“ผลิตภัณฑ์รักษ์โลก”จากงานวิจัยสู่การสร้างรายได้และอาชีพในอนาคต
ท่านผู้อ่านเคยสงสัยหรือไม่ว่าขยะพลาสติกประเภทหลอดที่ใช้ดูดเครื่องดื่มสีสันต่างๆและขนาดต่าง ๆ ที่บ้านเราใช้กันอยู่นั้นทำมาจากพลาสติกประเภทใด แล้วจะใช้เวลามากน้อยเพียงใดในการย่อยสลายพลาสติกประเภทนี้ เราจะมีวิธีการอย่างไรจึงจะช่วยกันลดขยะจากพลาสติกจำพวกหลอดหรือการช่วยลดภาวะโลกร้อนนี้ได้ ตามไปดูกัน
ภาพที่ 1 หลอดจากวัสดุธรรมชาติ
ที่มา https://www.pinterest.com/pin/493847915386980740/
หลอดที่เราพบเห็นกันโดยทั่วไป ส่วนใหญ่ผลิตมาจากหลอดที่ทำมาจากพลาสติกประเภทพอลิสไตรีน พอลิสไตรีน (Poly Stylene, PS) เป็นพลาสติกชนิดเทอร์โมพลาสติก คือหลอมเป็นของเหลวได้ โดยที่อุณหภูมิห้องจะอยู่ในสถานะของแข็งแต่จะหลอมละลายเมื่อทำให้ร้อนและแข็งตัวเมื่อเย็นลง พอลิสไตรีนแข็งที่บริสุทธิ์จะใส ไม่มีสี แต่สามารถทำเป็นสีต่าง ๆ ได้และยืดหยุ่นได้จำกัด
พอลิสไตรีนที่ใช้กันอยู่ทั่วไปส่วนใหญ่เป็นชนิดที่เรียกว่า expanded polystyrene (EPS) เป็นชนิดที่ได้จากการผสมพอลิสไตรีนร้อยละ 90-95 กับสารทำให้ขยายตัว (ที่ใช้กันมากคือเพนเทนหรือคาร์บอนไดออกไซด์ เมื่อก่อนใช้ CFC ซึ่งเป็นสารทำลายชั้นโอโซน) ร้อยละ 5-10 พลาสติกที่เป็นของแข็งถูกทำให้เป็นโฟมโดยการใช้ความร้อน (มักเป็นไอน้ำ) พอลิสไตรีนอีกชนิดหนึ่งคือ Extruded polystyrene (XPS) มีชื่อทางการค้าที่แพร่หลายคือ Styrofoam เป็นชนิดที่มีการเติมอากาศไว้ในช่องว่างตามเนื้อโฟมทำให้มีค่าการนำความร้อนต่ำ ใช้ในงานก่อสร้าง และใช้เป็นฉนวนกันความร้อนในอาคาร และยังมีชนิดที่เป็นแผ่นเรียกว่า Polystyrene Paper Foam (PSP) ใช้เป็นภาชนะบรรจุอาหาร เช่นกล่องหรือถาดใส่อาหาร
ภาพที่ 2 โครงสร้างทางเคมีของพอลิสไตรีน
ที่มา https://th.wikipedia.org/wiki/พอลิสไตรีน
นอกจากหลอดที่ทำมาจากพลาสติกประเภทพอลิสไตรีนแล้ว ยังมีหลอดที่ทำมาจากพืชตามธรรมชาติ กินได้ ย่อยสลายเร็ว ซึ่งเป็นหลอดที่เกิดจากงานวิจัยของกลุ่มนักวิจัยอีสานได้คิดค้นหลอดกินได้ โดยหลอดกินได้นี้เป็นไอเดียของคุณสุรพร กัญจนานภานิช ในพื้นที่จังหวัดขอนแก่น ซึ่งได้นำไอเดียการแปรรูปพืชตามธรรมชาติและข้าวที่มีผลผลิตอยู่แล้วไปปรึกษากับหน่วยงานที่ส่งเสริมด้านงานวิจัยหลายแห่ง เพื่อที่จะทำหลอดที่สามารถใช้ทดแทนหลอดพลาสติกที่ไม่สามารถย่อยสลายตามธรรมชาติได้ และหลอดที่สามารถผลิตได้ไม่เพียงแค่สามารถย่อยสลายได้ภายในระยะเวลาไม่กี่ชั่วโมง แต่หลอดที่ได้ยังสามารถรับประทานได้ โดยที่ไม่เป็นอันตราย เพราะทำมาจากพืชตามธรรมชาติ และที่สำคัญยังมีประโยชน์ต่อร่างกาย
