คณิตศาสตร์สู่การเป็น Smart Farmer
อาชีพด้านการเกษตรถือเป็นอาชีพหลักของสังคมไทย ในการก้าวสู่การเป็นประเทศไทย 4.0 ตามวิสัยทัศน์ของรัฐ กระทรวงเกษตรและสหกรณ์ (2559) กำหนดแผนยุทธศาสตร์ของกรมส่งเสริมการเกษตร พ.ศ. 2560 - 2564 มีจุดเน้นที่สำคัญคือ การพัฒนาเกษตรกรไทยให้เป็นเกษตรกรปราดเปรื่อง (Smart Farmer) เพื่อพัฒนาการผลิตสินค้าเกษตรให้เป็นสินค้าที่มีมาตรฐาน มีคุณภาพ ปลอดภัย สามารถแข่งขันได้ เกษตรกรมีคุณภาพชีวิตที่ดีขึ้น เข้มแข็งพึ่งพาตนเองได้ ซึ่งหลักการสำคัญของการก้าวสู่การเป็น Smart Farmer ได้แก่ 1) ลดต้นทุนในกระบวนการผลิต 2) เพิ่มคุณภาพมาตรฐานการผลิตและมาตรฐานสินค้า 3) ลดความเสี่ยงในภาคเกษตรที่เกิดจากการระบาดของศัตรูพืชและภัยธรรมชาติ และ 4) จัดการส่งผ่านความรู้โดยใช้เทคโนโลยีและนวัตกรรม
สำนักงานคณะกรรมการการศึกษาขั้นพื้นฐาน (ม.ป.ป.) ได้จัดทำโครงการ Science Technology Innovation (STI) : Smart Intensive Farming หรือหลักสูตรอัจฉริยะเกษตรประณีตในโรงเรียน มีแนวคิดต่อยอดแบบบูรณาการระหว่างแนวคิดและองค์ความรู้เกษตรกรรมแบบประณีตกับการปรับใช้เทคโนโลยีอัจฉริยะในระบบเกษตรกรรมอัจฉริยะ หรือ Smart Farm โดยมีเป้าหมายสำคัญคือ การมุ่งพัฒนาให้นักเรียนเกิดการพัฒนาองค์ความรู้และทักษะพื้นฐานทางด้านเกษตรกรรมแบบประณีตที่บูรณาการเทคโนโลยี เกิดการเรียนรู้อย่างบูรณาการ รู้จักปรับใช้ความรู้มาสร้างนวัตกรรมที่เป็นประโยชน์ต่อการทำเกษตรกรรม ตลอดจนสามารถต่อยอดองค์ความรู้ทางด้านวิทยาศาสตร์ คณิตศาสตร์ เทคโนโลยี และวิทยาการคำนวณ บนพื้นฐานของการทำเกษตรกรรมแบบประณีต ไปสู่ครอบครัว ชุมชน และการประกอบอาชีพได้ในอนาคต โดยดำเนินการยกร่างกรอบแนวคิดของหลักสูตรเพื่อเป็นแนวทางให้โรงเรียน นำไปดำเนินการปรับใช้ตามบริบทเชิงพื้นที่ของตน ดังแผนภาพ 1
แผนภาพ 1 กรอบแนวคิดของโครงการ Science Technology Innovation (STI) : Smart Intensive Farming
โครงการอัจฉริยะเกษตรประณีตในโรงเรียนมีแนวคิดการทำการเกษตรแบบผสมผสานตามบริบทของพื้นที่ เน้นการผลิตแบบพึ่งพาตนเอง ทำการผลิตที่มีความหลากหลายเพื่อการบริโภคที่เพียงพอ สามารถนำผลผลิตที่เหลือจากการบริโภคไปจำหน่ายเพื่อสร้างรายได้ มุ่งเน้นกระบวนการคิดของเกษตรกรแบบผู้ประกอบการอย่างเป็นระบบ ครอบคลุมตั้งแต่การวางแผนก่อนการหว่านเมล็ดจนถึงการขายสินค้า ทำให้เกษตรกรสามารถลดภาระของตัวเองได้ด้วยการลงทุนในระบบที่ดีในระยะยาว เพื่อผลักดันประสิทธิภาพการผลิตของตัวเองให้ได้มากที่สุด ภายใต้งบประมาณที่เหมาะสมที่สุด (กระทรวงเกษตรและสหกรณ์, 2556) ตัวอย่างโรงเรียนที่มีบริบทเหมาะสมกับโครงการฯ ได้แก่ โรงเรียนชลธารวิทยา เป็นโรงเรียนมัธยมศึกษาขนาดเล็กตั้งอยู่ที่ตำบลบ้านควน อำเภอหลังสวน จังหวัดชุมพร ผู้ปกครองนักเรียนเกือบทั้งหมดประกอบอาชีพทำการเกษตร ทางโรงเรียนพิจารณาแล้วว่าหลักสูตรดังกล่าวจะเกิดประโยชน์ต่อผู้เรียนและเสริมสร้างความเข้มแข็งของชุมชน จึงได้สมัครเข้าร่วมโครงการตั้งแต่ปี 2565 โดยโรงเรียนได้จัดในรูปของกิจกรรมเสริมหลักสูตรในชั่วโมงลดเวลาเรียนเพิ่มเวลารู้
จากการวิเคราะห์พันธุ์พืชที่เหมาะกับสภาพพื้นที่ของชุมชน พบว่า มะระขี้นก ซึ่งจัดเป็นพืชเศรษฐกิจสำคัญชนิดหนึ่งของจังหวัดชุมพร มีการบริโภคผลสด ยอดอ่อน แปรรูปเป็นผลิตภัณฑ์สินค้า OTOP เช่น เครื่องดื่มผงสำเร็จรูป ตลอดจนผลิตเป็นยาแคปซูล ใช้เวลาในการปลูกไม่นาน นักเรียนสามารถปลูกและเก็บเกี่ยวผลผลิตเพื่อนำไปจำหน่าย สร้างรายได้เสริม เพราะมีตลาดรองรับ โรงเรียนจึงจัดให้นักเรียนระดับมัธยมศึกษาตอนต้นได้ลงมือทำแปลงปลูกตามแนวทางของเกษตรประณีต โดยโรงเรียนมอบหมายให้ครูทุกคนเป็นที่ปรึกษากิจกรรม ผู้เขียนในฐานะนักคณิตศาสตร์ศึกษามองว่าคณิตศาสตร์มีบทบาทสำคัญยิ่งในการช่วยวางระบบวิธีคิดที่มีแบบแผน การคาดการณ์วางแผน การจัดการกับปัญหา และนำไปสู่การตัดสินใจที่เหมาะสม ตลอดจนเป็นเครื่องมือช่วยเสริมกระบวนการทำงานให้มีประสิทธิภาพ คุ้มค่า และเกิดประโยชน์สูงสุด จึงมีแนวคิดที่จะออกแบบกิจกรรมบูรณาการคณิตศาสตร์กับการทำเกษตรสู่การเป็น Smart Farmer โดยกำหนดเป็นผังมโนทัศน์ของกิจกรรม ดังแผนภาพ 2
แผนภาพ 2 ผังมโนทัศน์กิจกรรมการเรียนรู้คณิตศาสตร์บูรณาการกับการเกษตรสู่การเป็นผู้ประกอบการ
แผนภาพ 2 (ต่อ) ผังมโนทัศน์กิจกรรมการเรียนรู้คณิตศาสตร์บูรณาการกับการเกษตรสู่การเป็นผู้ประกอบการ
จากผังมโนทัศน์ข้างต้น ผู้เขียนจะขอนำเสนอตัวอย่างแผนการจัดกิจกรรมที่แสดงถึงการนำความรู้คณิตศาสตร์เข้าไปเสริมประสิทธิภาพของการทำการเกษตร ดังนี้
ตัวอย่างแผนการจัดกิจกรรมที่ 3 ใช้พื้นที่ให้คุ้มค่า
สาระสำคัญ
การออกแบบแปลงเกษตรมีความสำคัญต่อการทำการเกษตร เริ่มจากศึกษาสภาพของพื้นที่ แหล่งน้ำที่ใช้ทำการเกษตรที่เพียงพอในทุกฤดูกาล ขนาดหรือการใช้พื้นที่ในการเจริญเติบโตของพืช รู้จักทิศทางลม แดด และฝน เพื่อออกแบบแปลงให้ง่ายต่อการดูแลรักษาและเก็บเกี่ยว มีการนำความรู้คณิตศาสตร์เรื่องการวัดและการหาพื้นที่ มาช่วยในการออกแบบแปลงเกษตรเพื่อให้เกิดการใช้พื้นที่ได้อย่างประหยัดและคุ้มค่า สร้างความยั่งยืนให้กับผลผลิตทางการเกษตร
จุดประสงค์ของกิจกรรม
1. นักเรียนสามารถใช้ความรู้เรื่องการวัดและการหาพื้นที่ในการออกแบบแปลงเกษตร
