เรื่องน่ารู้เกี่ยวกับความลึกของท้องทะเล ตอนที่ 2
จากบทความที่แล้ว เรื่องน่ารู้เกี่ยวกับความลึกของท้องทะเล ตอนที่ 1 เราได้รู้จักกับลักษณะของความลึกของทะเลกันไปแล้ว สำหรับบทความนี้ ก็จะเสนอข้อมูลที่น่าสนใจต่อไปคือเรื่องของระดับชั้นทะเลลึก ภูเขาใต้ทะเล การวัดความลึกของทะเล และข้อมูลเกี่ยวกับความลึกของทะเลไทย
ภาพ ทะเลลึก
ที่มา https://pixabay.com/th , Free-Photos
ลักษณะสำคัญของท้องทะเลลึกคือบริเวณของน้ำทะเลที่แสงไม่สามารถส่องถึงได้ ระดับชั้นทะเลลึก อาจแบ่งเป็น 4 ชั้นคือ
1.เขตที่แสงส่องถึง (ความลึก 0-200 เมตร)
2.เขตที่มีแสงเข้ม(200-1,000 เมตร)
3.เขตแสงสลัว (1,000-4,000 เมตร)
4.เขตที่แสงส่องไม่ถึง (4,000-6,000 เมตร) หรือมากกว่า
โดยเขตที่มีแสงเข้ม (200-1,000เมตร), เขตแสงสลัว (1,000-4,000เมตร) และเขตที่แสงส่องไม่ถึง (4,000-6,000เมตร) นั้นจะถือว่าเป็น ทะเลลึก
สิ่งที่น่าสนใจใต้ทะเลลึกอีกรูปแบบหนึ่งก็คือ ภูเขาใต้ทะเล ซึ่งอยู่บริเวณพื้นท้องมหาสมุทร ภูเขาใต้ทะเลบางลูกมียอดตัด เรียกว่า กีย์โอต์ จากข้อมูลการค้นหาและสำรวจ พบมากที่ตอนกลางและที่ด้านตะวันตกของมหาสมุทรแปซิฟิคระหว่างหมู่เกาะมาเรียนากับหมู่เกาะฮาวาย และมีข้อมูลอธิบายไว้ว่ายอดของภูเขากีโอต์อยู่ที่ระดับน้ำลึก 1,200 - 1,800 เมตร ซึ่งสันนิษฐานว่า เดิมอาจเป็นยอดภูเขาไฟแล้วคลื่นทำให้สึกกร่อนไปหรืออาจมีปะการังมาเกาะเหนือยอดเขาทำให้ยอดตัด ต่อมาพื้นท้องมหาสมุทรลดระดับต่ำลงหรือน้ำทะเลมีระดับสูงขึ้นเลยจมหายไปใต้น้ำ
หลายคนคงสงสัยกันว่า แล้วความลึกของทะเลลึกวัดกันอย่างไร คำตอบคือหลักการเกี่ยวกับโซนาร์ สามารถช่วยทดสอบความลึกของท้องทะเลได้ นอกจากนี้ยังเป็นเครื่องมือสำหรับตรวจหาวัตถุใต้น้ำได้ดีอีกด้วย นิยมใช้ในการหาตำแหน่งของระเบิด เรืออับปาง ฝูงปลา โดยเครื่องโซนาร์จะส่งคลื่นเสียงที่มีความถี่ประมาณ 50,000 รอบต่อวินาที สูงเกินกว่าหูมนุษย์จะได้ยิน ผ่านไปในน้ำทะเลลึก เมื่อเสียงเดินทางไปกระทบพื้นท้องทะเลก็จะสะท้อนกลับมาเข้าเครื่องรับ เครื่องรับจะทำการวัดช่วงเวลาที่เสียงเดินทางไป และกลับ หลังจากนั้นจึงคำนวณหาระยะทางของพื้นทะเลจากความเร็วของคลื่นเสียงใต้น้ำ
มาดูข้อมูลความลึกของท้องทะเลไทยกันบ้าง
