จากซีรีส์เรื่องดังของเกาหลี Forecasting love and weather หรือชื่อไทย "พยากรณ์วันนี้ มีรักบางแห่ง" ได้เล่าเรื่องราวเกี่ยวกับชีวิตการทำงาน และความรักของผู้คนที่ทำงานให้บริการด้านอุตุนิยมวิทยา ซึ่งเป็นอาชีพที่แปลกใหม่สำหรับวงการซีรีส์ ผสมกับเรื่องราวความรักต่างวัยและการแอบคบกันในที่ทำงานของพระเอกนางเอก จึงทำให้ Forecasting Love and Weather เป็นซีรีส์ที่ลงตัวในหลายมิติ และสิ่งที่โดดเด่นที่สุดคือตรงกับช่วงเดือนการเปลี่ยนผ่านของฤดูประเทศไทยพอดี หากใครสนใจสามารถไปติดตามกันได้
ภาพ 1 ซีรีส์ "Forecasting love and weather
ที่มา https://drama.kapook.com/Mlew252159.html
เรื่องราวจากซีรีส์ที่ได้ยกมาเกริ่นนำนี้ แสดงให้เห็นวงการละครและภาพยนตร์ ได้ให้ความสำคัญเกี่ยวกับความรู้ความเข้าใจทางวิทยาศาสตร์และการสื่อสารข่าวสารสู่สาธารณะ เรื่องราวในเรื่อง คือ กรมอุตุนิยมวิทยาโดนประชาชนและสื่อตำหนิ จากการละเลยการแจ้งเตือนสภาพอากาศเรื่องลูกเห็บ ประชาชนไม่ได้เตรียมตั้งรับภัยพิบัติที่เกิดขึ้นจากลูกเห็บตกหนัก จึงส่งผลกระทบเป็นวงกว้างต่อคน พืช และสัตว์ แต่เมื่อสืบหาสาเหตุพบว่า ข้อมูลที่ได้จากการสำรวจและการวิเคราะห์ข้อมูลจากโปรแกรมคอมพิวเตอร์ มีตัวเลขการเกิดลูกเห็บที่ไม่ถึงเกณฑ์มาตรฐาน ทำให้ไม่มีการรายงานตัวเลขในการประชุมรายงานสภาพอากาศประจำวัน ซึ่งนำไปสู่ประโยคเด็ดของหัวหน้าที่กล่าวว่า "อย่าเอาแต่รายงานสภาพอากาศอย่างเดียว ต้องพยากรณ์ด้วยสิ" ซึ่งผู้ชมจะสงสัยว่าทำไมถึงไม่แจ้งเตือน ทำให้ต้องติดตามการดำเนินเรื่องในตอนต่อไป ซึ่งภาพยนตร์จะแสดงให้เข้าใจและเห็นความสำคัญการแจ้งเตือน ถือเป็นข้อกำหนดที่ทุกภาคส่วนต้องให้ความร่วมมือ จึงทำให้ผู้ปฏิบัติหน้าที่ต้องทำงานอย่างรอบคอบรัดกุมและให้ความสำคัญมากขึ้นกว่าเดิม และต้องเตรียมแผนรับมือในการเตือนภัยแต่ละครั้ง จะต้องใช้งบประมาณจำนวนมาก ซึ่งถ้าการพยากรณ์ไม่แม่นยำ งบประมาณส่วนนี้ต้องสูญเสียอย่างไม่เกิดประโยชน์นั่นเอง จากประเด็นในซีรีส์นำมาสู่ความรู้ความเข้าใจทางวิทยาศาสตร์ในเรื่องใดได้บ้าง ลองร่วมกันพิจารณาประเด็นต่าง ๆ ตามผู้เขียน ดังนี้
การพยากรณ์
