การท่องเที่ยวอวกาศ
การท่องเที่ยวอวกาศ คือ การเดินทางไปในอวกาศนอกโลกเพื่อนันทนาการ การพักผ่อน และธุรกิจ มีบริษัทท่องเที่ยวอวกาศหลายบริษัทเกิดขึ้นเมื่อเร็ว ๆ นี้ เช่น เวอร์จิน กาแล็กติก (Virgin Galactic) บริษัทหวังว่าจะสร้างอุตสาหกรรมการท่องเที่ยวอวกาศให้ก้าวหน้าจงได้ ปัจจุบันโอกาสของการท่องเที่ยวอวกาศในวงโคจรรอบโลกมีจำกัดและราคาแพง เช่น มีเพียงองค์การอวกาศรัสเซียเท่านั้นที่ให้บริการแก่นักท่องเที่ยว การท่องเที่ยวผจญภัยในอวกาศใช้บริการนี้ขึ้นไปที่สถานีอวกาศนานาชาติด้วยยานอวกาศโชยุสขององค์การอวกาศรัสเซีย กำหนดราคาไว้ที่คนละ 20 - 40 ล้านเหรียญสหรัฐ (ราคาในระหว่าง ค.ศ. 2001-2009) นักท่องเที่ยวบางคนเซ็นสัญญากับบริษัทหรือบุคคลที่ 3 ผู้สนับสนุนให้นักท่องเที่ยวทำกิจกรรมการศึกษาวิจัยให้บริษัทขณะอยู่ในอวกาศ
รัสเซียยุติการให้บริการแก่นักท่องเที่ยวใน ค.ศ. 2010 เพราะสถานีอวกาศนานาชาติเพิ่มจำนวนนักบินอวกาศที่ทำหน้าที่เป็นลูกเรือของโครงการสำรวจ (expedition crews) โดยใช้โควต้าที่รัสเซียเคยขายให้แก่นักท่องเที่ยวอวกาศ ขณะนี้รัสเซียมีโครงการที่จะเพิ่มเที่ยวบินของยานโซยุสจาก 3 เที่ยวต่อปี เป็น 5 เที่ยวต่อปีทั้งนี้ตั้งแต่ประมาณ ค.ศ. 2013 เป็นต้นไป จึงจะให้บริการแก่นักท่องเที่ยวได้อีก
องค์กรแต่ละองค์กรเรียก การท่องเที่ยวอวกาศ (Tourism) ไม่เหมือนกัน เช่น สถาบันการบินอวกาศเพื่อการค้า(Commercial Spaceflight Federation) เรียกว่า "การบินอวกาศส่วนบุคคล" (personal spaceflight) "ประชากร" (citizens) ในโครงการอวกาศเรียกว่า "ประชากรแห่งการสำรวจอวกาศ"(citizen space exploration)
นับถึงเดือนกันยายน ค.ศ.2012 มีหลายบริษัทท่องเที่ยวที่ลดราคาสำหรับการท่องเที่ยวอวกาศทั้งในระดับต่ำกว่าวงโคจรรอบโลก กับระดับวงโคจรรอบโลก (ขึ้นไปที่สถานีอวกาศนานาชาติ) ด้วยระยะเวลาที่ต่างกัน พร้อมสิ่งอำนวยความสะดวกสบายแก่ผู้ท่องเที่ยวต่าง ๆ กัน
ภูมิหลังของการท่องเที่ยวอวกาศในนิยาย
