รู้จักกับนักวิทย์-คณิต จากทุกมุมโลก ตอนที่ 12 Ramanujan
คุณเคยชมภาพยนตร์เรื่อง The man who knew infinity ไหม หรือชื่อไทยในเรื่อง อัจฉริยะโลกไม่รัก ซึ่งเป็นเป็นภาพยนตร์สารคดีเกี่ยวกับชีวประวัติของนักคณิตศาสตร์ชาวอินเดียชื่อ Srinivasa Ramanujan หรือ “ศรีนิวาสะ รามานุจัน” (S. Ramanujan) ชายหนุ่มชาวอินเดีย ผู้ไม่มีดีกรีการศึกษา ไม่มีฐานะร่ำรวย แต่เป็นผู้ชื่นชอบคณิตศาสตร์ ภาพยนตร์เรื่องนี้ดำเนินเรื่องสะท้อนให้เห็นประวัติของเขา ที่เป็นหนึ่งในนักคณิตศาสตร์ชาวเอเชียที่ทำคุณูปการไว้อย่างมากมายให้แก่วงการคณิตศาสตร์โลก ติดตามอ่านประวัติและผลงานของเขาได้ในบทความนี้
รามานุจัน เป็นคนอินเดีย เขาเกิดเมื่อวันที่ 22 ธันวาคม พ.ศ. 2430 (22 December 1887 ) เป็นบุตรชายของพนักงานบัญชีในร้านขายผ้า พื้นฐานครอบครัวมีความยากจน แต่ก็ยังโชคดีที่เขาได้เรียนหนังสือ รามานุจันเข้าเรียนครั้งเเรกเมื่ออายุ 5 ขวบ ในชั้นประถมที่โรงเรียนในเมือง KumbaKonam รามานุจัน มีความสามารถทางด้านคณิตศาสตร์ มีไหวพริบสามารถท่องค่าของสแควร์รูท 2 และค่าของพาย ที่มีทศนิยม ถึง 50 หลัก ได้อย่างถูกต้อง โดยที่เขาสามารถทำการศึกษาคณิตศาสตร์เหล่านั้นด้วยตนเองได้อย่างลึกซึ้ง ทำให้ความรู้ทางคณิตศาสตร์ของเขาก้าวล้ำกว่าเด็กๆในวัยเดียวกัน
ภาพ Srinivasa Ramanujan
ที่มา https://commons.wikimedia.org/wiki/File:Srinivasa_Ramanujan_-_OPC_-_1.jpg ,
รามานุจันได้รับทุนการศึกษาไปเรียนต่อที่ วิทยาลัยแห่งเมืองมาดราส (Madras) เขามีความหลงใหลในวิชาและตำราต่าง ๆ ทางคณิตศาสตร์เป็นอย่างยิ่ง ตำราคณิตศาสตร์ระดับสูงชื่อว่า " Synopsis of Elementary Results in Pure Mathematics" ของ G. S. Carr เป็นตำราหนึ่งที่ที่มีอิทธิพลต่อชีวิตเขา
เรื่องราวของเขาดูเหมือนจะสวยงาม แต่สิ่งที่ทำให้เป็นที่ประหลาดใจแก่คนทั่วไปและสร้างความล้มเหลวก็คือ เขาให้ความสำคัญกับวิชาคณิตศาสตร์เพียงวิชาเดียวเท่านั้น ทำให้เขาได้คะแนนเต็มในวิชาคณิตศาสตร์ แต่วิชาอื่นนั้นตกจนหมดสิ้น รามานุจันโดนถอนสิทธิ์นักเรียนทุน และต้องออกจากวิทยาลัยทั้งๆและต้องเเต่งงานตามความต้องการของครอบครัว ชีวิตในช่วงนี้จึงนับว่าตกต่ำอย่างมาก
แต่ไม่ว่าชีวิตจะเป็นเช่นไร รามานุจันไม่เคยทิ้งคณิตศาสตร์อันเป็นที่รักของเขาไป รามานุจันพยายามหาเงินอย่างไม่ย่อท้อ เขานำผลงานคณิตศาสตร์ที่ตนคิดได้นั้น ไปนำเสนอศาสตราจารย์ Diwan B. Rao แห่ง Presidency College Rao จ้างรามานุจันให้มาทำงานเป็นนักวิจัยคณิตศาสตร์ผู้ช่วย