ราชบัณฑิตยสภาให้ความหมายคำว่าพยากรณ์หมายถึง ใช้ความรู้ทำนายว่าสิ่งใดสิ่งหนึ่งจะเป็นอย่างไรหรือมีภาวะอย่างไรในอนาคต หรือหมายถึงใช้ความรู้ทำนายว่าจะเกิดเหตุการณ์อย่างใดอย่างหนึ่งขึ้นในอนาคต (สำนักงานราชบัณฑิตยสภา, 2553) ซึ่งการพยากรณ์เป็นทักษะทางวิทยาศาสตร์ที่เราใช้สืบเสาะหาคำตอบ เป็นความสามารถในการบอกผลลัพธ์ของปรากฏการณ์ การสังเกต การทดลองที่ได้จากการสังเกตแบบรูปของหลักฐาน (Pattern of Evidence) การพยากรณ์ที่แม่นยำจึงเป็นผลมาจากการสังเกตที่รอบคอบ การวัดที่ถูกต้อง การบันทึก และการจัดกระทำกับข้อมูลอย่างเหมาะสม (สสวท. 2564)
ㆍ ทักษะการพยากรณ์ เป็นทักษะที่ใช้ในชีวิตประจำวันอย่างไม่รู้ตัว ขอยกตัวอย่างดังต่อไปนี้
ในวันคล้ายวันเกิด น้องโอเมก้าจะได้รับเงินจำนวน 10,000 บาท จากคุณป้าเป็นของขวัญวันเกิดทุกปี ซึ่งเป็นแบบนี้มาตลอด 5 ปี ดังนั้นในปีที่น้องโอเมก้าอายุ 6 ปี น้องโอเมก้าก็สามารถพยากรณ์ได้ว่า ของขวัญที่จะได้รับจากคุณป้าก็คือ เงิน 10,000 บาท หรือจากการสังเกตว่าร้านอาหารญี่ปุ่นจะนำปลาย่างมาลดราคาในช่วงเวลา 3 ทุ่มของทุกวัน โดยสังเกตนาน 7 วัน ดังนั้นหากต้องการซื้อปลาย่างแบบลดราคา ก็ควรมาซื้อในช่วงเวลา 3 ทุ่ม
ในทำนองเดียวกัน การซื้อ-ขายหุ้น การซื้อ-ขายทอง การลงทุนการเก็งกำไรต่าง ๆ ก็เป็นตัวอย่างการใช้ทักษะการพยากรณ์ที่ดีมาก โดยเฉพาะอย่างยิ่งการพยากรณ์อากาศเป็นทักษะที่สำคัญ ที่ผู้ปฏิบัติงานต้องมีประสบการณ์สูง และต้องทำงานร่วมกันเป็นทีม เนื่องจากการที่จะสามารถพยากรณ์อากาศได้นั้น ต้องใช้ข้อมูลและข้อเท็จจริงที่รวบรวมจากแหล่งที่น่าเชื่อถือ เช่น ดาวเทียม สถานีตรวจวัดตามที่ต่าง ๆ โดยนำข้อมูลทั้งหมดมาวิเคราะห์ ตีความและลงความเห็น เพื่อให้ออกมาเป็นคำพยากรณ์ที่สามารถส่งต่อให้สื่อต่าง ๆ ซึ่งต้องมีความถูกต้องแม่นยำสูงเพื่อให้เกิดประสิทธิภาพมากที่สุด ดังนั้นการนำหลักฐาน ข้อเท็จจริง ข้อมูลที่ได้จากการสำรวจ สังเกต มาลงความเห็นเป็นข้อสรุปจากประสบการณ์ของตนเอง หากเราไม่มีประสบการณ์ที่เพียงพอในเรื่องนั้น ๆ ก็อาจทำให้การพยากรณ์ไม่แม่นยำได้ แต่เนื่องจากเป็นการพยากรณ์จึงอาจจะไม่ถูกต้องทุกครั้ง แต่การพยากรณ์จะต้องทำบนหลักฐานหรือข้อเท็จจริงเท่านั้น หากไม่มีหลักฐานข้อมูลหรือข้อเท็จจริงแล้ว ก็จะเป็นเพียงการคาดเดาเท่านั้น
ㆍ ทักษะการพยากรณ์ สามารถศึกษาเพิ่มเติมได้จาก
1. Project 14 วิชาวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยี ป.1 เล่ม 1 บทที่ 1 เรียนรู้แบบนักวิทยาศาสตร์ เรื่องที่ 4 การพยากรณ์ https://www.youtube.com/watch?v=GoB2UPaJ8JQ
