John Flamsteed นักดาราศาสตร์ราชสำนักคนแรกของอังกฤษผู้เป็นศัตรูของนิวตัน
John Flamsteed คือ บิดาคนหนึ่งของดาราศาสตร์ยุคใหม่ ผู้ได้ปรับปรุงข้อมูลในตารางดาราศาสตร์ของดาวนับ 3,000 ดวง ที่นักวิทยาศาสตร์ และนักเดินทางได้ใช้กันมานานจนกระทั่งคริสต์ศตวรรษที่ 17 เพราะให้ข้อมูลที่ถูกต้องและทันสมัยซึ่งข้อมูลเหล่านี้ได้ช่วยให้ Sir Isaac Newton พบแรงโน้มถ่วง แม้จะมีเรื่องทะเลาะวิวาทกับ Newton อย่างรุนแรง รวมถึงไม่เป็นที่ชอบพอของบรรดานักวิทยาศาสตร์คนอื่น ๆ และสุขภาพไม่อำนวยก็ตาม แต่ Flamsteed ก็ได้รับการยกย่องให้เป็นนักดาราศาสตร์แห่งราชสำนักคนแรกของอังกฤษ ผู้ได้วางรากฐานของดาราศาสตร์ภาคปฏิบัติมากที่สุดคนหนึ่ง
ภาพ John Flamsteed
ที่มา http://www.rmg.co.uk/discover/behind-the-scenes/blog/it-all-started-rumourfounding-royal-observatory
John Flamsteed เกิดเมื่อวันที่ 19 สิงหาคม ค.ศ. 1646 (ตรงกับรัชสมัยสมเด็จพระเจ้าปราสาททอง) ที่เมือง Derby ในอังกฤษ บิดามีอาชีพขาย เครื่องดื่มแอลกอฮอล์ เมื่อ Flamsteed กำพร้ามารดาเมื่ออายุ 3 ขวบ และต้องต่อสู้กับโรคภัยไข้เจ็บตลอดเวลา เช่น ป่วยเป็นโรคข้ออักเสบ จนทำให้เดินไม่ได้เมื่ออาการกำเริบมาก Flamsteed ก็ต้องลาออกจากโรงเรียน Derby Free School จึงต้องเรียนหนังสือด้วยตนเองที่บ้าน
วันหนึ่งหลังจากที่ได้อ่านหนังสือดาราศาสตร์ซื่อ De Sphaera ที่เรียบเรียงโดย Sacrobosco หนุ่ม Flamsteed ก็ตกหลุมรักวิชาดาราศาสตร์ทันที ยิ่งเมื่อได้เห็นปรากฏการณ์สุริยุปราคาบางส่วนในวันที่ 12 กันยายน ค.ศ.1662 Flamsteed ก็ยิ่งมีความต้องการจะเป็นนักดาราศาสตร์ให้จงได้ส่วนบิดาเมื่อมีบุตรที่อยู่ในสภาพพิการก็ได้พยายามหาหมอมารักษา แต่หมอจากทุกหนแห่งก็ไม่สามารถช่วยอะไรได้ Flamsteed จึงตัดสินใจยอมรับชะตากรรมของตน และมุ่งหน้าสนใจเรื่องดาราศาสตร์เพียงเรื่องเดียว
ภาพ หนังสือดาราศาสตร์ซื่อ De Sphaera ที่เรียบเรียงใดย Sacrobosco
ที่มา https://www.maa.org/press/periodicals/
