แมลงดื้อ
ไม่ใช่เพียงมนุษย์เท่านั้นที่มีลักษณะของการดื้อยา แมลงก็เช่นกันที่มีวิวัฒนาการในการสร้างความต้านทานต่อสารเคมีกำจัดศัตรูพืช อาจเป็นเพียงแต่คนละวัตถุประสงค์ สำหรับการใช้ยากับสิ่งมีชีวิตอย่างมนุษย์และแมลง เราใช้ยาเพื่อทำการรักษาโรคของมนุษย์ แต่สำหรับศัตรูตัวร้ายที่ทำร้ายพืชอย่างแมลงแล้ว เราใช้ยากำจัดพวกมันและยาที่ว่าคือสารเคมีฆ่าแมลง
ภาพที่ 1 แมลงศัตรูพืช
ที่มา https://pixabay.com/th/ ,Nickss
วิวัฒนาการของสิ่งมีชีวิตทุกชนิด ไม่เว้นแม้แต่แมลงที่ต้องมีการปรับตัวให้เข้ากับสภาพแวดล้อมเพื่อความอยู่รอดของตัวมันเองและเพื่อดำรงเผ่าพันธุ์ กลไกลการป้องกันตัวเองนี้เกิดขึ้นเองตามธรรมชาติของพวกมันเอง
เกษตรกรมักพบกับปัญหาในการปราบศัตรูพืชอย่างพวกเจ้าแมลงพวกนี้ สารเคมีชนิดแรงที่สุดก็ยังไม่สามารถกำจัดพวกแมลงให้หมดไปได้ ก็ยังมีเจ้าพวกแมลงที่สามารถอยู่รอดและสร้างปัญหากับพวกเขาได้ ปัญหาที่ว่านี้เราเรียกมันว่า ปัญหาการดื้อยาของแมลงหรือแมลงสามารถสร้างความต้านทานต่อสารเคมีฆ่าแมลงชนิดนั้น ๆ ได้
กลไกของสารเคมีที่ทำลายศัตรูพืชอย่างแมลง
เมื่อสารเคมีที่ฉีดพ่นลงบนพืชชนิดต่าง ๆ หากสารเคมีนั้นถูกเจ้าตัวแมลง สารเคมีจำนวนหนึ่งที่ซึมผ่านเข้าสู่ร่างกายของแมลง จะเข้าไปจับและทำลายเซลล์ภายในร่างกายของแมลง ทำให้พวกมันตายในที่สุด
ภาพที่ 2 กลไกการสร้างความต้านทานต่อสารเคมีของแมลง
ที่มา http://dr-chaiwat-chanpitak.blogspot.com/2016/08/blog-post.html
จากภาพนี้จุดสีดำแสดงถึงสารเคมีที่เราฉีดพ่นไปยังแมลงเป้าหมายที่ต้องการกำจัด ทุกครั้งที่มีการฉีดพ่นสารเคมีกำจัดแมลง จะมีสารเคมีกำจัดแมลงจำนวนหนึ่งไม่ได้เข้าสู่ร่างกายของแมลง หรือบางส่วนอาจจะถูกแมลงขับถ่ายออกจากร่างกาย เมื่อสารเคมีเข้าสู่ร่างกายของแมลง ด้วยภูมิต้านทานที่มีอยู่ในร่างกายของแมลงจะมีเอมไซม์ที่คอยทำลายสารเคมีเหล่านี้ แต่อย่างไรก็ตามสารเคมีจำนวนมากก็ยังคงผ่านเข้าสู่ร่างกายของแมลงและเข้าไปจับและทำลายเซลล์เป้าหมายภายในร่างกายของแมลงส่งผลให้ตายในที่สุด
แต่ทั้งนี้ แมลงจำนวนหนึ่งจะมีชีวิตรอดและดำรงชีพอยู่ได้หลังจากถูกกำจัดด้วยสารเคมี ซึ่งเกิดขึ้นได้ตามความสามารถของแมลงในการสร้างความต้านทานได้เองตามธรรมชาติ แต่มักพบว่าความต้านทานนั้นเกิดขึ้นในแมลงรุ่นลูกหรือรุ่นต่อ ๆ ไปที่มีชีวิตรอด
กลไกที่สามารถทำให้เกิดความต้านทานต่อยาฆ่าแมลง
เกิดจากกลไกหลายรูปแบบเช่น
- กลไกทางพฤติกรรม (Behavioral resistance)
พฤติการโดยธรรมชาติของแมลงจะรับรู้ว่าสิ่งไหนคืออันตรายสำหรับตัวมันเองและมีการหลบหลีกอันตรายเหล่านั้นด้วยพฤติกรรมของมันเอง เช่นหยุดกินใบพืช ซ่อนอยู่หลังใบพืชเป็นต้น