2. ตัวอย่างการจัดกิจกรรมการจัดการเรียนรู้วิทยาศาสตร์ เพื่อให้นักเรียนหาคำตอบว่า การพยากรณ์ทำได้อย่างไร โดยการทำกิจกรรมเพื่อฝึกและอธิบายการพยากรณ์ เหมาะสำหรับระดับประถมศึกษาและมัธยมศึกษาตอนต้น https://www.scimath.org/video-science/item/8122-2018-05-07-07-14-19
ทำไมจึงกล่าวว่า ประเทศเกาหลีใต้เป็นประเทศปราบเซียนในการพยากรณ์อากาศเป็นอันดับต้น ๆ ในโลก
จากบทความของ ดร.แองเจลล่า ซาลูชา อาจารย์มหาวิทยาลัยด้านบรรยากาศศาสตร์ ซึ่งมีความเชี่ยวชาญด้านอุตุนิยมวิทยาและวิทยาศาสตร์ภูมิอากาศเป็นพิเศษ กล่าวว่าการพยากรณ์อากาศที่ทำได้ยากที่สุดคือ บริเวณที่ไม่มีสถานีตรวจอากาศและบริเวณที่ไม่สามารถปล่อยบอลลูนตรวจอากาศได้ แม้มีดาวเทียมช่วยตรวจสอบก็ตาม แต่ข้อมูลก็ไม่แม่นยำเท่าข้อมูลจากภาคพื้นดิน นอกจากนี้ ต้องพิจารณาในเรื่องพื้นที่ที่มีอากาศเปลี่ยนแปลงเร็วในช่วงเวลาและในระยะทางสั้น ๆ เช่น
ㆍ ภูเขา ทำให้อากาศลอยขึ้นและจมหรือไหลผ่านทุบเขา นอกจากนี้ ยังเป็นตัวกั้นฝน ทำให้สภาพอากาศที่ตีนเขากับพื้นที่ใกล้เคียงอาจต่างกันอย่างมาก
ㆍ เส้นแบ่งเขตระหว่างน้ำและแผ่นดิน เป็นตำแหน่งที่การกักเก็บความร้อนบนพื้นผิวสามารถแปรผันได้อย่างรวดเร็วและกะทันหัน
ㆍประเทศในโซนละติจูดกลางที่ภูมิอากาศขึ้นอยู่กับค่าความกดอากาศที่สูงและต่ำ โดยจะมีการแปรผันของอุณหภูมิ ทิศทางลมและการตกของฝน
ภาพ 2 ลักษณะภูมิประเทศเกาหลีใต้
จากภาพ 2 ภูมิประเทศของประเทศเกาหลีใต้มีลักษณะภูมิประเทศส่วนใหญ่เป็นเนินที่ราบสูงและภูเขา หรือประมาณ 70% ของพื้นที่
นอกจากนี้ ยังล้อมรอบด้วยทะเล จากภาพจะเห็นว่าล้อมรอบด้วยทะเลทั้งสามด้าน
อีกทั้งประเทศเกาหลีใต้ตั้งอยู่ในโซนละติจูดที่มีความแตกต่างของอุณหภูมิ ระหว่างอากาศอุณหภูมิต่ำในบริเวณขั้วโลกกับอากาศอุณหภูมิสูงในบริเวณเส้นศูนย์สูตร ทั้งหมดนี้จึงทำให้การพยากรณ์อากาศมีข้อจำกัดมาก
สำหรับประเทศไทยความยากง่ายของการพยากรณ์อากาศเป็นอย่างไร
ภาพ 3 ลักษณะภูมิประเทศไทย