ภายหลังความสำเร็จในยุคตัน ๆ ของมนุษย์ในการออกไปอยู่ในอวกาศนอกโลก หลายคนได้มองเห็นว่าการสำรวจอวกาศอย่างกว้างขวางเป็นสิ่งที่จำเป็นและหลีกเลี่ยงไม่ได้ เพราะอวกาศกว้างใหญ่มหาศาล ขณะเดียวกันมนุษย์มีความรู้ความสามารถทางวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีมากขึ้น ในอดีตนักเขียนนิยายวิทยาศาสตร์หลายคนมีความฝันโดยได้ฝากความทรงจำ ความหลงใหลและจินตนาการของอวกาศไว้ในนวนิยายเรื่องต่าง ๆ เช่น ลูเซียนแห่งซาโมซาตา (Lucian of Samosata) นักเขียนชาวซีเรียในคริสต์ศตวรรษที่ 2 ได้เขียนเรื่อง ประวัติศาสตร์ที่แท้จริง (True History)/ หรือ เรื่องจริง (True Story) กล่าวถึงกะลาสีเรือชายหลายคนที่แล่นเรือออกสำรวจโลก แล้วเกิดพายุพัดพาเรือของพวกเขาแล่นไปถึงดวงจันทร์ จูลส์ เวิร์น (Jules Verne) นักเขียนนวนิยายชาวฝรั่งเศสได้เขียนนวนิยายวิทยาศาสตร์ ภายใต้หัวข้อเกี่ยวกับดวงจันทร์ คือ จากโลกสู่ดวงจันทร์ (From the Earth to the Moon) พิมพ์เมื่อ ค.ศ. 1870 เป็นภาษาฝรั่งเศส (ตีพิมพ์เป็นภาษาอังกฤษครั้งแรก เมื่อ ค.ศ.1873) กล่าวถึงการผจญภัยของนักบินอวกาศ 3 คน ที่อยู่ในยานรูปกระสุนปืนใหญ่
ซึ่งยิงกระสุนไปยังดวงจันทร์ โดยจะใช้เวลาเดินทาง 5 วันหลังออกจากปากกระบอกปืนใหญ่ไปเพียง 2-3 นาที ก็มีดาวเคราะห์น้อยดวงหนึ่งปรากฏสว่างมากวิ่งผ่านพวกเขาในระยะใกล้มากแต่ไม่ชน ดาวเคราะห์น้อยดวงนี้ถูกโลกดึงไว้เป็นบริวารกลายเป็นดวงจันทร์ดวงที่ 2 ของโลก นักบินอวกาศทั้ง 3 เดินทางฃผจญภัยต่อไป ระหว่างทางเกิดเหตุการณ์หลายอย่าง เป็นต้นว่าการทิ้งซากสุนัขที่ตายแล้วออกทางหน้าต่างของยาน การป่วยไม่สบายจากแก๊สพิษ และการคิดคำนวณอย่างสั้นทำให้พวกเขาทั้งคณะได้เดินทางกลับมาที่โลก ต่อมาจึงพบความจริงว่าแรงโน้มถ่วงของดาวเคราะห์น้อยได้เบี่ยงเบนการเดินทางของพวกเขาไปจากเดิม กล่าวคือทำให้พวกเขาเข้าไปโคจรรอบดวงจันทร์แทนที่จะลงบนดวงจันทร์อย่างที่ตั้งใจไว้ เมื่อทราบว่ากำลังโคจรอยู่รอบดวงจันทร์ พวกเขาก็เริ่มสำรวจสภาพภูมิศาสตร์ของพื้นผิวดวงจันทร์โดยใช้กล้องส่องทางไกล และแล้วยานก็พาพวกเขาดิ่งขึ้นไปทางซีกเหนือของดวงจันทร์และเข้าไปอยู่ในความมืดทำให้หนาวเย็นมาก ก่อนที่จะออกมาสู่ความสว่างอีกครั้งหนึ่งและเคลื่อนที่ต่อไปเหนือซีกใต้ของดวงจันทร์ พวกเขาอยู่เหนือเครเตอร์ที่โคที่สวยงาม และเริ่มถกเถียงกันถึงความเป็นไปได้ของสิ่งมีชีวิตบนดวงจันทร์ แล้วสรุปว่าดวงจันทร์แห้งแล้ง ต่อมาปรากฏว่ายานของพวกเขาเคลื่อนที่ไปอยู่ ณ จุดสมดุลจุดหนึ่งระหว่างโลกกับดวงจันทร์ ทำให้ 1 ใน 3 คนเกิดความคิดขึ้นว่าจะใช้จรวดยิงยานจากจุดนี้ให้ไปลงดวงจันทร์ แต่เกิดความผิดพลาดเพราะยานวิ่งไปทางโลก