ภายในเวลาไม่นาน นักวิชาการก็เริ่มประจักษ์ในความสามารถของ Flamsteed เพราะในเดือนตุลาคม ค.ศ. 1668 Flamsteed วัย 22 ปี ได้ศึกษาสุริยุปราคา และแถลงว่า ตัวเลขต่าง ๆ ที่ปรากฏในตารางดาวยุคนั้นไม่สอดคล้องกับความเป็นจริง การแก้ไขข้อมูลต่าง ๆ ในตารางจึงกลายเป็นงานหลักและสำคัญของ Flamsteed ในเวลาต่อมาเมื่อใกล้สิ้นสุดค.ศ. 1669 Flamsteed ได้ส่งผลงานนี้ไปเผยแพร่ในวารสาร Philosophical Transactions ของ Royal Society แห่งอังกฤษ ผลงานนี้ได้สร้างความประทับใจให้ OIdenburg ซึ่งเป็นนักวิทยาศาสตร์ผู้ยิ่งใหญ่ และ John Colin ซึ่งเป็นนักคณิตศาสตร์คนสำคัญเป็นอย่างมาก คนทั้งสองจึงกลายเป็นเพื่อนของ Flamsteed และได้เดินทางมาเยี่ยมเขาที่ลอนดอน และ Flamsteed ได้เดินทางจากลอนดอนไปที่ Cambridge เพื่อพบปะกับ Isaac Newton
ในค.ศ. 1671 Flamsteed ได้พบว่า ในการศึกษาการเคลื่อนที่ของดวงจันทร์ ข้อมูลที่เขาวัดได้จากการสังเกตความแตกต่าง และขัดแย้งกับทฤษฎีต่าง ๆ ที่มีอยู่ ยกเว้นทฤษฎีของ Jeremiah Horrocks ซึ่งได้เสียชีวิตไปเมื่อประมาณ 30 ปีก่อนนั้น ข่าวนี้ทำให้ Newton สนใจ จึงขออ่านรายงานฉบับเต็ม และในปีค.ศ. 1673 Flamsteed ก็ได้รายงานเพิ่มเติมเรื่องขนาดของดาวเคราะห์ต่าง ๆ ให้ Newton ใช้ในการเขียนตำรา Principia
อีกหนึ่งปีต่อมา หลังจากที่ได้รับปริญญาโทจากผลงานดาราศาสตร์ที่ได้ทำไป Flamsteed ตั้งใจจะใช้ชีวิตที่เหลือ ทำงานที่หมู่บ้านเล็ก ๆ ใกล้เมือง Derby แต่อนาคตที่ยิ่งใหญ่กำลังคอยเขาอยู่ เพราะในฤดูร้อนของ ค.ศ.1674 Flamsteed ได้รับเชิญเป็นแขกของ Sir Jonas Moore ที่ Tower of London เพื่อทูลรายงานเวลาน้ำขึ้นน้ำลงถวายสมเด็จพระเจ้า Charles ที่ 2 ทรงทราบ และ Flamsteed ก็ได้นำตารางเวลาขึ้นทูลเกล้าพร้อมอุปกรณ์ Barometer และ Thermometer ที่เขาออกแบบเองเพื่อถวายพระองค์ ชื่อ Flamsteed จึงเป็นที่รู้จักกันในวงกว้างตั้งแต่นั้นเป็นตันมา
ในค.ศ. 1675 เมื่อ Sieurdi St. Pieme ชาวฝรั่งเศส เสนอโครงการวิจัยจะหาตำแหน่งของเส้นแวงโลกโดยจะร่วมมือกับนักดาราศาสตร์ อังกฤษ Sir Jonas Moore ได้เสนอให้ Flamsteed เป็นสมาชิกคนหนึ่งในทีม และ Flamsteed ก็ได้ทูลพระเจ้า Chares ที่ 2 ให้ทรงทราบว่าโครงการของฝรั่งเศสนั้นมีข้อบกพร่องมากมาย เพราะนักดาราศาสตร์ฝรั่งเศสไม่รู้ตำแหน่งที่แน่นอนของดวงจันทร์และดาวฤกษ์ต่าง ๆ ดังนั้นสมเด็จพระเจ้า Charles ที่ 2 จึงโปรดเกล้าให้ Flamsteed ขึ้นดำรงตำแหน่งนักดาราศาสตร์ ผู้มีหน้าที่หาตำแหน่งของสถานที่ต่าง ๆ บนเส้นแวง และเพื่อจะทำงานได้อย่างมีประสิทธิภาพ Flamsteed จำเป็นต้องมีหอดูดาวประจำตัว และ Sir Christopher Wren ก็ได้เลือกสถานที่สร้างหอดูดาวให้อยู่ที่ Greenwich Park เมื่อการก่อสร้างลุล่วงโลกก็มีหอดูดาวชื่อ Royal Observatory ที่ Greenwich ซึ่งเป็นหอดูดาวที่สำคัญและมีชื่อเสียงมากที่สุดของโลกในสมัยนั้น
