วิทยาศาสตร์กับสังคมไทย ตอนที่ 2 วิทยาศาสตร์ในสังคมไทยโบราณ
จากความในครั้งก่อน วิทยาศาสตร์กับสังคมไทย ตอนที่ 1 ความสำคัญของวิทยาศาสตร์ที่มีต่อสังคมไทย ทำให้ผู้อ่านได้ทราบว่าวิทยาศาสตร์เป็นเครื่องมือสำคัญ ที่มีความสำคัญและสอดคล้องกับระบบเศรษฐกิจตั้งแต่ในอดีตจนถึงปัจจุบัน แล้วเคยสงสัยไหมว่า สังคมไทยโบราณ วิทยาศาสตร์มีความสำคัญอย่างไรบ้าง ติดตามอ่านได้ในบทความนี้
สังคมไทยแต่เดิมนั้นตั้งอยู่บนพื้นฐานของคติและความเชื่อ ทั้งความเชื่อที่มีต่อพระพุทธศาสนาและภูตผีปีศาจ อำนาจของเทวดา พระเจ้าต่าง ๆ ซึ่งอาจกล่าวได้ว่า ความเชื่อเป็นธรรมชาติที่ติดตัวมาตั้งแต่กำเนิด โดยถ่ายทอดผ่านทางสายใยครอบครัวจากบรรพบุรุษ และสถานที่เกิดนั้นๆ ดังนั้น ความเชื่อที่ส่งถ่ายทอดกันมารุ่นสู่รุ่น จึงเป็นการยอมรับว่าสิ่งใดสิ่งหนึ่งนั้นเป็นจริงหรือเป็นสิ่งที่เราไว้ใจ โดยไม่คำนึงถึงหลักเหตุผลหรือหลักวิทยาศาสตร์ใด ๆ
อย่างไรก็ตามด้วยวิถีและแนวทางความเชื่อต่าง ๆ ดังที่กล่าวมาข้างต้นนั้น ก่อให้เกิดสิ่งสำคัญอย่างหนึ่งในสังคมซึ่งเราเรียกว่า “ภูมิปัญญา” ซึ่งประกอบไปด้วย ภูมิปัญญาท้องถิ่น (Local Wisdom) ภูมิปัญญาชาวบ้าน (Popular Wisdom) และ ภูมิปัญญาไทย (Thai Wisdom) ซึ่งภูมิปัญญาท้องถิ่นนั้นเองมีความเกี่ยวข้องกับความรู้และกระบวนการทางวิทยาศาสตร์ได้อย่างน่าสนใจ
ภูมิปัญญาท้องถิ่น เป็นความรู้ ความสามารถและทักษะของคนในชุมชนหรือท้องถิ่นที่เกิดจากการศึกษาเรียนรู้ เลือกสรรเพื่อใช้ในการแก้ปัญหาให้สอดคล้องกับธรรมชาติหรือสภาพแวดล้อมที่เหมาะสม และได้ปฏิบัติสืบทอดกันมาอย่างยาวนาน อย่างที่เราทราบกันดีว่า ในธรรมชาติของวิทยาศาสตร์นั้น ความรู้ทางวิทยาศาสตร์ก็ได้มาจากการศึกษาความจริงของธรรมชาติ โดยอาศัยทั้งความรู้และกระบวนการทางวิทยาศาสตร์ เพื่อสร้างองค์ความรู้ใหม่ ๆ ดังนั้นจะสังเกตได้ว่า ภูมิปัญญาท้องถิ่นนั้นมีความสัมพันธ์กับวิทยาศาสตร์ในแง่ของกระบวนการอยู่พอสมควร
ตัวอย่างที่เห็นได้ชัดเจนที่สุดก็คือภูมิปัญญาของสิ่งปลูกสร้างที่เป็นที่อยู่อาศัยของคนไทยโบราณ หรือที่เราเรียกว่า เรือนไทย ถึงแม้ว่าจะมีการออกแบบโดยใช้วัสดุในสมัยนั้นๆ และใช้เป็นวัสดุธรรมชาติ แต่ก็มีองค์ความรู้ในการวางผังและออกแบบตัวเรือนที่ตั้งอยู่บนหลักการของวิทยาศาสตร์ธรรมชาติ เอื้อประโยชน์ใช้สอย ตามลักษณะการดำรงชีวิต และความเหมาะสมต่อสภาพภูมิอากาศ
ภาพที่ 1 เรือนไทยโบราณ
ที่มา https://th.m.wikipedia.org/wiki/ไฟล์:Ancient_City_Ruen_Thai.jpg , Supanut Arunoprayote
ภาพที่2 แสดงมุมองศาเอียงของหน้าบัน และปั้นลมเรือนไทยตามสมการสัดส่วนเรือนไทยของรองศาสตราจารย์ฤทัย ใจจงรัก
ที่มา https://ph01.tci-thaijo.org/index.php/JIE/article/download/26527/108211/
และในสิ่งปลูกสร้างหรือเรือนไทยนี้เองก็ยังพบว่า มีการออกแบบสัดส่วนของสถาปัตยกรรมที่มีสัดส่วนมาตรฐานตามหลักกการคณิตศาสตร์อีกด้วย ซึ่งจะเห็นได้ว่าความรู้ทางวิทยาศาสตร์มีความเป็นสากลที่สอดแทรกอยู่ในวิถีชีวิต ซึ่งแสดงให้เห็นความสัมพันธ์ระหว่างวิทยาศาสตร์กับภูมิปัญญาได้อย่างลงตัว
แหล่งที่มา
ดร.โสรัจจ์ หงศ์ลดารมภ์. วิทยาศาสตร์ในสังคมและวัฒนธรรมไทย (พิมพ์ครั้งที่ 1) . กรุงเทพมหานคร: (พว.)
ประสาท เนืองเฉลิม. วิทยาศาสตรศึกษากับภูมิปัญญาท้องถิ่น. สืบค้นเมื่อวันที่ 15 มิถุนายน 2563, จาก https://home.kku.ac.th/uac/journal/year_11_1_2546/07_11_1_2546.pdf
พิทาน ทองศาโรจน์ และอรศิริปาณินท์. วารสารครุศาสตร์อุตสาหกรรม ปีที่ 13 ฉบับที่ 2 เดือนพฤษภาคม - สิงหาคม 2557. สืบค้นเมื่อวันที่ 15 มิถุนายน 2563, จาก https://ph01.tci-thaijo.org/index.php/JIE/article/download/26527/108211/
อัธยานันท์ จิตรโรจนรักษ์. แนวทางการสืบสานคุณค่าของอัตลักษณ์สถาปัตยกรรมไทย. สืบค้นเมื่อวันที่ 15 มิถุนายน 2563, จาก http://161.200.145.125/bitstream/123456789/45411/1/5384487527.pdf
อ.วิริยะ โกษิต. เอกสารประกอบการสอนความเชื่อ และ วิทยาศาสตร์ ในสังคมไทย. สืบค้นเมื่อวันที่ 15 มิถุนายน 2563, จาก https://www.slideshare.net/keysky4/part1-54646044
-
11666 วิทยาศาสตร์กับสังคมไทย ตอนที่ 2 วิทยาศาสตร์ในสังคมไทยโบราณ /article-science/item/11666-2020-06-30-06-35-55เพิ่มในรายการโปรด
-
คำที่เกี่ยวข้อง