GLOBE สร้างความเท่าเทียมในการเรียนรู้สู่ชุมชน
การพัฒนาเยาวชนให้ก้าวทันการเปลี่ยนแปลงของเศรษฐกิจ สังคม และสิ่งแวดล้อม เป็นความท้าทายของทุกประเทศ การสร้างเยาวชนให้ทันโลก มีความรู้และทักษะในการประกอบอาชีพและทักษะทางสังคม การเปลี่ยนกระบวนการเรียนรู้ ที่เน้นให้นักเรียนได้ลงมือปฏิบัติจริงด้วยตนเองและเป็นผู้ค้นพบองค์ความรู้ วิเคราะห์และสรุปสิ่งที่ได้ค้นพบ เกิดการพัฒนากระบวนการคิด การเรียนรู้ใหม่โดยมีครูเป็นผู้อำนวยความสะดวก แนวคิดนี้เป็นความต้องการของนักการศึกษาทุกคน ก่อให้เกิดการผลักดันนโยบายการจัดการเรียนรู้เชิงรุก (Active Learning) อย่างจริงจังและแพร่หลาย เพื่อให้เป็นการจัดการเรียนรู้ในศตวรรษที่ 21 โดยมีแนวทางหลากหลายรูป เช่น ระดมสมอง (Brainstorming) เน้นปัญหา/โครงงาน/ กรณีศึกษา (Problem/Project-based Learning/Case Study) แสดงบทบาทสมมุติ (Role Playing) แลกเปลี่ยน ความคิด (Think–Pair–Share) สะท้อนความคิด (Student’s Reflection) ตั้งคำถาม (Questioning-based Learning) ใช้เกม (Games-based Learning) (ศูนย์นวัตกรรมการเรียนรู้, 2566)
ตลอดระยะเวลากว่า 23 ปี โครงการ GLOBE (Global Learning and Observations to Benefit the Environment) ประเทศไทย เน้นกระบวนการสืบเสาะหาความรู้ (Inquiry-based Learning) ซึ่งเป็นวิธีหนึ่งของการจัดการเรียนรู้เชิงรุก เพื่อมุ่งสู่การหาคำตอบเกี่ยวกับสภาพแวดล้อมที่เกี่ยวข้องกับชุมชนของนักเรียนในรูปแบบโครงงานวิจัยระดับนักเรียน และมุ่งหวังให้การลงมือทำกิจกรรม GLOBE เป็นการฝึกฝน กระบวนการให้เกิดทักษะต่างๆ ภายใต้บริบทสังคมและอาชีพของคนในชุมชน โดยครูมีบทบาทเป็นผู้ส่งเสริมการเรียนรู้ร่วมกับนักวิทยาศาสตร์ นักวิชาการ และปราชญ์ชาวบ้าน ในฐานะผู้ทรงความรู้ในศาสตร์เฉพาะด้าน รูปแบบการเรียนรู้ และการจัดการเรียนรู้ในแนวคิดการจัดการเรียนรู้ตามแนวทางของ GLOBE นี้ สามารถช่วยส่งเสริมการเรียนการสอนของโรงเรียนได้ โดยภาพรวมของประเทศไทยนั้น ชุมชนส่วนใหญ่มีความเข้มแข็งด้านองค์ความรู้และทักษะการประกอบอาชีพเกษตรกรรมและการท่องเที่ยว อย่างไรก็ตาม การส่งเสริมการจัดการเรียนรู้ดังกล่าวอาจมีข้อจำกัดในกลุ่มโรงเรียนที่มีทรัพยากรจำกัด เช่น โรงเรียนขนาดเล็กมีงบประมาณจำกัด ครูไม่เพียงพอกับจำนวนรายวิชา ครูสาระวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีไม่ได้จบสาขาวิชาวิทยาศาสตร์ คณิตศาสตร์ และเทคโนโลยี สื่อการเรียนการสอนไม่เพียงพอกับจำนวนนักเรียน โครงการ GLOBE สสวท. จึงร่วมกับเครือข่ายโครงการ GLOBE ประเทศไทย ได้แก่ มหาวิทยาลัยแม่ฟ้าหลวง มหาวิทยาลัยเทคโนโลยีราชมงคลอีสาน มหาวิทยาลัยราชภัฏอุบลราชธานี โรงเรียนวิทยาศาสตร์ จุฬาภรณ์ราชวิทยาลัย ตรัง และมหาวิทยาลัยวลัยลักษณ์ จัดกิจกรรม GLOBE