เหตุผลที่ไม่ควรต้มไข่ด้วยไมโครเวฟ
เรื่องราวของการฟ้องร้องและการค้นพบทางวิทยาศาสตร์ที่เกี่ยวข้องกับการระเบิดของไข่ต้ม นำมาซึ่งคำตอบของคำถามที่ว่า ทำไมจึงไม่ควรอุ่นไข่ต้มด้วยเตาอบไมโครเวฟ ?
ภาพที่ 1 ไข่ต้มสุก
ที่มา Pezibear/Pixabay
ไข่ต้มร้อน ๆ ที่ระเบิดในปาก พร้อมกับเสียงดังที่เกิดขึ้นในหู ผลจากการรับประทานไข่ต้มที่ถูกอุ่นให้ร้อนอีกครั้งด้วยเครื่องใช้ไฟฟ้าอย่างไมโครเวฟ เป็นหนึ่งในเรื่องราวของการฟ้องร้องที่เคยเกิดขึ้นในสหรัฐอเมริกา เมื่อลูกค้าท่านหนึ่งของร้านอาหารได้รับบาดเจ็บอย่างรุนแรงจากการถูกลวกภายในช่องปาก หลังจากการกัดไข่ต้มที่ถูกอุ่นด้วยเตาอบไมโครเวฟ ทั้งนี้ยังมีการอ้างถึงผลกระทบที่ก่อให้เกิดความเสียหายต่อการได้ยินเสียง นอกเหนือจากอาการบาดเจ็บที่เกิดขึ้นด้วย
Anthony Nash และ Lauren von Blohn นักวิจัยและวิศวกรที่มีความเชี่ยวชาญทางด้านเสียงของบริษัท Charles M. Salter Associates ในซานฟรานซิสโก ได้รับมอบหมายโดยการว่าจ้างให้เป็นพยานผู้เชี่ยวชาญในคดีฟ้องร้อง และตอบคำถามที่ว่า ไข่ที่ระเบิดก่อให้เกิดเสียงที่มีประสิทธิภาพมากพอในการสร้างความเสียหายต่อการได้ยินได้หรือไม่? ดังนั้นการศึกษาเกี่ยวกับการระเบิดของไข่จึงเป็นส่วนหนึ่งของพยานหลักฐานในคดี
ด้วยคำถามข้างต้น นักวิจัยจึงต้องทำการทดสอบหาระดับเสียงสูงสุดที่เกิดจากแรงดันจากไข่ที่ระเบิดเพื่อเปรียบเทียบกับเกณฑ์ความเสี่ยงที่ก่อให้เกิดความเสียหายต่อการได้ยิน โดยได้ทำการทดลองอุ่นไข่ต้มสุกในเตาอบไมโครเวฟเป็นเวลา 3 นาที ทั้งนี้ทีมวิจัยได้ใช้ไข่ต้มสุกประมาณ 100 ฟองสำหรับการศึกษา เนื่องด้วยในบางครั้งพบการระเบิดของไข่ต้มในระหว่างขั้นตอนการอุ่นภายในเตาอบ โดยมีเพียงประมาณร้อยละ 30 เท่านั้นที่ไม่ระเบิดภายในเตาอบไมโครเวฟก่อนที่จะนำออกมาด้านนอกและจิ้มด้วยของมีคม ดังนั้นเพื่อผลการทดลองที่ชัดเจน นักวิจัยจึงใช้ผ้าไนลอนบาง ๆ ห่อหุ้มไข่ต้มไว้ก่อนที่จะใส่ลงในบีกเกอร์น้ำและอุ่นภายในเตาอบไมโครเวฟ จากนั้นจึงค่อย ๆ นำไข่ต้มออกมาตั้งไว้และทดลองจิ้มด้วยส้อมหรืออุปกรณ์อื่น ๆ เพื่อวัดระดับเสียงที่เกิดขึ้นจากการระเบิด
ภาพที่ 2 ไข่ต้มระเบิด
ที่มา Myriams Fotos/Pixabay