จากภาพ 3 ภูมิประเทศของประเทศไทย มีลักษณะภูมิประเทศค่อนข้างแตกต่างกัน มีทั้งเขตภูเขาและหุบเขาทางภาคเหนือ เขตราบลุ่มแม่น้ำในภาคกลาง เขตเทือกเขาตามภาคตะวันตก และที่ราบสูงภาคตะวันออกเฉียงเหนือ เขตภูเขาที่ราบสูง ที่ราบชายฝั่งทะเล และหมู่เกาะต่าง ๆ ทางภาคใต้ โดยพื้นที่ของภาคใต้เป็นที่ราบสูงบนคาบสมุทรแคบๆ มีที่ราบอยู่ริมชายฝั่งตะวันออกและตะวันตกเป็นแนวขนานกัน โดยมีเทือกเขาสูงเป็นสัน อยู่ตรงกลางและล้อมรอบด้วยทะเล ประเทศไทยตั้งอยู่ในบริเวณใกล้เส้นศูนย์สูตรหรือเขตทรอปิคอล มีปัจจัยที่ทำให้เกิดการเปลี่ยนแปลงของอากาศหลายด้านด้วยกัน ซึ่งมวลอากาศไม่ใช่สาเหตุใหญ่แต่เป็นเรื่องของทิศทางลม ความชื้นจากทะเล อุณหภูมิของอากาศในตอนกลางวัน ลักษณะเช่นนี้ทำให้ประเทศไทยก็ประสบปัญหาต่อการพยากรณ์อากาศเช่นกัน
ปัจจุบันกรมอุตุนิยมวิทยาของประเทศไทยเอง ก็พยายามแก้ไขการพยากรณ์อากาศให้มีประสิทธิภาพมากขึ้น โดยใช้เทคโนโลยีต่าง ๆ เข้ามาช่วย แต่จากข้อมูลของ Jeremy Deaton (2022) พบว่าในปัจจุบันการพยากรณ์อากาศให้มีความแม่นยำ มีความยากขึ้นเนื่องจากอิทธิพลการเปลี่ยนแปลงของสภาพภูมิอากาศโลก ความรุนแรงของภัยธรรมชาติที่เพิ่มขึ้น ตัวอย่างเช่น ลักษณะภูมิประเทศที่เปลี่ยนไปจากการขยายตัวของเมือง จากพื้นที่สีเขียวของป่าไม้กลายเป็นพื้นที่เกษตรกรรม หรือพื้นที่ที่เป็นภูเขากลายเป็นเหมืองหินเพื่อเป็นแหล่งพลังงาน ซึ่งการเปลี่ยนแปลงเหล่านี้สามารถส่งผลต่อสภาพอากาศบริเวณนั้น ๆ ได้ เนื่องจากทิศทางลมเปลี่ยน และเมื่อการพยากรณ์อากาศทำได้ยาก การตั้งรับภัยพิบัติต่าง ๆ ก็ทำได้น้อยลง ความเสียหายก็เพิ่มขึ้น ดังนั้นเราสามารถเป็นส่วนหนึ่งในการช่วยนักอุตุนิยมวิทยา ในการพยากรณ์อากาศให้มีความแม่นยำมากขึ้นโดยการช่วยกัน เช่น ลด ละ เลิกกิจกรรมที่กระทบต่อการเปลี่ยนแปลงของสภาพอากาศ นอกจากเรื่องการพยากรณ์อากาศแล้ว เรื่องราวในซีรีส์ที่กรมอุตุนิยมวิทยาไม่ได้แจ้งเตือนสภาพอากาศที่เลวร้าย นั่นคือ สถานการณ์ของลูกเห็บ เมื่อลูกเห็บที่ตกลงมานั้นก่อให้เกิดความเดือดร้อน และความเสียหายในพื้นที่เป็นวงกว้างอย่างมาก
ลูกเห็บ
ลูกเห็บคืออะไร เกิดขึ้นได้อย่างไร และเรามีวิธีเตรียมการรับมือลูกเห็บอย่างไร ลูกเห็บ คือหยาดน้ำฟ้าชนิดหนึ่ง ซึ่งหยาดน้ำฟ้าก็คือน้ำในสถานะต่าง ๆ ที่ตกจากเมฆถึงพื้นดิน เช่น ฝน หิมะ ลูกเห็บ ซึ่งหยาดน้ำฟ้าแต่ละชนิดมีกระบวนการเกิดและลักษณะแตกต่างกัน ไอน้ำเป็นส่วนประกอบสำคัญของบรรยากาศ เพราะทำให้เกิดหยาดน้ำฟ้า เมื่ออากาศร้อนลอยสูงขึ้น อากาศจะเย็นลงทำให้ไอน้ำในอากาศเกิดการควบแน่นเป็นละอองเล็ก