ภาพ หอดูดาวซื่อ Royal Observatory ที่ Greenwich
ที่มา https://www.mediastorehouse.com/john-flamsteed-c-1700-royal-astronomer-johnflamsteed/print/6207695.html?prodid=73045
ลุถึงวันที่ 10 กรกฎาคม ค.ศ. 1676 Flamsteed ได้เริ่มทำงานในฐานะนักดาราศาสตร์แห่งราชสำนักคนแรก โดยไม่ได้รับการสนับสนุนใด ๆ จากรัฐบาลอังกฤษในการซื้ออุปกรณ์ดูดาว และ Flamsteed ต้องจัดหากล้องดูดาวเองจากเงินที่ได้ปีละ 100 ปอนด์ (ประมาณ 14,000 ปอนด์ในปัจจุบัน) แต่เมื่อถูกหักภาษี เงินที่ได้รับก็เหลือเพียง 90 ปอนด์ ซึ่งไม่เพียงพอสำหรับการซื้อกล้อง ดังนั้น Flamsteed จึงต้องหาเงินเพิ่มเติมจากการสอนพิเศษ ในระหว่าง ค.ศ.1676 ถึง ค.ศ.1709 Flamsteed ต้องสอนนักเรียนประมาณ 140 คนแม้อุปกรณ์ดูดาวจะขาดแคลน และสุขภาพจะไม่ดี แต่ Flamsteed ก็ประสบความสำเร็จในการปฏิรูปดาราศาสตร์โดยได้คิดวิธีหาตำแหน่งของ equinox ให้นักดาราศาสตร์ปัจจุบันใช้จนทุกวันนี้
ถึงค.ศ. 1681 Flamsteed ได้รายงานการเห็นดาวหางดวงหนึ่งให้ Newton ทราบ เพื่อให้ Newton ใช้ในการเขียนตำรา Pincipia แต่เหตุการณ์นี้ทำให้สัมพันธภาพของคนทั้งสองแตกแยก เพราะ Flamsteed อ้างว่าดาวหางที่ปรากฏปี ค.ศ.1681 คือดาวหางดวงเดียวกับที่เคยปรากฎในเดือนพฤศจิกายน ปี ค.ศ.1680 แต่ Newton คิดว่าเป็นดาวหางคนละดวงจึงเย้ยเยาะ Flamsteed แต่อีก 4 ปีต่อมา Newton ก็ได้ยอมรับว่าตนคิดผิด และรู้สึกเคืองที่มีคนรู้ดีกว่า
ในเวลาต่อมา Newton ได้ขอให้ Flamsteed เสนอตารางแสดงตำแหน่งของดาวฤกษ์ที่สำคัญ ๆ แต่ Flamsteed ไม่สนใจในข้อมูลแค่เพียงบางส่วน เพราะต้องการศึกษาดาวฤกษ์ทุกดวง ความขัดแย้งครั้งที่สองจึงเกิดขึ้นอีก
ในช่วง ค.ศ. 1694-1695 Newton มีความจำเป็นต้องใช้ข้อมูลเกี่ยวกับตำแหน่งวงใคจรของดวงจันทร์โดยด่วนแต่ Flamsteed ล้มป่วยบ่อย จึงทำให้ Newton ต้องคอยข้อมูลเป็นเวลานาน และไม่พอใจ จึงได้เสนอจะให้เงินเพิ่มเพื่อให้ Flamsteed ทำงานเร็วขึ้น แต่ข้อเสนอนี้ถูก Famsteed ปฏิเสธ