2. นักเรียนสามารถคำนวณวัสดุที่ต้องใช้ทำแปลงเกษตรได้อย่างคุ้มค่า
กิจกรรมการเรียนรู้
1. ครูให้นักเรียนสำรวจพื้นที่ พร้อมวัดความกว้างและความยาวของพื้นที่ที่จะทำแปลงเกษตร โดยใช้เครื่องมือในการวัด (ตลับเมตร เชือกฟาง)
2. ครูตั้งคำถามเกี่ยวกับการใช้พื้นที่ในการปลูกพืชอย่างไรให้เกิดความคุ้มค่ามากที่สุด
3. นักเรียนร่วมกันแสดงความคิดเห็นและวางแผนการจัดสรรพื้นที่แปลงเกษตรของกลุ่ม พร้อมนำเสนอสิ่งที่ได้จากการสำรวจ
4. นักเรียนร่วมกันถาม-ตอบ พร้อมออกแบบแปลงเกษตรให้เกิดความคุ้มค่าในการใช้พื้นที่ให้ได้มากที่สุด (เช่น บางกลุ่มมีการปลูกพืชอีกชนิดแทรกในพื้นที่ที่ว่าง)
5. หลังจากได้แบบแปลงเกษตร ให้นักเรียนคำนวณหาความยาวของเชือกที่นำมาผูกและร้อยกัน สำหรับทำค้างให้ต้นมะระขี้นกเลื้อยเกาะ เพื่อประมาณการวัสดุที่ต้องจัดหาได้อย่างเหมาะสม
6. ลงมือปฏิบัติการทำแปลงตามแผนที่คำนวณไว้
วัสดุอุปกรณ์
- ตลับเมตร
- เชือกฟาง
- ใบกิจกรรม “การออกแบบแปลงเกษตร”
การวัดและประเมินผลการเรียนรู้
1. การประเมินความรู้จากใบกิจกรรม “การออกแบบแปลงเกษตร”
2. การบันทึกการสังเกตหลังจัดกิจกรรม
กิจกรรมนี้เป็นตัวอย่างของการช่วยให้นักเรียนมองเห็นบทบาทและคุณค่าของความรู้ทางคณิตศาสตร์เพื่อเสริมประสิทธิภาพของการทำเกษตร ฝึกใช้คณิตศาสตร์ในการตีความและจัดการกับปัญหาในโลกแห่งความเป็นจริง ซึ่งไม่มีคำว่า “ถูกหรือผิด” เพียงแต่ทำแบบไหนแล้วจะเกิดผลดีที่สุด เป็นการยกระดับคุณภาพของการทำการเกษตรจากการผลิตเพื่อบริโภคต่อยอดไปสู่การผลิตเพื่อเป็นอาชีพของครอบครัวและชุมชน นอกจากนี้ ยังเป็นการส่งเสริมความสามารถในการประยุกต์ใช้ความรู้และทักษะกระบวนการทางคณิตศาสตร์ผ่านบริบทของการทำงานจริงที่สามารถนำไปปรับใช้ในสถานการณ์ต่างๆ ที่หลากหลาย หรือที่เรียกว่า “การรู้คณิตศาสตร์ (Mathematical Literacy)” อีกด้วย
บทความนี้เป็นส่วนหนึ่งของนิตยสาร สสวท. ปีที่ 51 ฉบับที่ 242 พฤษภาคม – มิถุนายน 2566
ผู้อ่านสามารถติดตามบทความที่น่าสนใจเพิ่มเติมได้ที่ https://emagazine.ipst.ac.th/242/26/
บรรณานุกรม
กระทรวงเกษตรและสหกรณ์. (2556). คู่มือแนวทางการขับเคลื่อนนโยบาย Smart Farmer และ Smart Officer. กรุงเทพมหานคร: กระทรวงเกษตรและสหกรณ์.
กระทรวงเกษตรและสหกรณ์. (2559). แผนยุทธศาสตร์กรมส่งเสริมการเกษตร พ.ศ. 2560 – 2564. กรุงเทพมหานคร: กระทรวงเกษตรและสหกรณ์.
สำนักงานคณะกรรมการการศึกษาขั้นพื้นฐาน. (ม.ป.ป.). หลักสูตรอัจฉริยะเกษตรประณีตในโรงเรียน. กรุงเทพมหานคร: สพฐ.
-
18352 คณิตศาสตร์สู่การเป็น Smart Farmer /article-mathematics/item/18352-26-03-2025เพิ่มในรายการโปรด