ให้กับนักเรียนและครู จัดหาสื่ออุปกรณ์ด้านการตรวจวัดสิ่งแวดล้อม ตามแนวทาง GLOBE ให้กับโรงเรียน 4 แห่ง คือ โรงเรียนบรรพตวิทยา จังหวัดเชียงราย โรงเรียนบ้านดอน (สหรัฐ-ราษฎร์อุทิศ) จังหวัดนครราชสีมา โรงเรียนบ้านโป่งเป้า จังหวัดอุบลราชธานี และโรงเรียนบ้านมดตะนอย จังหวัดตรัง โดยมีเป้าหมายให้โรงเรียนกลุ่มที่ขาดความพร้อมด้านงบประมาณ บุคลากร และสื่อ แต่มีความอุดมสมบูรณ์ด้านทรัพยากรธรรมชาติและองค์ความรู้ของชุมชนมีโอกาสที่จะทำงานวิจัยตามแนวทาง ของ GLOBE ได้ลงมือตรวจวัดสิ่งแวดล้อมรอบตัว ทำงานวิจัยที่เกี่ยวข้องกับท้องถิ่น ได้สะสมทักษะและต่อยอดในการเรียนรู้และการประกอบอาชีพในอนาคต ขณะเดียวกันการลงมือปฏิบัติของนักเรียนสามารถส่งผลเชิงบวก ต่อการอนุรักษ์และจัดการทรัพยากรของท้องถิ่น การดำเนินงานโครงการ The Extension of GLOBE Research Program and Network to Strengthen Local Wisdoms in Rural Areas of Thailand ได้รับ การสนับสนุนงบประมาณจากสถานทูตสหรัฐอเมริกาประจำประเทศไทย และได้รับวัสดุอุปกรณ์ตรวจวัด GLOBE บางส่วนจาก Youth Learning As Citizen Environmental Scientists (YLACES)
ภาพ 1 การทำงานวิจัยระดับนักเรียนตามแนวทางของ GLOBE
ที่มา https://www.globe.gov/documents/355050/14396119/ScientificInquiry.pdf/4015e624-aef3-4fc1-8471-842305855fba
ภายใต้แนวคิดของโครงการฯ มหาวิทยาลัยเครือข่ายโครงการ GLOBE ในฐานะ นักวิทยาศาสตร์ที่ปรึกษาได้จัดกิจกรรม GLOBE ให้กับโรงเรียน และส่งเสริมโรงเรียน ให้นำองค์ความรู้ของชุมชนมาพัฒนาเป็นโครงงานวิจัย ดังนี้
โรงเรียนบรรพตวิทยา อำเภอเวียงแก่น จังหวัดเชียงราย ภายใต้การดูแลทางวิชาการของมหาวิทยาลัยแม่ฟ้าหลวง โรงเรียนตั้งอยู่ในสภาพแวดล้อมที่ส่งเสริมการท่องเที่ยว โดยรอบบริเวณโรงเรียนปลูกต้นนางพญาเสือโคร่งจึงเป็นแหล่งท่องเที่ยวที่มีนักท่องเที่ยวทั้งในประเทศ และต่างประเทศเดินทางมาชมดอกนางพญาเสือโคร่งทุกปี และชุมชนรอบโรงเรียนมีรายได้จากการประกอบอาชีพที่รองรับการท่องเที่ยว เช่น มัคคุเทศก์ โรงแรม ร้านอาหาร ผู้นำและชุมชนให้ความสำคัญกับการอนุรักษ์และส่งเสริมการท่องเที่ยวอย่างยั่งยืน แต่การบานของดอกนางพญาเสือโคร่งขึ้นอยู่กับอุณหภูมิอากาศ การออกดอกของนางพญาเสือโคร่งจึงไม่สามารถระบุเวลาที่แน่นอนได้ นักเรียนจึงสนใจที่จะติดตามการออกดอกของนางพญาเสือโคร่งกับสภาพอากาศ โดยทำงานวิจัยหัวข้อ “ผลของการเปลี่ยนแปลงภูมิอากาศที่มีต่อการผลิต และการออกดอกของนางพญาเสือโคร่ง ณ โรงเรียนบรรพตวิทยา จังหวัดเชียงราย (Effect of Climate Change on Budburst and Flowering of WildHimalayan Cherry at Banpot Wittaya School, Chiang Rai, Thailand” เพื่อที่จะสามารถทำนายช่วงเวลาที่เหมาะสมที่จะวางแผนการจัดการท่องเที่ยวของชุมชน และเป็นการส่งเสริมการเรียนรู้ที่บูรณาการได้หลากหลาย ทำให้นักเรียนได้เรียนรู้การใช้สิ่งแวดล้อมในชุมชนเป็นแหล่งเรียนรู้และเสริมรายได้แนวทางหนึ่ง