ด้วยความพยายามของเขา รามานุจันพยายามส่งผลงานต่างๆ ทั้งสูตรและสิ่งต่างๆที่เขาค้นพบไปยังนักคณิตศาสตร์ที่มีชื่อเสียงของ University of Cambridge แต่ผลที่ได้รับคือ ศาสตราจารย์ 2 ใน 3 ท่าน มีเพียง ศาสตราจารย์ Godfrey Hardy เท่านั้นที่สนใจผลงานของรามานุจัน
ในตอนแรก Hardy ก็มีได้สนใจผลงานชิ้นนี้มากนัก แต่ก็ฉุกใจคิดและนำสูตรต่างๆที่รามานุจันส่งมานั้นมาตรวจสอบดู พร้อมกับให้ผู้เชี่ยวชาญคือ John E. Little Wood แห่ง Trinity College ซึ่งเป็นผู้เชี่ยวชาญ วิชา calculus และ number theory มาร่วมตรวจสอบด้วย และทั้งคู่ก็ต้องตื่นเต้นอย่างมากเมื่อพบว่า สิ่งที่รามานุจันเขียนมานั้น เป็นคณิตศาสตร์ชั้นสูงระดับอัจฉริยะที่มีความสลับซับซ้อน ยากต่อการเข้าใจ แม้แต่ตัวของ Hardy เองยังต้องยอมรับว่านี่คือ ความสามารถที่เหนือกว่าตน Hardy เชิญ รามานุจันให้มาร่วมทำงานด้วย ซึ่งรามานุจันก็ยังไม่ได้ตอบรับในทันที เพราะรามานุจันมีความห่วงครอบครัวและติดขัดในเรื่องของศาสนาที่ตนนับถืออยู่ แต่สุดท้ายเขาก็ตอบกลับที่จะร่วมงานกับ Hardy
Hardy และรามานุจัน ได้สร้างผลงานร่วมกันมากมาย ทั้ง partitions of integer, number theory, continued fractions, infinite series, ทฤษฎีเกี่ยวกับ Partition และฟังก์ชันต่าง ๆ รามานุจันก็โด่งดังไปในหมู่ของวงการคณิตศาสตร์ มีผลงานตีพิมพ์ 21 เรื่อง งานชิ้นแรกของรามานุจันที่ได้รับการตีพิมพ์มีชื่อว่า "Some Properties of Bernoulli's numbers" ใน วารสาร Journal of the Indian Mathematical Society ในปี พ.ศ. 2453หลายชิ้นเป็นงานที่ทำร่วมกับ Hardy และได้รับการยอมรับความสามารถให้ดำรง ศาสตราจารย์คณิตศาสตร์แห่งมหาวิทยาลัย Cambridgeรวมทั้งเป็นคนอินเดียคนแรกได้รับแต่งตั้งให้เป็นถึง Fellow of the Royal Society (FRS) ที่มีอายุน้อยที่สุดในประวัติศาสตร์ของอังกฤษ
ในช่วยสุดท้ายของชีวิตในวัยอันสั้น รามานุจันล้มป่วยลงด้วยโรคตับอักเสบ โรคซึมเศร้า และวัณโรค ตลอดเวลาที่กลับมารักษาตัวที่อินเดีย รามานุจันยังหมกมุ่นในคณิตศาสตร์อย่างบ้าคลั่ง จนทำให้ร่างกายสู้ไม่ไหวและจากไปในวัย 32 ปี
แหล่งที่มา
สุทัศน์ ยกส้าน ภาคีสมาชิก ราชบัณฑิตยสถาน. รามานุจัน (Srinivasa Ramanujan) อัจฉริยะผู้อาภัพ. สืบค้นเมื่อ 12 ตุลาคม 2562. จาก https://krupraiwan.wordpress.com/mathematician/ramanujan/
Marsmag. The Man Who Knew Infinity รามานุจันอัจฉริยะผู้เปลี่ยนโฉมหน้าวงการคณิตศาสตร์. สืบค้นเมื่อ 12 ตุลาคม 2562. จาก https://mgronline.com/marsmag/detail/9590000048322
-
10973 รู้จักกับนักวิทย์-คณิต จากทุกมุมโลก ตอนที่ 12 Ramanujan /article-mathematics/item/10973-2019-10-25-07-15-13เพิ่มในรายการโปรด
-
คำที่เกี่ยวข้อง