และตกลงสู่มหาสมุทรด้วยความเร็วเดียวกันกับความเร็วที่ออกไปจากโลก ในขณะนั้นเรือรบของสหรัฐอเมริกาสังเกตเห็นดาวตกสว่างโชติช่วงจากท้องฟ้าสู่ทะเลและพบว่าเป็นยานของนักผจญภัยทั้ง 3 คนซึ่งยังมีชีวิตอยู่พวกเขาทั้ง 3 คนได้รับความช่วยเหลือ มีการต้อนรับอย่างเอิกเกริกในฐานะที่เป็นบุคคลชุดแรกที่เดินทางออกไปนอกโลกได้
นักเขียนนวนิยายวิทยาศาสตร์ผู้มีชื่อเสียงอีกคนหนึ่งในคริสต์ศตวรรษที่ 20 คือ เซอร์ อาร์เทอร์ ซี คลาร์ก (Sir Arthur C. Clarke: 1917-2008) เป็นชาวอังกฤษแต่ในบั้นปลายของชีวิตไปตั้งรกรากอยู่ที่ศรีลังกา ได้เขียนเรื่อง "นรกใต้ทะเลฝุ่น" (A Fall of Moondust) ซึ่งตีพิมพ์เป็นภาษาอังกฤษใน ค.ศ.1961 โดยมีเค้าโครงเรื่องว่าในคริสต์ศตวรรษที่ 21 หลังจากที่มีมนุษย์ไปตั้งหลักแหล่งบนดวงจันทร์แล้วก็มีนักท่องเที่ยวไปผจญภัยที่ดวงจันทร์ จุดขายสำคัญจุดหนึ่งของการท่องเที่ยวคือ การตะลุยทะเลบนดวงจันทร์ โดยเฉพาะทะเลแห่งความกระหาย (Sea of Thirst) ไม่มีจริงบนดวงจันทร์มีแต่ในนิยายเรื่องนี้เท่านั้น ซึ่งอยู่ภายในอ่าวน้ำค้าง (Sinus Roris) นับว่าอยู่ผิดที่เพราะโดยปกติอ่าวจะอยู่ภายในทะเลโดยเป็นส่วนหนึ่งของทะเล ทะเลแห่งความกระหายเต็มไปด้วยฝุ่นที่ละเอียดมากเป็นฝุ่นแห้งกว่าฝุ่นในทะเลทรายบนโลก เป็นฝุ่นที่เกือบไหลได้คล้ายกระแสน้ำ แทนที่จะเป็นหินดินก้อนเล็ก ๆ เรียกว่า เรโกลิธ (regolith) ที่ปกคลุมพื้นผิวส่วนใหญ่ของดวงจันทร์ ผู้จัดเที่ยวมีเรือชื่อ เซลีนี ที่ออกแบบพิเศษให้วิ่งไปบนฝุ่นดวงจันทร์นี้คล้ายฃการเคลื่อนที่ของเจ็ตสกีบนน้ำ ในการผจญภัยครั้งหนึ่งเกิดแผ่นดินไหวอย่างรุนแรงบนดวงจันทร์ทำให้แผ่นดินยุบ ขณะที่เรือเซลีนีแล่นผ่น เรือจมลงไปใต้ผิวฝุ่นประมาณ 15 เมตร เรือจึงหายไป เกิดปัญหาที่อาจทำให้ผู้โดยสารและลูกเรือถึงแก่ชีวิตโดยทันทีทันใด เพราะเรือเชลีนีมีอากาศหายใจจำกัดไม่มีหนทางที่จะระบายความร้อน ระบบสื่อสารใช้การไม่ได้ ไม่มีใครรู้ว่าเรือเซลีนีอยู่ตรงจุดใดแน่ เวลาเหลือน้อย ภายในเรืออุณหภูมิสูงขึ้นอากาศกลายเป็นพิษใช้หายใจไม่ได้ กัปตันและลูกเรือพยายามคลายความกังวลของผู้โดยสารขณะรอความช่วยเหลือโดยได้รับความร่วมมือจากผู้โดยสารคนหนึ่งซึ่งเกษียณอายุแล้วจากการประกอบอาชีพเป็นกัปตันนักสำรวจและนักบินอวกาศ แต่ตอนแรกไม่ใด้แสดงตัว ขณะ นั้นเองนักดาราศาสตร์สติเฟื่องคนหนึ่งสังเกตดวงจันทร์จากดาวเทียมซึ่งอยู่ณ จุด 12 ของระบบโลกและดวงจันทร์ทำให้เขาเชื่อว่าเขาพบร่องรอยที่มีอุณหภูมิสูงบนพื้นผิวดวงจันทร์นำมาสู่การช่วยเหลือผู้ที่อยู่ในเรือเซลีนีได้ในที่สุด