- กลไกการป้องกันการซึมผ่าน (Penetration resistance)
แมลงที่แข็งแรงหรือมีความต้านทานสูงจะมีการดูดซับสารเคมีได้น้อยและช้ากว่าแมลงที่อ่อนแอหรือมีความต้านทานต่ำ โดยมีตัวป้องกันหรือความต้านทานนั้นคือผนังชั้นนอก ซึ่งมีการพัฒนาผนังลำตัวให้หน่าขึ้น หรือมีลักษณะผิวมัน ทำให้สารเคมีซึมผ่านได้ยาก
- กลไกการย่อยสลายพิษ (Metabolic resistance)
แมลงที่มีความต้านทานสูงจะมีกลไกในการสร้างเอนไซม์ โดยเอนไซม์เหล่านั้นมีความสามารถในการสลายพิษของสารเคมีได้ เช่น esterases, oxidases และ Glutathione transferases (GSTs) บางส่วนอาจจะถูกแมลงขับถ่ายออกจากร่างกาย
- กลไกการเปลี่ยนแปลงที่ตำแหน่งการออกฤทธิ์ (Altered target-site resistance)
แมลงที่มีความต้านทานสูงขึ้น มีกลไกทำให้ยาฆ่าแมลงมีการสลายพิษจนออกฤทธิ์หรือประสิทธิภาพของยามีผลน้อยลง จากการพัฒนาเซลล์ภายในร่างกาย ซึ่งเปลี่ยนรูปหรือหน้าที่ของเซลล์เป้าหมายภายในตัวของมันเอง ไม่ให้สารเคมีเข้าไปทำลายได้โดยง่าย
วิธีการแก้ไขปัญหาแมลงดื้อยาเบื้องต้น
- เปลี่ยนสารเคมีที่ใช้ในการฉีดพ่นแมลง การแก้ไขด้วยวิธีนี้จำเป็นต้องอาศัยการข้ามกลุ่มของสารเคมี เช่น จากกลุ่มของ "ไซเปอร์เมนทิน" ต้องเปลี่ยนเป็นกลุ่มอื่น เช่น กลุ่มไพรีทรอยด์ (ติดตามบทความเกี่ยวกับเรื่องของกลุ่มของสารเคมีกำจัดแมลง)
- เปลี่ยนสูตรของสารเคมี ลองเปลี่ยนวิธีการฉีดพ่นมาเป็นแบบ "เจลกำจัดแมลง" หรือแบบสเปร์ยบรรจุกระป๋อง
- การใช้กับดักต่าง ๆ แทนการพ่นสารเคมี มักมีการใช้กับดักที่มีฟีโรโมน หรือสิ่งเร้าที่แมลงชอบ เพื่อล่อให้แมลงเข้ามาติดกับก่อน
ทั้งนี้ ประเด็นของปัญญาการดื้อยา หรือการสร้างความต้านทานต่อสารเคมีของแมลง" ไม่ได้เกิดขึ้นได้เพียงช่วงข้ามคืน ต้องใช้เวลาถ่ายทอดรุ่นสู่รุ่น นั่นหมายความว่า การดื้อยาของแมลงย่อมต้องมีวิวัฒนาการทางธรรมชาติที่ต้องหาวิธีให้มันสามารถดำรงชีวิตอยู่ได้ตามที่ได้กล่าวไปข้างต้น ซึ่งแน่นอนก็เป็นอะไรที่เกษตรกรจะต้องศึกษาหาข้อมูลเพิ่มเติม ก็จะช่วยให้สามารถรับมือกับปัญหานี้ได้มากอยู่พอสมควร
แหล่งที่มา
Dr.Chaiwat Chanpitak. แมลงสามารถดื้อสารเคมีกำจัดแมลงได้จริงหรือ. สืบค้นเมื่อ 22 กุมภาพันธ์ 2561, จาก
http://dr-chaiwat-chanpitak.blogspot.com/2016/08/blog-post.html
ทำไมแมลงจึงดื้อยา. สืบค้นเมื่อ 22 กุมภาพันธ์ 2561, จาก
http://www.thaipan.org/node/30
-
7830 แมลงดื้อ /article-chemistry/item/7830-2018-01-10-09-05-20เพิ่มในรายการโปรด
-
คำที่เกี่ยวข้อง