จากการทดลอง นักวิจัยได้วัดระดับเสียงด้วยอุปกรณ์บันทึกเสียงที่มีความแม่นยำสูงในขณะที่กำลังเจาะไข่ต้มด้วยเครื่องมือวัดอุณหภูมิพบว่า ที่ระยะห่าง 1 ฟุต (30 เซนติเมตร) ระดับเสียงสูงสุดที่เกิดจากระเบิดของไข่นั้นครอบคลุมตั้งแต่ 86 - 133 เดซิเบล อย่างไรก็ดีเสียงที่เกิดขึ้นจากการระเบิดของไข่ต้มจะเกิดขึ้นเพียงชั่วครู่ ซึ่งบนพื้นฐานทางสถิติ ความเป็นไปได้ที่ไข่จะระเบิดและทำลายการได้ยินจึงค่อนข้างต่ำคล้ายกับการเล่นรูเล็ตไข่ (egg roulette)
สำหรับการควบคุมตัวแปรในเรื่องของอุณหภูมิ เริ่มแรกนักวิจัยใช้อ่างควบคุมอุณหภูมิ (Water bath) แทนการใช้เตาอบไมโครเวฟมาตรฐานกำลังไฟ 800 วัตต์ ซึ่งเมื่อเปรียบเทียบอุณหภูมิของน้ำภายในอ่างควบคุมอุณหภูมิและไข่แดงทั้งที่ระเบิดและไม่ได้ระเบิดแล้วพบว่า มีความแตกต่างกันอย่างมาก โดยไข่แดงมีอุณหภูมิสูงกว่า 100 องศาเซลเซียสหรือกล่าวได้ว่า ร้อนพอที่จะทำให้น้ำเดือดได้ และนี่อาจเป็นคำอธิบายที่เป็นไปได้สำหรับการระเบิดของไข่ต้ม
เหตุใดไข่ต้มจึงระเบิด?
มันฝรั่งเป็นอีกหนึ่งในตัวอย่างที่สามารถอธิบายการระเบิดจากการปรุงอาหารด้วยเตาไมโครเวฟได้ดี เนื่องด้วยการนำมันฝรั่งเข้าเตาอบไมโครเวฟทั้งที่ไม่ได้ใช้ส้อมเจาะให้เปลือกทะลุก่อนนั้น แรงดันไอน้ำสามารถก่อตัวขึ้นภายใต้เปลือกของมันฝรั่ง เป็นผลให้มันฝรั่งระเบิด
ภาพที่ 3 มันฝรั่ง
ที่มา Couleur/Pixabay
สำหรับ “ไข่ต้มสุก” โปรตีนภายในไข่แดงจะจับตัวเป็นกลุ่มก้อนและมีถุงน้ำเล็กๆ กระจายอยู่ทั่วเมทริกซ์ของโปรตีน ซึ่งจะไม่เป็นอันตรายหากรับประทานหลังจากที่ไข่ต้มนั้นเย็นตัวลงแล้ว แต่สำหรับไข่ต้มที่ถูกอุ่นให้ร้อนอีกครั้ง ความร้อนในการอุ่นอาหารด้วยคลื่นแม่เหล็กไฟฟ้าความถี่สูงจากเตาอบไมโครเวฟ จะทำให้โมเลกุลของน้ำในไข่ต้มเกิดการสั่นสะเทือนจนกลายเป็นพลังงานความร้อน ทำให้ถุงน้ำภายในไข่แดงมีอุณหภูมิสูงและมีความดันมากขึ้น โดยที่ไม่สามารถระบายออกได้ภายใต้เปลือกไข่ เมื่อถุงน้ำที่มีความร้อนสูงเหล่านี้ถูกรบกวนจากอุปกรณ์ที่เจาะเข้าไปหรือเมื่อมีใครพยายามที่จะกัดไข่แดง ถุงน้ำเดือดทั้งหมดภายในไข่แดงก็พร้อมที่จะระเบิดทันที
คดีฟ้องร้องดังกล่าวสิ้นสุดลงแล้วตามการศึกษาทางวิทยาศาสตร์ที่ใช้เป็นหลักฐานในกระบวนการทางกฎหมาย แต่เนื่องด้วยการศึกษาทางวิทยาศาสตร์ที่เกี่ยวข้องกับการอุ่นอาหารจำพวกไข่ยังมีอยู่อย่างจำกัด จึงทำให้บุคคลจำนวนมากทดสอบกันเองภายในห้องครัว ซึ่งวิธีการดังกล่าวไม่ใช่วิธีการทางวิทยาศาสตร์ที่ถูกต้อง เนื่องด้วยไม่มีการควบคุมตัวแปรสำคัญหลายประการ ดังนั้น การทำการทดลองเพื่อความบันเทิงหรือสนุกสนานนั้นควรคำนึงถึงความปลอดภัยต่อตนเองและผู้อื่นด้วย