อีกเรื่องหนึ่งที่เซอร์ อาร์เทอร์ ซีคลาร์ก เขียนเกี่ยวกับดวงจันทร์คือ จอมจักรวาล 2001 (2001: A Space Odyssey) โดยมีเค้าโครงที่เชื่อว่า มนุษย์ต่างดาวผู้มีเทคโนโลยีสูงได้แกะสลักหินสีดำขนาดใหญ่รูปทรงสี่เหลี่ยมมุมฉาก ที่มีอัตราส่วน ความหนา : ความกว้าง : ความสูง เป็น 1:4:9 หรือ 12:22:32 นั่นคือแท่งวัตถุนี้มีความหนา 1/4 ของความกว้างและ 1/9 ของความสูง แล้วฝังไว้ลึก 15 เมตรใต้ผิวในเครเตอร์ที่โค ของดวงจันทร์ เมื่อ 3 ล้านปีมาแล้ว หินสีดำนี้เป็นวัตถุที่ทำให้เกิดการรบกวนสนามแม่เหล็กของดวงจันทร์ตรงบริเวณเครเตอร์ที่โค จึงเรียกว่า ที่เอ็มเอ-1 (TMA-1:Tycho Magnetic Anomaly One) หมายถึงความ ไม่เป็นปกติทางสนามแม่เหล็กบริเวณทีโคเป็นหินชิ้นที่ 1 นักวิทยาศาสตร์ขุดพบทีเอ็มเอ-1 ในเวลากลางคืน เมื่อดวงอาทิตย์ขึ้นในเวลารุ่งเช้าบนดวงจันทร์ ปรากฏว่าแสงแดดทำให้ทีเอ็มเอ-1 ส่งคลื่นวิทยุไปยังไอเอปตัส ดวงจันทร์ใหญ่เป็นที่ 3 ของดาวเสาร์ ซึ่งต่อมานักสำรวจได้เดินทางไปสำรวจไอเอปตัสและพบหินสีดำขนาดใหญ่บนไอเอปตัส เป็นหินที่มีสัดส่วนเดียวกันกับทีเอ็มเอ-1 จึงได้รับชื่อว่า ที่เอ็มเอ-2
นอกจากนี้ยังมีนักเขียนนวนิยายวิทยาศาสตร์ที่พูดถึงดวงจันทร์เป็นอาณานิคม โดยมีที่อยู่อาศัยอยู่ใต้ดิน เช่น รอเบิร์ต เอ ไฮน์ไลน์(Robert A. Heinlein) นักเขียนชาวอเมริกันเขียนเรื่อง "The Menace from Earth" เมื่อ ค.ศ.1957 นับเป็นเรื่องแรก ๆ ที่นำเรื่องราวของการท่องเที่ยวอวกาศเข้าไปอยู่ในนิยายด้วย
นิยายการท่องเที่ยวอวกาศเกิดจากความรู้และความคิดจินตนาการของผู้เขียน ความรู้ของมนุษย์ในอดีตอาจน้อยกว่าความรู้ของมนุษย์ในยุคปัจจุบัน แต่มีความคิดจินตนาการที่หลากหลายไม่มีขอบเขต ความฝันของมนุษย์ที่จะขึ้นไปเหยียบผิวดวงจันทร์มีมาช้านานและประสบความสำเร็จเมื่อ 45 ปีนี่เองโดยมนุษย์อวกาศอเมริกาในโครงการอะพอลโล
