การจัดกิจกรรมการเรียนรู้คณิตศาสตร์แบบออนไลน์ ผ่านการใช้โปรแกรมแบบผสมผสาน ตามแนวทางการจัดการเรียนรู้แบบห้องเรียนกลับด้าน
จากสถานการณ์การแพร่ระบาดของเชื้อไวรัสโคโรนา (COVID–19) ทำให้ต้องหยุดการเรียนการสอนในสถานศึกษา และมีผลกระทบต่อระบบการศึกษาไทยเป็นวงกว้าง แต่การทำให้ผู้เรียนเกิดการเรียนรู้ไม่สามารถหยุดได้และต้องดำเนินการต่อไป ดังนั้นในวงการศึกษาจึงมีการปรับเปลี่ยนวิธีสอน และกระบวนการจัดการเรียนรู้ให้กับผู้เรียน โดยเฉพาะทักษะในการใช้เทคโนโลยีของครูที่ต้องมีการปรับเปลี่ยนเป็นอย่างมาก เนื่องจากช่องทางในการสื่อสารและการจัดการเรียนการสอนทุกขั้นตอน ต้องทำในรูปแบบออนไลน์ผ่านระบบเครือข่ายอินเทอร์เน็ตอย่างเต็มตัว ในบทความนี้ ผู้เขียนจึงเสนอแนวทางในการจัดการกระบวนการเรียนรู้สำหรับวิชาคณิตศาสตร์แบบออนไลน์ ผ่านการใช้โปรแกรมแบบผสมผสาน ตามแนวทางการจัดการเรียนรู้แบบห้องเรียนกลับด้าน (Flipped–Classroom) เพื่อพัฒนาประสิทธิภาพการจัดการเรียนรู้แบบออนไลน์ให้เกิดประโยชน์สูงสุดกับผู้เรียน
ภาพ 1 โปรแกรมที่ใช้ในการจัดการเรียนการสอนออนไลน์
กระบวนการจัดการเรียนรู้รายวิชาเสริมทักษะคณิตศาสตร์ มีจุดประสงค์เพื่อการพัฒนาและส่งเสริมทักษะการคิด และการแก้ปัญหาทางคณิตศาสตร์ที่ซับซ้อน โดยวิธีการหนึ่งที่จะช่วยส่งเสริมทักษะดังกล่าวคือ การใช้คำถามกระตุ้นให้กับผู้เรียนคิด ก่อนที่ผู้เรียนจะตอบคำถามนั้น ๆ ผู้เรียนจะต้องมีความรู้พื้นฐานก่อนจึงจะสามารถเรียนรู้และตอบคำถามได้อย่างมั่นใจ อย่างไรก็ตาม ช่องทางในการเรียนรู้ออนไลน์ที่เกิดขึ้นในภาวะวิกฤตดังกล่าว มักมีข้อจำกัดในการพัฒนาทักษะการคิดและการแก้ปัญหา และข้อจำกัดของผู้สอนในการจัดการชั้นเรียนเป็นอย่างมาก เนื่องด้วยปัจจัยและสิ่งเร้าของผู้เรียนขณะร่วมกิจกรรมการเรียนรู้ เช่น การมีวินัย ความใส่ใจ การช่วยเหลือของผู้ปกครองระหว่างเรียนออนไลน์ที่บ้าน ผู้เรียนไม่โต้ตอบหรือไม่มีปฏิสัมพันธ์ ความเสถียร ของระบบและโปรแกรมต่าง ๆ ในการเรียนออนไลน์ ดังนั้น การจัดการเรียนรู้แบบเดิมโดยการสอนแบบบรรยายเป็นฐาน (Lecture– Based Learning) จึงอาจทำให้ประสิทธิภาพในการเรียนรู้และความคงทนของเนื้อหาลดลง อาจจะส่งผลลบต่อแรงจูงใจในการเรียน และสมรรถนะในการเรียนรู้ของผู้เรียน
