เป่าแก้ว ความสวยงามจากวิทยาศาสตร์
แก้ว วัสดุคุ้นเคยที่ทุกคนรู้จัก ด้วยคุณสมบัติทางวิทยาศาสตร์ที่ดี 3 ประการคือ ความโปร่งใส ความแข็งแกร่ง และความทนทานต่อสารเคมี หลายคนคงเคยได้เห็นความสวยงามของหลอดแก้วในรูปทรงแบบต่าง ๆ ซึ่งนับเป็นความสวยงานที่เกิดขึ้นจากวิทยาศาสตร์และศิลปะศาสตร์ควบคู่ด้วยกัน เราเรียกศิลปะสิ่งนี้ว่า ศิลปะของการเป่าแก้ว สำหรับบทความนี้ขอนำเสนอความน่าสนใจในเบื้องต้นของการเป่าแก้วเพียงเท่านั้น แต่จะให้แหล่งที่มาสำคัญที่สามารถไปเรียนรู้และฝึกปฏิบัติกันได้จริง
ภาพที่ 1 การเป่าแก้ว
ที่มา sabinevanerp / Pixabay
การเป่าแก้วในช่วงแรก ถูกค้นพบตามบันทึกการให้ข้อมูลของพ่อค้าชาวซีเรียที่เขาตั้งแคมป์บริเวณชายหาดซึ่งใช้หินโทรนา(Trona) ในการก่อเตา แต่ด้วยความร้อนของไฟ ทำให้พบว่าโทนาและทรายหลอมรวมกัน และเมื่อไฟดับลงจนเย็นตัวลงทำให้มีลักษณะเป็นแก้วใส
การเป่าแก้ว ในปัจจุบัน มีอยู่ 2 รูปแบบคือ การเป่าเพื่อใช้ในทางวิทยาศาสตร์ กับการเป่าเพื่อความสวยงามหรือศิลปะ โดยในทางวิทยาศาสตร์ก็เพื่อการสร้างวัสดุอุปกรณ์เครื่องแก้วต่าง ๆ ที่ใช้ในงานทดลองและวิจัย ในด้านศิลปะก็ทำเพื่อความสวยงาม เป็นของประดับตกแต่งซึ่งทำเป็นรูปทรงต่าง ๆ เช่น ดอกไม้ เครื่องประดับ สัตว์ต่าง ๆ
แต่เดิมการเป่าแก้วจะไม่ใช้ตะเกียงเหมือนปัจจุบัน โดยใช้วิธีการเป่าลมผ่านเข้าไปในด้านหนึ่งของท่อโลหะกลวง (Blowing pipe) โดยที่ปลายด้านหนึ่งคือหลอดแก้วที่หลอมเหลวรวมกันเป็นก้อน การเป่าแก้วสามารถที่จะควบคุมรูปร่างขนาดได้ตามความต้องการในขณะที่แก้วนั้นกำลังร้อนอยู่ การเป่าแบบนี้จะใช้เวลานาน ต้องมีเตาหลอมแก้ว อาจใช้คนจำนวนมากในการทำ
ต่อมา เริ่มมีการเป่าแก้วโดยนิยมใช้ตะเกียงเป่าแก้ว ซึ่งเป็นวิธีการที่ใช้ตะเกียงเป่าแก้วมาช่วยหลอมแก้ว ซึ่งมีความเร็วและง่ายกว่ามาก สามารถทำได้ด้วยผู้ทำเพียงคนเดียว วิธีนี้มีลักษณะคือ ใช้ตะเกียงเป่าแก้วเผาแท่งแก้วโดยหลอมให้เกิดรูปร่างตามจินนาการและความสามารถทางศิลปะของผู้ทำ
ทั้งนี้การหลอมแก้วและเป่าแก้วให้มีรูปร่างต่าง ๆ ยังมีองค์ประกอบสำคัญที่ช่วยให้ผลงานออกมาได้สวยงามและมีคุณภาพก็คือ ตะเกียงเป่าแก้วและก๊าซเชื้อเพลิงที่ใช้สำหรับเป่าแก้ว
ภาพที่ 2 การขึ้นรูปแก้ว
ที่มา http://library.tru.ac.th/images/academic/book/b45252/04g1-p.pdf
ตะเกียงเป่าแก้ว (glassblowers burner) มี 2 ประเภทคือ แบบตั้งโต๊ะ และแบบมือถือ โดยมีท่อส่งไฟเชื้อเพลิงผ่านพลังงานจากก๊าซเชื้อเพลิงชนิดต่าง ๆ เช่น ก๊าซบิวเทน ก๊าซหุงต้ม หรือ ก๊าซไฮโดรเจน เป็นต้น นอกจากนี้ยังมีท่อก๊าซออกซิเจน (o2) ซึ่งแยกกันคนละท่อ เข้าไปผสมกันที่หัวเตา (burner) เมื่อจุดไฟจะได้เปลวไฟที่มีความร้อนมากกว่า 1,000 องศาเซลเซียส ทั้งนี้ขึ้นอยู่กับชนิดก๊าซเชื้อเพลิงชนิดที่ผสมกับก๊าซออกซิเจน โดยปกติหากใช้ก๊าซบิวเทนผสมกับอากาศปกติจะใช้เป่าแก้วบอโรซิลิเกต (borosilicate glass) หากใช้อากาศจากลมทั่วไปผสมกัน จะให้ความร้อนประมาณ 800 องศาเซลเซียส จะใช้สำหรับการเป่าแก้วอ่อน (soft glass)
การเป่าแก้วยังต้องอาศัยการฝึกฝนฝึกปฏิบัติให้มีความชำนาญ เพราะการเป่าแก้วนั้นก็มีความอันตรายอยู่พอสมควรเหมือนกัน
ทั้งนี้หากใครสนใจสามารถคลิกเพื่อเข้าไปอ่านรายละเอียดและขั้นตอนการทำในหนังสือ การเป่าแก้วเบื้องต้น โดยผศ.ดร.ประสิทธิ์ ปุระชาติ
แหล่งที่มา
ประสิทธิ์ ปุระชาติ. ประวัติความเป็นมาของแก้ว. สืบค้นเมื่อ 2 มกราคม 2561, จาก
http://library.tru.ac.th/images/academic/book/b45252/04g1-p.pdf
ศาสตร์แห่งแก้ว. สืบค้นเมื่อ 2 มกราคม 2561, จาก
http://www.angelfire.com/sc3/glassblow/glass2.htm
การเป่าแก้ว. สืบค้นเมื่อ 2 มกราคม 2561, จาก
http://glasswarechemical.com/category/glassblowing/
-
7815 เป่าแก้ว ความสวยงามจากวิทยาศาสตร์ /article-chemistry/item/7815-2017-12-19-02-24-59เพิ่มในรายการโปรด