ในโลกแห่งความเป็นจริง ความสำเร็จดังกล่าวเกิดขึ้นได้เพราะความก้าวหน้าทางเทคโนโลยีด้านจรวด สหภาพโซเวียตรัสเชียพัฒนาจรวดที่มีพลังขับดันสูงได้ก่อนสหรัฐเมริกา จึงส่งดาวเทียมดวงแรกของโลกชื่อ สปุตนิก-1 ขึ้นสู่อวกาศได้ก่อนเมื่อวันที่ 4 ตุลาคม ค.ศ. 1957 และสหรัฐเมริกาตามมาติด ๆ ด้วยการส่งดาวเทียมเอกซ์พลอเรอร์ 1 ขึ้นไปโคจรรอบโลกเมื่อวันที่ 1 กุมภาพันธ์ ค.ศ. 1958 การแข่งขันกันในการออกไปนอกโลกระหว่าง 2 ประเทศมหาอำนาจทางอวกาศนี้เป็นไปอย่างเข้มข้นตลอดระยะเวลานับตั้งแต่ดาวเทียมดวงแรกขึ้นสู่อวกาศต่อมาในวันที่ 12 เมษายน ค.ศ. 1961 สหภาพโซเวียตรัสเซียก้าวหน้ากว่าคู่แข่งด้วยการส่งยุริ กาการิน มนุษย์อวกาศคนแรกขึ้นไปโคจรรอบโลก ทำให้สหรัฐอเมริกา โดยประธานาธิบดีจอห์น เอฟ เคนนดี ออกมาประกาศ เมื่อวันที่ 12 กันยายน ค.ศ. 1962 ว่า "เราเลือกที่จะไปลงดวงจันทร์ในทศวรรษนี้ให้ได้ และทำสิ่งอื่น ๆ ด้วย ไม่ใช่เพราะทำได้ง่าย ๆ แต่เป็นเพราะมันทำยาก..." สหรัฐอเมริกาเอาชนะสหภาพโซเวียตรัสเชีย ด้วยการนำยานอะพอลโล 1 ลงดวงจันทได้เป็นผลสำเร็จ เมื่อวันที่ 20 กรกฎาคม ค.ศ. 1969 โดยนักบินอวกาศอเมริกาชื่อ นีล อาร์มสตรองก้าวลงบันไดของยาน ลงดวงจันทรชื่อ อีเกิล เหยียบพื้นผิวดวงจันทร์ด้วยรอยเท้าแรกพร้อมคำกล่าวที่ว่า "นี่เป็นก้าวสั้น ๆ ของมนุษย์ก้าวหนึ่งบนดวงจันทร์ แต่เป็นก้าวกระโดดที่ยาวมากก้าวหนึ่งของมนุษยชาติ..(ในการสำรวจอวกาศ)"
ที่มา http://en.wikipedia.org/wiki/Neil_Armstrong
มนุษย์อวกาศคนที่ 2 ที่ลงเหยียบพื้นผิวดวงจันทร์ คือ เอ็ดวิน อัลดริน ในขณะที่ ไมเคิล คอลลินส์ อยู่ในยานบริการบังคับการโคจรรอบดวงจันทร์ เพื่อรอรับอาร์มสตรองกับอัลดรินที่ขึ้นจากดวงจันทร์โดยส่วนบนของยานอีเกิล เมื่อนำหิน-ดินดวงจันทร์พร้อมตัวเองเข้าไปอยู่ในยานบริการบังคับการเรียบร้อยแล้ว ส่วนบนของยานอีเกิลก็ถูกผลักให้กลับลงไปกระแทกผิวดวงจันทร์ และนักบินอวกาศทั้ง 3 คน ก็จุดจรวจของยานบริการบังคับการเพื่อหนีออกจากวงโคจรรอบดวงจันทร์ มุ่งหน้ากลับมาโลก ก่อนลงในมหาสมุทรแปซิฟิกนั้น ยานบริการถูกแยกออกและถูกเผาไหม้ในบรรยากาศโลก ยังคงเหลือเฉพาะยานบังคับการเท่านั้นที่พามนุษย์อวกาศทั้ง 3 คน แตะพื้นมหาสมุทรด้วยความปลอดภัยโดยชะลอความเร็วด้วยร่มชูชีพ พร้อมความช่วยเหลือจากเรือรบที่รออยู่ใกล้ๆ