ใน ค.ศ. 1704 Newton ได้เดินทางมารับประทานอาหารเย็นที่หอดูดาวร่วมกับ Flamsteed เมื่อเห็นตารางดาราศาสตร์ที่ Flamsteed ทำได้และก็พบว่าได้ลุล่วงประมาณครึ่งหนึ่งแล้ว จึงเสนอจะให้เจ้าชาย George แห่ง Denmark จัดพิมพ์ให้ แต่ Famsteed ปฏิเสธอีก เพราะคิดว่า Newton จะอ้างเครดิตการตีพิมพ์เป็นของตนเพียงคนเดียว เมื่อความขัดแย้งทวีความรุนแรง สมาคม Royal Society ได้จัดตั้งคณะกรรมการขึ้นมา ซึ่งประกอบด้วย Newton. Wren และ James Gregory ให้จัดพิมพ์ตารางดาราศาสตร์ของ Flamsteed ซึ่งไม่ยินดีให้ข้อมูล จนทำให้เจ้าชาย George แห่ง Denmark ทรงประกาศจะสลายความขัดแย้งระหว่าง Newton และ Flamsteed เหตุการณ์นี้ได้ทำให้การพิมพ์ล่าช้าไปถึง ค.ศ.1707 แต่ในที่สุดบรรณาธิการของหนังสือคือ Edmond Halley ก็จัดพิมพ์ตารางจนได้
ภาพ The Royal Observatory Greenwich
ที่มา http://www.royalobservatorygreenwich.org/devblog/wp-content/uploads/2014/10/Greenwich-Observatory-Flamsteed-House-c1900.jpg
ใน ค.ศ. 1711 Flamsteed ถูกเรียกไปรายงานตัวต่อ Newton ซึ่งเป็นนายกของสมาคม Royal Society และขอให้อธิบายการทำงานของอุปกรณ์ดูดาวที่ใช้ ซึ่ง Flamsteed ได้ตอบว่า ของที่ใช้เป็นของที่ตนซื้อเอง จึงไมใช่หน้าที่ของคนอื่นที่จำเป็นต้องรู้ คำตอบนี้ทำให้ Newton หมดความอดทนจึงตอบสวนไป้ว่า "ถ้าพวกเราไม่รู้อะไร ๆ เกี่ยวกับอุปกรณ์ก็ไม่จำเป็นต้องมีหอดูดาว" และสำหรับการทำงานของ Flamsteed นั้น เขาก็บ่นว่าควรส่งเสริมให้เขาสามารถทำงานได้อย่างสะดวกสบาย แต่ไม่ใช่ให้ถูกสอบสวน หลังจากที่ได้ลงทุนซื้ออุปกรณ์ด้วยเงินตนเองไปมากถึง 2,000 ปอนด์แล้วคนอื่นก็จะมาแอบอ้างเอาผลงานที่ทำไปหมดเพราะ Newton เป็นคนที่มีบารมี และอำนาจมากใน ค.ศ. 1712 ตำรา Histona Coelestis ก็ถูกนำออกเผยแพร่โดยมีข้อมูลบางส่วนของ Flamsteed ปรากฎ ตารางจึงไม่สมบูรณ์ และหลายส่วนยังไม่ถูกต้อง ด้าน Halley ก็เขียนในบทนำว่าทางสมาคมได้แก้ไขข้อผิดพลาดของ Flamsteed ไปหมดแล้ว การแอบอ้างนี้ทำให้ Flamsteed รู้สึกผิดหวังในตัว Halley มาก