ภาพ 2-1 (ซ้าย) โรงเรียนบรรพตวิทยา ระดับประถมศึกษา
ภาพที่ 2-2 โรงเรียนบรรพตวิทยาระดับมัธยมศึกษาตอนต้น
ภาพที่ 2-3 การออกดอกของต้นนางพญาเสือโคร่ง
โรงเรียนบ้านดอน (สหรัฐ-ราษฎร์อุทิศ) อำเภอปักธงชัย จังหวัดนครราชสีมา ภายใต้การดูแลทางวิชาการของมหาวิทยาลัยราชมงคลอีสาน โรงเรียนมีสระน้ำที่มีน้ำไหลเข้าภายในสระเพื่อเป็นแหล่งพักผ่อนและแหล่งเรียนรู้ของโรงเรียน ครูแต่ละกลุ่มสาระมีการจัดกิจกรรมที่หลากหลาย ให้แก่นักเรียนทั้งระดับประถมศึกษาตอนต้นและระดับประถมศึกษาตอนปลาย โดยกิจกรรมที่สระบัวแดงของโรงเรียนได้รับการสนับสนุนจากผู้นำชุมชนและเป็นตัวอย่างแก่กลุ่มโรงเรียนในชุมชน งานวิจัยของนักเรียนจึงเป็นงานวิจัย ที่เกิดจากการสังเกตธรรมชาติรอบสระบัวแดง งานวิจัยหัวข้อ “ความสัมพันธ์ของคุณภาพน้ำกับสัตว์เล็กน้ำจืดที่พบในแหล่งเรียนรู้สระบัวแดง ณ โรงเรียนบ้านดอน (สหรัฐ-ราษฎร์อุทิศ) ตำบลดอน อำเภอปักธงชัย จังหวัดนครราชสีมา” และบูรณาการกับรูปทรงเรขาคณิตจากการพับดอกบัว
ภาพ 3-1 โรงเรียนบ้านดอน (สหรัฐ-ราษฎร์อุทิศ) และภาพ 3-2 สระบัวแดงในโรงเรียน
ภาพ 3-3 การจำแนกชนิดสัตว์น้ำในสระบัวแดง และ ภาพ 3-4 กิจกรรมการพับดอกบัวในวิชาคณิตศาสตร์
โรงเรียนบ้านโป่งเป้า อำเภอโพธิ์ไทร จังหวัดอุบลราชธานี ภายใต้ การดูแลทางวิชาการของมหาวิทยาลัยราชภัฏอุบลราชธานี โรงเรียนตั้งอยู่ใกล้แหล่งท่องเที่ยวสามพันโบก ชุมชนรอบโรงเรียนประกอบอาชีพที่เกี่ยวข้องกับการท่องเที่ยว เช่น มัคคุเทศก์ ร้านอาหาร และในช่วงน้ำลด มีการทำการเกษตรริมฝั่งแม่น้ำโขง ผู้นำและชุมชนสนับสนุนการท่องเที่ยวอย่างยั่งยืน นักเรียนสนใจที่จะทำงานวิจัยที่เกี่ยวกับการปลูกพืชโดยใช้ดิน ริมฝั่งแม่น้ำโขง งานวิจัยหัวข้อ “การศึกษาการเจริญเติบโตของพืชสวนครัว จากตะกอนดินแม่น้ำโขง (Study on the Growth of Garden Plants from Mekong River Sediments)” และการส่งเสริมการเรียนรู้ GLOBE เพื่อส่งเสริมอาชีพมัคคุเทศก์น้อยของนักเรียนในช่วงวันหยุด
ภาพ 4-1 สนามโรงเรียนบ้านโป่งเป้า ภาพ 4-2 สามพันโบก
โรงเรียนบ้านมดตะนอย อำเภอกันตัง จังหวัดตรัง ภายใต้การดูแล ทางวิชาการของโรงเรียนวิทยาศาสตร์จุฬาภรณ์ราชวิทยาลัยตรัง และ มหาวิทยาลัยวลัยลักษณ์ โรงเรียนล้อมรอบด้วยชุมชนชาวประมง อยู่ใกล้ แหล่งท่องเที่ยวทางทะเล ชุมชนส่งเสริมการอนุรักษ์ทรัพยากรธรรมชาติทางทะเล ชุมชนรอบโรงเรียนประกอบอาชีพที่เกี่ยวข้องกับการประมงและท่องเที่ยว ผู้นำและชุมชนสนับสนุนการประมงและท่องเที่ยวอย่างยั่งยืน สภาพแวดล้อมภายในโรงเรียนและชุมชนส่งสริมให้นักเรียนสนใจที่จะทำงานวิจัยที่เกี่ยวกับการอนุรักษ์โกงกาง