ระบบฐานข้อมูลกลางและมาตรฐานข้อมูลทรัพยากรทางทะเลและชายฝั่ง (Central Database System and Data Standard for Marine and Coastal Resources) ของกรมทรัพยากรทางทะเลและชายฝั่ง ให้ข้อมูลเกี่ยวกับความลึกของทะเลไทยไว้ว่า
ลักษณะท้องทะเลไทย มีรายละเอียดที่น่าสนใจดังนี้
- ลักษณะท้องทะเลคล้ายแอ่งกะทะ
- ส่วนที่ลึกที่สุดของอ่าวไทยมีความลึกประมาณ 80 เมตร
- บริเวณร่องน้ำลึกกลางอ่าว มีความลึกมากกว่า 50 เมตร และยาวเข้าไปจนถึงแนวระหว่างเกาะช้าง จังหวัดตราด กับ อำเภอบางสะพานใหญ่ จังหวัดประจวบคีรีขันธ์
- บริเวณก้นอ่าว คือ อ่าวไทยตอนบนหรืออ่าวไทยรูปตัว “ก” มีรูปร่างสี่เหลี่ยมผืนผ้าขนาดประมาณ 100x100 ตารางกิโลเมตร อ่าวไทยตอนบนมีความลึกสูงสุดประมาณ 40 เมตรอยู่ทางฝั่งขวาของอ่าว ส่วนฝั่งซ้ายจะตื้นเขินกว่า และมีความลึกเฉลี่ยในอ่าวไทยตอนบนประมาณ 15 เมตร
- อ่าวไทย ถูกกั้นออกจากทะเลจีนใต้ด้วยสันเขาใต้น้ำ 2 แนวทางฝั่งซ้ายและขวาของอ่าว สันเขาใต้น้ำฝั่งซ้ายมีความลึกประมาณ 50 เมตร เป็นแนวยาวจากโกตา-บารู (ร่องน้ำโก-ลก) ไปทางทิศตะวันออกเฉียงเหนือประมาณ 160 กิโลเมตร ส่วนทางฝั่งขวามีความลึกประมาณ 25 เมตร เป็นแนวยาวจากแหลมคาเมาไปทางทิศตะวันตกเฉียงใต้ประมาณ 100 กิโลเมตร และในบริเวณร่องน้ำลึกมีชั้นแนวตั้งของเปลือกโลก (sill) ณ ที่ความลึกประมาณ 67 เมตร กั้นอยู่ซึ่งจะเป็นเสมือนตัวควบคุมการไหลของน้ำระดับล่างในอ่าวไทย
เป็นอย่างไรกันบ้าง ความลึกของทะเลมีรายละเอียดที่น่าศึกษาและค้นหาไม่น้อยเลยใช่ไหม ยังมีความน่าสนใจอีกมากเกี่ยวกับท้องทะเล ใครที่สนใจก็ลองศึกษาเพิ่มเติมกันได้ จากแหล่งข้อมูลให้ให้บริการตามช่องทางต่าง ๆ ที่ศึกษาทางธรรมชาติเกี่ยวกับทะเล
แหล่งที่มา
มหาสมุทร. สืบค้นเมื่อ 11 ตุลาคม 2561. จาก http://www.marine.tmd.go.th/thai/oceanhtml/oceandoc.html
ทะเลลึก. สืบค้นเมื่อ 11 ตุลาคม 2561. จาก https://th.wikipedia.org/wiki/ทะเลลึก
กรมทรัพยากรทางทะเลและชายฝั่ง .ความลึกของพื้นผิวทะเล. สืบค้นเมื่อ 11 ตุลาคม 2561. จาก https://km.dmcr.go.th/th/c_51/d_272
-
9105 เรื่องน่ารู้เกี่ยวกับความลึกของท้องทะเล ตอนที่ 2 /article-earthscience/item/9105-2018-10-18-08-37-02เพิ่มในรายการโปรด