วัฒนธรรมการใช้เครื่องทุ่นแรงทางการเกษตร
ปัจจัยพื้นฐานที่มีอิทธิพลต่อการสร้างสรรค์ภูมิปัญญาและวัฒนธรรมไทยในการใช้เครื่องทุ่นแรงทางการเกษตร ภูมิปัญญาไทยเป็นเรื่องของการใช้ความรู้ ความคิด และทักษะการปฏิบัติเป็นการปรับตัวเพื่อความอยู่รอดของตนเองและชุมชน จึงมีการเปลี่ยนแปลงให้สมดุลกับการพัฒนาทางสังคมอยู่ตลอดเวลา ซึ่งในแต่ละท้องถิ่นก็มีเอกลักษณ์ของตนเอง ปัจจัยที่เกี่ยวข้องที่สำคัญที่มีผลต่อการสร้างสรรค์ภูมิปัญญา พอสรุปได้ ดังนี้
การสร้างสรรค์ภูมิปัญญาที่เกิดจากการดำรงชีวิต คนไทยในภูมิภาคต่าง ๆ มีวิถีการดำรงชีวิต ขนบธรรมเนียมประเพณีที่แตกต่างกัน แต่ก็ล้วนมีความผูกพันและพึ่งพาอาศัยธรรมชาติ เรียนรู้จากธรรมชาติ ทำให้มีความรู้เกี่ยวกับการทำมาหากิน และการดำเนินชีวิตที่สอดคล้องกับธรรมชาติ ปัญหาด้านต่าง ๆ ทำให้ผู้คนจำเป็นต้องปรับตัว และสร้างสรรค์ภูมิปัญญาเพื่อความอยู่รอด และอยู่อย่างมีความสุข สะดวกสบาย รวมทั้งเหมาะสมสอดคล้องกับสภาพแวดล้อมทางธรรมชาติ โดยคิดประดิษฐ์หรือพัฒนาสิ่งแวดล้อมเพื่อนำมาใช้ประโยชน์ เช่น ประดิษฐ์เป็นเครื่องใช้ต่าง ๆ ได้แก่ การทำเครื่องมือดักจับสัตว์ป่า สัตว์น้ำ เครื่องมือทุ่นแรงในการทำไร่ทำนา การปลูกพืช และการหาของป่า เป็นต้น
ภาพที่ 1 การไถเตรียมดินด้วยรถแทรกเตอร์
ที่มา วรางรัตน์ เสนาสิงห์
ภาพที่ 2 การไถเตรียมดินด้วยรถไถเดินตาม
ที่มา วรางรัตน์ เสนาสิงห์
การสร้างสรรค์ภูมิปัญญาไทยที่เกิดจากอิทธิพลภายนอก การที่ประเทศไทยมีสัมพันธไมตรีกับต่างประเทศมาตั้งแต่สมัยสุโขทัย จนกระทั่งถึงสมัยรัตนโกสินทร์ ทั้งด้านการเมืองการปกครอง ด้านเศรษฐกิจ เช่น มีการติดต่อค้าขาย การร่วมลงทุนหรือร่วมส่งเสริมกิจกรรมทางด้านต่าง ๆ ทำให้มีการถ่ายทอดวัฒนธรรม มีการผสมผสานวัฒนธรรมในรูปแบบต่าง ๆ เรื่อยมาจนกระทั่งในปัจจุบัน การติดต่อแลกเปลี่ยนข้อมูลข่าวสารเป็นไปอย่างรวดเร็ว ความรู้ด้านวิชาการ วัฒนธรรมและรูปแบบของการดำเนินชีวิตจากภูมิภาคต่าง ๆ ของโลก หลั่งไหลเข้ามาในประเทศไทยอย่างรวดเร็ว ทำให้มีผลต่อการพัฒนาคุณภาพชีวิตที่เกิดจากภูมิปัญญาไทยให้เหมาะสมกับยุคสมัย เช่น
- การใช้เครื่องทุ่นแรงมาใช้ในการเกษตร เช่น การใช้รถไถแทนการใช้ความไถนา การใช้เครื่องมือนวดข้าวแทนการนวดด้วยมือ การใช้เครื่องแยกเมล็ดฝ้ายแทนการแยกด้วยมือ
- การนำเครื่องยนต์มาติดตั้งกับพาหนะ เช่น การใช้เรือยนต์แทนเรือพาย การใช้รถสามล้อเครื่องแทนรถสามล้อถีบ
- การใช้เครื่องไฟฟ้าเข้ามาประกอบอุปกรณ์เครื่องใช้ต่าง ๆ เพื่ออำนวยความสะดวกในการทำงานและการดำเนินชีวิตประจำวัน ได้แก่ การใช้กระเช้าไฟฟ้ารับส่งคนและของขึ้นลงในที่สูง
- การแปรรูปผลิตภัณฑ์ เช่น ฟ้าทลายโจรอัดใส่แคปซูลใช้รักษาโรคได้ ยาสระผมว่านห่างจระเข้ผสมดอกอัญชัน ครีมนวดผมที่ทำจากประคำดีควาย สบู่สมุนไพร เครื่องดื่มที่ทำจากสมุนไพร เป็นต้น
