่นฟิล์มป้องกันการเติบโตของวัชพืชและรักษาความชื้นในดิน รวมทั้งถุงหรือกระถางสำหรับเพาะต้นกล้า
แหล่งที่มา
กิตติมา วัฒนากมลกุล. (2556). ผลิตภัณฑ์พลาสติกกับอาหาร. คณะเภสัชศาสตร์ มหาวิทยาลัยมหิดล.
สืบค้นเมื่อ 18 สิงหาคม 2562 จาก http://www.pharmacy.mahidol.ac.th/
ขยะพลาสติก สืบค้นเมื่อ 18 สิงหาคม 2562 จาก http://www.bioformthailand.com/TH/environment
กรมควบคุมมลพิษ. (2560). พลาสติกและโฟมเพื่อลดปัญหาสิ่งแวดล้อม. กระทรวงทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม. สืบค้นเมื่อ 18 สิงหาคม 2562 จาก http://www.pcd.go.th/public/publications/
ศุลีพร แสงกระจ่าง, ปัทมา พลอยสว่าง, ปริณดา พรหมหิตาธร. (2556). งานระบาดวิทยาโมเลกุล กลุ่มงานวิจัย สถาบันมะเร็งแห่งชาติ. วารสารพิษวิทยาไทย 2556 ; 28(1).
-
10624 ขยะพลาสติก สร้างปัญหามลพิษสิ่งแวดล้อมและสุขภาพ /article-chemistry/item/10624-2019-09-02-01-39-49เพิ่มในรายการโปรด