ด้วยเหตุผลดังกล่าว ผู้เขียนจึงได้ศึกษารูปแบบ และโปรแกรมที่ใช้ในการจัดการเรียนการสอนแบบออนไลน์ และเห็นว่าการใช้โปรแกรมแบบผสมผสานผ่านการจัดการเรียนรู้แบบห้องเรียนกลับด้าน (Flipped–Classroom) เป็นวิธีจัดการเรียนรู้ที่เป็นประโยชน์กับผู้เรียน รวมทั้งผู้เขียนได้รับมอบหมายให้ปฏิบัติการสอนในรายวิชาเสริมทักษะคณิตศาสตร์ 5 จึงได้มอบหมายให้ผู้เรียนศึกษาทบทวนความรู้เดิมด้วยตนเอง จากบทเรียนที่ผู้เขียนออกแบบและสร้างขึ้นไว้ก่อนเข้าชั้นเรียนแบบออนไลน์ รวมทั้งร่วมกันทำการบ้านหรือแบบฝึกหัด เพื่อให้ผู้เรียนใช้เวลาในชั้นเรียนสำหรับการแลกเปลี่ยนเรียนรู้ อภิปราย ลงมือปฏิบัติ ทดแทนการฟังบรรยายในการสอนรูปแบบเดิม นอกจากนี้ ผู้เขียนได้ให้ผู้เรียนแลกเปลี่ยนกันทำโจทย์ปัญหาที่ซับซ้อนเป็นกลุ่มและนำเสนอผ่านโปรแกรม Zoom เพื่อตรวจสอบความเข้าใจกับเพื่อนนักเรียน จะเห็นได้ว่าลักษณะการจัดการเรียนรู้แบบ ห้องเรียนกลับด้านนั้น มีความเป็นไปได้ในการขจัดปัญหาเรื่อง พฤติกรรมการเรียนรู้ เช่น ความเกียจคร้าน สมาธิ การจดจ่อ การขาดปฏิสัมพันธ์ระหว่างผู้สอนกับผู้เรียน ที่พบมากใน การเรียนการสอนออนไลน์ เนื่องจากลักษณะการจัดการเรียนรู้ แบบห้องเรียนกลับด้านช่วยก่อให้เกิดแรงกระตุ้นแบบเชิงรุก ผู้เขียนได้ทำการทดลองใช้รูปแบบการจัดการเรียนการสอน ดังกล่าว โดยมีขั้นตอนในการจัดกิจกรรมการเรียนรู้ในรูปแบบออนไลน์ ดังนี้
ก่อนเข้าชั้นเรียนออนไลน์
ผู้สอนมอบหมายให้ผู้เรียนได้ศึกษาบทเรียนและทำแบบฝึกหัด ผ่านการผสมผสานระหว่างการสร้างบทเรียนออนไลน์ในเว็บไซต์ YouTube (ภาพ 2) ซึ่งเป็นการเฉลยแบบฝึกหัดในหนังสือเรียนบางข้อที่มีความแตกต่างกัน และมอบหมายให้ผู้เรียนศึกษาจากเว็บไซต์ proj14.ipst.ac.th (ภาพ 3) โดยได้สร้างเป็นเนื้อหาใน Google Classroom นอกจากนั้น ผู้สอนได้สร้างเนื้อหาและแบบทดสอบก่อนเรียน เพื่อทบทวนเนื้อหาเรื่องลำดับและอนุกรม ในระดับชั้นมัธยมศึกษาปีที่ 5 ผ่านโปรแกรม ThinkLink (ภาพ 4)
ภาพ 2 ช่องทางการเรียนรู้บทเรียนล่วงหน้าในเว็บไซต์ YouTube.com
ภาพ 3 ช่องทางการเรียนรู้บทเรียนล่วงหน้า ในเว็บไซต์ proj14.ipst.ac.th
ภาพ 4 ช่องทางการทบทวนเนื้อหา ก่อนเรียนในเว็บไซต์ www.thinglink.com
ขณะเรียนออนไลน์
ผู้เขียนสรุปเนื้อหาและทบทวนความรู้ของผู้เรียนที่ได้จากการศึกษาด้วยตนเอง ด้วยโปรแกรม Google Meet โดยใช้การบรรยายผ่าน GoodNotes พร้อมทั้งใช้การถามตอบเพื่อตรวจสอบความเข้าใจที่ตรงกันทั้งชั้นเรียน (ภาพ 5)