ข้อมูลเพิ่มเติม
ระดับเสียงที่เป็นอันตราย
มาตรฐานสากล กำหนดให้
- ระดับความดังของเสียงไม่เกิน 85 เดซิเบล สำหรับผู้ปฏิบัตงานติดต่อกัน 8 ชั่วโมงต่อวัน หรือ 90 เดซิเบล เมื่อทำงานติดต่อกัน 4 ชั่วโมงต่อวัน
สำหรับมาตรฐานของไทย ซึ่งกำหนดไว้ในประกาศกระทรวงมหาดไทย เรื่องความปลอดภัยในการทำงานเกี่ยวกับสภาพแวดล้อม กำหนดให้
- ระดับความดังของเสียงที่ได้รับติดต่อกัน ไม่เกิน 90 เดซิเบล (เอ) หากทำงานไม่เกินวันละ 8 ชั่วโมง
- ระดับความดังของเสียงที่ได้รับติดต่อกัน ไม่เกิน 80 เดซิเบล (เอ) หากทำงานเกินวันละ 8 ชั่วโมง
ผู้ที่ทำงานในสถานที่ที่มีเสียงดังตามที่กำหนดในมาตรฐานดังกล่าวข้างต้น จะมีความเสี่ยงต่อการสูญเสียสมรรถภาพการได้ยินน้อยลงอีก หากสวมใส่อุปกรณ์ป้องกันเสียง
แหล่งที่มา
Anthony Nash and Lauren von Blohn. (2017, 6 December). Microwaved exploding eggs make for an unusual acoustic experiment
Retrieved December 20, 2017,
from https://www.eurekalert.org/pub_releases/2017-12/asoa-mee112817.php
Rafi Letzter and Staff Writer. (2017, 6 December). Why Microwaved Eggs Explode.
Retrieved December 20, 2017,
from https://www.livescience.com/61109-why-microwave-eggs-explode.html
VERONIQUE GREENWOOD. (2017, 6 December). What Happens When You Microwave a Boiled Egg.
Retrieved December 20, 2017,
from https://www.nytimes.com/2017/12/06/science/egg-microwave.html
ฝ่ายสุขาภิบาลทั่วไป กองอนามัยสิ่งแวดล้อม สำนักอนามัย กรุงเทพมหานคร. ลดเสียงลดอันตราย.
Retrieved December 20, 2017,
from https://web.ku.ac.th/schoolnet/snet6/envi3/soundpol/soundpol.htm
ชวน คล้ายปาน. (2002, 27 December). เตาอบไมโครเวฟ.
Retrieved December 20, 2017,
from http://www.dss.go.th/images/st-article/pep_2_2546_microwave.pdf
-
7820 เหตุผลที่ไม่ควรต้มไข่ด้วยไมโครเวฟ /article-chemistry/item/7820-2018-01-10-08-30-48เพิ่มในรายการโปรด
-
คำที่เกี่ยวข้อง