ๆ จับตัวกันเป็นเมฆลอยอยู่ในท้องฟ้า บางประเทศที่อยู่ในบริเวณที่อุณหภูมิอากาศต่ำ มีลักษณะอากาศหนาวเย็นหรือบนยอดเขาที่สูงมากๆ ที่มีอุณหภูมิต่ำกว่าจุดเยือกแข็งของน้ำ ไอน้ำในอากาศซึ่งมีสถานะเป็นแก๊สจะระเหิดกลับเปลี่ยนสถานะเป็นของแข็ง จับกันเป็นผลึกน้ำแข็งและตกลงบนพื้นผิวโลก เรียกว่า หิมะ เมื่อเกิดพายุฝนฟ้าคะนองภายในเมฆคิวมูโลนิมบัสพายุจะพัดหยดน้ำภายในเมฆขึ้นไปในระดับสูงและมีอุณหภูมิต่ำกว่าจุดเยือกแข็ง ทำให้หยดน้ำเปลี่ยนสถานะเป็นของแข็ง และถูกพัดวนขึ้นลงในเมฆ จนเกิดการพองตัวมีขนาดใหญ่ขึ้นอีก จากนั้นจะตกลงมา ถ้าน้ำหนักไม่มากพอจะถูกพัดวนกลับขึ้นไป อีกจนเกิดการพอกตัวของน้ำแข็งเป็นชั้น ๆ คล้ายกับหัวหอม เป็นเช่นนี้ต่อไปเรื่อย ๆ จนก้อนน้ำแข็งมีขนาดใหญ่ขึ้น เมื่ออากาศไม่สามารถพยุงรับน้ำหนักไว้ได้ จะตกลงสู่พื้นโลกในลักษณะเป็นก้อนน้ำแข็ง เรียกว่า ลูกเห็บ
ภาพ 4 หยาดน้ำฟ้าในสถานะต่าง ๆ
ภาพ 5 กระบวนการเกิดลูกเห็บ
ㆍ วิธีเตรียมการรับมือกับพายุลูกเห็บ จากข้อมูลของกระทรวงมหาดไทย โดยกรมป้องกันและบรรเทาสาธารณภัย (ปภ.) ได้แนะนำวิธีการดังนี้
- ติดตามพยากรณ์อากาศและปฏิบัติตามคำแนะนำอย่างเคร่งครัด
- ตรวจสอบอาคารบ้านเรือนให้อยู่ในสภาพแข็งแรง โดยเฉพาะประตูหน้าต่างและหลังคาบ้าน พร้อมจัดเก็บสิ่งของที่ปลิวลมได้ในที่มิดชิด เพื่อป้องกันอันตรายจากการถูกสิ่งของพัดกระแทก รวมถึงตัดแต่งกิ่งไม้ ต้นไม้ที่ไม่แข็งแรง เพื่อป้องกันการล้มทับ
- หากพบเห็นเสาไฟฟ้าหรือป้ายโฆษณาไม่แข็งแรง ให้แจ้งหน่วยงานที่เกี่ยวข้องมาปรับปรุงแก้ไข
- จัดทำที่ค้ำยันหรือสิ่งปกคลุม สำหรับปกป้องผลผลิตทางการเกษตร
- ในช่วงที่เกิดพายุลูกเห็บ พายุฝนฟ้าคะนอง ควรอยู่ในอาคารปิดประตูและหน้าต่างให้มิดชิด ไม่ควรอยู่บริเวณดาดฟ้าหรือระเบียง เพื่อป้องกันอันตรายจากพายุลมแรง รวมถึงไม่ควรอยู่ใกล้กระจก หลังคาแบบสกายไลท์ เพราะอาจบาดเจ็บเมื่อลูกเห็บตกได้
- งดใช้เครื่องใช้ไฟฟ้าและอุปกรณ์อิเล็กทรอนิกส์ เพราะเครื่องใช้ไฟฟ้าอาจเสียหาย และผู้ใช้งานอาจได้รับอันตรายจากการถูกฟ้าผ่า
- กรณีอยู่กลางแจ้งควรอยู่ให้ห่างจากสิ่งปลูกสร้างที่ไม่มั่นคงแข็งแรง เพื่อป้องกันการถูกล้มทับ ไม่อยู่ใกล้วัตถุที่เป็นสื่อนำไฟฟ้าเพราะเสี่ยงต่อการถูกฟ้าผ่า และพยายามไม่พกพาหรือสวมเครื่องประดับ หรือร่มที่เป็นโลหะ