ได้มีนักบินอวกาศสหรัฐไปลงดวงจันทร์อีกในยานอะพอลโล 12 อะพอลโล 14 อะพอลโล 15 อะพอลโล 16 และ อะพอลโล 17 ส่วนสหภาพโชวียตรัสเซียไม่ส่งมนุษย์ไปยังดวงจันทร์ มนุษย์อวกาศของสหภาพโซเวียตรัสเซียหรือคอสโมนอต ออกไปนอกโลกไกลสุดคือ สถานีอวกาศมีร์ ซึ่งโคจรอยู่รอบโลก ปัจจุบันสถานีอวกาศมีร์ตกสู่พื้นโลกแล้ว สถานีอวกาศที่ยังอยู่คือ สถานีอวกาศนานาชาติหรือ ไอ เอส เอส (ISS : International Space Station)
นักบินอวกาศที่ขึ้นไปสู่อวกาศไม่ใช่นักท่องเที่ยวอวกาศ แต่เป็นผู้ที่องค์กรหรือรัฐบาลออกค่าใช้จ่ายให้ไปปฏิบัติหน้าที่ต่าง ๆ นักท่องเที่ยวอวกาศผู้ต้องซื้อตั๋วขึ้นสู่อวกาศเริ่มด้วย เด็นนิส ติโต ชาวอเมริกันผู้จ่ายเงิน 20 ล้านเหรียญสหรัฐในการขึ้นไปอยู่ในสถานีอวกาศนานาชาติ ระหว่างวันที่ 28 เมษายน ถึง วันที่ 6 พฤษภาคม ค.ศ. 2001 หลังจากนั้นก็มีนักท่องเที่ยวอวกาศขึ้นไปท่องเที่ยวในสถานีอวกาศนานาชาติอีกหลายคน คนล่าสุดที่บริษัทสเปซแอดเวนเจอร์ส ประกาศเมื่อวันที่ 10 ตุลาคม ค.ศ. 2012 ว่าจะขึ้นไปอยู่ในสถานีอวกาศนานาชาติไอเอสเอส ระหว่างเดือนกันยายน - ตุลาคม ค.ศ. 2015 คือ ซาราห์ไบรท์แมน ชาวอังกฤษ
ในช่วงค.ศ. 1960 - ค.ศ. 1970 เกิดความเชื่อโดยทั่วไปว่าจะมีการส่งโรงแรมอวกาศขึ้นไปอยู่นอกโลก ในปี ค.ศ. 2000 นักอนาคตศาสตร์ในกลางคริสต์ศตวรรษที่ 20 ฝันไปว่าครอบครัวระดับกลางของมนุษย์ในต้นคริสต์ศตวรรษที่ 21 จะสามารถไปท่องเที่ยวพักผ่อนที่ดวงจันทร์ได้ ในค.ศ. 1960 บริษัทแพนแอมได้จัดทำรายชื่อผู้รอคอยการบินไปยังดวงจันทร์ในอนาคตโดยจะออกบัตรสมาชิกฟรีให้แก่ สมาชิกผู้ร้องขอของ "สมาคมการบินไปยังดวงจันทร์ครั้งแรก"
แต่ภายหลังการลงดวงจันทร์ของนักบินอวกาศสหรัฐอเมริกาการแข่งขันทางอวกาศก็ลดลง ส่งผลให้การเดินทางไปในอกาศของมนุษย์ได้รับแรงสนับสนุนด้านงบประมาณจากสาธารณะลดลงไปด้วย
บทความนี้เป็นส่วนหนึ่งของนิตยสาร สสวท. ผู้อ่านสามารถติดตามบทความที่น่าสนใจเพิ่มเติมได้ที่ https://magazine.ipst.ac.th/
บรรณานุกรม
Spacecraft. Retrieved December 8,2014, from http://en.wikipedia.org/wiki/Spacecraft.
Spacecraft Trip. Retrieved December 10, 2014, from http://www.gizmag.com/spaceship-earth-grants-competition-spaceflight/338321
การท่องเที่ยวอวกาศ. สืบคันเมื่อ 20 พฤศจิกายน 2557, จาก http://th.wikipedia.org/
-
12597 การท่องเที่ยวอวกาศ /article-earthscience/item/12597-2022-07-25-08-20-30เพิ่มในรายการโปรด
-
คำที่เกี่ยวข้อง