ลมกับการบิน
เวลาใครขึ้นเครื่องบินแล้วมองจากหน้าต่างเครื่องบินลงมาด้านล่างขณะที่เครื่องบินกำลังทะยานขึ้นหรือร่อนลงเขาจะสังเกตได้ว่าอากาศเหนือสนามบินบางครั้งมีเมฆปกคลุมและการมองเห็นวิวในระยะไกลก็จะเปลี่ยนแปลงไปนอกจากนี้เราหลายคนคงเคยได้ยินข่าวเกี่ยวกับกฎการบินของ ICAO ในช่วงนี้เนื่องจากประเทศไทยถูกขึ้นบัญชีความปลอดภัยด้านการบินโดย ICAO ซึ่งเป็นชื่อย่อของ องค์การการบินพลเรือนระหว่างประเทศ (International Civil Aviation Organization) ซึ่งทำหน้าที่เป็นผู้เชี่ยวชาญด้านการบินจากสหประชาชาติ ได้ประกาศลดอันดับความน่าเชื่อถือด้านความปลอดภัยในการออกใบอนุญาตให้ทำการบินของประเทศไทยด้วยการปักธงแดงบนเส้นทางบินของประเทศไทยในเว็บไซต์ของ ICAO เมื่อวันที่ 18 มิถุนายน พ.ศ.2558
ภาพที่ 1: เมฆปกคลุมและการมองเห็นวิวในระยะไกล
บทความนี้จะไม่กล่าวถึงสาเหตุการปักธงแดงของ ICAO แต่จะกล่าวถึงความปลอดภัยทางด้านการบินว่ามีความสำคัญอย่างไร ในทางอุตุนิยมวิทยาการบินมีตัวแปรมากมาย ที่ส่งผลกับการบิน ก่อนที่นักบินจะนำเครื่องบินขึ้นทุกครั้งเขาจะต้องศึกษาสภาพอากาศตลอดเส้นทางบินจากสนามบินต้นทางถึงสนามบินปลายทาง และ สนามบินใกล้เคียงที่อาจใช้เป็นสนามบินสำรองในกรณีฉุกเฉิน เพื่อวางแผนการบินให้ปลอดภัยหลีกเลี่ยงสภาวะอากาศร้ายที่เป็นอันตรายต่อการบินตลอดเส้นทางบิน เช่น มีพายุฝนฟ้าคะนอง พายุหมุนเขตร้อน หากจำเป็นต้องบินทวนล่มหรือสภาพอากาศที่สนามบินต้นทางหรือบริเวณสนามบินปลายทางไม่ปกติจำเป็นต้องเตรียมน้ำมันสำรองหรือลดจำนวนผู้โดยสารและสินค้าที่บรรทุกให้น้อยลงโดยลมเป็นตัวแปรหนึ่งที่สำคัญต่อการบิน โดยเฉพาะลมผิวพื้นจะมีความสำคัญต่อการขึ้น-ลงของเครื่องบิน
การขึ้นหรือลงของเครื่องบินอาศัยลมผิวพื้นที่มีทิศสวนทางกับทิศการเคลื่อนที่ของเครื่องบิน ตัวอย่างเช่นเครื่องบิน DC- 8 บินขึ้น-ลงในขณะที่ลมผิวพื้นในสนามบินมีความเร็ว 10 นอต ถ้าบินขึ้นในทิศเดียวกับลม เครื่องบินจะต้องใช้ทางวิ่งเป็นระยะทางเพิ่มอีก 500 เมตร แต่ในทางกลับกันถ้าบินในทิศทางสวนกับูทิศของลมที่มีความเร็วเท่ากันจะใช้ทางวิ่งในระยะทางสั้นลง 100 เมตร นอกจากนี้ลมชั้นบนที่ระดับความสูงต่าง ๆ มีอิทธิพลต่อประสิทธิภาพในการบิน เช่น ระยะเวลาบิน หรือ การสิ้นเปลืองน้ำมันเชื้อเพลิง
ทิศทางลมที่ใช้ในการบินขึ้นและลงคือ ลมปะทะหน้า (headwind) มีทิศตรงกันข้ามกับทิศของเครื่องบิน (บินสวนทิศทางลม) และลมส่งท้าย (tail wind มีทิศเดียวกับทิศของเครื่องบิน (บินตามทิศทางลม)