หากต้องการแจ้งเหตุและขอความช่วยเหลือทางไลน์ "ปภ. รับแจ้งเหตุ 1784 โดยเพิ่มเพื่อน line ID @1784DDPM รวมถึงติดต่อได้ทางสายด่วนนิรภัย 1784 ตลอด 24 ชั่วโมง เพื่อประสานให้การช่วยเหลือโดยด่วน
ซีรีส์เรื่อง Forecasting Love and Weather นอกจากจะสะท้อนความสำคัญของข่าวพยากรณ์อากาศ การเสนอข่าวสารความเป็นจริงของการพยากรณ์ ที่มีข้อจำกัดและมีปัจจัยต่าง ๆ เกี่ยวข้องมาก ยังได้สอดแทรกคำศัพท์ต่าง ๆ ทางด้านอุตุนิยมวิทยา รวมถึงปรากฏการณ์ธรรมชาติที่เราพบเจอทุก ๆ ปี เช่น ฝน โอโซน ปรากฏการณ์เกาะความร้อน ทัศนวิสัย สิ่งเหล่านี้มีรูปแบบและความรุนแรงแตกต่างกัน นอกจากนี้ ซีรีส์ยังช่วยเปิดมุมมองว่าการพยากรณ์อากาศสำคัญต่อชีวิต ความปลอดภัยของประชาชน ทรัพย์สินไปจนถึงงบประมาณของชาติ โดยมีการร้อยเรียงคำศัพท์และข้อมูลที่เข้าใจยากเหล่านี้ ไปกับเรื่องราวอย่างแนบเนียนและมีความสนุก ชวนติดตาม ไม่น่าเบื่อ รวมทั้งสามารถทำให้ผู้ชมซึ่งมีทุกวัยทุกอาชีพได้เรียนรู้เกี่ยวกับอุตุนิยมวิทยา และเมื่อติดตาม ทำความเข้าใจให้ลึกซึ้งยิ่งขึ้น จะเห็นว่าซีรีส์นี้ช่วยส่งเสริมให้เกิดความตระหนัก ในเรื่องปรากฏการณ์ธรรมชาติต่าง ๆ ซึ่งเราสามารถนำมาสู่การเรียนรู้และวิเคราะห์เชื่อมโยง สอดคล้องกับสมรรถนะหลักของกรอบหลักสูตรการศึกษาขั้นพื้นฐาน พุทธศักราช 2564 ซึ่งจัดทำโดยสำนักงานคณะกรรมการการศึกษาขั้นพื้นฐาน (สพฐ. ) ข้อที่ 5 คือ สมรรถนะพลเมืองที่เข้มแข็งองค์ประกอบที่ 3 เรื่องพลเมืองมีส่วนร่วมอย่างมีวิจารณญาณ คือการติดตามสถานการณ์และประเด็นปัญหาของสังคมอย่างมีวิจารณญาณ มีส่วนร่วมทางสังคมด้วยจิตสาธารณะและสำนึกสากล และหากเราเกิดความใส่ใจ มีฉันทะในการใฝ่หาความรู้ สังเกต ตั้งคำถามที่นำไปสู่การหาคำตอบเกี่ยวกับปรากฏการณ์ทั่วไป มีการประเมินความน่าเชื่อถือของข้อมูล การวิเคราะห์จนนำไปสู่การอธิบายสาเหตุและกระบวนการของปรากฏการณ์ จากหลักฐานที่รวบรวมได้โดยใช้ความรู้ในศาสตร์ต่าง ๆ และเชื่อมโยงผลที่เกิดขึ้นต่อธรรมชาติและสิ่งแวดล้อมในชุมชน การคาดการณ์เกี่ยวกับปรากฏการณ์ โดยอาศัยหลักวิชาอย่างมีเหตุผลและไม่มีอคติ สามารถคิดหาทางแก้ปัญหาปัจจุบันที่เกี่ยวข้องกับการเปลี่ยนแปลงของปรากฏการณ์ต่าง ๆ ในระบบธรรมชาติ โดยใช้ความรู้คณิตศาสตร์ วิทยาศาสตร์ และเทคโนโลยี การใช้เทคโนโลยีอย่างคุ้มค่าจะทำให้เกิดสมรรถนะที่เด่นชัด อีกข้อหนึ่งคือ ข้อที่ 6 สมรรถนะการอยู่ร่วมกับธรรมชาติ และวิทยาการอย่างยั่งยืน ซึ่งสมรรถนะทั้ง 2 ข้อนั้น สมรรถนะที่เกิดขึ้นจะอยู่ในระดับใดต้องอาศัยการสังเกตพฤติกรรมบ่งชี้ควบคู่กันไป