เครื่องมือทุ่นแรง หมายถึง เครื่องมือที่เกษตรกรใช้ในการทำงานเกษตร เพื่อช่วยลดความยากลำบากในการทำงาน หรือลดการออกแรงให้น้อยลง เกษตรกรจะทำงานได้นานขึ้น จะได้ผลงานมากขึ้น และได้ผลิตผลเพิ่มขึ้น ส่วนเครื่องยนต์ คือ เครื่องที่ให้กำเนิดพลังงาน หรือทำให้เกิดการเคลื่อนที่ และเครื่องจักรกลเกษตร คือ เครื่องมือเกษตรที่ประกอบขึ้นด้วยชิ้นส่วนหลายส่วน ทำงานร่วมกันโดยมีเครื่องยนต์ช่วย ซึ่งเครื่องยนต์สามารถนำไปใช้ในเครื่องจักรกลเกษตรได้หลายอย่าง การใช้เครื่องมือทุ่นแรงการเกษตรนั้น อาจจะมีข้อสงสัยว่า จะช่วยลดต้นทุนการผลิตได้อย่างไร ในเมื่อเกษตรกรต้องใช้เงินลงทุนซื้อเครื่องทุ่นแรง ซึ่งบางครั้งอาจจะสูงเกินกำลังความสามารถของเกษตรกรก็ได้ ดังนั้นเกษตรกรจึงมีความจำเป็นศึกษาก่อนว่าเครื่องมือทุ่นแรง จะสามารถช่วยลดต้นทุนการผลิตได้ ต่อเมื่อเกษตรกรสามารถใช้งานเครื่องมือทุ่นแรงต่าง ๆ ที่ตนซื้อมาได้อย่างคุ้มค่า กล่าวคือ มีจำนวนชั่วโมงการใช้งานเพียงพอ มิฉะนั้น อาจจะกลายเป็นการเพิ่มต้นทุนการผลิตก็ได้ ดังนั้นเงื่อนไขประกอบการพิจารณาข้อแรกก่อนการลงทุนซื้อเครื่องมือต่าง ๆ ก็คือ เกษตรกรมีงานที่จะใช้กับเครื่องมือทุ่นแรงมากน้อยเพียงไร สามารถจะใช้รับจ้างได้แค่ไหน แล้วจึงนำมาพิจารณาความเหมาะสมว่าควรจัดซื้อไว้ใช้งานของตนหรือไม่ หรือเกษตรกรอาจจะใช้วิธีว่าจ้างจากเจ้าของเครื่องที่มีรับจ้างอยู่ในพื้นที่ของตน ในปัจจุบันเครื่องจักรกลเกษตรมีหลายชนิดสามารถแบ่งออกตามลักษณะการทำงาน เป็น 5 กลุ่ม คือ
-
เครื่องจักรกลที่ใช้เตรียมดิน ได้แก่ รถไถดินตามแบบ 2 ล้อ, ไถหัวหมู, ควายเหล็ก, รถแทรกเตอร์ และไถจาน
-
เครื่องจักรกลที่ใช้ในการปลูกพืช ได้แก่เครื่องปลูกแบบล้อเอียง, เครื่องกำจัดวัชพืชและถากหญ้า, เครื่องหว่าน, เครื่องสูบน้ำและเครื่องพ่นสารเคมี
-
เครื่องจักรกลที่ใช้ในการดูแลและอารักพืช
-
เครื่องจักรกลที่ใช้ในการเก็บเกี่ยวและการนวด
-
เครื่องจักรกลที่ใช้ในการลดความชื้นเมล็ดพืช
ประโยชน์ของเครื่องมือทุ่นแรงและเครื่องจักรกลเกษตร
-
เครื่องมือทุ่นแรงทำงานได้รวดเร็ว ทำให้ประหยัดค่าใช้จ่ายเกี่ยวกับการจ้างแรงงานคน และสามารถทำงานได้ทันต่อช่วงเวลาการเพาะปลูกที่เหมาะสม
-
เกษตรกรสามารถเพิ่มพื้นที่เพาะปลูกได้มากขึ้น เนื่องจากเครื่องมือทุ่นแรง สามารถช่วยแก้ไขปัญหาเกี่ยวกับแรงงานคน และช่วงเวลาที่มีอยู่จำกัด อันจะเป็นการช่วยเพิ่มรายได้ให้แก่เกษตรกร
-
เครื่องทุ่นแรงช่วยให้เกษตรกรสามารถปฏิบัติงานตามขั้นตอนต่าง ๆ ของการเพาะปลูกได้อย่างประณีต เช่น กำจัดวัชพืชได้อย่างสะดวก ปลูก เก็บเกี่ยว และนวดหรือกะเทาะได้ทันฤดูกาล ทำให้ผลผลิตต่อไร่สูงขึ้น
-
ลดการสูญเสียผลิตผลในช่วงการเก็บเกี่ยวและนวด ซึ่งการใช้แรงงานคน จะทำให้มีการร่วงหล่นของเมล็ดพืชมาก
-
นอกจากที่กล่าวมาข้างต้น ประโยชน์ทางอ้อมสำคัญประการหนึ่งของเครื่องมือทุ่นแรงก็คือ การลดความเหนื่อยยากลำบากของเกษตรกร ในการประกอบเกษตรกรรม
แหล่งที่มา
ASTV ผู้จัดการออนไลน์. (2553, 13 พฤษภาคม). เกษตรอินทรีย์ VS เกษตรเคมี. สืบค้นเมื่อ 13 สิงหาคม 2562, จาก http://www.organic.moc.go.th/th/news/เกษตรอินทรีย์-vs-เกษตรเคมี
เจษฎาวุฒิ นิรมิตสุวรรณ. (2557, 21 มีนาคม). ปัจจัยพื้นฐานที่มีอิทธิพลต่อการสร้างสรรค์ภูมิปัญญาและวัฒนธรรมไทย. สืบค้นเมื่อ 13 สิงหาคม 2562, จากhttps://sites.google.com/site/khwamhmaykhxngphumipayya/2
-
10613 วัฒนธรรมการใช้เครื่องทุ่นแรงทางการเกษตร /article-science/item/10613-2019-09-02-01-27-39เพิ่มในรายการโปรด
-
คำที่เกี่ยวข้อง