งานวิจัยหัวข้อ “การศึกษาคุณภาพดิน ที่ส่งผลต่อการรอดและการเจริญเติบโตของต้นกล้าโกงกางใบเล็ก (Study on Soil Quality Effects of the Survival and the Growth of Small Leaved Mangrove (Rhizochora apicula))" และ "การศึกษาความสัมพันธ์ของแหล่งที่อยู่อาศัยกับความหลากหลายของปู่ก้ามดาบ (Study on Relations of the Habitat with the Various of the Sward Crab) และการส่งเสริมการเรียนรู้ GLOBE เพื่อเสริมส่งเสริมอาชีพประมงและท่องที่ยว
ในการสนับสนุนการดำเนินงานโครงการ GLOBE สสวท. ร่วมกับ สถานทูตสหรัฐอเมริกาประจำประเทศไทย เข้าร่วมกิจกรรม 2 ครั้ง ครั้งแรก กิจกรรมค่าย GLOBE และครั้งที่ 2 การติดตามการทำงานวิจัย การเข้าร่วมกิจกรรมแต่ละครั้งคณะจาก สสวท. และสถานทูตสหรัฐอเมริกาประจำประเทศไทยได้รับความร่วมมือทั้งจากหน่วยงานในพื้นที่และชุมชน และโรงเรียนต่างๆ ได้ส่งผลงานเข้าร่วมการประกวด GLOBE Science Research Competition (SRC) 2023 และ 2023 GLOBE International Virtual Science Symposium (IVSS)
ภาพ 6-1 การร่วมกิจกรรมค่าย GLOBE โรงเรียนบ้านมดตะนอยของ สสวท. และ สถานทูตอเมริกาประจำประเทศไทย (ที่มา: โรงเรียนวิทยาศาสตร์จุฬาภรณ์ราชวิทยาลัยตรัง)
ภาพ 6-2 การติดตามการทำงานวิจัยโรงเรียนบรรพตวิทยาของ สสวท. สถานทูตอเมริกาประจำประเทศไทย และสำนักงานเขตพื้นที่การศึกษา ประถมศึกษาเชียงราย เขต 4 (ที่มา: สพป ชร. และ สสวท.)
ภาพ 6-3 กิจกรรม GLOBE ในโรงเรียนทั้ง 4 แห่ง
จากตัวอย่างการดำเนินงานกิจกรรม GLOBE ภายใต้โครงการ The Extension of GLOBE Research Program and Network to Strengthen Local Wisdoms in Rural Areas of Thailand ส่งเสริมให้นักเรียนได้เรียนรู้ถึงแม้ว่าในโรงเรียนที่มีทรัพยากรจำกัดหรืออยู่ห่างไกล ก็ได้มีโอกาสเรียนรู้ได้เท่าเทียมกันและส่งเสริมการจัดการเรียนรู้เชิงรุกได้อย่างดี
บทความนี้เป็นส่วนหนึ่งของนิตยสาร สสวท. ปีที่ 51 ฉบับที่ 240 มกราคม – กุมภาพันธ์ 2566
ผู้อ่านสามารถติดตามบทความที่น่าสนใจเพิ่มเติมได้ที่ https://emagazine.ipst.ac.th/240/50/
บรรณานุกรม
The GLOBE Program. Scientific Inquiry and Research - in the Science Classroom. Retrieved 23 February, 2023. from https://www.globe.gov/documents/355050/14396119/ScientificInquiry.pdf/4015e624-aef3-4fc1-8471-842305855fba
ศูนย์นวัตกรรมการเรียนรู้, จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย. ACTIVE LEARNING. สืบค้นเมื่อ 23 กุมภาพันธ์ 2566. จาก https://lic.chula.ac.th/images/Active%20Learning/Active%20Learning_01.pdf.
-
18293 GLOBE สร้างความเท่าเทียมในการเรียนรู้สู่ชุมชน /article-science/item/18293-18-12-2024เพิ่มในรายการโปรด