สำหรับคุณสมบัติของหลอดที่ได้คือ สามารถแช่ในน้ำร้อนได้ 35 นาที และแช่ในน้ำเย็นและน้ำอุณหภูมิปกติได้ 6-12 ชั่วโมง โดยที่ยังคงรูปเหมือนเดิม และถ้าปล่อยไว้ให้ย่อยสลายตามธรรมชาติ ใช้เวลาประมาณ 30 วัน หรือถ้าจะรับประทาน ต้องแช่น้ำ 3-5 นาที หลอดนิ่มและรับประทานได้ ซึ่งการใช้หลอดโดยปกติ คนทั่วไปใช้ไม่เกิน 10-15 นาที เลิกใช้และทิ้ง ดังนั้น หลอดกินได้ ซึ่งสามารถคงได้นานกว่านั้น จึงไม่ใช่ปัญหาในการใช้งาน แต่สิ่งที่ผู้บริโภคจะได้ คือ เป็นมิตรต่อสิ่งแวดล้อม และดีต่อสุขภาพ ถ้ารับประทานเข้าไป ช่วยเกษตรกรให้ขายผลผลิตทางการเกษตรได้เพิ่มขึ้น ซึ่งในช่วงเริ่มต้นได้ทดลอง โดยให้คนรอบข้างได้ทดลองใช้ทุกคนค่อนข้างพอใจ เพราะจะไม่นิ่มเหมือนหลอดกระดาษ และไม่มีกลิ่นสารเคมี แต่เป็นกลิ่นของพืชตามธรรมชาติ
ภาพที่ 3 ผลิตภัณฑ์งานวิจัยหลอดกินได้จากพืชธรรมชาติ
ที่มา https://ibusiness.co/detail/9620000087425
แต่ในปัจจุบันเราจะเห็นหลอด(Polylactic Acid - PLA) ซึ่งเป็นหลอดพลาสติกชีวภาพที่มีส่วนผสมวัตถุดิบธรรมชาติ เช่นกัน ต่างกัน ตรงที่ PLA ต้องนำวัตถุดิบธรรมชาติเหล่านั้นไปผ่านกระบวนการหมัก ซึ่งในกระบวนการย่อยสลายทำได้ยากกว่า โดยถ้าถูกนำไปทิ้งในกองขยะและมีขยะอื่นๆ ทับอยู่ไม่สามารถย่อยสลายได้ ถ้าจะให้ย่อยสลายได้ต้องแยกออกมา ถึงจะย่อยสลายได้ ปัจจุบัน พลาสติกชีวภาพ PLA ได้รับความนิยมนำมาแทนพลาสติกกันมากในต่างประเทศ เพราะมีคุณสมบัติที่ใกล้เคียงกับพลาสติก
นอกจาก พลาสติกชีวภาพ PLA ยังมีหลอดทางเลือกอื่นๆ ที่มาแทนพลาสติก เช่น หลอดกระดาษ ปัจจุบันถือว่า ได้รับความนิยมมากในประเทศไทย และต่างประเทศ เพราะผู้ผลิตรายใหญ่จากประเทศจีน หันมาผลิตหลอดกระดาษออกขายจำนวนมาก แต่ปัญหาของหลอดกระดาษ คือ กลิ่นเหมือนสารเคมีที่มาจากกาวที่ใช้ เมื่อโดนน้ำยังไม่รู้ว่ากาวละลาย แล้วจะเป็นอันตรายผู้บริโภคหรือเปล่า และยังมีหลอดประเภทอื่น อย่าง หลอดไม้ไผ่ หลอดผักบุ้ง เป็นต้น ซึ่งมีจุดเด่นและจุดด้อยที่แตกต่างกัน
แหล่งที่มา
“หลอดกินได้ ผลงานนวัตกรรมแปรรูปผลผลิตการเกษตร ฝีมือคนไทย”. สืบค้นเมื่อ 1 กุมภาพันธ์ 2563 . จาก https://ibusiness.co/detail/9620000087425
ผศ.ดร.พิมพ์เพ็ญ พรเฉลิมพงศ์,ศาสตราจารย์เกียรติคุณ ดร.นิธิยา รัตนาปนนท์.polystyrene (PS) / พอลิสไตรีน.สืบค้นเมื่อ 1 กุมภาพันธ์ 2563 . จาก http://www.foodnetworksolution.com/wiki/word/1452/polystyrene-ps
Sir.nim. PLA บรรจุภัณฑ์รักษ์โลก นวัตกรรมพลาสติกจากพืช.สืบค้นเมื่อ 1 กุมภาพันธ์ 2563 . จาก https://www.smethailandclub.com/design-3916-id.html
-
11327 “ผลิตภัณฑ์รักษ์โลก”จากงานวิจัยสู่การสร้างรายได้และอาชีพในอนาคต /article-chemistry/item/11327-2020-03-06-07-26-08เพิ่มในรายการโปรด
-
คำที่เกี่ยวข้อง