ภาพที่ 2 : ทิศทางลมที่ใช้ในการบิน
ทัศนวิสัยด้านการบิน หมายถึงระยะไกลที่สุดที่สามารถมองเห็นได้ด้วยสายตา ต้องเห็นได้ชัดเจนในวันที่อากาศแจ่มใส ตามปกติ ภูเขา บ้านเรือน ต้นไม้ หรือปล่องไฟในสนามบินแต่ละแห่งจะต้องมีการตรวจทัศนวิสัยสำหรับนักบินด้วยเช่นกัน หากพบภาวะที่ทำให้ทัศนวิสัยลดคุณภาพเช่น หมอก ฟ้าหลัว ฝน หรือฝุ่น ทำให้ไม่สามารถมองเห็นได้ชัดเจนเหมือนในภาวะอากาศแจ่มใส ก็ให้ระยะนั้นเป็นค่าทัศนวิสัย ในทางการบินค่าทัศนวิสัยของทางวิ่งในสนามบินนอกจากนี้ยังมีค่าทัศนวิสัยที่นักบินสามารถมองเห็นได้จากห้องนักบิน ซึ่งมีความสำคัญต่อการบินขึ้นลงมาก ในทางปฏิบัติไม่สามารถวัดค่าได้ด้วยสายตา แต่จะใช้เครื่องมืออัตโนมัติที่เรียกว่า Transmissometer ติดตั้งใกล้กับจุดแตะพื้นของเครื่องบิน
นอกจากค่าทัศนวิสัยทั่วไปแล้วก็ยังมีความสามารถในการมองเห็นของนักบินในแนวนอนและแนวเฉียงเพื่อให้สามารถมองเห็นได้ไกลในแนวราบและเห็นทางวิ่งในแนวเฉียงความสำคัญในการรายงานทัศนวิสัยเพื่อการบินในกรณีที่ตำแหน่งของเครื่องบินอยู่ในสภาวะอากาศแจ่มใสแต่มีหมอกปกคลุมเบื้องถ่าง นักบินอาจเห็นสภาพของสนามบินได้ค่อนข้างชัดเจน แต่เมื่อลดระดับลงมาจนเครื่องบินอยู่ใกล้ชั้นหมอก หรือในชั้นหมอก นักบินอาจมองไม่เห็นสภาพทางวิ่ง ทำให้นักบินตัดสินใจผิดพลาดอาจทำให้เกิดอุบัติเหตุด้านการบินขึ้นได้
ตัวแปรอื่น ๆ ที่มีผลต่อการบินแต่ไม่ได้กล่าวไว้ในที่นี้เช่น ความกดอากาศ อุณหภูมิ อย่างไรก็ตามก่อนที่นักบินจะนำเครื่องบินขึ้นท้องฟ้าจำเป็นต้องทราบข้อมูลอุตุนิยมวิทยาและพูดคุยกับนักอุตุนิยมวิทยาที่ประจำที่สนามบินเพื่อประเมินสภาพอากาศและเตรียมความพร้อมในการนำเครื่องขึ้นสู่ท้องฟ้า
บทความนี้เป็นส่วนหนึ่งของนิตยสาร สสวท. ผู้อ่านสามารถติดตามบทความที่น่าสนใจเพิ่มเติมได้ที่ https://magazine.ipst.ac.th/
บรรณานุกรม
IVAO HQ training department. (2015). Headwind & crosswind calculation. สืบค้นเมื่อ 15 พฤศจิกายน 2558, จาก https://www.ivao.aero/training/documentation/books/PP ADCHeadwind_croswind_calc.pdf
ทวีชัย วรศักดิ์. (ม.ป.ป.). ลมมีความสำคัญต่อการบินอย่างไร. สืบค้นเมื่อ 19 พฤศจิกายน 2558, จากhtttp:/www.aeromettmd.go.thmet/story/show 2.htm
-
12619 ลมกับการบิน /article-science/item/12619-2022-07-25-08-20-30-23เพิ่มในรายการโปรด
-
คำที่เกี่ยวข้อง