ดังนั้น การดูซีรีส์แต่ละเรื่อง ก็สามารถสร้างองค์ความรู้ได้ หากเรามองในมุมที่เปิดกว้าง ลึกซึ้ง ถึงรายละเอียดเนื้อหาที่ถูกสอดแทรกอยู่ แล้วพยายามตั้งคำถาม รวบรวม ข้อมูลจากแหล่งที่น่าเชื่อถือ เพื่อหาคำตอบจนนำไปสู่การสร้างองค์ความรู้ใหม่ ๆ ได้ด้วยตัวเอง และสามารถนำสิ่งที่ได้ไปเผยแพร่ต่อ ก็จะยิ่งช่วยกระจายองค์ความรู้ไปในวงกว้างมากขึ้น ซีรีส์นี้ยังมีตอนอื่น ๆ ให้ลองคิดวิเคราะห์ และถอดประเด็นว่าเราจะหาองค์ความรู้เกี่ยวกับเรื่องอะไรบ้าง เพื่อเพิ่มการดูซีรีส์ให้มีอรรถรสมากยิ่งขึ้น
บทความนี้เป็นส่วนหนึ่งของนิตยสาร สสวท. ปีที่ 50 ฉบับที่ 235 มีนาคม - เมษายน 2565
ผู้อ่านสามารถติดตามบทความที่น่าสนใจเพิ่มเติมได้ที่ https://emagazine.ipst.ac.th/
สถาบันส่งเสริมการสอนวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยี (สสวท.) กระทรวงศึกษาธิการ เป็นหน่วยงานของรัฐที่ไม่แสวงหากำไร ได้จัดทำเว็บไซต์คลังความรู้ SciMath เพื่อส่งเสริมการสอนวิทยาศาสตร์ คณิตศาสตร์และเทคโนโลยีทุกระดับการศึกษา โดยเน้นการศึกษาขั้นพื้นฐานเป็นหลัก หากท่านพบว่ามีข้อมูลหรือเนื้อหาใด ๆ ที่ละเมิดทรัพย์สินทางปัญญาปรากฏอยู่ในเว็บไซต์ โปรดแจ้งให้ทราบเพื่อดำเนินการแก้ปัญหาดังกล่าวโดยเร็วที่สุด
The Institute for the Promotion of Teaching Science and Technology (IPST), Ministry of Education, a non-profit organization under the Thai government, developed SciMath as a website that provides educational resources in Science, Mathematics and Technology. IPST invites visitors to use its online resources for personal, educational and other non-commercial purpose. If there are any problems, please contact us immediately.
Copyright © 2018 SCIMATH :: คลังความรู้ SciMath. Terms and Conditions. Privacy. , All Rights Reserved.
อีเมล: This email address is being protected from spambots. You need JavaScript enabled to view it. (ให้บริการในวันและเวลาราชการเท่านั้น)