ภาพ 5 บรรยากาศชั้นเรียนออนไลน์หลังจากการประยุกต์ใช้การจัดการชั้นเรียนแบบ Flipped–Classroom
การประเมินผล
ให้ผู้เรียนแต่ละกลุ่มนำเสนอแนวคิด หลักการในการทำโจทย์แบบฝึกหัดผ่านโปรแกรม Zoom เนื่องจากมีความสะดวกในการแบ่งกลุ่มย่อยเพื่อให้ผู้เรียนทำงานกลุ่ม และทำการประเมินผลโดยเพื่อนในชั้นเรียน สำหรับครูผู้สอนจะใช้การถามคำถามในการประเมินผล (ภาพ 6)
ภาพ 6 บรรยากาศการนำเสนอโจทย์ปัญหาคณิตศาสตร์ ผ่านโปรแกรม Zoom
ผลที่เกิดขึ้น
1. ผู้เรียนส่วนใหญ่ให้ความร่วมมือในการจัดการเรียนรู้ มีการโต้ตอบกับครูผู้สอนมากขึ้น
ผู้เรียนมีความสามารถในการใช้โปรแกรมและเทคโนโลยีในการนำเสนองานในรูปแบบออนไลน์ เช่น Canva GoodNotes Google Slides และนำเสนอในรูปแบบวีดิทัศน์
2. การแบ่งกลุ่มโดยใช้โปรแกรม Zoom ทำให้ผู้เรียนได้ทำงานกลุ่มแบบอิสระ
เมื่อผู้สอนเข้าไปสังเกตการทำงานในแต่ละกลุ่มย่อย พบว่าผู้เรียนมีความกระตือรือร้นในการตั้งคำถามมากขึ้น กล้าที่จะเปิดกล้องและมีปฏิสัมพันธ์กับผู้สอน
3. บทเรียนจาก YouTube และ Project 14 ทำให้ผู้เรียนสามารถทบทวนเนื้อหาและแบบฝึกหัดได้ตลอดเวลา
แนวทางในการจัดการเรียนการสอนข้างต้น เป็นแนวทางหนึ่งที่ได้ทดลองและปรับปรุงให้สอดคล้องกับบริบทของผู้เรียนและโรงเรียนของผู้เรียน ในช่วงวิกฤตการณ์ที่เกิดขึ้นในระบบการศึกษาไทย ผู้เขียนหวังเป็นอย่างยิ่งว่าบทความนี้จะเป็นประโยชน์กับผู้อ่าน และสามารถสร้างแรงบันดาลใจในการจัดการเรียนการสอนออนไลน์ต่อไป
บทความนี้เป็นส่วนหนึ่งของนิตยสาร สสวท. ปีที่ 49 ฉบับที่ 231 กรกฎาคม - สิงหาคม 2564
ผู้อ่านสามารถติดตามบทความที่น่าสนใจเพิ่มเติมได้ที่ https://emagazine.ipst.ac.th/231/28/
บรรณานุกรม
โรงเรียนสาธิตมหาวิทยาลัยศรีนครินทรวิโรฒประสานมิตร (ฝ่ายมัธยม). (2564). รวมบทความการสร้างสรรค์สื่อการเรียนรู้ออนไลน์ในช่วงการแพร่ระบาดของโรคโควิด 19. สืบค้นเมื่อ 22 มิถุนายน 2564, จาก https://www.spsm.ac.th/home/pdf/onlinecovid.pdfl.
-
12891 การจัดกิจกรรมการเรียนรู้คณิตศาสตร์แบบออนไลน์ ผ่านการใช้โปรแกรมแบบผสมผสาน ตามแนวทางการจัดการเรียนรู้แบบห้องเรียนกลับด้าน /article-mathematics/item/12891-2023-02-10-08-15-19เพิ่มในรายการโปรด