ความตั้งใจของ Flamsteed คือจะตีพิมพ์ผลงานที่สมบูรณ์ด้วยตนเอง แต่เมื่อตนป่วยเป็นเก๊าห์ อีกทั้งปวดศีรษะบ่อย พลังในการทำงานจึงลดถอยไปทุกวันความแค้นที่ถูก Newton รังแก ทำให้ใน ค.ศ. 1714 Flamsteed ซื้อหนังสือ Historia Coelestis ที่ Newton พิมพ์มา 300 เล่มจาก 400 เล่มที่พิมพ์ทั้งหมด แล้วจุดไฟเผาให้สิ้นซาก ในวันที่ 31 ธันวาคม ค.ศ. 1719 Flamsteed ล้มป่วย และเสียชีวิตสิริอายุ 73 ปี
ใน ค.ศ. 1725 ผู้ช่วยของ Flamsteed ชื่อ Joseph Crosthwait ได้นำผลงานฉบับที่สมบูรณ์ของ Flamsteed ออกตีพิมพ์ในซื่ Historia Coelestis Britannica ซึ่งมีตารางตำแหน่งของดาวฤกษ์ 2,955 ดวง ที่ Flamsteed สังเกต ด้วยกล้องดูดาวที่ Greenwich ผลงานนี้คือความสำเร็จที่ยิ่งใหญ่ชิ้นหนึ่งในประวัติของดาราศาสตร์
ภาพ L'Atlas Coelestis
ที่มา http://www.atlascoelestis.com/10.htm
ในด้านชีวิตส่วนตัว Flamsteed เป็นคนที่ใช้ชีวิตเพื่องานมีอารมณ์ดี แต่ฉุนเฉียวง่าย เพราะร่างกายถูกโรคคุกคาม จึงทำให้โกรธบ่อยจนเพื่อน ๆรอบข้างต้องระมัดระวังตัว นอกจากนี้ก็เป็นคนที่ไม่ชอบให้ใครมาเทียบเคียงด้านความสามารถแม้จะมีจุดด้อย และข้อเสียหลายประการ แต่ภรรยา ผู้ช่วย และ คนใข้ทุกคนก็รัก และซื่อสัตย์ต่อเขา แม้ว่าเขาจะได้ตายจากไปแล้ว
ตัวอย่างนักดาราศาสตร์แห่งราชสำนักของอังกฤษที่มีชื่อเสียงได้แก่
- ตั้งแต่ปี ค.ศ.1675-1719 คือ John Flamsteed
- ตั้งแต่ปี ค.ศ.1720-1742 คือ Edmond Halley
- ตั้งแต่ปี ค.ศ.1835-1881 คือ Sir George Airy
- ตั้งแต่ปี ค.ศ.1972-1982 คือ Sir Martin Ryle (ผู้ได้รับรางวัลโนเบลฟิสิกส์ปี ค.ศ.1974)
- ตั้งแต่ปี ต.ศ.1995-ปัจจุบัน คือ Lord Martin Rees
ที่มา
1. https://et.wikipedia.org/wiki/Edmond_Halley
2. https://en.wikipedia.org/wiki/George_Biddell_Airy
3. https://www.nobelprize.org/nobel_prizes/physics/laureates/1974/ryle-bio.html
4. https://en.wikipedia.org/wiki/Martin_Rees
ปัจจุบันหลุมอุกกาบาตบนดวงจันทร์มีหลุมหนึ่ง ชื่อ Flamsteed และดาวเคราะห์น้อย 4987 ก็ชื่อ Famsteed
บทความนี้เป็นส่วนหนึ่งของนิตยสาร สสวท. ผู้อ่านสามารถติดตามบทความที่น่าสนใจเพิ่มเติมได้ที่ https://magazine.ipst.ac.th/
บรรณานุกรม
Birks, John L. (1999). The First Astronomer Royal. London: Aron Books.
-
12477 John Flamsteed นักดาราศาสตร์ราชสำนักคนแรกของอังกฤษผู้เป็นศัตรูของนิวตัน /article-earthscience/item/12477-john-flamsteedเพิ่มในรายการโปรด
-
คำที่เกี่ยวข้อง